เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไผ่บงหวานเมืองเลย ก.ม.19 พืชสร้างไพร ไม้สร้างเงิน ที่ราวไพร...ภูสวรรค์
   
ปัญหา :
 
 
ริมถนนสายเมืองเลย-หล่มสัก หากเป็นช่วงฤดูหนาว ทิวทัศน์สดใสไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งสีสันของไม้ป่าอย่างเต็งรัง ที่ใบเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นแดงและส้ม ถนนเส้นนี้ทอดยาวเชื่อมระหว่างจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ บางช่วงผ่านแหล่งเกษตรกรรมสมัยใหม่อย่างอำเภอภูเรือ อำเภอนี้เขามีชื่อทางด้านดอกไม้

ครั้นเข้าสู่ฤดูฝน ไม้ดอกไม้ใบลดจำนวนลง สิ่งที่มาแทนที่เป็นผัก ผลไม้ รวมทั้งของป่าอย่างเห็ด หน่อไม้ สภาพแวดล้อมของสองข้างทางก็เปลี่ยนไป ใบไม้ที่เคยแห้งเหี่ยวกลับเขียวขจี โดยเฉพาะต้นมะขาม จะมีใบใหม่สีเขียวอ่อน พร้อมกับมีดอกและฝักเล็กๆ รอให้เจ้าของฟูมฟักเพื่อการเก็บเกี่ยว

ออกจากตัวจังหวัดเลย มุ่งไปทางอำเภอด่านซ้าย ตรงกิโลเมตรที่ 19 ขวามือ มีแหล่งศึกษาไผ่บงหวานเมืองเลย ซึ่งตรงนั้นเรียกว่า บ้านภูสวรรค์ ตำบลเสี้ยว อำเภอเมือง จังหวัดเลย



เมืองเลย เมืองไผ่

จังหวัดเลยนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงสลับซับซ้อน ยุคเก่าก่อน อุดมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด

พืชชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์คือไผ่ ขอยกตัวอย่าง เช่น ไผ่บง ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่ไร่ลอ ไผ่บ้าน (ไผ่สีสุก) ไผ่ข้าวหลาม ไผ่เปราะ ไผ่เลี้ยง (ไผ่สร้างไพร) ไผ่บงหวาน ไผ่เซิม

ไผ่ซาง ไผ่ซี้ ไผ่หก ไผ่เฮี้ย ไผ่ซอด และอื่นๆ

ชื่อบางชื่อของไผ่ในจังหวัดเลย อาจจะไปพ้องกับถิ่นอื่นบ้าง แต่แถบนั้นมีไผ่ไม่น้อยกว่า 10 สายพันธุ์แน่นอน ศิลปินเพลงกลุ่มหนึ่งที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่แถบนั้น ถึงกับนำไปแต่งเป็นเพลงร้องได้อย่างน่าฟัง หากจำไม่ผิด ชื่อเพลง "หน่อไม้หนุนช่วยการปฏิวัติ" แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง คงเนื่องจากผู้แต่งรู้ซึ้งถึงคุณค่าของหน่อไผ่ เพราะทำให้ชีวิตเขาเหล่านั้นอยู่รอดมาได้ บางเพลงสะท้อนออกมาแล้วสะเทือนใจ อย่างเนื้อเพลงบางท่อน "ของกินมีแต่ข้าวแห้ง...แกงหน่อไม้บ่ใส่เกลือ...ความทุกข์เฮามีหลายเหลือ... "

เนื่องจากจังหวัดเลย เป็นถิ่นของไผ่ การใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ จึงมีมากมายมหาศาล

ไผ่เซิม ที่ขึ้นอยู่ในป่าดิบ เมื่อนำมาแปรรูปเป็นกระติบข้าว แล้วเจ้าของเผลอวางกระติบข้าวไว้กระท่อม ช้างมาเห็นเข้า กินกระติบข้าวเข้าไป เจ้าของตามไปเก็บกระติบข้าวที่ช้างขี้ นำมาล้างใช้งานได้ดังเดิม เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติความเหนียวของเส้นไม้ตอก กระเพาะช้างมิอาจย่อยได้ ก็เล่าต่อๆ กันมา เป็นเรื่องราวสมัยที่ป่ายังเป็นป่า มีช้าง มีสัตว์มากมาย

ที่บ้านน้ำพุ อำเภอด่านซ้าย และตัวตลาดอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ชาวบ้านเขาขายข้าวหลามที่ใช้ไผ่ข้าวหลามแท้ๆ เผา รสชาติอร่อยมาก ไผ่ข้าวหลามเป็นไผ่ป่าชนิดหนึ่ง เมื่อลำยังอ่อนสีฟ้าเข้ม กาบหุ้มลำสีเหลืองแก่ ลำไม่ใหญ่แต่ปล้องยาว คุณสมบัติโดดเด่นที่พบอยู่นั้น ไผ่ข้าวหลามมีเยื่อที่ลอกแล้วติดกับข้าวเหนียวได้ดี เยื่อไม่บางหรือหนาเกินไป เยื่อมีกลิ่นหอม

ใครไปอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ใช้เส้นทางเพชรบูรณ์ ต้องผ่านบ้านน้ำพุอยู่แล้ว หากเป็นช่วงปลายฤดูหนาว ชาวบ้านนิยมนำข้าวไร่ใหม่ๆ มาทำข้าวหลาม จะได้ข้าวหลามที่มีกลิ่นหอม ปลอดจากสารพิษ เปรียบเทียบกับข้าวหลามที่อื่น ความอร่อยของที่นั่นสู้ได้ แต่ปริมาณนั้นมากกว่าที่อื่นอย่างแน่นอน

ไผ่ชนิดอื่นๆ ก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป อย่างไผ่เฮี้ย ลำตรง ปล้องยาวมาก เนื้อไม้ตอกจักสานได้ดี แต่ผิวนั้นคมที่สุด เขาจะบอกต่อๆ กันมา หากอยู่ในป่า หากระดาษชำระไม่ได้ ห้ามใช้ผิวของไผ่เฮี้ยแทนเด็ดขาด



แล้วบงหวานเป็นอย่างไร

ต้นฤดฝน หากแวะเวียนไปที่ตลาดอำเภอด่านซ้าย หรือไม่ก็ตลาดแลง (ตลาดยามเย็น) ที่ตัวจังหวัดเลย จะเห็นผักพื้นบ้านมากมาย ในจำนวนนั้น มีบงหวาน หน่อไม่ใหญ่นักวางขายอยู่ แต่เมื่อถึงกลางฤดูฝนและปลายฤดูฝนไปแล้ว จะมีไผ่ไร่ที่หาจากธรรมชาติมาแทนที่

เนื่องจากจังหวัดเลยมีพื้นที่เป็นป่าเขา ที่ราบเล็กๆ ส่วนใหญ่มีน้ำไหลทรายมูล เหมาะต่อการเจริญเติบโตของไผ่ ดังนั้น จึงพบไผ่มากมายหลายชนิด ดังที่ได้แนะนำมาแล้ว ไผ่พื้นเมืองของจังหวัดนี้ แปลกกว่าถิ่นอื่น มีลักษณะหน่อไม่ใหญ่นัก หักมากินได้สดๆ มีรสหวาน ต่อมาเป็นที่รู้กันว่า "ไผ่บงหวานเมืองเลย" คนเฒ่าคนแก่ที่อายุ 80-90 ปี บอกต่อๆ กันมาว่า สมัยพ่อแม่ของท่านเหล่านั้น เป็นผู้ปลูกบงหวานเมืองเลยสืบทอดกันมา

ถิ่นบงหวานเมืองเลย เดิมทีพบแถบบ้านนาทุ่ม อำเภอด่านซ้าย และลุ่มน้ำหมาน เขตอำเภอเมือง จังหวัดเลย เนื่องจากมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ สายพันธุ์จึงกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลาง ใต้ พื้นที่ที่ปลูกบงหวานได้ผลดีนั้น หากอยู่ริมลำธาร ที่น้ำท่วมวันสองวันแล้วแห้ง ขณะเดียวกันก็พัดนำอินทรียวัตถุมาทับถม ไผ่จะให้หน่อที่คุณภาพดี รสชาติดี

ดินเหนียวที่ลุ่มภาคกลาง อย่างนนทบุรี ปทุมธานี ปลูกได้เช่นกัน แต่คุณสมบัติต่างๆ สู้ริมลำธารริมห้วยไม่ได้

ไผ่บงหวานเมืองเลย เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำขึ้นเบียดกันแน่น ลำต้นไม่ตรงนัก เนื้อในของลำตัน แตกกิ่งที่ปลายลำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร สูง 5-8 เมตร บริเวณเหนือข้อเล็กน้อยมีแถบวงแหวนสีขาวรอบลำ มีรากอากาศอยู่รอบข้อ ครีบกาบทั้งสองข้างของกาบหุ้มลำมีขนาดไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน

หน่อของบงหวานเมืองเลยไม่ใหญ่นัก มีสีเขียว หนัก 200-300 กรัม ต่อหน่อ เนื้อหน่อละเอียด รสชาติหวาน มัน กรอบ อร่อย ที่สำคัญรับประทานสดได้ สามารถนำไปปรุงอาหารได้เหมือนอย่างหน่อไม้ชนิดอื่นๆ

แต่แตกต่างจากหน่อไม้ชนิดอื่น อยู่ที่รับประทานสดๆ ได้ดี



ขยายพันธุ์และปลูก

ไม่ยากอย่างที่คิด

คุณมณี จันทะ ผู้เชี่ยวชาญไผ่บงหวาน ประจำสวนไผ่ ก.ม.19 บอกว่า วิธีการขยายพันธุ์ไผ่บงหวานเมืองเลยนั้น ทำได้หลายวิธีด้วยกัน นับตั้งแต่เพาะเมล็ด ชำเหง้า ชำกิ่งหรือแขนง จากการศึกษาของทางสวนไผ่บงหวาน ก.ม.19 รวมทั้งปรึกษาหารือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย พบว่า วิธีเพาะเมล็ดมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากต้นมีอายุการให้ผลผลิต 30-50 ปี นานกว่าชำเหง้าและกิ่ง

วิธีการเพาะเมล็ด เริ่มจากเก็บเมล็ดไผ่บงหวานที่แก่จัด เพาะในกระบะเพาะ โดยมีวัสดุเล็กละเอียด เก็บความชื้นได้ดี รดน้ำทุกวัน แต่อย่าให้แฉะ ราว 7-10 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก จากนั้น 3-4 สัปดาห์ ย้ายกล้าลงชำในถุงพลาสติคที่เตรียมไว้ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นแข็งแรงและสามารถดูแลทั่วถึง ก็นำลงปลูกได้ แต่ที่สวน ก.ม.19 จะใช้เวลาเตรียมต้น 6-12 เดือน จึงนำออกเผยแพร่ ทั้งนี้ ให้แน่ใจว่า นำไปปลูกลงแปลงแล้ว เปอร์เซ็นต์รอดมีมาก

คุณมณี แนะนำว่า ไผ่บงหวานเมืองเลย เป็นพืชที่ชอบอากาศชุ่มชื้น แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ดังนั้น จึงควรปลูกในที่ดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำได้ดี ปลูกได้ทั้งที่ราบและเชิงเขา ถึงแม้ไม่มีแหล่งน้ำก็ปลูกได้ แต่หากปลูกเป็นการค้า มีน้ำดีจะได้เปรียบ

หลุมปลูกควรขุดกว้าง ยาว และลึก 30-50 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 3x3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 177 ต้น หากใช้ระยะ 4x4 พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น ระยะปลูกขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และที่ดินที่ปลูก หากมีที่ว่างมาก อาจจะใช้ระยะห่าง เกษตรกรบางรายอาจจะปลูกริมรั้ว ระยะระหว่างต้นก็แล้วแต่สะดวก

ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้นฤดูฝน ก้นหลุมควรรองด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว

เจ้าของแนะนำว่า ไผ่บงหวานเมืองเลย เป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก แต่หากไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร ก็อาจจะให้ผลผลิตไม่เต็มที่ หรือเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น หลังจากปลูกแล้ว ในช่วงปีที่ 1 ควรป้องกันไม่ให้แมลงเข้ากัดกินและอาศัยอยู่ตามกาบของหน่ออ่อน ในระยะช่วงฝนจะต้องกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งอาหารของต้นไผ่

เรื่องของวัชพืช เป็นปัญหาเฉพาะระยะ 1-3 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นไปแล้ว วัชพืชจะน้อยลง เพราะต้นไผ่แผ่กิ่งก้านแดดส่องไม่ถึง แต่ต้องระวังเรื่องของไฟป่าบ้าง

ไผ่อายุ 2-3 ปี เริ่มมีหน่อแล้ว แต่ไม่มากนัก ผู้ปลูกควรเหลือหน่อไว้พอสมควร เพื่อจำนวนหน่อในปีต่อๆ มา ขนาดของหน่อไผ่ปีแรกๆ หน่อค่อนข้างเล็ก จากนั้นก็จะโตขึ้นตามลำดับ

เรื่องของปุ๋ย โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือใช้แกลบดิบ คลุมโคนให้ หากปลูกเป็นการค้า ควรใส่ปุ๋ยเคมีผสมผสาน โดยใช้สูตร 15-15-15 หรือ 46-0-0 ปริมาณนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของกอ



ผลตอบแทน

ได้ทั้งสิ่งแวดล้อม ได้ทั้งเงิน

ไผ่บงหวาน เป็นพืชที่ปลูกแล้วจะสร้างความชุ่มเย็นให้บริเวณนั้นไม่มากก็น้อย แต่หากปลูกเป็นผืนใหญ่ๆ แน่นอนเหลือเกิน เดือนเมษายน อากาศข้างนอกร้อนๆ เมื่อเดินเข้าไปในดงไผ่ อุณหภูมิจะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่มเงาของไผ่ ดังนั้น หากปลูกไผ่กันมากๆ ก็จะช่วยกันปลูกป่าทางอ้อม แถมเป็นป่าที่กินได้ขายได้

ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรที่ทำการเกษตร หากปลูกบงหวานสักกอสองกอก็จะมีหน่อไม้ไว้รับประทาน ไม่ต้องซื้อหา บางช่วงอาจจะมีผลผลิตจำหน่ายด้วยซ้ำไป

กรณีของการปลูกไผ่บงหวานเป็นการค้า นอกจากไผ่ที่ ก.ม.19 ที่จังหวัดเลย มีปลูกกันจำนวนมาก แต่ละรายอาจจะ 5-10 กอ บางรายปลูก 1 ไร่ มีอยู่ไม่น้อยที่ปลูก 5-10 ไร่ ขึ้นไป

ทางสวนไผ่ ก.ม.19 แนะนำเกี่ยวกับผลตอบแทนของไผ่บงหวานว่า เมื่อปลูกปีแรกผลตอบแทนจะน้อย แต่จะมีผลผลิตจริงจังเมื่ออายุ 3 ปี ไปแล้ว

เมื่อปีที่ 6 พื้นที่ 1 ไร่ เก็บผลผลิตหน่อไผ่ได้อย่างต่ำ 500 กิโลกรัม ราคาขายหน่อไผ่บงหวานอยู่ระหว่าง 15-50 บาท ต่อกิโลกรัม หากคิดที่ราคา 20 บาท รายได้ต่อไร่ 10,000 บาท

หากเก็บผลผลิตได้ 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ขายกิโลกรัมละ 20 บาท จะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่ต่อปี

เรื่องผลผลิตและผลตอบแทน มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง หากแหล่งปลูกดินดี น้ำดี ดูแลรักษาดี ผลผลิตก็จะมาก หากปัจจัยตรงกันข้าม ผลผลิตก็จะตรงกันข้าม

งานปลูกไผ่บงหวานนั้น หากมุ่งทางเศรษฐกิจ ต้องดูแลเหมือนอย่างพืชอื่นๆ แต่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน สามารถปลูกแล้วให้เทวดาเลี้ยงได้เลย เพราะไผ่ทนทาน ถึงต้นฤดูฝนก็ให้หน่อได้

ทางสวนไผ่ ก.ม.19 บอกว่า ไผ่บงหวานเมืองเลย เป็นไผ่ที่เกษตรกรในหลายพื้นที่ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะคุณสมบัติเรื่องรสชาติ ตลาดก็ต้องการ ผู้ปลูกนอกจากจะรับประทานเองแล้ว ยังแบ่งผลผลิตออกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้ปลูกเป็นไผ่เศรษฐกิจก็มีรายได้ดี ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน การเก็บหน่อไม้ตามป่านั้น ทำได้ยากขึ้นทุกที

เปรียบเทียบกับไผ่ที่ได้จากป่าแล้ว บงหวานกินขาด ผู้บริโภคจึงนิยม เพียงแต่ปัจจุบัน ผลผลิตยังไม่กระจายเท่านั้นเอง อย่างอีสานกว่า 10 จังหวัด หากมีสินค้าและกระจายผลผลิตไปได้แล้ว จะเป็นตลาดใหญ่มาก

สำหรับผู้ที่คิดอยากปลูกนั้น ทางสวนแนะนำว่า ควรมองไปที่ตลาดท้องถิ่นเป็นหลัก มีมากๆ จึงส่งเข้าส่วนกลาง ซึ่งยังอ้าแขนรับไม้อั้น จะสังเกตได้ว่า ที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง หน่อไม้ที่เห็นมากๆ คือไผ่ตง ส่วนบงหวานเมืองเลยแทบไม่มีจำหน่าย สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจได้

อย่างที่แนะนำไปแล้ว ไผ่บงหวานเมืองเลย หน่อสามารถกินสดๆ ได้ หรือหากจะนำไปทำอาหารที่ซับซ้อนขึ้น ไม่จำเป็นต้องต้มก่อนเหมือนไผ่อย่างอื่น แต่สามารถหั่นหรือสับแล้วปรุงอาหารได้เลย

ไผ่บงหวานเมืองเลย สามารถทำกับข้าวได้หลายอย่าง อาทิ ลวก หรือนึ่งกินกับน้ำพริก ผัดเผ็ดกับปลาดุก แกงลาว แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงจืด ห่อหมกลาว ห่อหมกใส่กะทิ ผัดไข่ ยำ ซุบ และอื่นๆ

ทางสวนไผ่ ก.ม.19 บอกว่า ปัจจุบัน เกษตรกรที่มีไผ่บงหวานเป็นของตนเอง อาจจะขยายพันธุ์โดยการชำเหง้า โดยที่บางช่วงฝนชุกๆ สามารถขุดต้นที่หนุ่มสาวลงปลูกได้เลย แต่หากขยายพันธุ์เพื่อการค้าต้องเพาะเมล็ด เพราะทำได้ปริมาณมาก อายุการให้ผลผลิตยาวนาน

ผู้สนใจถามไถ่กันได้ตามที่ คุณมณี จันทะ เลขที่ 60 หมู่ที่ 4 ตำบลเสี้ยว อำเภอเมือง จังหวัดเลย โทร. (087) 956-1919 และ (086) 450-3312 หรือ www.KM19 bamboo.com

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เลย
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 409
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM