ชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการ
ตำบลหว้ากอปีพ.ศ.2411
สุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม 2411
ดาวหางโดนาติ ( Donati ) เข้ามาปรากฏในปี พ.ศ. 2401
ดาวหางโดนาติ ( Donati ) เข้ามาปรากฏในปี พ.ศ. 2401
ดาวหางโดนาติ ( Donati ) เข้ามาปรากฏในปี พ.ศ. 2401
พระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 

          บันทึกพิเศษ การเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ

            ในทัศนะของชาวต่างประเทศต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ทั้งๆที่ยอมรับโดยสนิทใจว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงสามารถคำนวณและประกาศ
อย่างเป็นทางการไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะมีสุริยุปราคาหมดดวงเห็นได้ในประเทศไทยและกำหนดสถานที่ ณ ตำบลหว้ากอ แขวง
เมืองประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งทะเลตรงข้ามเกาะจานไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้าด้วย สำหรับฝรั่งเศส-เดิมเลือกที่ช่องแคบมะละกา ต่อมา
ให้เปลี่ยนอีกตามคำแนะนำของกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทยว่า ควรเป็นชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งทางฝรั่งเศส
เองก็พยายามเที่ยวค้นหาที่จะดูหลายตำบล ตั้งแต่เมืองชุมพรขึ้นมาจนถึงเมืองปราณบุรีก็หาไม่ได้ ในที่สุดคณะวิทยาศาสตร์
ฝรั่งเศสก็ขอพระบรมราชานุญาตมาตั้งโรงที่จะดูสุริยุปราคาในบริเวณค่ายหลวงตำบลหว้ากอ ต่ำลงไปทางใต้พลับพลาค่ายหลวง
ประมาณ 18 เส้น จึงประสบความสำเร็จด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้

            การเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนสิงหาคม 2411 นั้น มีสิ่งสำคัญ
ที่ควรทราบ คือ
            1.ในห้วงเวลานั้นเป็นฤดูฝน พื้นภูมิประเทศเป็นป่าเขามีไข้ป่าชุกชุม การเดินทางก็ลำบากและต้องฟันฝ่าอันตรายมาก
เหตุใดจึงทรงมีพระราชอุตสาหะแรงกล้าถึงเพียงนั้น ก็เป็นเพราะว่าสุริยุปราคาที่จะเห็นได้หมดวงในประเทศไทยนี้ยังไม่เคยมีมา
แต่ก่อน จนถึงในตำราโหรของไทยว่า สุริยุปราคาไม่มีที่จะหมดดวงได้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณ
ทราบเป็นพระองค์แรกในประเทศหรือในโลกก็ได้ว่า จะเห็นสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมือง
ประจวบคีรีขันธ์ ในวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยได้ทรงคำนวณสอบสวนกับตำราสารัมภ์ ไทย มอญ และของอังกฤษ
อเมริกันแล้วเป็นที่แน่ชัดจึงได้ทรงประกาศเป็นทางการล่วงหน้าก่อนถึง 2 ปี ด้วยเหตุนี้พระองค์มิได้ทรงเกรงความยากลำบาก
และอันตรายใดๆที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเพื่อทรงพิสูจน์ด้วยพระองค์เอง
            2. การเตรียมสถานที่และเตรียมการด้านต่างๆนับเป็นเรื่องสำคัญมาก แสดงถึงความละเอียดรอบครอบและการที่ทรงมี
วิจารณญาณ เห็นการณ์ไกลเกี่ยวกับเกียรติภูมิและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อความมั่นคงและอนาคตของประเทศ
            ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ท่านเจ้าพระยา
ศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้เป็นแม่กองไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรม ณ ตำบลหว้ากอ ตรงหน้าเกาะจาน
เข้าไปห่างจากคลองวาฬลงไปทางใต้ประมาณ 24 เส้น โดยให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบ
คีรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายนายทำการก่อสร้างค่ายหลวงพลับพลาที่ประทับและทำเนียบรับรอง
แขกเมือง
            สถานที่บริเวณก่อสร้างอยู่ริมหาด ซึ่งเป็นป่าไม้อยู่ก่อนแล้วมาแผ้วโก่นโค่นสร้างในคราวนี้ แล้วปลูกพลับพลาและทำเนียบ
เป็นอันมากสำหรับข้าราชการต่างๆในราชสำนักและแขกเมืองชาวยุโรปพักอาศัย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับในค่ายหลวง
ตำหนักที่ประทับทำด้วยไม้ชั่วคราว เป็นตำหนัก 3 ชั้นทำเนียบแห่งอื่นปลูกเป็นเรือนชั้นเดียวแต่ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ
3 ฟุตทุกหลังทำเนียบเหล่านี้สร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกแทบทั้งหมด มุงด้วยจากบ้างใบตาลแห้งบ้าง ทำเนียบหมู่หนึ่งก็มีรั้วทำด้วยกิ่งไม้
อย่างเรียบร้อย ล้อมรอบมิดชิดมองไม่เห็น และในบริเวณหรือลานทำเนียบมีโรงที่อยู่สำหรับคนใช้ และบริวารเป็นอันมาก
            ท้องพระโรงยาวประมาณ 80 ฟุต กว้าง 80 ฟุต อยู่ด้านตะวันออกของพลับพลาที่ประทับแรม มีพระทวารสองข้าง กับทั้งมี
พระทวารที่ตรงกลางทางด้านยาว  ซึ่งเป็นทางที่เข้าไปได้อีกช่วงหนึ่ง ที่ประทับยกพื้นสูงราว 3  ฟุต  อยู่ใกล้ชิดกับพระทวารทาง
ที่จะเข้าไปข้างในพลับพลาที่ยกพื้นกับรั้วลูกกรงทั้งเสาและผนังห้องท้องพระโรงดาดด้วยผ้าสีแดง มีพระเก้าอี้ตั้งอยู่บนราชบัลลังก์
มีโต๊ะเล็กอยู่ทางขวา เต็มไปด้วยหีบทองและภาชนะบรรจุพระศรีพระโอสถ พระสุธารสและสิ่งของเครื่องราชูปโภคต่างๆ ทางใน
ระหว่างพระทวาร และที่ประทับกันไว้เป็นช่องระหว่างสำหรับแขกเมืองเฝ้า  และลองข้างช่วงนี้ในระยะประมาณครึ่งทาง เป็นที่
ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า
            ทำเนียบของแขกฝรั่งยาวประมาณ 140 ฟุต กว้าง 50 ฟุต เป็น 2 หลังโดด หลังใหญ่มีห้องโถงอยู่กับพื้น สามารถจุคน
ในเวลาเลี้ยงได้ 40-50 คน และสองข้างยกพื้นสูงประมาณ 3 ฟุต ทำเป็นห้องเล็กๆเป็นแถวรวม 12 ห้อง สำหรับเป็นที่พักอาศัย
ของพวกผู้ว่าราชการ มุมสุดเป็นสถานที่เล็กๆหลังหนึ่ง มีห้องนอน 2 ห้อง ห้องแต่งตัว 2 ห้อง มีระเบียงเป็นห้องนั่งเล่น สำหรับ แขกได้สบาย เรือนตอนนี้ตีฝาและยกพื้นด้วยไม้จริง นอกนั้นทำด้วยไม้ไผ่ซีกทั้งสิ้น
            ด้านอาหาร มีผู้ว่าราชการ พระฤาษีสมบัติบริบูรณ์กับพ่อครัวจีน และข้าราชการรับหน้าที่จัดดูแลเรื่องอาหารเลี้ยงแขกเมือง
และแขกฝรั่งทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพ และที่รับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับเชิญไปดูสุริยุปราคา และ
โปรพระราชทานเลี้ยงอาหารฝรั่งตลอด โดยพ่อครัวฝรั่งเศสพร้อมด้วยชาวอิตาลี 1 คน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน การเลี้ยงดู
ก็จัดอย่างบริบูรณ์และประณีต บรรดาของอร่อยที่จะสามารถหามาได้จากประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ กรุงเทพรวมทั้งเหล้า และ
เหล้าองุ่นต่างๆ น้ำแข็งก็มีบริบูรณ์ แขกฝรั่งพากันกล่าวว่า นับเป็นที่พักอาศัยอันอุดมที่สุดในป่าแห่งประเทศสยามทีเดียว
            3. เครื่องมือและกล้องส่องดูดาว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ซึ่งเมอร์ซิเออร์ สเตฟาน   หัวหน้าคณะ
นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งเครื่องดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ มีความเห็นว่า กล้องของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าวิเศษสำหรับประเทศสยาม พระองค์ทรงสนพระทัยยิ่งในวิชาดาราศาสตร์ และพระองค์ได้
พระราชทานพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง  ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า   พระองค์ทรงรอบรู้วิชาวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งเพียงใด แต่
พระองค์ ทรงถ่อมพระองค์มาก การเสด็จมาหว้ากอครั้งนี้ก็เพราะแรงผลักดันที่จะได้ทรงพิสูจน์การศึกษาแนวทางวิทยาศาสตร์
ของพระองค์เป็นประการหนึ่ง
            4. การที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญ เซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษซึ่งประจำอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์ และ
ภริยามาเป็นอาคันตุกะส่วนพระองค์ และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส เข้ามาตั้งกล้องส่องดู
ดาวร่วมด้วยได้ที่ตำบลหว้ากอ โดยมีเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายอย่างที่ทันสมัย ประมาณ 50 อันเศษ นับเป็นวิเทโศบายอัน
ชาญฉลาดที่ได้ทรงสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในยุโรป อย่างมีเกียรติและ
สมศักดิ์ศรียิ่งโดยเฉพาะได้ทรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขนบธรรมเนียมเก่าที่ฝรั่งเห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความเจริญ ซึ่ง เซอร์
แฮรี่ ออด   มีข้อสังเกตว่าในพระราชสำนักได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก  มิเคยปรากฏมาแต่ก่อนเช่น การเปิดพระราชมนเทียร
พระราชทานให้แขกเมืองเข้าไปได้ไม่หวงห้าม  โปรดให้พบปะกับฝ่ายในให้ออกมารับแขกเมืองโดยเปิดเผย  ส่วนเจ้านายใน
ราชสกุลที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงยอมให้สมาคมกับแขกเมืองได้อย่างฉันมิตรสนิทสนม พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางของพระองค์
สมาคมกับแขกเมืองอย่าง ยอมให้อิสระเท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งฝรั่ง
เห็นว่าเป็นประเทศหนึ่ง ในชนชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เหตุการณ์ที่ฝรั่งได้มาประสบพบเห็นด้วยตนเองนี้ ทำให้ชาวฝรั่ง
เกิดความประทับใจ และมั่นใจว่าประเทศไทยมีทางจะก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีนโยบายปิดประตู และมีการสมาคม
กับชาวฝรั่งอย่างมีเกียรติ
            ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรและทรงศึกษาเครื่องมือและกล้องส่องดูดาว ตลอดจน
เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของอังกฤษ และฝรั่งเศสพร้อมกันไป  นับว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะพัฒนา  วิชา
วิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วย
            คณะกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เพียรพยายามที่จะหาหลักฐานต่าง ๆ เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดเป็นข้อ
ยุติ ว่า ณ ที่ใดที่บ้านหว้ากอ (ในปัจจุบันนี้) เป็นที่ตั้งค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรมที่ทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคา
จึงได้ ออกกันไปศึกษาสภาพพื้นที่ 2-3 ครั้ง ครั้งหลังเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2524 คณะที่ออกไปสำรวจร่วมกับทางจังหวัดประจวบ
คีรีขันธ์เท่าที่จำได้มี ดร. ระวี ภาวิไล ดร. ประโชติ เปล่งวิทยา ดร. ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ดร. ธีระชัย ปูรณโชติ
คุณระรินทิพย์ ทรรทานนท์ ทางจังหวัดประจวบ ฯ ก็มี ข้าพเจ้าผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้ช่วยศึกษา ธิการจังหวัด
นายอำเภอเมือง เป็นต้น ดังปรากฏในภาพ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศประกอบ ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะยังหา
หลักฐานสำคัญ ๆ ไม่พบ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นบริเวณนั้น ๆ ซึ่งก็ใกล้เคียงมาก และทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ได้ให้
ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในเรื่องหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการสร้างสวนสาธารณะ หรือสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ รวมในที่เดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใน
ปลายปี 2525 นี้
            
            

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, November 30, 2010 10:03 AM
หน่วยงานนี้ทำข้อมูลโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น มิใช่เพื่อการแสวงหาผลกำไร