เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปัญหาปุ๋ยน้ำหมัก
   
ปัญหา :
 
 
  1. ความเป็นมาของปุ๋ยน้ำหนัก ทำไมจึงเป็นที่สนใจของเกษตรกรอย่างกว้างขวาง และในปุ๋ยน้ำหมักมีอะไรบ้าง
  2. ขอทราบความแตกต่างระหว่างปุ๋ยน้ำหมักกับปุ๋ยน้ำชีวภาพนั้นเป็นอย่างไร
  3. อ่านจากหนังสือหรือดูจากโทรทัศน์ พบว่าปุ๋ยหมักน้ำมีสูตรหลากหลายมากมายจริง ๆ ไม่ทราบว่าจะใช้สูตรใดจึงจะดี
  4. ปุ๋ยน้ำหมักใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้หรือไม่ ปุ๋ยน้ำหมักสามารถฉีดต้นไม้ได้ตลอดทั้งวันหรือไม่ หรือต้องเลือกเวลา
  5. การทำปุ๋ยน้ำหมัก โดยใช้พืชหลายชนิดหมักรวมกัน จะมีปัญหาหรือไม่
  6. ปุ๋ยน้ำหมักที่ได้จากปลา เมื่อเปรียบเทียบกับได้จากเครื่องในเป็ด ไก่ จะได้ผลดีเช่นเดียวกันหรือไม่
  7. มีการตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยน้ำหมักแต่ละสูตรหรือไม่ หากมี หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ
  8. การทำปุ๋ยน้ำหมักจากพืชและปลา จะทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดไม่มีประโยชน์เกิดขึ้น
  9. ปุ๋ยหมักน้ำเก็บไว้ได้นานที่สุดกี่เดือน หรือกี่ปี
  10. การใช้ปุ๋ยน้ำหมักและฮอร์โมนผลไม้พ่นทางใบในฤดูฝนมักเกิดเชื้อราปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไร
  11. หากดายหญ้าบนร่องสวน แล้วจะทำเป็นปุ๋ยหมักโดยไม่ต้องขนย้ายออกจากร่องสวน จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
  12. น้ำอามิ-อามิ จัดอยู่ในประเภทปุ๋ยน้ำหมักหรือไม่ น้ำอามิ-อามิกับปุ๋ยน้ำหมัก อย่างไหนให้คุณค่าในการบำรุงต้นไม้มากกว่ากัน
  13. กรณีที่กากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นมาก ๆ เนื่องจากมีความต้องการสูงในการมาทำปุ๋ยน้ำหมัก หากเป็นจริงจะใช้อะไรทดแทนได้
  14. กากน้ำตาล คือส่วนไหนของน้ำตาล ทำไมจึงเหมาะสำหรับนำมาทำปุ๋ยน้ำหมัก และมีอะไรเป็นส่วนประกอบ
  15. ที่ผู้บรรยายบอกว่า จะใช้ปุ๋ยใด ๆ ก็ตาม ต้องรู้จักพื้นฐานของดินก่อน ไม่ทราบใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด และจะส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ที่ไหน
วิธีแก้ไข :
 
  1. ในปี พ.ศ. 2540 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยอย่างรุนแรง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มีผลทำให้ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันกระแสของการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองได้รับความสนใจกันมากขึ้น เกษตรกรจึงให้ความสนใจปุ๋ยน้ำหมักหรือนิยมเรียกว่า น้ำสกัดชีวภาพ สำหรับใช้ในการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีลงบางส่วนและสามารถลดต้นทุนการผลิตลง ภูมิหลังความเป็นมาของการพัฒนาการใช้ปุ๋ยน้ำหมักในประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้ เกษตรกรไทยรู้จักใช้ น้ำล้างปลา หรือ น้ำหมักเครื่องในและเศษปลา รดต้นพลู สะระแหน่ และพืชผักอื่น ๆ มาเป็นเวลาช้านาน โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น มีใบสีเขียวน่ารับประทาน วิธีข้างต้นเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานระบุแน่นอน จึงจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหนึ่ง จุลินทรีย์ อีเอ็ม หรือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (EM :- Effective Micro-organism) มีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ทางศาสนาเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมธรรมชาติคิวเซ ระหว่างปี พ.ศ. 2524-2527 มีวัตถุประสงค์สำคัญคือนำมาผลิตปุ๋ยหมักน้ำ ปุ๋ยหมักแห้งโบกาฉิ และสารละลายสุโตจู สำหรับผลิตอาหารที่ปราศจากสารเคมี ทั้งนี้ ดร. ฮิหงะ อาจารย์ผู้วิจัยและสอน สาขาจุลินทรีย์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น ผู้ค้นพบ อีเอ็ม อธิบายไว้ว่า อีเอ็ม ประกอบด้วย จุลินทรีย์รวมประมาณ 80 ชนิด มีทั้งชนิดต้องการออกซิเจน ชนิดไม่ต้องการออกซิเจน บางชนิดมีความสามารถย่อยสลายโปรตีน บางชนิดย่อยเซลลูโลสได้ดี ทั้งนี้มี พายน้ำ (water) เป็นสารละลายตัวกลางที่ทำให้จุลินทรีย์ ทั้งหมดอาศัยอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ดร. ฮิหงะ และสำนักงานเกษตรกรรมธรรมชาติคิวเซ ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำมาผลิตปุ๋ยน้ำหมักกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ มีนักวิชาการบางท่านให้ข้อคิดไว้ว่า การนำจุลินทรีย์อีเอ็ม จากต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทย อาจเกิดการแข่งขันกับจุลินทรีย์ท้องถิ่น จนทำให้เกิดความไม่สมดุลในธรรมชาติขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของ หอยเชอรี่ แล้วเราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ได้ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน กรมพัฒนาที่ดิน ได้ผลิตหัวเชื้อปุ๋ยหมักจากจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า พด. 1 แจกจ่ายให้เกษตรกร เป็นรูปผงบรรจุซอง ขนาดน้ำหนัก 250 กรัม ต่อซอง เชื้อดังกล่าวทำหน้าที่ย่อยสลายเซลลูโลสในเศษซากพืชจากรูปที่ต้นไม้นำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น อัตราแนะนำ 1 ซอง ใช้ผลิตปุ๋ยหมักได้ 1 ตัน ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยน้ำหนักแทนจุลินทรีย์ อีเอ็ม ระหว่าง ปี พ.ศ. 2538-2540 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ท.) โดย ดร. สุริยา ศาสน์รักกิจ ได้วิจัยและพัฒนาปุ๋ยน้ำหมัก เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร เนื่องจากในขณะนั้น มีโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการส่งออก ประมาณ 120 โรงงาน ทำให้มีเศษเหลือจากเนื้อปลาและส่วนที่เป็นเครื่องในปลา จำนวนกว่า 2 หมื่นตัน ในแต่ละปี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาของเหลือทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ ในระยะแรกของการวิจัยได้นำกรดฟอร์มิก (กรดกัดยาง) และกรดอะซิติก (กรดน้ำส้ม) มาใช้ในกระบวนการเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้ง ดังนั้น น้ำหมักที่ได้จะมีฤทธิ์เป็นกรดจัด ก่อนการนำไปใช้ประโยชน์ เกษตรกรต้องเติมปูนขาวเพื่อให้น้ำหมักมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ระดับ 6.0-6.5 ซึ่งเป็นการยุ่งยากสำหรับเกษตรกรที่จะนำไปปฏิบัติในไร่นาของตน ระหว่าง ปี 2540-2543 ดร. อรรถ บุญนิธิ ข้าราชการบำนาญแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาสูตร น้ำสกัดชีวภาพ หรือ บีอี (BE :-Bio-extract) โดยใช้เศษพืชผัก ผลไม้และสมุนไพร ที่ยังสดอยู่ พร้อมเติมกากน้ำตาลหรือน้ำตาลโมลาส อัตรา 3 : 1 ส่วนเศษปลา หอยเชอรี่ หรือเปลือกกุ้ง 1 ส่วน ต่อกากน้ำตาล 1 ส่วน เท่ากัน หมักไว้ในถังพลาสติก ปล่อยเชื้อจุลินทรีย์ในธรรมชาติเข้าย่อยสลายวัสดุข้างต้น ภายใน 7-14 วัน นำน้ำสกัดมาใช้ประโยชน์ได้ จากผลวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยน้ำหมัก พบว่า มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในปริมาณค่อนข้างต่ำ อาจไม่พอเพียงกับความต้องการของต้นไม้ ยกเว้นกรณีที่ต้นไม้ขาดธาตุอาหารเพียงเล็กน้อย ธาตุอาหารจากปุ๋ยหมักน้ำอาจช่วยทดแทนส่วนที่ขาดไปได้ ประการสำคัญมีการตรวจพบ สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช แม้จะมีปริมาณต่ำ แต่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเกิดประโยชน์กับต้นไม้ได้ สารที่พบจัดอยู่ในกลุ่ม ออกซิน (Auxin) มี 3 ชนิด คือ 1. ไอเอเอ มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช กระตุ้นให้รากแข็งแรงและเพิ่มปริมาณรากของต้นพืชอีกด้วย 2. จีเอ 3 ทำหน้าที่กระตุ้นการแตกตาของต้นไม้ ช่วยยืดขั้วผลให้ยาวขึ้น และไม่ทำให้ผลร่วงง่าย 3. ไซโตไคนิน มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดตาด้านข้างของต้นไม้และพัฒนาต่อไปเป็นกิ่งก้านสาขาได้ สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ในน้ำหมักนับว่ามีประโยชน์ต่อต้นไม้หลายประการ แต่ไม่ควรละเว้นการบำรุงต้นไม้ ด้วยการเพิ่มธาตุอาหารทางดินไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ควบคู่กันจะได้ผลดียิ่งขึ้น
  2. ขออธิบายความหมายของ ปุ๋ย เป็นอันดับแรก ปุ๋ย หมายถึง วัตถุใด ๆ ที่มีอาหารจำเป็นสำหรับพืช ที่ทำให้พืชเจริญเติบโต ผลิดอก ติดผลและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ปุ๋ยอาจได้จาก ซากพืช ซากสัตว์ เศษขยะมูลสัตว์และสารประกอบเคมีอื่น ๆ ก็ได้ ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึง ปุ๋ยหมัก ด้วย หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากอินทรียสารชนิดต่าง ๆ ที่ผ่านการสับบด หรือหมักแล้ว ปุ๋ยชนิดนี้จะเกิดประโยชน์ต่อต้นไม้ จะต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์มาก่อน ปุ๋ยน้ำหมักจึงจัดอยู่ในปุ๋ยชนิดนี้ ปุ๋ยชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และมีปริมาณมากพอที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างรวดเร็วในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชให้สูงขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยทำให้รากพืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ ไรโซเบียม ที่อาศัยอยู่ตามรากพืชตระกูลถั่ว จะทำหน้าที่จับเอาก๊าซออกซิเจนจากอากาศให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ และจุลินทรีย์จะได้รับผลตอบแทนคือน้ำเลี้ยงจากรากพืชที่เป็นอาหารอันโอชะของจุลินทรีย์ไรโซเบียม ส่วนปุ๋ยน้ำหมัก นั้น จุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหารในครัวเรือน เนื้อหอยเชอรี่หรือจากเศษซากพืชอื่น ๆ ที่มีองค์ประกอบของโปรตีนและเซลลูโลสที่พืชนำไปใช้ได้น้อยหรือใช้ไม่ได้ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ บางแหล่งอาจเรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือ ปุ๋ยหมักน้ำ ให้เข้าใจว่านั่นคือ ปุ๋ยน้ำหมัก นั่นเอง
  3. สูตรของปุ๋ยหมักน้ำนั้นมีมากมายหลายสูตรก็จริงอยู่ แต่เมื่อสรุปรวมมีเพียง 2 สูตร เท่านั้น 1. สูตร ปุ๋ยหมักน้ำจากพืช จะใช้เศษพืชผักและผลไม้ต่าง ๆ ให้เติมกากน้ำตาล อัตรา 3 : 1 โดยปริมาตร และบรรจุเศษพืชในถังพลาสติกสีเข้ม เติมกากน้ำตาลทับด้วยซีเมนต์บล็อกแล้วปิดฝาให้สนิท รุ่งเช้านำแผ่นซีเมนต์บล็อกออก เติมเชื้อ อีเอ็ม หรือเชื้อ พด. 1 ปิดฝาให้สนิท ตั้งทิ้งไว้ในร่ม 14 วัน รินน้ำสีเข้มมาใช้ประโยชน์ได้ วิธีการใช้ กรณีฉีดพ่นใบและทรงพุ่มให้ผสมน้ำ อัตรา 1 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร ถ้าใช้รดลงดินให้ใช้อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำครึ่งลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงในดิน 3-5 ครั้ง เมื่อพบว่า ต้นไม้เจริญเติบโตหรือติดผลดีแล้วให้หยุดใช้ 2. สูตร ปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่หรือเศษปลา ให้ใช้กากน้ำตาล อัตรา 1 : 1 หมักจนครบ 14 วัน หากยังมีกลิ่นเหม็นให้เติมกากน้ำตาล จนหมดกลิ่น วิธีใช้ฉีดพ่นหรือรดลงดินในอัตราเดียวกับปุ๋ยน้ำหมักที่ได้จากพืช ส่วนจะมีการเติมวัสดุอื่น ๆ นั้นย่อมขึ้นกับความพอใจของแต่ละบุคคล จึงไม่ควรตื่นเต้นหรือสับสนครับ ให้ยึดคำแนะนำข้างต้นเป็นใช้ได้ครับ
  4. ปุ๋ยน้ำหมักสามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ แต่ไม่ควรผสมกัน ปุ๋ยเคมีควรใส่ลงดินตามปกติ คุณอาจลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงบ้างตามความเหมาะสมก็จะได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปุ๋ยน้ำหมักควรฉีดพ่นในเวลาเย็นที่แสงแดดอ่อน ๆ จะเป็นเวลาที่ดีที่สุด
  5. การทำปุ๋ยน้ำหมัก ที่ใช้พืชหลายชนิดหมักรวมกันจะไม่มีปัญหาแต่ประการใด ทั้งนี้ ควรเป็นพืชฉ่ำน้ำ ที่หาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายจากถิ่นห่างไกล ขั้นต้นจึงแนะนำให้ใช้เศษพืชผักและอาหารในครัวเรือนไปก่อน
  6. ได้ผลดีเช่นเดียวกัน เนื่องจากวัสดุทั้งสองชนิดเป็นโปรตีนเมื่อเกิดการย่อยสลายจะได้ธาตุไนโตรเจน ในปริมาณค่อนข้างสูง แต่ข้อแตกต่างคือเครื่องในเป็ดและไก่ อาจนำไปทำอาหาร ประเภทปิ้ง หรือย่าง จะได้ราคาสูงกว่า
  7. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ คือ กองเกษตรเคมี และ กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร จะสุ่มจากแหล่งจำหน่ายมาตรวจสอบคุณภาพ ปัจจุบันได้ตรวจสอบคุณภาพไปแล้วหลายร้อยตัวอย่าง ทั้งนี้ หากไม่มีการเติมปุ๋ยเคมีร่วมด้วย ผลวิเคราะห์แต่ละสูตรจะมีธาตุอาหารใกล้เคียงกัน โดยจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือได้จากปลาหรือหอยเชอรี่ และอีกกลุ่มคือ ได้จากเศษพืชผักและผลไม้ ต้องการรายละเอียด ติดต่อสอบถามที่ กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร ภายในเกษตรกลางบางเขน
  8. กระบวนการหมักที่สมบูรณ์ ด้วยเวลาตั้งแต่ 14 วัน ขึ้นไป และใส่กากน้ำตาลอย่างพอเพียงแล้ว จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่มีประโยชน์จะตายเกือบทั้งหมด หรือแม้แต่จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ก็เหลือน้อยลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากมี แอลกอฮอล์ และ สารละลายที่ได้มีฤทธิ์เป็นกรด จะทำลายจุลินทรีย์ให้ตายลง
  9. ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 3 เดือน เนื่องจากธาตุไนโตรเจนจะเปลี่ยนรูปไปกลายเป็นก๊าซแอมโมเนียระเหยไปในอากาศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชก็จะสลายตัวไปจนหมด
  10. แก้ไขโดยปล่อยให้กระบวนการหมักเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์จนน้ำตาลถูกเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์จนหมด อาการของโรคที่พบจะหมดไป หรืออาจผสมสารเคมีกำจัดเชื้อราลงในปุ๋ยน้ำหมักก็จะช่วยได้
  11. ให้นำเศษหญ้ากองสุม ขนาด 1x3 เมตร หนา 25 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม แล้วราดด้วยปุ๋ยน้ำหมัก ขึ้นย่ำให้แน่น ทำเช่นเดียวกันทีละชั้น จนครบ 5 ชั้น และราดปุ๋ยหมักน้ำทับหลังสุด เสียบทะลุกองปุ๋ยด้วยไม้ไผ่แนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก แนวละ 2 ลำ ปิดทับด้วยทางมะพร้าว หรือกระสอบปุ๋ยเก่า เมื่อกองปุ๋ยหมักมีความร้อนสูงมาก ให้ถอดลำไม้ไผ่ออกจนหมดเพื่อช่วยระบายความร้อน ทำให้กองปุ๋ยหมักเย็นลง ใช้เวลา 2 เดือน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
  12. อามิ-อามิ เป็นผลพลอยได้จากการผลิตผงชูรส ซึ่งมีธาตุไนโตรเจนสูง และมีความเค็มสูงด้วยเช่นเดียวกัน คำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตให้ใส่ลงดิน จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร สรุปไว้ว่า หากใช้ติดต่อกันหลายปี จะทำให้โครงสร้างของดินเสีย ในทางวิชาการไม่เรียกว่าปุ๋ยน้ำหมัก แต่จะเรียกว่าของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม หากจะเทียบกันแล้วคุณค่าการบำรุงต้นไม้ ปุ๋ยน้ำหมักจะเหนือกว่า เนื่องจากมีสารควบคุมการเจริญเติบโต หรือฮอร์โมนในปุ๋ยน้ำหมัก แต่ไม่มีในอามิ-อามิ
  13. ปัจจุบันแนวโน้มของกากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้น แต่ถ้าหากสูงเกินความเป็นจริง ก็สามารถใช้น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลอ้อยทดแทนได้ เพราะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน
  14. กากน้ำตาล คือน้ำตาลส่วนที่เหลือจากการตกผลึกไปแล้ว มีสีน้ำตาล ดำ ข้นและเหนียว ประโยชน์ที่นำมาใช้ในการทำปุ๋ยน้ำหมัก เพราะกากน้ำตาลจะมีความเข้มข้นสูงกว่าเซลล์พืชผัก จึงเร่งกระบวนการดูดน้ำออกจากเซลล์พืช ทำให้เซลล์เหี่ยวและแตกลงในที่สุด เปิดโอกาสให้จุลินทรีย์เข้าย่อยสลายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ น้ำตาลยังเป็นแหล่งพลังงานหรืออาหารให้กับจุลินทรีย์อีกทางหนึ่ง ส่วนประกอบของกากน้ำตาล มีน้ำ 20 เปอร์เซ็นต์ น้ำตาลที่เป็นประโยชน์ 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นจะมีขี้ผึ้งยางไม้ แป้ง โพแทสเซียม และซิลิก้า
  15. ต้องนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ หาอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ดินที่มีอินทรียวัตถุสูงเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ และมี pH ระหว่าง 5.5-6.0 มีฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม 30 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) และ 200 พีพีเอ็ม ดินดังกล่าวจัดว่าเป็นดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แหล่งรับบริการวิเคราะห์ดิน มีสองแหล่งคือ กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ใกล้สี่แยกเกษตร
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ปีที่ 14 ฉบับที่ 277
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM