เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล ผู้นำการปลูกมะนาว เขตอำเภอท่ายาง
   
ปัญหา :
 
 
ปัจจุบัน แหล่งผลิตมะนาวในเชิงพาณิชย์ของไทยจะมีแหล่งผลิตใหญ่ๆ คือ จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น โดยเฉพาะที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นแหล่งผลิตมะนาวดั้งเดิม ในปัจจุบันอำเภอท่ายางนับเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของประเทศที่จะมีการ ซื้อ-ขาย ผลผลิตมะนาวจากทั่วประเทศ ในอดีตเกษตรกรอำเภอท่ายาง จะปลูกมะนาวพันธุ์หนังและพันธุ์ไข่เป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนสายพันธุ์มาปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นชนิด ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แป้นรำไพ แป้นทะวาย แป้นใหญ่ แป้นพวง แป้นดกพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผลผลิตมีเปลือกบาง ปริมาณน้ำมาก และมีกลิ่นหอม จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสตระเวนดูพื้นที่การปลูกมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอ ท่ายาง และอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า ได้มีเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมะนาวกันมากขึ้น คาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกมะนาวในเขตจังหวัดเพชรบุรีจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ในปัจจุบัน คุณพิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล อยู่บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 7 ไร่หลวงซอย 9 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 76130 โทร. (087) 428-3386 ปลูกมะนาวในกลุ่มสายพันธุ์แป้น ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ คุณพิทักษ์ได้ประกอบอาชีพชาวสวนมานาน ประมาณ 20 ปี เริ่มจากการปลูกชมพู่เพชรและลิ้นจี่ พันธุ์กะโหลกใบยาว (เป็นพันธุ์ที่นำมาจากบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร บางคนเรียกพันธุ์ลิ้นจี่กรอบ และเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลได้ง่ายในเขตพื้นที่ภาคกลาง) ผลปรากฏว่าการปลูกชมพู่เพชรและลิ้นจี่ไม่ประสบผลสำเร็จ รายได้ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงได้เปลี่ยนพื้นที่มาปลูกมะนาวและประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ให้ความสำคัญกับสภาพดินปลูกมากที่สุด สายพันธุ์มะนาวและแหล่งน้ำรองลงมา คุณ พิทักษ์ บอกว่า ในการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้นมะนาวจะชอบสภาพดินร่วนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี และที่สำคัญสภาพพื้นที่ปลูกมะนาวของเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย และข้าวโพด มาก่อน ทำให้สภาพดินถูกใช้มานาน ขาดอินทรียวัตถุ ดังนั้น จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุเข้าไป ในสภาพความจริงแล้ว เขตพื้นที่ปลูกมะนาวถูกน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ในปีนี้ (พ.ศ. 2553) คุณพิทักษ์ บอกว่า มีฝนตกมากในช่วงระหว่าง วันที่ 1-4 ตุลาคม 2553 และสภาพพื้นที่การปลูกมะนาวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คุณพิทักษ์ได้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือพื้นที่ปลูกมะนาวในที่สูง ได้รับผลกระทบในเรื่องของการออกดอก คือแทนที่จะออกเป็นดอกกลับออกเป็นใบอ่อนแทน ซึ่งความจริงในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่จะมีการดึงให้มะนาวออก ดอกและติดผลให้ได้ เพื่อผลผลิตจะได้ไปขายในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ระดับกลาง ที่มีน้ำท่วมเพียงเล็กน้อย จะทำให้ต้นมะนาวชะงักการเจริญเติบโตระยะเวลาหนึ่ง ส่วนพื้นที่ระดับล่าง ที่แปลงปลูกมะนาวแช่น้ำนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ถ้าเป็นมะนาวที่ปลูกใหม่จะทำให้ต้นมะนาวตาย แต่ถ้าเป็นต้นที่เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ต้นจะมีอาการเหลืองทั้งต้น จะต้องใช้เวลาในการฟื้นสภาพต้น นอกจากนั้น คุณพิทักษ์ ซึ่งนับเป็นเกษตรกรหัวสมัยใหม่ของอำเภอท่ายาง นอกจากจะมีการนำสมุนไพรมาใช้ร่วมกับสารเคมีเพื่อใช้ป้องกันและกำจัดแมลง ยังมีการศึกษาปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะตกเฉลี่ยประมาณปีละ 600-700 มิลลิเมตร ถือว่าไม่มากนัก เมื่อปริมาณฝนไม่มาก ปัญหาของโรคโคนเน่าและรากเน่าจะน้อยลงไปด้วย จากการศึกษาของคุณพิทักษ์ บอกว่า จังหวัดเพชรบุรีจะมีฝนตกมาก 2 ช่วง คือเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม ระบบการให้น้ำในช่วงหน้าแล้งจะใช้วิธีการให้น้ำผ่านร่อง จะให้ต้นมะนาวได้รับน้ำอย่างเต็มที่ กรณีพื้นที่ปลูกมะนาวของคุณพิทักษ์จะปลูกเป็นสภาพไร่และไม่มีการยกร่อง ลูกฟูก แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่ขยายพื้นที่ปลูกมะนาวใหม่ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งระบบ น้ำแบบสปริงเกลอร์และพื้นที่เปิดใหม่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้องจะมีการเตรียม แปลงปลูกมะนาวแบบยกร่องแบบลูกฟูก เพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดีเมื่อมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก เกษตรกรชาวสวนมะนาวเพชรบุรี ส่วนใหญ่ยังใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอน จาก ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า การปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอนเกือบทั้ง หมด ผลปรากฏว่าเมื่อต้นมะนาวมีอายุได้ 4-5 ปี ให้ผลผลิตมาได้เพียง 3-4 ปี ต้นมะนาวจะเริ่มทรุดโทรมเป็นโรคใบเหลืองต้นโทรมหรือที่ภาษาทางโรคพืชเรียก ว่า "โรคทริสเทซ่า" โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผู้ปลูกมะนาวในปัจจุบันจะใช้สายพันธุ์แป้นที่มีความดก เป็นพิเศษ เช่น พันธุ์แป้นดกพิเศษ ถ้าใช้กิ่งตอนปลูกจะส่งผลให้ต้นมะนาวทรุดโทรมได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยความดกของต้นในแต่ละปี ดังนั้น การปลูกมะนาวในอนาคตเกษตรกรควรจะเลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดบนต้นตอส้ม ต่างประเทศ เช่น ต้นตอทรอยเยอร์ สวิงเกิล ฯลฯ ซึ่งมีรากแก้วและค่อนข้างทนทานต่อโรคโคนเน่าและรากเน่า ที่สำคัญรากหาอาหารเก่ง และจะช่วยให้ต้นมะนาวมีอายุยืนยาวนานกว่า 10 ปี อย่างกรณีของแปลงสาธิตการปลูกมะนาวของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้เปลี่ยนยอดมะนาวบนต้นตอส้มน้ำผึ้ง (ส้มน้ำผึ้ง จัดเป็นส้มไม่มีเมล็ด แต่มีรสชาติเปรี้ยวจัด และคนไทยไม่นิยมบริโภค) โดยตัดส้มน้ำผึ้งทิ้งและเสียบยอดมะนาวพันธุ์แป้นรำไพลงบนต้นตอส้มทรอยเยอร์ ผลปรากฏว่าต้นมะนาวมีการเจริญเติบโตเร็วมาก เปลี่ยนยอดไปไม่ถึง 1 ปี เริ่มให้ผลผลิต ปัจจุบัน เข้าปีที่ 2 ของการเปลี่ยนยอดพบว่า การเจริญเติบโตของต้นใหญ่เท่ากับต้นมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอนมีอายุ 5 ปี และที่หลายคนเป็นห่วงและกลัวคือ ผลผลิตมะนาวที่ปลูกบนต้นตอส้มต่างประเทศจะมีรสชาติและคุณภาพเปลี่ยนไปนั้น ปัจจุบันทางชมรมได้ส่งผลผลิตมะนาวแป้นรำไพที่เปลี่ยนยอดบนต้นตอส้มทรอยเยอร์ ผลปรากฏว่า รสชาติและคุณภาพของน้ำเหมือนกับมะนาวแป้นรำไพที่ปลูกด้วยกิ่งตอนทุกประการ ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกมะนาวในอนาคตควรจะเลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดบนต้นตอส้ม ต่างประเทศ จึงได้ต้นที่มีอายุยืนและให้ผลผลิตสูง สูตรบังคับมะนาวนอกฤดู ของ คุณพิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล ใน การบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดู ของ คุณพิทักษ์ จะเน้นในเรื่องความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก วิธีการสังเกตว่าต้นมะนาวมีความสมบูรณ์ก็คือ มีใบใหญ่ และมีสีเขียวเข้ม ที่สวนมะนาวของคุณพิทักษ์จะมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค เพื่อช่วยในการสะสมอาหาร โดยฉีดพ่นในช่วงใบเพสลาดก่อนที่จะกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอก แต่คุณพิทักษ์ได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับการฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารปราบศัตรูพืชในแต่ละครั้ง โดยผสมน้ำ 200 ลิตร ค่าปุ๋ย ฮอร์โมน และสารปราบศัตรูพืชไม่ควรเกิน 800 บาท ต่อถัง เพราะจะไม่คุ้มต่อการลงทุน สำหรับปัญหาเรื่องโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการปลูกมะนาว และเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นทั้งหลายจะค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค นี้ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงต้นโปร่งมีส่วนช่วยลดปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ได้ บ้าง โรคแคงเกอร์จะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะต้องมีการฉีดสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มคอปเปอร์ เช่น ฟังกูราน เป็นต้น นอกจากไปดูงานการปลูกมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแล้ว ยังได้ไปดูแปลงปลูกมะนาวของ คุณไตรเทพ สิทธิชัย โทร. (084) 094-3168 ที่มีพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง คุณไตรเทพนับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เคยปลูกมะม่วงมาก่อน แต่ประสบปัญหาเรื่องขายผลผลิตมะม่วงไม่ได้ราคา จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมะม่วงมาปลูกมะนาวในกลุ่มของสายพันธุ์แป้น แต่ยังใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอนเช่นกัน คุณไตรเทพยอมรับว่าปลูกมะนาวโดยใช้กิ่งตอน ต้นจะมีอายุสั้น ปลูกไปได้ 5-6 ปี ต้นจะเริ่มโทรม ตายไปก็มี จากการเดินสำรวจแปลงปลูกมะนาวของคุณไตรเทพมีการปลูกเป็นสภาพไร่และไม่ได้ยก ร่องแบบลูกฟูก และใช้ระยะปลูกที่ชิดเกินไป คือใช้ระยะปลูก 6x6 เมตร เมื่อต้นมะนาวอายุได้ 5 ปี ทรงพุ่มชนกันแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าและรากเน่า และการฉีดพ่นสารเคมีในแต่ละครั้งจะค่อนข้างยากลำบาก ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คุณไตรเทพสามารถผลิตมะนาวฤดูแล้งขายได้ราคาดีมาก เมื่อช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา คุณไตรเทพขายมะนาวขนาดจัมโบ้จากสวนได้ถึงผลละ 8 บาท หรือแม้แต่ช่วงฤดูฝนเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ยังขายมะนาวขนาดจัมโบ้ได้ถึงผลละ 3-4 บาท ซึ่งในอดีตไม่เคยพบว่ามะนาวจะมีราคาแพงในช่วงฤดูฝน ดังนั้น การผลิตมะนาวในอนาคตของเกษตรกรอาจจะไม่เน้นผลิตให้ออกในช่วงฤดูแล้งเพียง ช่วงเดียว จะเน้นการผลิตให้ออกเกือบตลอดปี และอาจจะไม่ต้องใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดหรือฉีดพ่นให้กับต้นมะนาวด้วยซ้ำไป แต่เน้นการให้ปุ๋ยทางดินและทางใบ เพื่อให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์เป็นหลัก โดยลักษณะของสายพันธุ์มะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นชนิดต่างๆ สามารถออกดอกและติดผลได้ปีละ 4-5 ครั้ง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะนาวและมีหัวก้าวหน้า ควรจะยึดหลัก "การตลาดนำหน้าการผลิต" จะต้องรวบรวมข้อมูลการผลิตมะนาวของเกษตรกรในแต่ละปีว่าแหล่งผลิตใดมีผลผลิต มะนาวออกสู่ตลาดมากในช่วงเวลาใด เราจะต้องเตรียมบังคับให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลไม่ตรงกัน จ้างแรงงาน คิดเป็นชั่วโมงละ 30 บาท โดย ปกติส่วนใหญ่การจ้างแรงงานภาคเกษตรกรทั่วๆ ไปจะคิดเป็นรายวัน แต่คุณพิทักษ์บอกว่า ในการทำสวนมะนาวของเกษตรกรในเขตอำเภอท่ายางนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสวนขนาดเล็ก เฉลี่ยรายหนึ่งปลูกมะนาวในพื้นที่ 10 ไร่ ก็ถือว่ามากแล้ว และงานในสวนมะนาวจะต้องการความละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน คุณพิทักษ์ได้ตัดสินใจจ้างแรงงานโดยคิดเป็นรายชั่วโมง ได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพทำงานได้ตามเป้าหมาย มะนาวท่ายาง เป็นตัวกำหนดราคาซื้อ-ขาย มะนาวทั่วประเทศ คุณ พิทักษ์ บอกว่า ผลผลิตมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอท่ายางและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จะเป็นตัวกำหนดราคาซื้อ-ขาย มะนาวทั่วประเทศ หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ ว่า ราคามะนาวเพชรบุรีจะมีราคาแพงกว่าที่อื่น ผลผลิตมะนาวท่ายางจะส่งไปขายยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่งไปที่จังหวัดนครราชสีมา และมีการกระจายผลผลิตไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะที่ภาคตะวันออกจะส่งไปขายที่จังหวัดชลบุรี หนังสือ "การบังคับมะนาวออกฤดูแล้ง" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "ไม้ผลแปลกและหายาก เล่ม 2" รวม 2 เล่ม จำนวน 168 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เพชรบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 23 ฉบับที่ 492
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM