เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แปลงผักลอยน้ำ ที่ลุ่มน้ำปากพนัง
   
ปัญหา :
 
 
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2521 ให้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอปากพนัง ชะอวด ร่อนพิบูลย์ เชียรใหญ่ หัวไทร ลานสะกา จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอควนขนุน และป่าพยอม จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1.9 ล้านไร่ ที่ได้รับความทุกข์เข็ญจากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาดินเค็มดินเปรี้ยวที่ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้การทำนาอันเป็นอาชีพหลัก บนพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ ไม่สามารถทำนาได้ตามปกติ พื้นที่การทำนาลดจำนวนลงกว่าครึ่งหนึ่ง และหลายพื้นที่ผลผลิตข้าวลดต่ำลงมาก

จากพระเมตตาคุณอันไพศาล และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า "ทุกข์ของประชาชนนั้นรอไม่ได้" การพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจึงบังเกิดขึ้น ภายใต้ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

มาถึงวันนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี การดำเนินการตามแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งการงานด้านระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐาน งานพัฒนาจัดวางระบบชลประทานน้ำเค็มและงานการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย บัดนี้ ราษฎรในลุ่มน้ำปากพนังทุกคน ล้วนมีดวงตาอันเปี่ยมไปด้วยประกายแห่งความหวังที่จะมีชีวิตใหม่อันสดใส ความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นอดีตกาลจะกลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันแผ่ปกไพศาลเป็นที่ล้นพ้น แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดแห่งการพัฒนา โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในวันนี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการประกอบอาชีพ

การปลูกผักบนแปลงลอยน้ำ เป็นโครงการล่าสุดที่กำลังดำเนินการส่งเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้นำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นหนทางแห่งการสร้างอาชีพและรายได้อีกทางหนึ่ง

การปลูกผักบนแปลงลอยน้ำ นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง โดยทำแปลงผักจากผักตบชวาที่อัดแน่นและลอยน้ำได้ เพื่อใช้เพาะปลูกพืชล้มลุกประเภทพืชผักสวนครัว และเป็นการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชน เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง และช่วยลดภาระในการกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การขับเคลื่อนของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550

ทั้งนี้ ด้วยในปัจจุบันปริมาณผักตบชวาในลำคลองชลประทานมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากจนส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดลง ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำประมง และการสัญจรทางน้ำ การชลประทาน จนเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลอง

จากข้อมูลของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการสำรวจในช่วงปี 2550 พบว่า ในลำคลองสาขา 19 สาขา มีปริมาณผักตบชวาถึงจำนวน 76,540 ตัน ซึ่งกรมชลประทานมีศักยภาพในการจำกัดได้ไม่มาก ดังนั้น จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการสร้างเครือข่ายชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดวัชพืชน้ำในลำคลอง โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

หนึ่ง ศูนย์กลางการเรียนรู้การกำจัดผักตบชวา ซึ่งเป็นการประสานงาน แหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมชุมชนและการศึกษาวิจัย ในการจัดการเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวา โดยผสมผสานเทคนิควิธีการจากแหล่งความรู้ต่างๆ และภูมิปัญญาของชุมชน เช่น การใช้ผักตบชวาสำหรับการทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงผักลอยน้ำ การทำแปลงทดสอบคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวา การทำหัตถกรรม การศึกษาวิจัยการคัดสายพันธุ์จุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายผักตบชวา เป็นศูนย์รับซื้อและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ผักตบชวาของชุมชน จากพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำปากพนัง

สอง กลุ่มจัดการผักตบชวาในลำคลอง ปัจจุบันมี 10 กลุ่ม กระจายตามลำคลองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีการดำเนินงานร่วมกับ อบต. ในการเอาผักตบชวาขึ้นเองจากลำคลองชลประทาน และประสานงานโครงการส่งเสริมน้ำและบำรุงรักษาในการใช้เรือกำจัดผักตบชวาในกรณีที่มีผักตบชวามากเกินกำลังของชุมชน เริ่มกำหนดจุดขึ้นผักตบชวาจากแม่น้ำลำคลองร่วมกัน และมีกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่และประสานกับศูนย์กลางการเรียนรู้ฯ เพื่อการให้ความรู้หรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคนิคการทำปุ๋ยอินทรีย์จากกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งการประสานงานทางการตลาดเพื่อผลิตปุ๋ยผักตบชวาตามความต้องการของลูกค้า

คุณปิยะ วันเพ็ญ นักวิจัยของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า การทำแปลงผักลอยน้ำที่ดำเนินการนั้น จะใช้แรงงานประมาณ 6 คน รวบรวมผักตบชวามากองบนโครงไม้ไผ่ที่ทำขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามขนาด ซึ่งมีความกว้าง 2 เมตร และยาว 8 เมตร จากนั้นอัดผักตบชวาให้แน่น

เมื่ออัดได้ความหนาของชั้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร ให้ขึ้นไปใช้เท้าเหยียบและเดินไปมาเพื่ออัดให้แพผักตบชวาแน่นและคงทนต่อการใช้งาน ทำแบบนี้เป็นชั้นๆ ทุกระยะ 20 เซนติเมตร จนได้ความหนาประมาณ 1 เมตร แต่ทั้งนี้ในการนำผักตบชวาขึ้นกองนั้น จะต้องทำให้มีความสูงเกินกว่าที่กำหนดนิดหน่อยเพื่อเผื่อไว้ในช่วงที่ผักตบชวาแห้งและยุบตัวลงมา

เมื่อความหนาของผักตบชวาได้ตามที่กำหนดแล้วจะนำดินมาโรยบนผิวหน้าเพียงเล็กน้อย แล้วจะใช้พร้าสับผิวดินด้านบนให้ใบผักตบชวาละเอียด และสะดวกต่อการเพาะปลูก ซึ่งในการทำแปลงผัก 1 แปลง จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้ผักตบชวาโดยไม่รวมน้ำหนักน้ำ คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม

ผักที่ใช้ทดลองเพาะปลูกในเบื้องต้น ได้แก่ แตงกวา ผักกาด ผักคะน้า และผักบุ้งจีน ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25-40 วัน ตามชนิดของผัก

"การปลูกนั้นสามารถทำได้เลยหลังจากที่ทำกองเสร็จ โดยจะนำต้นกล้าของผักที่เพาะเตรียมไว้มาลงปลูกบนแปลงตามระยะที่เหมาะสมของผักแต่ละชนิด"

ในส่วนของการให้น้ำแก่ผักที่ปลูกบนแปลง ด้วยเป็นการจัดทำแปลงปลูกในลักษณะลอยอยู่ในแหล่งน้ำ จึงทำให้ผักที่ปลูกสามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการให้น้ำแต่อย่างไร รวมถึงการปลูกด้วยวิธีนี้ ทางผู้ศึกษาวิจัยบอกว่า ไม่ได้มีการใช้สารเคมีต่างๆ เลย ทำให้เป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังไม่พบการระบาดของโรคแมลงต่างๆ ด้วย

คุณปิยะกล่าวต่อไปว่า ส่วนต้นทุนในการดำเนินการนั้น ค่าแรงคนงาน คนละ 100 บาท ต่อวัน โดยคนงาน 6 คน จะสามารถทำแปลงผักตบชวาได้ 2 แปลง คิดเป็นต้นทุนค่าแรงงานแปลงละ 300 บาท พร้อมกันนี้มีค่าพันธุ์ผักที่ใช้เพาะปลูกต่อแปลงประมาณ 30 บาท ค่าปุ๋ยและอุปกรณ์การเพาะชำกล้าแปลงละ 50 บาท รวมต้นทุนค่าดำเนินการทั้งสิ้น 380 บาท

สำหรับผลผลิตได้ต่อแปลงนั้น ทางสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง ให้ข้อมูลว่า ผักบุ้งจีนใช้เวลาเพาะปลูก 25-30 วัน ได้ผลผลิต 40-50 กิโลกรัม ต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมรายได้ประมาณ 800-1,000 บาท ต่อแปลง และสามารถตัดได้สองครั้ง

ขณะที่แตงกวาใช้เวลาในการเพาะปลูกประมาณ 30 วัน ได้ผลผลิต 50 กิโลกรัม ต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมราคาที่จำหน่ายได้ 1,000 บาท ต่อแปลง

สำหรับพื้นที่แปลงผักดังกล่าวนี้ สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ 3-4 รอบ หรือใช้งานได้ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และเมื่อใกล้หมดสภาพแล้วสามารถนำขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำไปทำเป็นชั้นบนของแปลงผักใหม่ได้

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว สามารถช่วยลดปริมาณผักตบชวาตามแม่น้ำลำคลองลงได้ อีกทั้งเป็นแปลงเพาะปลูกพืชผักสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งเหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลแปลงเพาะปลูก เพราะไม่จำเป็นต้องรดน้ำหรือดูแลเอาใจใส่มากนัก อีกทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากการส่งเสริมให้นำผักตบชวาจัดทำเป็นแปลงผักลอยน้ำแล้ว โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ลุ่มน้ำปากพนังดำเนินการผลิตปุ๋ยเพื่อนำไปใช้ในการเกษตร โดยใช้พื้นที่ของโรงกำจัดผักตบชวา บริเวณหัวงานโครงการฯ เป็นที่ผลิต และจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจได้นำไปใช้ โดยผู้สนใจอยากได้ปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา คุณภาพดี สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการการมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง หมู่ที่ 4 ตำบลบางพระ อำเภอปากพนัง โทร. (075) 517-909, (089) 197-6797

สำหรับเกษตรกรที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกผักบนแปลงลอยน้ำ สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง โทร. (074) 212-752

วันนี้ การปลูกผักลอยน้ำ จึงเป็นทางเลือกใหม่ของเศรษฐกิจพอเพียงของผู้คนในชุมชนแห่งลุ่มน้ำปากพนัง

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครศรีธรรมราช
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM