ในขณะเดียวกันที่ไต้หวันเองได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พุทราอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า พันธุ์ “น้ำผึ้ง” เป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด
หลายคนยังไม่ทราบว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีพุทราสายพันธุ์ดี ๆ มากมาย มีเกษตรกรไทยนำพันธุ์พุทราจากไต้หวันมาปลูกในบ้านเราจนประสบผลสำเร็จหลายราย เนื่องจากพุทราไต้หวันมีขนาดของผลใหญ่, รสชาติดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้วงการการปลูกพุทราในประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการปลูกพันธุ์ดั้งเดิมหันมา ปลูกพุทราไต้หวันกันมากขึ้น ชื่อพันธุ์ว่า “ซุปเปอร์จัมโบ้” ซึ่งปัจจุบันคุณวารินทร์ ยังคงปลูกพุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้และเน้นการผลิตพุทราให้มีคุณภาพเพียง อย่างเดียว คือ ผลพุทราต้องใหญ่และมีรสชาติหวาน เพราะราคาจำหน่ายออกจากสวนคุณวารินทร์ ยังค่อนข้างสูง กก.ละ 50-80 บาท อีกพันธุ์หนึ่งมีชื่อว่า พันธุ์ “ซื่อมี่” ที่คนไทยมักเรียกกันว่า “พุทรานมสด” จัดเป็นพุทราอีกสายพันธุ์หนึ่งของไต้หวัน ที่มีขนาดของผลใหญ่ทรงกระบอกสี่เหลี่ยมยาว ขนาดของผลเมื่อใหญ่เต็มที่จะมีน้ำหนัก 8-10 ผลต่อกิโลกรัม เนื้อหวานกรอบ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากในเขตภาคเหนือตอนบนเช่น จ.เชียงราย, เชียงใหม่ ฯลฯ
ในขณะเดียวกันที่ไต้หวันเองได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พุทราอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า พันธุ์ “น้ำผึ้ง” เป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่มีการปลูกมากในไต้หวันในปัจจุบันนี้ ด้วยคุณภาพที่เนื้อหวานกรอบและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรูปทรงแตกต่างจากพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้และพันธุ์นมสด คือ ทรงผลยาวเป็นรูปหัวใจ ก้นผลแหลม ขนาดของผลใหญ่มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 6-8 ผลต่อ กิโลกรัม (การตัดแต่งผล ซอยผลออกมีผลต่อขนาดความใหญ่ขนาดผลพุทรา) จากการที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร โทร. 08-1886-7398 ได้นำสายพันธุ์มาปลูกและขยายพื้นที่ปลูกพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” พบว่าพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” มีรสชาติหวานกรอบ, มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวมาก, เมล็ดเล็ก และที่น่าสนใจมาก คือ จุดเด่นในเรื่องของอายุการวางตลาดของพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” ที่หลังจากเก็บออกมาจากต้นจะค่อนข้างนานกว่าพันธุ์จัมโบ้และพันธุ์ซื่อมี่ โดยพุทราพันธุ์มิ่งเฉา จะมีก้นผลไม่เปลี่ยนเป็นสีแดงเลย จะคงสภาพสีผิวเหมือนเดิม นั้นเป็นคำตอบในการพัฒนาสายพันธุ์พุทราของไต้หวัน ที่นอกจากรสชาติหวานทานอร่อยมีกลิ่นหอมนั่นก็คือการวางตลาดที่นานโดยผลพุทรา ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพหรือบ้านเราเรียก “พุทราก้นแดง” ยิ่งนำไปเก็บรักษาในตู้เย็นยิ่งเก็บได้นานนับเดือนทีเดียว การปลูกพุทราในไต้หวันที่นำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ สภาพดินที่ใช้ปลูกพุทราในไต้หวันจะให้ความสำคัญในเรื่องของอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยคอก ค่าของความเป็นกรดและด่างของดินเฉลี่ย pH = 6 - 6.5 เหมาะสมที่สุด ต้นพุทราไม่ชอบสภาพดินเป็นกรด.