เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แนวทางการปลูกกวาวเครือขาวเชิงการค้า
   
ปัญหา :
 
 
สถานการณ์การผลิต

การผลิต กวาวเครือขาว เป็นสมุนไพรที่ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรเก็บผลผลิตจากป่า การผลิตกวาวเครือขาวในเชิงพาณิชย์ยังมีน้อย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รายงานการขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกกวาวเครือขาว รวม 512 ไร่ 56 ตารางวา จำนวน 121,625 ต้น พื้นที่ปลูกในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

สภาพธรรมชาติ กวาวเครือเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบตามป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย กวาวเครือขาวพบในสภาพธรรมชาติ ในพื้นที่ 28 จังหวัด แหล่งที่พบมากคือ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ตาก เลย ประจวบคีรีขันธ์ ลำปาง และสระบุรี กวาวเครือขาวจะกระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง

สถานภาพการคุ้มครองกวาวเครือในประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ประกาศให้กวาวเครือ และทองเครือ เป็นพืชสงวน และเป็นพันธุ์พืชใหม่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ใดส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามส่งออกกวาวเครือทุกพันธุ์ ยกเว้นที่ผ่านกระบวนการและไม่สามารถใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์ได้ หากผู้ใดจะศึกษาวิจัยต้องขออนุญาต และทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กวาวเครือเป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 การใช้ประโยชน์ การดูแล การเก็บรักษาหรือขนย้ายและการปลูก จะต้องแจ้งนายทะเบียนกลาง/สาธารณสุขจังหวัด



สถานการณ์การตลาด

วัตถุดิบ โดยทั่วไปเกษตรกรจะขุดกวาวเครือขาวและนำมาหั่น ทำแห้งเป็นกวาวเครือผง

ราคาวัตถุดิบสด 20-30 บาท ต่อกิโลกรัม

ราคากวาวเครือขาวผง 120 บาท ต่อกิโลกรัม (กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ)

อัตราการทำแห้ง เท่ากับ 1 : 10

สารสกัดกวาวเครือขาว 8,000 บาท ต่อกิโลกรัม (กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ)

วัตถุดิบกวาวเครือนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ยา ได้แก่ ตำรายาแผนโบราณใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาแผนโบราณที่อนุญาตใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน สำหรับบำรุงร่างกาย และในอนาคตใช้แทน hormone replacement therapy ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ เครื่องสำอางบำรุงผิว anti-aging บำรุงทรวงอก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพในผู้สูงอายุ (ในขนาดต่ำๆ) และมีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสุกรและไก่

ผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวมีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีภาคเอกชนดำเนินการประมาณ 30 บริษัท ได้แก่ กวาวเครือขาวแคปซูลและชนิดเม็ด บริษัท ขาวลออเภสัช แฮร์โทนิค และครีมนวดหน้าอก บริษัท ล๊อคเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ครีมพอกหน้า และครีมบำรุงผิวหน้า บริษัท เซนต์เฮิร์บ จำกัด เป็นต้น

การขึ้นทะเบียน ผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวสามารถขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแล้วมากกว่า 50 ตำรับ มีผลิตภัณฑ์ในรูปต่างๆ ได้แก่ แคปซูล ผง ครีม และยาลูกกลอน ผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวเป็นอาหารและอาหารเสริม ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน อย.เนื่องจากต้องมีความชัดเจนในเรื่องพิษและงานวิจัยทางคลีนิค

ตลาดต่างประเทศ มีความต้องการสูงมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีกวาวเครือขาวเป็นส่วนผสมเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นเวลานานทั้งในประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี



ปัญหาที่พบ

1. ไม่มีแหล่งผลิตเชิงการค้า

2. ขาดข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องสายพันธุ์ และเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว การทำแห้ง ต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมในระดับเกษตรกร

3. ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานชนิด และปริมาณสารสำคัญออกฤทธิ์ สารที่เป็นพิษ และขนาดที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์กวาวเครือแต่ละประเภท



แนวทางการพัฒนา

1. เร่งส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบแบบครบวงจรร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ได้วัตถุดิบ ตามความต้องการใช้และทดแทนการนำออกจากป่า

2. เร่งศึกษารูปแบบการผลิตและการลงทุนที่เหมาะสมกับพื้นที่ เกษตรกร และคุ้มค่าในการลงทุน การใช้ค้าง การเก็บเกี่ยว การทำแห้งที่รวดเร็วลดการสูญเสียและลดจุลินทรีย์ปนเปื้อน

3. สนับสนุนการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตกวาวเครือที่มีความพร้อม เพื่อเป็นกลุ่มถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ แก้ไขปัญหา โดยมีทีมนักส่งเสริมและนักวิจัยร่วม

4. เร่งสร้างองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ ให้สามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้สนใจได้ผ่านแปลงปลูกสาธิต แปลงประยุกต์ทดสอบเทคโนโลยีการปลูก โรงเรือนแปรรูปและมีหลักสูตรถ่ายทอดความรู้

5. บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยทั้งเกษตรและสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากกวาวเครือขาว

6. ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการอนุรักษ์กวาวเครือในธรรมชาติ ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมายจากการทำลายมากกว่าผลประโยชน์ ลดการขุดและการขุดโดยถูกวิธีรักษาสภาพแวดล้อม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ความเข้าใจในเรื่องการขึ้นทะเบียนสมุนไพรควบคุม และการนำกวาวเครือไปใช้อย่างปลอดภัยและถูกวิธี



การปลูกกวาวเครือเชิงการค้า

การขยายพันธุ์

วิธีเพาะเมล็ดเกษตรกรสามารถทำได้ เหมาะสมเฉพาะในระยะแรก ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ที่ดีที่สุดยังไม่มี ปัญหาคือ อัตราการงอกและอัตราการรอดในแปลงต่ำ และเพาะเมล็ดยังมีการแปรปรวนของพันธุกรรมด้วย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่ระหว่างการศึกษา

วิธีการเพาะเมล็ด มีคำแนะนำคือ กวาวเครือมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง และ hilum มีขนาดเล็ก น้ำซึมผ่านยาก การเพาะเมล็ดต้องแช่น้ำค้างคืน 15 ชั่วโมง แล้วนำไปอบในตู้อบ ที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือผึ่งแดดให้แห้ง ประมาณ 1 วัน แล้วนำมาแช่น้ำค้างคืนอีก หลังจากนั้นนำไปเพาะในถุงดำคลุมถุงพลาสติคเพื่อให้อุณหภูมิในถุงหรือแปลงเพาะสูง เร่งความงอก วิธีนี้จะให้ความงอกสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ การเพาะเมล็ดควรทำกลางเดือนพฤศจิกายน เมื่อกล้าอายุ 4 เดือนจะพร้อมปลูกในเดือนเมษายน

การแบ่งหัวต่อต้น กวาวเครือเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีการสะสมอาหารไว้ที่ราก หรือเรียกว่าหัว โดยหัวจะขยายตัวต่อๆ กันไปคล้ายลูกปัดอยู่ใต้ดิน เรียกว่า ทูเบอรัส รูท (Tuberous roots) โดยหัวดังกล่าวจะไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ได้ การแบ่งหัวต่อต้น ใช้หัวขนาดเล็กเป็นสต๊อก หัวขนาดเล็กได้จากแปลงปลูกที่เก็บเกี่ยว หรือจากกล้าปักชำใบอายุ 4-5 เดือน ซึ่งจะมีหัวขนาดเล็ก 3-7 หัว เป็นขนาดหัวที่เหมาะสมสำหรับทำสต๊อก ผ่าหัวลง 1 ใน 3 เสียบกิ่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว 1 ข้อ ที่มีใบประกอบ 1 ใบ ดูแลรักษาในกระบะเพาะชำ คลุมถุงพลาสติคเพื่อรักษาความชื้น ถ้าเลือกหัวและต้นกวาวเครือขนาดพอเหมาะ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จะมีการต่อติดได้มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์

การปักชำใบ ใช้กิ่งที่มีสีเขียว ขนาดดินสอ มีใบเพสลาด 1 ใบประกอบ ควรปักชำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ใช้เวลาในการปักชำ 45 วัน ออกราก และดูแลรักษากล้าประมาณ 4-5 เดือน ดินในถุงกล้าต้องปรับปรุงให้มีธาตุอาหารพอเพียง

พันธุ์ที่มีการจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ พันธุ์ SARDI 190 ของสถาบันสุวรรณวาจกสิกิจเพื่อค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ ดินต้องไม่เป็นดินเหนียว หากดินไม่อุดมสมบูรณ์ต้องปรับปรุง ต้องไม่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อน แสงแดดต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำต้องพอเพียง อุณหภูมิและความชื้นปานกลาง

การปรับปรุงดิน ด้วยอินทรียวัตถุจำเป็นมาก ควรใช้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก ที่ไม่มีความเสี่ยงจากโลหะหนักปนเปื้อน เช่น ขี้วัวไล่ทุ่ง ปรับปรุงดินในแปลงปลูกด้วยปุ๋ยคอก ปริมาณขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การปลูก ใช้ระยะห่าง ระหว่างต้น 1-2 เมตร ระหว่างแถว 1-2 เมตร ปลูกสลับฟันปลา ใช้กล้าอายุ 4-5 เดือน จำนวน 1 ต้น ต่อหลุม อาจใช้พลาสติคคลุมแปลงเพื่อป้องกันวัชพืช โดยเฉพาะในระยะแรกปลูก

การทำค้าง เพื่อให้พืชสามารถหาแสงแดดได้มากที่สุด ค้างประกอบด้วย คานรับน้ำหนักเถา เสาปูนขนาด 2.5 เมตร ระยะห่าง 5 วา ต่อเสา เพื่อค้ำยัน และใช้ไม้ไผ่เพื่อให้ต้นเลื้อยพันขึ้นค้าง

การเก็บเกี่ยวและกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อกวาวเครือมีอายุ 3-4 ปี จึงมีปริมาณผลผลิตและสารสำคัญสูง เก็บเกี่ยวเมื่อต้นทิ้งใบและเริ่มออกดอก (มกราคม-มีนาคม) หากเก็บเกี่ยวเลยเวลานี้ จะได้ปริมาณสารสำคัญต่ำ เพราะเมื่อเริ่มแทงช่อดอกจะมีการดึงธาตุอาหารไปใช้

วิธีเก็บเกี่ยว ใช้รถขุดตัก เร็วและประหยัดกว่าการใช้แรงงานคน

- ล้างน้ำโดยใช้สายยางแรงดันสูงฉีดให้ดินและเปลือกชั้นนอกหลุดออก วิธีนี้ดีกว่าการปอกเปลือก เพราะสารสำคัญมีมากในเปลือกชั้นใน

- ตัดแต่งหัวหรือส่วนที่เน่าเสียออก (โดยปกติมีการเน่าเสียในแปลงและบาดแผลที่เกิดจากการขุด ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์)

- นำมาฝานบางๆ ด้วยเครื่องฝานสมุนไพร

- ตากแดดบนตะแกรงตาข่ายยกพื้น จนแห้งสนิท การใช้เครื่องอบแห้งใช้เวลามาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมากและไม่ทันเวลา เพราะการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งมีปริมาณมากและต้องทำอย่างรวดเร็ว การตากแดดใช้ลานตากยกพื้นสะอาด ตากจนแห้งสนิท

- นำมาบดหยาบบรรจุถุงพลาสติคและเก็บรักษาหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป



ปัจจัยที่ควรคำนึงในการผลิตกวาวเครือขาวเพื่อการค้า

- ต้องมีความชัดเจนเรื่องการตลาด/ผู้รับซื้อ เนื่องจากมีการลงทุนสูง และให้ผลตอบแทนช้า

- มีการปฏิบัติที่ดีเพื่อให้มีคุณภาพ และมีปริมาณสารสำคัญออกฤทธิ์สูง

- พื้นที่ผลิตของเกษตรกรควรมีพื้นที่หมุนเวียน เพื่อให้ได้ผลผลิตและมีรายได้ต่อเนื่องทุกปี เกษตรกรรายย่อยควรมีการรวมกลุ่มผลิตและมีการจัดการตลาดร่วมกัน

- กระบวนการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากที่ขุดหัวออกมาแล้ว มิฉะนั้นจะเน่าเสียได้ง่าย หรือมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนกับวัตถุดิบ ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ควรดำเนินการทุกขั้นตอนภายใน 3 วัน

- การทำแห้งกวาวเครือขาว เกษตรกรควรมีโรงเรือนแปรรูปที่สะอาดถูกสุขอนามัย ปฏิบัติตามแนวทาง GMP และมีเครื่องมืออุปกรณ์ในการแปรรูปที่เหมาะสม



แหล่งพันธุ์ และเรียนรู้เพิ่มเติม

บทความนี้ประมวลความรู้จากอาจารย์ 3 ท่าน ที่ได้กรุณาให้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและดูงานในแปลงปลูก ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

- อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ ศูนย์วิจัยสุกร สถาบันสุวรรณวาจกสิกิจเพื่อค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

- ดร.จรัญ ดิษฐ์ไชยวงศ์ ศูนย์วิจัยพืชสวน จังหวัดพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

- อาจารย์ลิขิต สูจิฆระ บริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ท่านที่ประสงค์ขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ตามรายละเอียดข้างล่างนี้ กลุ่มส่งเสริมการผลิตสมุนไพรคาดหวังให้มีผู้สนใจ ทั้งเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่จะนำร่องการผลิตเชิงการค้าและศึกษา พัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรนี้ร่วมกัน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 418
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM