เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
จันทน์ผาเมืองเพชร เกษตรอำเภอปลูก 25 ไร่ แบบอย่างสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน
   
ปัญหา :
 
 
ถนนเพชรเกษมยามนี้พลุกพล่าน โดยเฉพาะช่วงเช้า-เย็น และเสาร์-อาทิตย์ หลังจากรับประทานต้มเลือดหมูแสนเอร็ดอร่อย ที่หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรีแล้ว คุณชาญณรงค์ พวงสั้น เกษตรอำเภอบ้านลาด และ คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าปล้อง ก็ขับรถนำไปอำเภอแก่งกระจาน ระยะแรกใช้ถนนเพชรเกษม ไม่นานนักเลี้ยวขวาที่อำเภอท่ายาง

พ้นตลาดท่ายาง ภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนไป ข้างถนนเป็นคลองชลประทาน แต่จุดหนึ่งที่ผ่านไปทีไรก็ประทับใจทุกครั้ง คือช่วงที่ผ่านป่าไผ่สีสุก บริเวณนั้นชาวบ้านยึดอาชีพปลูกไผ่สีสุกจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกชมพู่เพชรนำไปทำนั่งร้าน บางฤดูกาลที่ลำไผ่ขึ้นสูง เมื่อขับรถผ่านมีความรู้สึกร่มเย็นดี ของกินของขายก็มีทั้งปี อย่างเช่น ข้าวโพดต้ม ก็ปลูกอยู่แถวนั้น



เริ่มงานเกษตร 8 ไร่

ขยายเป็น 25 ไร่


เมื่อเข้าสู่พื้นที่ของอำเภอแก่งกระจาน คุณชาญณรงค์พาแวะดูแปลงเพาะปลูกจันทน์ผา 2-3 แปลงด้วยกัน สุดท้ายเป็นแปลงใหญ่สุด อยู่ ณ บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 7 ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากตระเวนเก็บภาพและดูพืชพรรณเต็มอิ่มแล้ว จึงมีโอกาสคุยกับเกษตรอำเภอหัวก้าวหน้า

คุณชาญณรงค์นั้น เรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากนั้นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่เกษตร ตระเวนอยู่ตามสำนักงานเกษตรอำเภอ ในจังหวัดเพชรบุรี การศึกษาครั้งหลังสุด เขาเรียนจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก คณะเกษตรศาสตร์บางพระ จังหวัดชลบุรี ส่วนตำแหน่งปัจจุบันก็อย่างที่แนะนำไปแล้วคือเกษตรอำเภอบ้านลาด

งานเกษตร สำหรับเจ้าหน้าที่เกษตรนั้นเป็นของคู่กัน โดยทำเป็นงานอดิเรกและอาชีพเสริม คงไม่มีใครทำงานเกษตรเป็นอาชีพหลัก แล้วรับราชการเป็นอาชีพเสริม หากเป็นอย่างนี้ คงไม่มีความก้าวหน้าแน่

แต่บางช่วง งานอดิเรกอาจจะมีรายได้ดีกว่างานหลักก็เป็นได้ คุณชาญณรงค์ปลูกจันทน์ผาเป็นอาชีพเสริม ซึ่งนอกจากรายได้ที่ช่วยจุนเจือครอบครัวแล้ว ประสบการณ์ที่ได้ ยังนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรได้อย่างดี

เมื่อครั้งอยู่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าปล้อง คุณชาญณรงค์ร่วมกับคุณบุญส่ง แนะนำให้เกษตรกรปลูกมะละกอ ผลจากการทำงานครั้งนั้น เกษตรกรมีรายได้ดี หนองหญ้าปล้องเป็นแหล่งมะละกอที่สำคัญของบ้านเรา

สำหรับการปลูกจันทน์ผา คุณชาญณรงค์เล่าว่า ตนเองเป็นนักเกษตร บางครั้งรับออกแบบจัดสวน มองเห็นว่า จันทน์ผา เป็นไม้ที่มีคุณค่า แต่จะดึงทึ้งมาจากป่านั้นทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นไม้หวงห้าม จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง แล้วปลูกเป็นแปลงใหญ่

"ที่ดินแปลงปัจจุบัน เดิมมี 8 ไร่ ครั้งแรกปลูกฟักทอง เก็บฟักทองได้ค่าไถที่ ต่อมาปลูกมะละกอ ขายมะละกอ ซื้อเพิ่มอีก 13 ไร่ จากนั้นปลูกมะนาว แล้วนำจันทน์ผาแซมลงไป เมื่อมะนาวอายุ 7 ปี ก็ปล่อยมะนาวทิ้ง จันทน์ผาก็โตเต็มที่ ผมมามองว่า ปลูกอย่างเดียวเสี่ยง หากขายไม่ได้ จึงปลูกไม้สักแซมลงไป 1,000 ต้น อย่างอื่นมีไม้ผล พะยอม ตอนนี้จันทน์ผาอายุได้ 13 ปี เริ่มเก็บเมล็ดได้เมื่อ 7-8 ปี ที่แล้ว เราขุดต้นขายอยู่เรื่อยๆ สำหรับจันทน์ผา ขุดแล้วก็ปลูกเติมลงไป ปีที่แล้ว เพาะเมล็ด 50,000 ต้น ตอนนี้ขยายที่ปลูกพื้นที่กลางแจ้ง ปลูกกลางแจ้งต้นแตกเป็นพุ่มดี ทรงสวย ตอนนี้มีทั้งหมด 25 ไร่ พร้อมขายไม่น้อย 10,000 ต้น" คุณชาญณรงค์ บอก



เพาะเมล็ดดีที่สุด

คุณชาญณรงค์ บอกว่า เนื่องจากมีการขยายพันธุ์จันทน์ผาด้วยเมล็ด จึงพบจันทน์ผาหลายลักษณะด้วยกัน เป็นต้นว่า ใบเล็ก (ต้นเล็ก บางพื้นที่เรียกจันทน์แดง) ใบตั้ง ใบสั้น ใบยาว ใบสีนวล (สีฟ้า) รวมทั้งใบด่างเหลือง การจำแนกเรื่องของพันธุ์ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะลักษณะที่พบอยู่ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

เกษตรอำเภอบ้านลาดบอกว่า การเก็บจันทน์ผาจากป่านั้น เป็นการทำลายธรรมชาติ ทางที่ดีนั้น ต้องเพาะพันธุ์เอง ซึ่งทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด

เมล็ดเดิมทีเก็บจากป่า ซึ่งตามกฎหมาย อนุญาตให้จำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก ปัจจุบันที่แปลงจันทน์ผาของคุณชาญณรงค์ มีเมล็ดให้เก็บเพาะทุกปี ไม่ต้องไปเก็บจากป่า

เจ้าของอธิบายว่า จันทน์ผา ออกดอกเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม ไปสุกแก่เดือนตุลาคม

วิธีเพาะ เริ่มจากนำเมล็ดมาล้างน้ำ ผึ่งแดด 2-3 แดด จากนั้นเพาะในดินที่ผสมใบไม้ผุ ราว 1 เดือน เมล็ดก็จะงอกออกมา เมล็ดจันทน์ผาอยู่ได้นาน หากเก็บไว้ในที่เหมาะสม อาจจะอยู่ได้ถึง 1 ปี โดยที่เปอร์เซ็นต์ความงอกยังดีอยู่

"เมื่อต้นกล้างอกได้ 4 เดือน แยกลงถุง ขนาด 2x6 นิ้ว ต่อมาย้ายลงในกระถาง 6 นิ้ว และ 12 นิ้ว ต้นจะสูงราวฟุตหนึ่ง จึงลงดินได้ หากต้นเล็ก รีบนำปลูกลงดิน ดินจะเข้ายอด ทำให้ต้นเน่าตายได้ง่าย ปลูกไป 3 ปี ก็ขายได้ ราคาอยู่ที่ 300 บาท หากต้นสูงเมตรเศษๆ มีกิ่งก้านก็ขายได้ต้นละ 1,000 บาท ต้นอายุมากๆ ขายมากกว่า 10,000 บาท" เจ้าของอธิบาย



ปลูกและดูแลรักษาง่าย

คุณชาญณรงค์ บอกว่า การปลูกการดูแลรักษาจันทน์ผาของตนเองไม่เคยใส่ปุ๋ย แต่ได้ปุ๋ยจากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถม เป็นใบไม้สักและใบไม้อื่นๆ นั่นเอง สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก็ไม่ต้องใช้

เรื่องน้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์

"จันทน์ผาอยู่ป่า ได้รับน้ำเฉพาะหน้าฝน 4 เดือน เรานำมาปลูก ได้น้ำ 12 เดือน ย่นระยะเวลา เขาจะโตเร็วขึ้น ทรงต้นสวยงาม จันทน์ผาขุดล้อมง่าย ตายยาก เพียงแต่มีรากติดก็รอดแล้ว ต้นยิ่งโตยิ่งขายได้ราคาดี ทนแล้ง แต่น้ำท่วมตาย ไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามเขาสูงๆ ในที่อากาศแห้งแล้งอยู่ได้ อยู่ตามยอดเขาจึงเรียกจันทน์ผา ป่าดงดิบไม่พบไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ ผมปลูกไม้อื่นเสริม อย่างสัก พะยอม เป็นไม้ป่าเพื่อเสริมเข้าไป เป็นมรดกให้ลูก สักอายุ 40 ปี ตัดขายได้"

คุณชาญณรงค์บอก และเล่าต่ออีกว่า

"การใช้ประโยชน์จันทน์ผานั้นใช้จัดสวน จัดกับสวนหิน ส่วนไหนไม่สวยใช้จันทน์ผาไปจัดจะสวย เกิดความงามขึ้นมาทันที เป็นไม้ที่อยู่ได้ทุกสภาพ ร่มก็ได้ ตามซอกน้ำตก ทรงใบได้เปรียบ แต่อยู่ร่มเลยไม่ดี"



งานอดิเรก มีรายได้เสริม

งานปลูกจันทน์ผาของคุณชาญณรงค์ เขาใช้เวลาเสาร์และอาทิตย์ทำงาน หรือไม่ช่วงเย็นก็บึ่งรถไปแนะนำคนสวน ซึ่งมีอยู่ 2 คน

ถามถึงการซื้อขาย ได้รับคำตอบว่า

"ผมจัดสวน ขายไปบ้าง ส่วนหนึ่งเขามาซื้อมาเลือกเอง การดูแลน้ำไม่ต้องให้ก็ได้ แต่ถ้าให้จะดีกว่า เราพัฒนาตรงนี้ไม่อยากให้มีการทำลายป่า เพชรบุรี เป็นประตูสู่ภาคใต้ ทางใต้มีโรงแรม มีรีสอร์ต ใช้ไม้ดอกไม้ประดับมาก อยากให้ชาวบ้านทำไม้ดอกไม้ประดับบ้าง คนซื้อจะประหยัดค่าน้ำมัน ไม่ต้องไปไกลถึงคลองสิบห้า ที่ผมปลูกจันทน์ผาที่กลางแจ้งส่วนหนึ่ง ต้นจะแตกยอดดี ที่นิยมกันมี 3, 5 และ 7 ยอด ยอดออกเป็นคู่ไม่ค่อยนิยม หากคนมาซื้อเยอะๆ เป็นคันรถหกล้อ มีใบรับรองให้ เราขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกในที่มีโฉนด...ทุกวันนี้ก็จำหน่ายได้ดี มีรายได้พอสมควร"

ถือว่าเป็นงานอดิเรกที่มีรายได้เสริมจากเงินเดือนประจำ

ผู้อ่านท่านใดอยากทราบข้อมูลมากกว่านี้ หรือติดต่อขอดูงาน สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทร. (081) 705-7911





จันทน์ผา หน้าตาเป็นอย่างไร

ชื่ออื่นคือ ลักจั่น จันทน์แดง ที่จังหวัดเลยเรียก จันได

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงกว่า 5-12 ฟุต บางต้นหากดินดีอาจจะสูงกว่านี้

ลำต้นแกร่ง ตั้งตรง อาจมีคดงอและแตกกิ่งก้าน

ใบแตกออกเป็นช่อ ตามส่วนยอด ใบแคบเรียวยาว ปลายใบแหลมรูปหอก ขอบใบเรียบเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ใบกว้าง 1.5-2 นิ้ว ยาว 1.5-2 ฟุต

ออกดอกเป็นพวง จะแตกออกตามโคนก้านใบคล้ายจั่นหมาก พวงหนึ่งประกอบด้วยดอกเล็กๆ จำนวนหลายพันดอกด้วยกัน ดอกสีขาว

ตรงกลางดอกมีจุดสีแดงสด ช่อดอกยาว 1-2 ฟุต

เมื่อดอกบานเต็มที่จะติดผล ขนาดเล็กๆ กลม คล้ายผลมะแว้ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดง สุดท้ายสีคล้ำ

ชอบแดดจัด ทนแล้งได้ดี

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เพชรบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 418
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM