เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การซื้อ-ขายน้ำยางสด
   
ปัญหา :
 
 
คุณสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปลูกสร้างสวนยางในอดีต ชาวสวนยางต้องแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นจึงจะขายได้ แต่ปัจจุบันตลาดน้ำยางสดมีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากน้ำยางสดสามารถแปรรูปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางหลายประเภท อาทิ น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่น และยางเครพชั้นดี ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากน้ำยางข้น ได้แก่ ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง หัวนมสำหรับทารก ที่นอน หมอน ตุ๊กตาฟองน้ำ ตุ๊กตายาง หุ่นการศึกษา กาวน้ำยาง กาวผสมซีเมนต์ ท่อยาง เป็นต้น ทำให้ชาวสวนยางมีทางเลือกในการขายผลผลิตมากขึ้น การขายน้ำยางสดช่วยชาวสวนยางในด้านการลดต้นทุนและประหยัดเวลาได้มาก โดยขายเป็นน้ำยางสดได้โดยตรง ทำให้ตลาดน้ำยางสดขยายตัวมากขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยขยายพื้นที่ปลูกยางไปยังแหล่งใหม่ บางส่วนของภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ตลาดน้ำยางสดมีการขยายตัวมากขึ้น และชาวสวนยางส่วนใหญ่ก็มีความคุ้นเคยกับการขายน้ำยางสดเป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนยางในพื้นที่ปลูกยางเดิม แต่เกิดความแคลงใจและไม่มั่นใจในการคิดราคาของผู้ซื้อ กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อ-ขาย ขณะที่ชาวสวนยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่เริ่มมีผลผลิตและจะมีผลผลิตเต็มที่ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมยางและโรงงานแปรรูปยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนหลายบริษัทที่รับซื้อน้ำยางสดและยางแผ่นในจังหวัดอุดรธานีและหนองคายเพื่อรองรับผลผลิตแล้ว โดยมีพ่อค้ารับซื้อตามจุดรวบรวมน้ำยางต่างๆ ดังนั้น ชาวสวนยางจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการซื้อ-ขายน้ำยางสด การเก็บรักษาสภาพน้ำยาง และการหาปริมาณเนื้อยางแห้ง (DRC) เพื่อนำมาใช้คิดราคาในการขาย

คุณสุขุม กล่าวว่า น้ำยางสดจากต้นยางจะคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเริ่มจับตัวเป็นเม็ดพริก เรียกว่า น้ำยางบูด อันเนื่องจากจุลินทรีย์ในอากาศเข้าปะปนในน้ำยาง เกิดความเป็นกรด เป็นเหตุให้น้ำยางเสียสภาพก่อนจะนำไปแปรรูป ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำยางจับตัวก่อนนำออกขาย จึงต้องรักษาสภาพน้ำยางโดยการเติมสารเคมี สำหรับสารเคมีป้องกันน้ำยางจับตัวที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ แอมโมเนีย และโซเดียมซัลไฟต์ ชาวสวนยางสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก มีวิธีการเตรียมและการใช้ ดังนี้

แอมโมเนีย มีลักษณะเป็นของเหลวและก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนจัด เป็นอันตรายต่อผิวหนังและประสาทตา ละลายได้ทั้งในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเทอร์ ในท้องตลาดมีจำหน่าย 2 แบบ เป็นก๊าซและสารละลาย มีความเข้มข้นของแอมโมเนียประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ก่อนนำมาใช้ต้องทำให้เจือจาง ให้ได้แอมโมเนียเข้มข้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้แอมโมเนียชนิดสารละลาย 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 3 กิโลกรัม ผสมน้ำ 50 ลิตร หรือลดลงตามส่วนที่จำเป็นต้องใช้ แอมโมเนียเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เตรียมได้จำนวน 10 ซีซี ต่อน้ำยางสด 1 ลิตร หากปริมาณน้ำยางสดมากกว่านี้ก็เพิ่มสารละลายแอมโมเนียตามสัดส่วน หรือหยดในถ้วยรองรับน้ำยาง ถ้วยละ 2-3 หยด

โซเดียมซัลไฟต์ มีลักษณะเป็นผงหรือผลึกสีขาว รสเค็มเหมือนเกลือ มีกลิ่นกำมะถัน ละลายในน้ำ ในท้องตลาดมีจำหน่ายเป็นผงสีขาวบรรจุในภาชนะมีฝาปิด วิธีใช้ โซเดียมซัลไฟต์ 2 ช้อนแกง ผสมน้ำครึ่งลิตร แล้วนำส่วนผสมนี้หยดลงในถ้วยรองรับน้ำยางถ้วยละ 2-3 หยด หรือใส่ในถังรวมน้ำยางโดยใช้โซเดียมซัลไฟต์ที่ผสมน้ำแล้ว 1 ส่วน ต่อน้ำยาง 64 ส่วน โดยน้ำหนัก ระมัดระวังอย่าใส่โซเดียมซัลไฟต์ในถังที่ทำด้วยโลหะและอย่าใส่ในปริมาณมากเกินไปเพราะจะทำให้น้ำยางเหนียวเหนอะหนะ

นอกจากใช้สารเคมีเพื่อรักษาสภาพน้ำยางสดให้อยู่นานแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนสำคัญเพื่อให้น้ำยางคงสภาพอยู่ได้นานคือ การรักษาความสะอาด เช่น ถ้วยรองรับน้ำยาง ถังเก็บน้ำยางและมีดกรีดยางจะต้องสะอาด อย่าให้เปลือกยาง ใบไม้ ดิน หรือทรายปะปนในน้ำยาง ควรรวบรวมน้ำยางและเติมสารเคมีรักษาสภาพน้ำยางโดยเร็วที่สุด

การหาปริมาณเนื้อยางแห้ง (DRC) ปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางสดจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล สภาพอากาศ สภาพดิน พันธุ์ยาง ตัวกระตุ้น และระบบกรีด ตามปกติน้ำยางจะมีปริมาณเนื้อยางแห้งอยู่ระหว่าง 20-45 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ การหาปริมาณเนื้อยางแห้ง ที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การวัดจากเมโทรแลค และโดยการชั่ง มีวิธีการดังนี้

การหาปริมาณเนื้อยางแห้งโดยวัดจากเมโทรแลค วิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเมโทรแลค และกระบอกตวง โดยนำน้ำยางสด 1 ส่วน ผสมน้ำ 2 ส่วน เทลงในกระบอกตวงจนน้ำยางล้นกระบอกตวงแล้วเป่าฟองบนผิวเหนือกระบอกตวงออก ค่อยๆ จุ่มก้านเมโทรแลคลงไปจนหยุดนิ่ง แล้วอ่านค่าบนก้านเมโทรแลค กดเมโทรแลคลงไปอีกครั้งหนึ่งจนลอยตัวขึ้นมาและหยุดนิ่ง อ่านค่าซ้ำอีกครั้ง แล้วจึงใช้ค่าเฉลี่ยที่อ่านได้ทั้งสองครั้ง คูณด้วย 3 ผลคูณที่ได้คือ ปริมาณเนื้อยางแห้ง มีหน่วยเป็นกรัมต่อลิตร ตัวอย่างเช่น ได้ค่าเฉลี่ย 100 คูณด้วย 3 ได้ผลลัพธ์ 300 แสดงว่าในน้ำยาง 1 ลิตร มีปริมาณเนื้อยางแห้ง 300 กรัม จึงนำปริมาณเนื้อยางแห้งไปคูณจำนวนน้ำยางสดที่นำมาขาย เช่น 80 ลิตร ผลลัพธ์ได้ 24,000 กรัม หรือ 24 กิโลกรัม นั่นคือน้ำยางสด 80 ลิตร มีปริมาณเนื้อยางแห้ง 24 กิโลกรัม นำปริมาณเนื้อยางแห้งคูณด้วยราคาน้ำยางสดจะได้เป็นจำนวนเงิน การหาปริมาณเนื้อยางแห้งโดยวัดจากเมโทรแลค เป็นวิธีที่นิยมใช้ตามจุดรวมน้ำยาง ซึ่งสามารถจ่ายเงินให้กับผู้กรีดหรือผู้ขายในทันที เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย แต่มีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง

การหาปริมาณเนื้อยางแห้งโดยการชั่ง โดยตักน้ำยางสดใส่ถ้วยอะลูมิเนียม ชั่งด้วยเครื่องชั่งละเอียดให้ได้น้ำหนัก 50 กรัม จับตัวด้วยกรดอะซิติกเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยางจับตัวดีนำไปรีดให้มีความหนาไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ล้างด้วยน้ำให้สะอาด 2-3 ครั้ง นำแผ่นยางอบให้แห้งในตู้อบอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ประมาณ 16 ชั่วโมง ปล่อยให้เย็นในโถแก้วสุญญากาศที่มีสารดูดความชื้นประมาณ 15 นาที นำตัวอย่างยางที่แห้งแล้วชั่งด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ได้เท่าไรคูณด้วย 2 ผลลัพธ์ที่ได้คือ เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง ตัวอย่างเช่น ได้ 15 กรัม คูณด้วย 2 ผลลัพธ์ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ นำเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง คูณจำนวนน้ำยางสดที่นำมาขาย เช่น 60 กิโลกรัม หารด้วย 100 ผลลัพธ์ได้ 18 กิโลกรัม แสดงว่าน้ำยางสด 60 กิโลกรัม มีปริมาณเนื้อยางแห้ง 18 กิโลกรัม โดยคำนวณจาก ปริมาณเนื้อยางแห้ง = เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง คูณน้ำหนักน้ำยางสด หาร 100 การหาปริมาณเนื้อยางแห้งโดยการชั่งให้ค่าที่แม่นยำ แต่ใช้เวลานานกว่าจะทราบผล อย่างไรก็ดี ชาวสวนยางที่นำน้ำยางสดมาขายมักเกิดความไม่มั่นใจว่าการหาปริมาณเนื้อยางแห้งของผู้รับซื้อจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ขณะเดียวกันชาวสวนยางที่นำน้ำยางสดไปขายก็ไม่ควรเติมสิ่งเจือปนอื่นนอกเหนือจากที่โรงงานกำหนดลงไปในน้ำยางสดเพื่อหวังผลประโยชน์อื่น ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อน้ำยาง และโรงงานผู้ซื้อ และท้ายที่สุดผลร้ายจะกลับมาอยู่ที่ชาวสวนยาง ดังนั้น การดำเนินธุรกิจซื้อ-ขายน้ำยางสดให้เป็นไปด้วยดี จึงอยู่ที่ความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อกันทั้งสองฝ่าย

คุณสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่า ชาวสวนยางควรทำความเข้าใจในการซื้อ-ขายน้ำยางสด การเก็บรักษาสภาพน้ำยาง และการหาปริมาณเนื้อยางแห้งเพื่อนำมาใช้คิดราคาในการขาย เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ถูกต้องและเป็นธรรม ขณะที่ปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น การบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์อยู่เสมอด้วยการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง และใช้ระบบกรีดที่เหมาะสม เช่น กรีดครึ่งลำต้น วันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน ซึ่งเหมาะสมกับพันธุ์ยางทั่วไป จะทำให้ได้รับน้ำยางมากในแต่ละครั้งที่กรีดยางและมีปริมาณเนื้อยางแห้งสูง การกรีดยางติดต่อกันหลายวันจะมีผลทำให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดต่ำลง ปริมาณเนื้อยางแห้งลดลง การสิ้นเปลืองเปลือกสูงทำให้ระยะเวลากรีดถึงเปลือกงอกใหม่น้อยลง เปลือกงอกใหม่บาง กระทบต่อการกรีดซ้ำ อายุการกรีดสั้นลง และส่งผลกระทบต่อการเกิดอาการเปลือกแห้งสูง ต้องโค่นต้นยางก่อนเวลาอันควร ทำให้ได้รับผลผลิตน้ำยางและปริมาณไม้ลดน้อยลงตามลำดับ

เกษตรกรและผู้สนใจสามารถขอข้อมูลและคำแนะนำได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-7757-8 หรือที่ศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต (สถานีทดลองยาง) และสำนักงานตลาดกลางยางพารา กรมวิชาการเกษตร ตามจังหวัดต่างๆ ได้ทุกวัน เวลาราชการ หรือดูข้อมูลวิชาการ สอบถามปัญหาทางหน้าเว็บบอร์ดและติดตามราคายางได้ที่ www.rubberthai.com และ Call center 1174
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 415
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM