เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สวนมะลิเงินล้าน สร้างงานเสริมอาชีพ ที่มุกดาหารอ
   
ปัญหา :
 
 
จะเป็นบุพเพสันนิวาส หรือกรรมบันดาลแต่ปางก่อนคงไม่ผิดที่พลิกผันให้วิถีชีวิตของหญิงคนหนึ่ง ซึ่งดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ในเมืองหลวง ต้องกลับกลายมาเป็นเกษตรกร ทั้งๆ ที่เธอเองไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรแต่อย่างใด เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 เธอตามเพื่อนซึ่งเป็นคนจังหวัดมุกดาหารพาไปเยี่ยมบ้านเกิด ญาติของเพื่อนต้องการขายบ้านพร้อมที่ดิน เพื่อนจึงเอ่ยเชิญชวนให้เธอซื้อเล่นๆ แต่เธอก็ได้ตกลงซื้อจริงๆ เพราะเห็นว่าบ้านหลังนั้นอยู่ใกล้กันกับบ้านของเพื่อน เมื่อซื้อบ้านแล้วเธอตัดสินใจมาอยู่บ้านหลังใหม่ ทั้งๆ ที่สามีชาวต่างชาติของเธอมีงานประจำที่กรุงเทพฯ จากวันนั้นเป็นต้นมาชีวิตการเป็นเกษตรกรของเธอก็เริ่มขึ้น

เธอคนนั้นชื่อ คุณนลิน ไจล์ส วัย 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 5 บ้านกุดโง้ง ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 49000 โทรศัพท์ (081) 774-0148, (081) 739-7054 หมู่บ้านนี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร ตามถนนสายมุกดาหาร-คำชะอี เมื่อมีบ้านอยู่แล้วเธอได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่ อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่มาของสวนมะลิ "อยู่เย็น"

ด้วยความที่เธอไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรใดๆ แต่ก็เกิดความสนใจอาชีพการเกษตร เธอเริ่มศึกษาหาความรู้จากเอกสาร ตำราทางการเกษตร จากผู้มีประสบการณ์ทางการเกษตรบ้าง จนได้คำตอบสุดท้ายว่าจะทำสวนมะลิ เพราะดอกมะลิมีกลิ่นหอม ตลาดมีความต้องการตลอดฤดูหนาว ใช้เนื้อที่ในการปลูกไม่มาก ให้ผลผลิตเร็ว การดูแลจัดการไม่ยุ่งยากเหมือนพืชชนิดอื่น

จากการพูดคุยกัน เธอเล่าว่า เมื่อได้คำตอบแล้วก็ได้ตกลงว่าจ้างขุดเจาะบ่อน้ำ สร้างถังพักน้ำซึ่งเป็นซีเมนต์วางบนผืนดิน ปรับพื้นที่ส่วนหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง

ไถยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของร่อง 50 เมตร ระยะห่าง 1.5 เมตร ได้จำนวน 20 แปลง หรือ 20 ร่อง จากนั้นได้ติดต่อขอซื้อพันธุ์มะลิจากต่างจังหวัด เป็นมะลิพันธุ์เพชรบุรีมา 3,000 ถุง ราคาถุงละ 3.50 บาท

ขั้นตอนการปลูก

ใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดเม็ดรองก้นหลุมซึ่งขุดพอประมาณกับขนาดของถุงต้นพันธุ์ ปลูกหลุมละ 3 ต้น ระยะห่างระหว่างหลุม 1 เมตร ใน 1 ร่อง ปลูกได้ 50 หลุม โดยปลูกทั้งหมด 20 แถว รวม 1,000 หลุม จากนั้นฝังหลักเพื่อขึงลวดรอบเป็นร่องๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งมะลิล้ม ต่อมาจัดการระบบน้ำโดยใช้สาย พี.อี. ขนาด 6 หุน ต่อหัวน้ำหยดหลุมละ 1 หัว ทำแอ่งรอบโคนต้นเพื่อให้น้ำหยดไหลเวียนได้รอบต้น ขั้นตอนนี้ลงทุนไปประมาณ 150,000 บาท ไม่รวมค่าที่ดิน

ต่อจากนั้นก็ดูแลรักษา ให้น้ำ ให้ปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ นับจากวันที่ปลูกไป 3 เดือน ก็เริ่มให้ผลผลิตบ้าง เมื่อครบ 6 เดือน ผลผลิตก็เริ่มเพิ่มขึ้นตามลำดับ สามารถเก็บขายเป็นรายได้ ได้มากขึ้น การดูแลอย่างอื่น คือการกำจัดวัชพืชต่างๆ ต้องคอยดูแลตลอดมิให้หญ้าขึ้นเป็นอันขาด จึงทำให้สวนมีความโปร่งโล่งตา อีกประการหนึ่งคือการควบคุมไม่ให้ต้นมะลิเฝือใบหรือมีใบมากจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ดอกน้อยลง การฉีดยาปราบศัตรูพืช ฉีดพ่นเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการฉีดยาแต่ละครั้งค่อนข้างต้องระมัดระวัง เพราะที่ข้างเคียงเขาปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม

ผลผลิต

ธรรมชาติของมะลิจะชอบแสงแดดจัด อุณหภูมิสูง จะให้ดอกดี ซึ่งปัจจุบันนี้หากสภาพอากาศเหมาะสมจะเก็บผลผลิตได้สูงถึง 30 กิโลกรัม ต่อวัน แต่หากสภาพอากาศไม่เหมาะสมผลผลิตจะลดลงมาก โดยต่ำสุดวันละ 5 กิโลกรัม ก็เคยมี แต่โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 15 กิโลกรัม ต่อวัน ส่วนในฤดูหนาวมะลิแทบจะไม่ให้ดอก หรือถ้ามีดอกก็จะเล็ก แต่สภาพอากาศแปรปรวนจึงทำให้อากาศหนาวในแต่ละปีลดน้อยลง จึงไม่ใช่อุปสรรคต่อการออกดอกของมะลิเท่าใดนัก

ในด้านแรงงานคุณนลินเล่าว่า ปัจจุบันได้จ้างแรงงานประจำ 4 คน โดยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 4,300 บาท ต่อคน และทำประกันสังคมให้ด้วย ส่วนแรงงานอื่น เช่น การเก็บดอกมะลิ ใช้แรงงานวันละ 20 คน จ่ายค่าแรงวันละ 110 บาท ต่อคน แต่ก็ทำแบบไม่เต็มวัน คือเก็บมะลิ 20 ร่อง เสร็จก็จบ นอกจากนี้ ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งคือ การร้อยมะลิ คิดค่าแรงงานตามงาน เช่น พวงมาลัย ราคา 5 บาท ค่าแรง 50 สตางค์ ต่อพวง พวงมาลัย 10 บาท ค่าแรง 1 บาท ต่อพวง พวงมาลัย 20 บาท ค่าแรง 4 บาท ต่อพวง ใครทำได้มากก็ได้ค่าแรงมาก เฉลี่ยแล้วคนงานในส่วนนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 บาท ต่อวัน หากเป็นวันหยุดจะมีนักเรียนมาร้อยมาลัยหารายได้พิเศษอีกด้วย

การตลาด

ปัจจุบัน ดอกมะลิ จากสวน "อยู่เย็น" ไม่พอกับความต้องการของตลาด เพราะทางสวนจำหน่ายในรูปดอกมะลิสด และแบบร้อยเป็นพวงมาลัย ลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้า ดอกมะลิสดขายส่งกิโลกรัมละ 300 บาท มะลิที่ร้อยเป็นมาลัยมีราคาพวงละตั้งแต่ 5-100 บาท พวงมาลัยราคา 20 บาท มีผู้สั่งจองมากที่สุด ราคาดอกมะลิในช่วงที่มีมากราคาจะตกลงมาที่กิโลกรัมละ 150 บาท ในช่วงที่ขาดแคลน ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท แต่ถ้าคิดเฉลี่ยจะตกประมาณ 250-300 บาท ต่อกิโลกรัม จึงทำให้มีรายได้เข้ามายังสวนมะลิ "อยู่เย็น" ในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของ คนงานประจำ 4 คน คนงานรายวัน 20 คน และคนงานร้อยมะลิวันละประมาณ 5-12 คน ให้มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน

นอกจากนี้ คุณนลินยังได้เจียดรายได้ในเดือนที่มะลิให้ผลผลิตมาก เฉลี่ยให้แก่แรงงานทุกคน มากน้อยตามเนื้องาน จึงทำให้ผู้ร่วมงานทุกคนมีความรัก ความภักดีต่อคุณนลินเป็นอย่างมาก ความรักความภักดีจากแรงงานย่อมส่งผลต่อความสำเร็จของสวน "อยู่เย็น" เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย ใครเล่าจะนึกว่าเนื้อที่ของสวนเพียง 1 ไร่ครึ่ง จะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้เจ้าของและแรงงานร่วม 30 ชีวิต ให้มีความอยู่กินดีแบบพอเพียงได้

แม้คุณนลิน จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ความหวังยังไม่สิ้นสุด ด้วยเป็นคนมีน้ำใจและความคิดงาม ยังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป โดยในขณะนี้เธอกำลังปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งของหน้าบ้าน เพื่อสร้างโรงเพาะเห็ดขอนขาวอีกทางหนึ่ง นอกจากโรงเพาะเห็ดแล้วเธอยังคิดจะปลูกผักหวานป่า ซึ่งยังมีพื้นที่เหลือจากการปลูกมะลิอีกด้วย มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้านขอเป็นกำลังใจช่วยเต็มที่

ประการสุดท้าย คุณนลินกล่าวว่า เธอตั้งมั่นว่าจะทำสวนมะลิ "อยู่เย็น" ให้เป็นสวนมะลิปลอดสารพิษ และปรารถนาขอคำแนะนำ ไม่ว่าทางทฤษฎี ทางปฏิบัติ จากบุคคล องค์กรต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดเวลา หากบุคคล องค์กรใด จะให้คำปรึกษา แนะนำ ขอให้ส่งคำปรึกษาและคำแนะนำได้ตามที่อยู่ข้างต้น จักเป็นพระคุณยิ่ง

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
มุกดาหาร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 413
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM