เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
‘หวาย’ ไม้เศรษฐกิจแก้จน ที่ ‘ภูพาน’ เมืองสกลฯ
   
ปัญหา :
 
 

“หวาย” เป็นทั้งไม้อาหารและไม้ใช้สอยซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม   (ส.ป.ก.) ส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากหวายมีประโยชน์ค่อนข้างหลากหลาย เช่น หน่อหวาย หรือ ยอดหวาย และ ผลของหวาย สามารถนำมาทำเป็นอาหาร ส่วน ลำหวาย ได้มีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่อง  จักสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้ประเทศไทยมีการปลูกหวายมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกษตรกรได้หันมาปลูกหวายเพื่อการบริโภคและการค้าอย่างจริงจัง ทำให้เกษตรกรมีอาชีพและมีรายได้   จุนเจือครอบครัว หวายจึงเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง
 
นายสีนวน ทุมแสง เกษตรกรผู้ปลูกหวาย บ้านชมภูพาน ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร เล่าให้ฟังว่า ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ด้านการเกษตรจำนวน 16.29 ไร่ แรกเริ่มใช้ที่ดินผืนดังกล่าวปลูกมันสำปะหลัง แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงแบ่งเนื้อที่ปลูกพืชอื่นด้วยเพื่อเพิ่มรายได้ อาทิ หมากเม่า สักทอง ยูคาลิปตัส และ หวาย ซึ่งพืชชนิดหลังนี้สามารถทำรายได้ค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันครอบครัวมีการปลูกหวายประมาณ 5.3 ไร่ มี 2 กิจกรรม คือ ปลูกเพื่อใช้หน่อเป็นอาหาร และ การเพาะพันธุ์หวายเพื่อการค้า ซึ่งตลาดมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น
 
เบื้องต้นตนได้นำพันธุ์หวายดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติมาเพาะขยายพันธุ์ และปลูกเพื่อใช้หน่อเป็นอาหาร ส่วนที่เหลือก็ขาย มี 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์นางนวล และ พันธุ์น้ำผึ้ง ทั้ง 2 พันธุ์สามารถขึ้นได้ในที่ดอน สภาพแห้งแล้งก็ไม่ตาย มีระบบการจัดการง่ายและไม่ยุ่งยาก สำหรับการปลูกหวายเพื่อการบริโภค จะเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม โดยนำต้นกล้าอายุ 1 ปี ลง ปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละ 3 ต้น ระยะห่าง 1.5x1.5 เมตร หรือประมาณ 600-800 หลุม/ไร่  จะทำให้ได้ปริมาณหน่อมาก
 
ก่อนปลูกต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จากนั้นต้องคอยดูแลและกำจัดวัชพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากจัดการดีก็จะได้ผลผลิต/ไร่สูง หลังปลูกราว 18 เดือน ก็สามารถตัดหน่อหวายจำหน่ายได้ ราคาหน่อละ 2-7 บาท หรือมัดละ 50-100 บาท ถ้าเจ้าของดูแลดีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่า30 ปี/การปลูก 1 รอบ ซึ่งชาวบ้านจะนำหน่อหวายไปประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น แกงหวาย ซุปหวาย ผัดหวาย และ หวายต้มจิ้มน้ำพริก เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีรสชาติดี
 
ส่วนการเพาะพันธุ์หวายเพื่อการค้านั้น จะเพาะจากเมล็ด โดยนำผลหวายสุกมากะเทาะเปลือกและล้างเมือกสีแดงออก จากนั้นผึ่งลมให้แห้งประมาณ 1-2 วัน แล้วนำมาเพาะลงในภาชนะ เช่น กะละมังพลาสติก ที่รองด้วยวัสดุที่เก็บความชื้นได้ดี เช่น ขุยมะพร้าวซึ่งต้องผ่านการนึ่งหรือต้มสุกแล้วปล่อยให้เย็นเพื่อป้องกันเชื้อรา โดยโรยเมล็ดหวายประมาณ 0.5 กิโลกรัมลงบนขุยมะพร้าว แล้วกลบดินทับหนาประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ แล้วคลุมด้วยพลาสติกใสเพื่อไม่ให้น้ำระเหย เก็บไว้ในที่ร่มรำไร
 
หวายจะค่อย ๆ งอกออกจากเมล็ด ประมาณ 45 วัน ต้องแกะพลาสติกออก ปล่อยให้หวายเจริญเติบโตจนอายุได้ 3 เดือน ก็ย้ายต้นกล้าชำลงในถุง ซึ่ง 1 กะละมังจะได้กล้าหวายประมาณ 2,500 ต้น อนุบาลไว้ในโรงเรือนจนกระทั่งอายุได้ 1 ปี  หรือมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร มีใบ 4-6 ใบ ก็สามารถจำหน่ายพันธุ์ได้ในราคาต้นละ 3-5 บาท ซึ่งปีที่ผ่านมา ครอบครัวมีรายได้จากการจำหน่ายหน่อหวายและพันธุ์หวายรวมกว่า 400,000 บาท และปี 2550 นี้ มีต้นกล้าหวายอายุ 1 ปี ที่พร้อมจำหน่ายสู่เกษตรกร จำนวนกว่า 200,000 กล้า และอยู่ระหว่างการเพาะพันธุ์อีกกว่า 100 กะละมัง     
 
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกหวายในจังหวัดสกลนครขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงด้วย อาทิ มุกดาหาร นครพนม และกาฬสินธุ์ ทำให้มีพ่อค้าคนกลางหันมาดำเนินธุรกิจค้าหน่อหวายมากขึ้นด้วย โดยรับซื้อหน่อหวายจากเกษตรกร แล้วนำสินค้าไปส่งต่อให้กับตลาดตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงนับว่าหวายเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ขณะเดียวกันการปลูกหวายยังช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่อีกด้วย ทำให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติ และชาวบ้านพออยู่พอกิน
 
หากมีโอกาสแวะเวียนไปจังหวัดสกล   นคร ก็อย่าลืมแวะลิ้มรสอาหารเมนู “หวาย” ว่าจะมีรสชาติอย่างไร หรือถ้าเกษตรกรสนใจการปลูกหวาย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณลุง สีนวน เลขที่ 148 หมู่ 22 บ้านชมภูพาน ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร โทรศัพท์ 08-7229-7646, 08-4742-4845.

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สกลนคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 4 กรกฏาคม 2550
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM