นั่นคือ วิถีชีวิตของชายที่ชื่อ โพธิ์ ภูฆัง วัย 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
แต่ที่น่าสนใจในอาชีพปัจจุบันของชายผู้นี้ คือ เปรียบการปลูกเตยหอมได้ว่าเป็นอาชีพที่ “ทำเพื่อไม่ต้องทำ”
ลุง โพธิ์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมตนเองทำอาชีพเป็นช่างรับปูหินอ่อน และต่อมาได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่อายุ 21 ปี เป็นเวลากว่า 10 ปี
“ช่วง ไปอยู่ซาอุดีอาระเบียได้เก็บออมเงินไว้ส่วนหนึ่ง นำมาซื้อที่ดินเพื่อทำนา เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็ทำนาบ้างรับเหมางานก่อสร้างไปด้วย โดยเป็นผู้รับเหมาเองทำเอง พร้อมกับซื้อที่นาเพิ่มจนปัจจุบันมีที่ดิน 55 ไร่ โดยเป็นที่ทำนา 50 ไร่ และปลูกเตยหอมอีก 5 ไร่”
จุดหักเหสำคัญที่ทำให้ก้าวมาสู่อาชีพการปลูกเตยหอม เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากเพื่อน
“ครั้งแรกในปี 2548 โดยเริ่มต้นด้วยพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ตอนแรกกล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่มีประสบการณ์ และกลัวไม่มีที่ขาย แต่ก็ทดลองทำดู”
ลุง โพธิ์เล่าให้ฟังต่อไปว่า ตอนนั้นได้ปรับพื้นที่นาที่อยู่ใกล้บ้านให้เหมาะกับการปลูกเตยโดยทำร่องตรง กลางและมีทางเดินรอบๆ จากนั้นตั้งเสาใช้สลิงดึงซาแรนให้ตึงเพื่อพรางแสงแดดทำแปลงคล้ายนา
“ต้นเตยผมก็นำสายพันธุ์จากที่ชาวบ้านปลูกกันโดยทั่วไปมาปลูก โดยต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนี้จะเรียกว่า ลูกเตย”
ลุงโพธิ์บอกว่า สำหรับงบประมาณในการลงทุนทั้งหมด ใช้ไปประมาณเกือบ 1 แสนบาท
“ทำเสร็จ เตยเริ่มงามชูยอดไสว ผมนั่งมองความสำเร็จในการลงทุนครั้งแรกด้วยความหวัง แต่เชื่อไหมหายวับไปกับตา เพราะน้ำมาจากทุกทิศ”
“ด้วย แปลงเตยเราอยู่ในที่ต่ำ น้ำเข้ามาท่วมยันยอด แช่อยู่อย่างนั้นนานเป็นเดือน เห็นแต่ซาแรนกับเสาต้นเตยที่ซื้อมา ลูกเตยที่จ้างเขาดำทำแปลงไว้เน่าเสียหายทั้งหมดไม่เหลือเลย”
ลุงโพธิ์ และ ป้ากรองแก้ว ผู้เป็นภรรยาได้แต่นั่งมองและทำใจ
“ผม กับป้า 2 คน นั่งมอง เพราะทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอวันที่น้ำแห้ง เมื่อน้ำแห้งลงก็ใช้เงินเก็บที่รับเหมาก่อสร้างและทำนามาลงทุนใหม่อีกครั้ง”
ลุง โพธิ์บอกว่า แต่ในการลงทุนครั้งใหม่ มีปัญหาหลายอย่าง อาทิ ราคาต้นพันธุ์ จากเคยซื้อต้นเตยเพียงต้นละไม่กี่สิบสตางค์ ปรากฏว่าราคาขึ้น เพราะมีเกษตรกรที่ต้องการต้นพันธุ์กันเยอะ เพื่อปลูกใหม่ ทำให้ราคาต้นพันธุ์ขึ้น
“คราวนี้ ซื้อต้นละบาท เราก็ต้องยอม”
สำหรับการปลูกเตยหอม ลุงโพธิ์ได้เล่าฟังว่า อาชีพการปลูกเตยหอมนั้น สิ่งที่หนักคือ การลงทุนครั้งแรก
“ตรง นี้หนักหน่อย เพราะมีทั้งค่าโรงเรือน ค่าปรับพื้นที่ และค่าต้นพันธุ์เตยหรือลูกเตย แต่ต้นพันธุ์นี้เมื่อปลูกไปแล้วครั้งหนึ่งจะสามารถอยู่ได้นานมากกว่า 10 ปี”
ลุงโพธิ์บอกว่า หลังจากนั้นแล้วการลงทุนจะไม่มาก อีกทั้งในการปลูกเตยนั้น ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องดูแลอะไรมากเหมือนกับการปลูกข้าว
“ทั้งนี้ต้นเตยนั้นไม่ต้องการดูแลมาก ปลูกทิ้งไว้พอถึงรอบคนเก็บ คนรับซื้อมาตัดเองเสร็จ เราขายกันเป็นกิโลกรัม”
ดังนั้น การปลูกเตยนั้น ไม่ว่าเกษตรกรมือใหม่หรือมือเก่าสามารถทำได้หมด เพราะเตยปลูกง่าย ดูแลน้อยกว่าการทำนาเยอะ
“ปลูกครั้งเดียว ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำดี ไม่มีปัญหา”
โดยลุงโพธิ์มีเคล็ดลับในการปลูกเตยที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย อย่างเช่น เรื่องแรกการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้น
“หลัง จากปลูก ถ้าต้นเตยที่ปลูกมีลักษณะแก่ ไม่ค่อยแตกกอ เราก็ปลูกซ่อมเฉพาะตรงจุดที่มีปัญหา ไม่ต้องลงใหม่ทั้งหมด ไม่ต้องทำเหมือนนา ที่ต้องทำใหม่ทุกครั้ง”
“หลังจากนั้น ให้บำรุงด้วยปุ๋ย สูตร 25-7-7 เพื่อช่วยทำให้ต้นงามใบเขียวสวย ไม่เหลือง”
“แต่ ก่อนวิธีการใส่ปุ๋ยผมจะใช้วิธีการหว่านแบบข้าว ปรากฏว่าต้นเตยเน่า เนื่องจากเม็ดปุ๋ยไปค้างอยู่ตามยอดเสียหายอีก คราวนี้ก็มานั่งคิดเพราะผมเองเป็นคนชอบคิดก็เลยตัดขวดน้ำพลาสติกมาผูกติดกับ ท่อ พีวีซี จากนั้นก็หยอดเม็ดปุ๋ยลงไป ปรากฏได้ผลดีระดับหนึ่ง”
ลุง โพธิ์บอกว่า แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องปากขวดน้ำที่ตัดเล็กเกินไป เมื่อใช้มือกำปุ๋ยหยอดขวดน้ำ เม็ดปุ๋ยก็ตกหล่นไปโดนต้นเตยอีก จึงแก้ไขด้วยการไปหาซื้อกรวยน้ำมันมาต่อกับท่อ พีวีซี
“เท่านั้นเอง ทุกอย่างจบ”
ในการใส่ปุ๋ย ลุงโพธิ์บอกว่า จำนวนครั้งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นเตย
“ผมใช้วิธีการเดินไปหยอดไปเรื่อยๆ เดือนละครั้งบ้าง 2 เดือนครั้งบ้าง 3 เดือน ครั้งบ้าง แล้วแต่ความสมบูรณ์ของเตย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นตรวจสอบแปลงปลูกอยู่เสมอว่า เป็นอย่างไรบ้าง เพราะนอกจากจะได้เรื่องการใส่ปุ๋ยแล้ว ยังได้เรื่องของการป้องกันโรคแมลงด้วย ซึ่งถ้าช่วงไหนมีหนอนกวน แมลงกวน ก็ฉีดพ่นยา ส่วนเรื่องวัชพืชน้อยมากๆ แทบไม่มีให้เห็น”
ส่วนด้านให้น้ำ ลุงโพธิ์มีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า ปริมาณน้ำที่จะมีอยู่ในแปลงปลูกนั้นต้องไม่เกิน 1 ฝ่ามือ
“ประมาณ 1 ฝ่า มือ อย่าให้มากกว่าหรือน้อยกว่า เตยงามแน่นอน เรื่องนี้รับรองจากประสบการณ์ แต่ในขณะเดียวกันต้องอย่าให้น้ำขาด เพราะต้นเตยจะแคระแกร็น ไม่โต ต้นเหลือง ต้นแข็ง”
แต่ในขณะเดียวกัน มีข้อเตือนจากลุงโพธิ์ว่า ต้นเตยใส่ปุ๋ยทำพันธุ์ไม่ได้ หากนำไปทำพันธุ์จะเน่าเสียหาย
“เคย ซื้อมาปลูกเสียหายเยอะ ดังนั้น ต้นเตยทำพันธุ์ ต้องหาต้นแกร่งๆ เตยตามบ้านดี เพราะทนแข็งแรง ต้นสวย แต่ต้องเป็นต้นที่ไม่มีโรคแมลง จึงเป็นเตยพันธุ์ที่สมบูรณ์” ลุงโพธิ์กล่าว
ลุง โพธิ์กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากมีการดูแลเอาใจใส่ดี ไม่ว่าเรื่องการใส่ปุ๋ย น้ำสมบูรณ์ ปริมาณต้นเตยที่จะเก็บขายได้จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
“เคยลองตรวจสอบแบบสุ่มๆ ดู สามารถเก็บเตยได้ไร่ละ 1-2 ตัน บางครั้งก็ 3 ตัน ต่อไร่ ก็มี แล้วแต่การดูแลเอาใจใส่” ลุงโพธิ์กล่าว
“อีก อย่างที่เป็นข้อดีของอาชีพการปลูกเตยหอม คือไม่ต้องห่วงเรื่องโรคแมลง ไม่ต้องกลัวเรื่องเพลี้ยจักจั่น เหมือนกับการปลูกข้าว หรือเรื่องการจำหน่ายก็ไม่มีปัญหา ไม่เหมือนกับข้าวที่เราต้องนำไปจำนำ แต่เตยไม่ต้อง จะเห็นว่าอาชีพการปลูกเตยนั้นไม่เคยมีคนปลูกเตยมาเดินเรียกร้องราคาหรือ ประท้วง มีแต่ชาวนาที่ต้องคอยออกมาเคลื่อนไหว บางทีชาวนาเหนื่อยแทบล้มแทบตายตอนทำนา ตอนขายก็ต้องมาเหนื่อยอีก ทำนาไปเรื่อยๆ ก็ชักท้อ ตอนนี้ก็มีชาวนาหลายคนที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกเตยหอมแทน”
ทั้งนี้สนนราคาในการจำหน่าย ลุงโพธิ์บอกว่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท แพงสุดกิโลกรัมละ 10 บาท ราคาจะอยู่ประมาณนี้ทั้งปี
“เกษตรกรอย่าง เราพอใจในราคาเท่านี้ รับได้ ส่วนพ่อค้าพอใจ ขายเท่าไรก็แล้วแต่เขา เราไม่จำเป็นต้องไปรู้ ราคาซื้อเราพอใจก็คือจบ เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ การค้าจึงเกิด เรื่องอย่างนี้ต้องกินแบ่ง อย่ากินรวบ กินรวบครั้งเดียว กินแบ่งก็อยู่กันไปนานเท่านาน”
“แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่เคยมีช่วงไหนขายไม่ได้เลยเท่าที่ปลูกมา” ลุงโพธิ์กล่าว และว่า
“ถ้า เทียบกับการทำนา เตยใช้ยาและปุ๋ยน้อยมากๆ เทียบกับนา 3 เดือน ได้ตัดเตยครั้ง ตัดครั้งละไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 บาท อย่างน้อยก็ 30,000-40,000 บาท หากเทียบกับการปลูกข้าว ไร่ต่อไร่ ขายข้าวได้ 10,000 บาท เตยจะขายได้ 20,000 บาท ถ้าขายข้าวได้ 20,000 บาท ก็จะขายเตยได้ 40,000 บาท”
“อย่างในเขตตำบลไผ่ขวางที่ผมอยู่ มีการปลูกเตย พื้นที่รวมหลายร้อยไร่ และมีพ่อค้ารับซื้ออยู่ในพื้นที่ เวียนตัดทุกวัน”
ส่วน ในอนาคตจะเตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีกหรือไม่ ลุงโพธิ์บอกว่า ถ้าตลาดยังมีความต้องการอีก ก็พร้อมที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ใครสนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและดูแปลงเตยจริงได้กับ ลุงโพธิ์ ภูฆัง ได้โดยตรง โทร. (087) 167-2740 หนุ่มใหญ่นิสัยดี อารมณ์ขันผู้นี้ พร้อมให้ข้อแนะนำเสมอ