ก็เพราะส้มตำเป็นอาหารหลักของภาคอีสานต้องใส่มะเขือเทศ แม้บางคนไม่รับประทานมะเขือเทศ แต่ต้องใส่ไม่งั้นมันไม่แซบอีหลี เพราะเหตุใดต้องใส่มะเขือเทศก็ไม่รู้เหมือนกันใครรู้ช่วยมาบอกทียินดีรับฟัง แต่รู้ไหม แม้จะใส่มะเขือเทศลงไปในส้มตำ แต่ที่อีสานเขาปลูกมะเขือเทศไม่มากนัก ฉะนั้นจึงต้องนำมาจากภาคอื่น ...ขาดดุลนะนี่
แต่มีที่หนึ่งที่โคราชมีการปลูกมะเขือเทศ ปลอด ภัยจากสารพิษซะด้วยนะก็ที่อำเภอหนองบุญมากนี่ไงล่ะ เรื่องนี้ คุณสมนิตย์ เหล็กอุ่นวงษ์ เธออยู่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องการปลูกมะเขือเทศของที่นี่ อย่าไปสนใจเลยว่าราคามะเขือเทศตอนนี้น่ะเท่าไหร่ เพราะประเด็นสำคัญที่จะบอกเล่าในวันนี้เป็นเรื่องของการปลูกการดูแลรักษาให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพและปลอดภัยจากสารพิษต่างหาก
นายอยู่ จุลสี อยู่บ้านเลขที่ 176 หมู่ 6 ต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญ มาก ใช้พื้นที่ 3 ไร่ปลูกมะเขือเทศโดยการปลูกจะยกร่องสูง 1 ฟุตแล้วคลุมแปลงด้วยพลาสติกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ดินและป้องกันการเกิดวัชพืช ส่วนระบบการให้น้ำจะต่อสายยางไว้ใต้พลาสติกพอถึงเวลาให้น้ำก็ปล่อยน้ำไปทำให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการให้ปุ๋ยก็ใส่มาพร้อมกับการให้น้ำได้สะดวกดีไม่มีปัญหา นอกจากนี้แล้วยังทำค้างไม้เพื่อให้ต้นมะเขือเทศเกาะเป็นการพยุงต้นให้มั่นคงไม่ล้มลุกคลุกคลาน
นายอยู่บอกว่า ผลผลิตได้ไร่ละ 4 ตันโดยเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุได้ 3 เดือนขึ้นไปนับจากเพาะกล้าและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 4 เดือนแน่ะ หากเป็นช่วงที่ผลผลิตขาดแคลนเช่นช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปีราคาก็จะดี๊ดี เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเทศหมดแล้วจะปลูกแตงกวาสลับเพื่อลดการระบาดของโรคและแมลงตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร
สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะใช้สมุนไพรเป็นหลัก สูตรที่ใช้คือ บอระเพ็ดและทะแหยก ด้วยอัตราส่วน บอระเพ็ด 20-30 ท่อนต่อทะแหยก 1-2 ราก ผสมน้ำ 1 ถัง หมักทิ้งไว้ 1 คืน พอรุ่งเช้าจึงนำไปฉีดพ่นโดยใช้เครื่องฉีดแบบสะพายหลัง พื้นที่ 3 ไร่ใช้น้ำสมุนไพร 10-15 ถังจะสามารถป้องกันโรคราสนิมได้
“1 ปีสามารถปลูกมะเขือเทศได้ 3 ครั้ง ซึ่งในอนาคตจะขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก” นายอยู่บอก
เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่สนใจจะปลูกมะเขือเทศคงจะสามารถนำรูปแบบการปลูกของนายอยู่ จุลสี ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาของตนเองได้เป็นอย่างดี.