เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าวฤๅจะเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพะเยา
   
ปัญหา :
 
 
ท่านผู้อ่านที่เครารพ จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพเหมาะสมเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดี ถือว่าเป็นจังหวัดอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดภาคเหนือตอนบน ในปีการผลิต 2549/2550 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ทั้งหมด 732,359 ไร่ แบ่งเป็นข้าวเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 จำนวน 416,622 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 550 กิโลกรัม ต่อไร่ ข้าวเหนียวส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ กข 6 จำนวน 306,470 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 600 กิโลกรัม ต่อไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 11,556 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 และพันธุ์ กข 10 มีการปลูกข้าวเจ้าเพียงเล็กน้อย เป็นพันธุ์สุพรรณบุรี 60



แหล่งน้ำที่สำคัญ


เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกข้าว เพราะการปลูกข้าวใน 1 ฤดูการปลูกต้องใช้น้ำอย่างน้อย 5,000 ลูกบาศก์เมตร การปลูกข้าวในจังหวัดพะเยาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน และแหล่งน้ำจากกว๊านพะเยา แม่น้ำอิง แม่น้ำแม่ลาว แม่น้ำยม อ่างเก็บน้ำแม่ต๊ำ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม หนองขวาง และหนองเล็งทราย

ต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการผลิตข้าวนั้น มีต้นทุนการผลิตเริ่มตั้งแต่ไถหว่านเพื่อเพาะกล้าจนถึงเก็บเกี่ยวมากมายและเป็นดรรชนีบงชี้ถึงการขาดทุนหรือได้กำไรจากการปลูกข้าวในฤดูนั้นๆ โดยสรุปการปลูกข้าวในจังหวัดพะเยาจะมีต้นทุนการผลิตรวมแล้วดังนี้

ข้าวหอมมะลิ โดยเฉลี่ย 3,160 บาท

ข้าวเหนียว โดยเฉลี่ย 3,155 บาท



การใช้เมล็ดพันธุ์ดี

เมล็ดพันธุ์ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต หากเกษตรกรไม่ตระหนักถึงการใช้เมล็ดพันธุ์ดี และไม่คำนึงถึงวิธีการดูแลปฏิบัติการรักษาพันธุ์ข้าว เมื่อปลูกข้าวนั้นไป 2-3 ปี พันธุ์ข้าวนั้นจะเสื่อมลง ทำให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพข้าวด้อยลง ด้วยสาเหตุดังนี้

1. การผสมข้ามพันธุ์ที่มีอยู่ราว 3%

2. การกลายพันธุ์ที่ส่วนมากเกิดกับข้าวพันธุ์ลูกผสม เช่น กข ต่างๆ และข้าวเหนียวทุกพันธุ์

3. ข้าวเรื้อที่เกิดจากเมล็ดข้าวฤดูที่ผ่านมาร่วงหล่นในนา

4. ข้าวปนที่เกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติ เช่น ปะปน ขณะตกกล้า การเก็บเกี่ยว การทำความสะอาดภาชนะบรรจุ เครื่องนวด ลานตาก ยุ้งฉาง เป็นต้น

ดังนั้น เกษตรกรควรมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ทุก 2 ปี งดเว้นนำเมล็ดพันธุ์จากแหล่งปลูกข้าวที่พบการระบาดของโรคข้าว พร้อมใช้พันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาทำพันธุ์

การใช้ปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงบำรุงดิน การลดการใช้สารเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีแล้วหันไปใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดินจะเป็นประโยชน์กับพันธุ์ข้าวและตัวของเกษตรกรเองจะปลอดภัยและลดต้นทุนการผลิตลงด้วย



การปลูกข้าวคุณภาพดี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวควรดำเนินการตามขั้นตอนและรายละเอียดในแต่ละระยะดังนี้

เตรียมแปลง (เมษายน-พฤษภาคม) หรือหลังฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำเพียงพอ เกษตรกรจึงจะเริ่มดำเนินการตามกระบวนการปลูกข้าว เริ่มตั้งแต่

- ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม ต่อไร่ และแช่น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นพอที่ไข่เป็ดหรือไข่ไก่สามารถลอยได้ นำเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ ก็ลอยน้ำเหมือนกับไข่ ให้ตักทิ้งไปเสีย เหลือไว้แต่เมล็ดข้าวจมน้ำ ซึ่งแสดงว่าเป็นเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ จากนั้นจึงคลุกด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราเพื่อป้องกันโรคข้าวที่มีเชื้อราเป็นเชื้อสาเหตุ

- เตรียมแปลงให้ดี กำจัดวัชพืชออกให้หมด หรือไถกลบทิ้งไว้สักระยะหนึ่งเพื่อให้วัชพืชเน่าเปื่อย และเปิดโอกาสให้เมล็ดหญ้าในแปลงนางอกเป็นต้นอ่อน แล้วจึงไถหรือคราดอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ลดปัญหาเรื่องวัชพืชที่จะมาแย่งน้ำและธาตุอาหารในดินจากต้นข้าวที่เราปลูก

- การดูแลศัตรูข้าว เช่น โรค แมลง หนู หากพบไม่มากใช้วิธีอื่นต่างๆ ที่เหมาะสม เมื่อพบมาก รีบกำจัด หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล ซึ่งยินดีและเต็มใจให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพืชผลทางการเกษตร

- ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดด

หลังขาว โรคข้าวจัดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว คาดกันว่าปีหนึ่งๆ โรคข้าวทำให้ผลผลิตข้าวลดลง เฉลี่ยร้อยละ 15-20 คิดเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล ในยุคที่การเกษตรยังไม่ได้รับการพัฒนาจะเห็นว่าโรคข้าว ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญมากนัก เนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวในฤดูนาปีเพียงครั้งเดียว ไม่มีการใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิต ในท้องที่หนึ่งๆ จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์

หลังเก็บเกี่ยวแล้วมีการเผาฟางและตอซังเพื่อทำลายแหล่งสะสมของโรคข้าวชนิดต่างๆ สภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคข้าว ต่างกับในยุคปัจจุบันซึ่งการเกษตรได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรจึงนิยมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่ครอบครัว เช่น การใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงที่สามารถปลูกได้ตลอดปี โดยเลือกปลูกเฉพาะพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดและมักปลูกข้าวพันธุ์เดียวเป็นบริเวณกว้างขวาง นิยมใช้ปุ๋ยอัตราสูงในการเพิ่มผลผลิต ปลูกข้าวแบบต่อเนื่องตลอดปี ส่งผลให้เชื้อโรคมีพืชอาศัยและแพร่พันธุ์ได้ตลอดเวลา สภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงเหมาะสมต่อการระบาดของโรคข้าวเป็นอย่างดี ที่สำคัญก็คือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในหลายๆ ท้องที่ ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคข้าวและการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่สามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของโรคข้าวได้ นอกจากนี้ เกษตรกรมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย จึงมักไม่มีเวลาออกไปสำรวจตรวจแปลงอย่างทั่วถึง

เมื่อโรคข้าวมีการระบาดจึงไม่สามารถเตรียมการป้องกันกำจัดได้ทันเหตุการณ์ นำความหายนะมาสู่เกษตรกร ในที่นี้ขอกล่าวถึงโรคที่สำคัญและมีการระบาดในพื้นที่จังหวัดพะเยาคือ โรคไหม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา สามารถเข้าทำลายต้นข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวง และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคที่สำคัญที่สุด คือความชื้น ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ในช่วงบ่ายถึงเช้าวันรุ่งขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่าง 27-30 องศาเซลเซียส โรคนี้มักระบาดในแปลงนาที่ปลูกข้าวพันธุ์ที่ไม่ต้านทาน เช่น กข 15 กข 23 กข 25 ปทุมธานี 60 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง 17 แปลงนาที่ปลูกข้าวหนาแน่นเนื่องจากการปักดำที่ถี่เกิน หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูงเกินไปสำหรับนาหว่านน้ำตม และดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูง จะส่งเสริมให้โรคไหม้เข้าทำลายเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น การระบาดเกิดขึ้นโดยสปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลม เมื่อตกบนต้นข้าวและสภาพแวดล้อมเหมาะสมมีความชื้นสูง ก็จะงอกเส้นใยเข้าทำลายต้นข้าว โดยเฉพาะในฤดูที่หมอกและน้ำค้างลงจัด โรคไหม้ที่ใบมักพบในต้นฤดูนาปี

ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม แปลงที่ตกกล้าหนาแน่น อับลมถ่ายเทความชื้นและอากาศไม่ดีและใช้ปุ๋ยในอัตราสูงจะมีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น เช่น ปี พ.ศ. 2519 มีโรคไหม้ระบาดในเขต จังหวัดปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครปฐม ทำให้ต้นข้าวในแปลงกล้าเป็นโรคไหม้แห้งฟุบตายเสียหายอย่างรุนแรง ส่วนโรคไหม้คอรวงหรือเน่าคอรวงนั้นพบระบาดรุนแรงเมื่อ ปี พ.ศ.2518 ในเขตจังหวัดราชบุรี และชลบุรี ปี พ.ศ. 2521 ในเขตจังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2537 พบระบาดรุนแรงในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง และพะเยา เชื้อราชนิดนี้สามารถทำลายหญ้าชนิดต่างๆ ได้ เช่น หญ้าขน หญ้าไทร หญ้าข้าวนก และหญ้าชันอากาศ เป็นต้น เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมในอัตราสูง จึงมีโอกาสสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความรุนแรงสามารถทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคไหม้

2. ใช้วิธีเขตกรรม เช่น เลือกแปลงกล้าที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี แบ่งแปลงย่อยขนาดกว้าง 50-100 เซนติเมตร ให้ความยาวของแปลงขนานกับทิศทางลม เพื่อระบายความชื้นในแปลงกล้าให้น้อยลง หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ให้น้อยลง ในแปลงนาหว่านน้ำตมก็เช่นกัน ควรแบ่งเป็นแปลงย่อย ความกว้างของแปลงย่อยประมาณ 4-5 เมตร และความยาวขนานกับทิศทางลม

3. บริเวณที่มีโรคไหม้ระบาดเป็นประจำ ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป

4. ใช้สารเคมีฉีดพ่นเมื่อเริ่มพบอาการของโรคไหม้ในข้าว

5. หลังการเก็บเกี่ยวแล้วควรเผาฟางและตอซังในกรณีที่มีโรคไหม้ระบาดอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพื่อทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรค



ขั้นตอนการทำนา ของเกษตรกรเชียงราย

ปักดำ (มิถุนายน-กรกฎาคม)


- เตรียมแปลงให้ดี

- ระวังหอยเชอรี่เข้าทำลาย โดยเฉพาะในช่วงปักดำได้สักระยะหนึ่งหรือข้าวเริ่มตั้งตัว

- ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ หอยเชอรี่ ปูนา

แตกกอ (กรกฎาคม-กันยายน)

- ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-18 อัตรา 22-25 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือสูตรอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันในดินทรายสำหรับดินเหนียว ใช้สูตร 16-20-0 กำจัดวัชพืช

- สำรวจศัตรูพืช เช่น โรค แมลง หากไม่พบมาก ให้รีบกำจัดหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่

- ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกอ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว

ตั้งท้อง (กลางเดือนเมษายน)

- ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 5 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือสูตรใกล้เคียง สำรวจศัตรูพืช เช่น โรค แมลง และหนูเสมอๆ หากพบไม่มากให้หาวิธีการกำจัดให้เหมาะสม แต่เมื่อพบมากให้รีบกำจัดหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล

- ศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ หนู เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง หนอนม้วนใบ

ออกรวง (กลางตุลาคม)

- ดูแลเรื่องน้ำอย่าให้ขาดน้ำ

- ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกอ หนู โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล แมลงสิง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และนก

เก็บเกี่ยว (กลางเดือนพฤศจิกายน)

- เก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง หรือหลังข้าวออกรวง ประมาณ 30-35 วัน

- ก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงเพื่อให้ข้าวสุกพร้อมกัน ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

- กำจัดศัตรูพืชบนคันนา

- ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ หนู นก

การเก็บรักษาข้าวเปลือก

1. จะต้องเป็นข้าวแห้ง ความชื้น 12-14 เปอร์เซ็นต์

2. ถ้ามีจำนวนน้อยใส่กระสอบวางไว้ในที่คุ้มแดด ฝน สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

3. การเก็บในยุ้งฉาง โดยยุ้งฉางต้องสะอาดป้องกันนก หนู และแมลงศัตรูข้าวเปลือก รวมทั้งมีอากาศถ่ายเทได้

ไม่อับชื้น และมีสภาพเย็น สามารถเก็บรักษาได้ 2 วิธี กล่าวคือ

3.1 เก็บรักษาโดยบรรจุกระสอบป่าน วางบนแคร่สูงประมาณ 10 เซนติเมตร

3.2 เทกองในยุ้งฉาง

ถึงแม้ในจังหวัดพะเยาจะมีการปลูกข้าวตามกระแสหรือการปลูกข้าวโดยปกติทั่วไปแล้ว จังหวัดพะเยายังมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์อยู่ ซึ่งก็คือกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ศรีจอมแจ้ง ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน คุณไพโรจน์ ปารมณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้รับผิดชอบตำบลหงส์หิน บอกกับเราว่ากลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ศรีจอมแจ้ง มีสมาชิกจำนวน 40 คน พื้นที่นารวมกันมากกว่า 1,000 ไร่ รวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2535 โดยเริ่มตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใช้มูลวัว ที่เกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่เป็นหลัก ตามปกติแล้วเกษตรกรมักใช้ปุ๋ยคอกหรือมูลของวัวไปใส่ในไร่นาโดยตรง แต่ต้องประสบปัญหามีวัชพืชเกิดขึ้นในนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมล็ดหญ้าที่สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัวกินเข้าไปแล้วถ่ายมูลออกมาก็จะมีเมล็ดหญ้าปะปนอยู่ก็สามารถงอกหลังจากพบสภาพที่เหมาะสม ฉะนั้น เกษตรกรบ้านศรีจอมแจ้งจึงหมักมูลวัวแบบชีวภาพ มีการใช้กากน้ำตาลและเชื้อจุลินทรีย์หรือ อีเอ็ม ซึ่งความร้อนภายในกองปุ๋ยหมักจะทำลายความสมบูรณ์ของเมล็ดหญ้า ทำให้เมื่อนำไปหว่านในนาข้าวจึงไม่มีวัชพืชหรือหญ้างอกในแปลงนา และการทำนาแบบอินทรีย์นั้น จำนวนที่เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มเป็นแปลงนาพื้นใหญ่เพื่อควบคุมการงดใช้สารเคมีในพื้นที่ใกล้เคียง

กลุ่มเกษตรกรเองมีการทำข้อตกลงล่วงหน้ากับบริษัทเอกชนผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ ในการควบคุมการผลิตและตรวจสอบตั้งแต่เริ่มเตรียมแปลง หว่านกล้า ปักดำ จนถึงการเก็บเกี่ยว ส่วนกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตำบลหงส์หิน ที่เป็นสมาชิกกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ดีขึ้น ทั้งสุขภาพรายบุคคลก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ร่วมทั้งสภาพเศรษฐกิจก็มีความมั่นคง เนื่องจากการผลิตข้าวอินทรีย์ของที่นี่มีการทำข้อตกลงล่วงหน้านั้นเอง ต่างจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในหมู่บ้านตำบลอื่น จากข้อมูลการผลิตข้าวปีที่ผ่านมาเกษตรกรหันไปปลูกข้าวหอมมะลิกันมาก ปรากฏว่าราคาขายตกต่ำ ต่างจากราคาข้าวเหนียวที่สูง ทำให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลี่ยนมาปลูกข้าวเหนียวเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นห่วงว่าเหตุการณ์จะกลับกัน ฉะนั้น เกษตรกรควรตัดสินใจให้ดีในการวางแผนการทำนาในปีนี้ว่าจะปลูกข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า หรือจะแบ่งพื้นที่การปลูกเพื่อลดความเสี่ยง ตัดสินใจกันเองนะครับ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พะเยา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 411
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM