เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์... อีกหนึ่งพืชทางเลือก
   
ปัญหา :
 
 
ในช่วงออกพรรษาราวเดือนตุลาคม ปี 2548 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวจังหวัดริมชายแม่น้ำโขง กับ ดร.เสวียน หอมนาน อดีตผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ท่านถูกยกย่องให้เป็น "เมธีมะขามหวาน" หรือเป็นปรมาจารย์ทางด้านมะขามหวาน เป็นบุคคลที่จุดประกายให้คนหันมาปลูกมะขามหวานกันทั้งประเทศ ในราวเกือบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในปี 2533 ท่านได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาส่งเสริมการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ในขณะนั้น ในการไปเที่ยวครั้งนี้ท่านได้ชวนผู้เขียนกับ คุณเมธี คำหุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตมุกดาหาร ไปดูมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่บ้านโนนเกษม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ต้นที่เคยชนะเลิศการประกวดมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มาแล้วในอดีต โดยท่านตั้งใจจะไปขอตาพันธุ์นี้ไปติดกับต้นตอมะขามหวานของท่านที่ปลูกไว้ที่บ้านสวนนวลน้อย อยู่ที่อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ผู้เขียนได้ความรู้เรื่องมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์จากท่านมากมาย อยากจะนำมาเขียนเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นการระลึกถึงท่านที่ได้จากโลกไปเมื่อปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ส่วนหนึ่งของชีวิตท่านได้อุทิศตัวเพื่อพัฒนาวงการมะขามบ้านเรา จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจคิดจะเปลี่ยนจากมะขามหวานเป็นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ในอนาคตต่อไป



ถิ่นกำเนิดของมะขาม และการแพร่กระจาย


มะขาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamaindus indica Linn. ชื่อสามัญที่รู้จักกันมากคือ Tamarind มะขาม มีชื่อเรียกหลายชื่อหลายภาษา ในสเปนและโปรตุเกส เรียก Tamarindo ในฝรั่งเศสเรียก Tamarinier, Tamarinier des Indes และ Tamarindier ในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี เรียก Tamarinde ในอิตาลี เรียก Tamarandizio ในฟิลิปปินส์ เรียก Sampalok ใน Virgin Island เรียก Taman ในมาเลเซีย เรียก Asam jawa ในกัมพูชา เรียก Ampil และ khoua me ในเวียดนาม เรียก Me

แหล่งกำเนิดมะขามอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาแถบประเทศซูดาน จากนั้นได้ถูกนำมาปลูกในอินเดีย เปอร์เซีย เอเชียตะวันออก หมู่เกาะในทะเลแปซิฟิก โดยมะขามต้นแรกที่ปลูกในเกาะฮาวายเมื่อ ปี ค.ศ.1797 จากนั้นได้ถูกนำไปปลูกในเขตร้อนของทวีปอเมริกา โดยเริ่มจากหมู่เกาะ Bermuda, Bahamus และ West Indies จากนั้นเข้าสู่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก กัวเตมาลา ประเทศในแถบอเมริกากลาง และตอนเหนือของประเทศบราซิลในที่สุด





ย้อนรอยมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ในประเทศไทย

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ จัดอยู่ในพวกมะขามเปรี้ยวชนิดหนึ่ง ดร.เสวียน หอมนาน ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่เล่าให้ฟังว่า มะขามเปรี้ยวจำแนกพันธุ์ตามลักษณะของฝักได้ 2 ประเภท คือ ประเภทฝักขนาดเล็ก ฝักค่อนข้างกลมสั้น มีข้อน้อย เรียกว่า "มะขามขี้แมว" และประเภทฝักขนาดโต แบนยาว โค้งเล็กน้อย ให้เนื้อมาก เรียกว่า "มะขามกระดาน"

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ จัดอยู่ในประเภทมะขามกระดานกลายพันธุ์เป็นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ โดยส่วนมากจะกลายพันธุ์เป็นยักษ์ฝักแบน มีน้อยมากที่กลายเป็นยักษ์ฝักกลม มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์อาจพบเห็นทั่วไปทุกภาคของประเทศ แต่มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ปลูกเป็นการค้ากันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่มาจาก 2 แหล่ง ด้วยกัน คือพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ของ คุณคำอ่อน วังคะอาด อยู่บ้านโนนเกษม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

คุณลุงคำอ่อนเล่าให้ฟังว่า เห็นมะขามฝักใหญ่เกิดในทุ่งนา ลองชิมดูเป็นมะขามเปรี้ยวอมหวาน เก็บมาฝากให้ภรรยาชิมขณะแพ้ท้อง โดยนำเมล็ดที่กินแล้วมาเพาะในกระบอกไม้ไผ่ 31 เมล็ด ได้มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ 1 ต้น ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปทั่วในภาคอีสาน โดยเฉพาะชายแม่น้ำโขง และอีกแหล่งหนึ่งเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ของ พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 โดยนำเมล็ดมะขามกระดานจากอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มาเพาะใส่ถุงพลาสติคแจกชาวบ้าน และได้นำไปปลูกที่ไร่ของตัวเองในจังหวัดกาญจนบุรี 6 ต้น ได้มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ดีที่สุด 1 ต้น ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก



ลักษณะพฤกษศาสตร์ของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

มะขามเปรี้ยว เป็นไม้พื้นบ้านไทยขนาดใหญ่ สูงประมาณ 6-20 เมตร ขนาดทรงพุ่มแน่นและแผ่เป็นวงกลม ขนาดประมาณ 18-20 เมตร ลำต้นแข็งแรง มีเปลือกสีน้ำตาลอ่อนและแตกสะเก็ดเป็นร่องเล็กซึ่งใช้จำแนกพันธุ์ได้ ปลายกิ่งมักจะห้อยลง

ใบมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มีลักษณะเป็นใบรวม จะออกเป็นใบคู่เรียงตามก้านใบ ก้านหนึ่งมีประมาณ 10-18 คู่ ลักษณะของใบย่อย เป็นรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบโค้งมน มีสีเขียวแก่ ใบจะลู่และหุบในเวลาที่ไม่มีแสง ดอกขนาดเล็กสีเหลือง มีจุดประสีแดงอยู่ตรงกลางดอก

ออกดอกเป็นช่อยาวตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบ raceme ช่อหนึ่งมีดอก 10-15 ดอก ดอกมี 5 กลีบ มองเห็นชัดเพียง 3 กลีบ ส่วนอีก 2 กลีบ มองเห็นเพียงเป็นเกล็ดเล็กอยู่ด้านหลังดอก ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีรสเปรี้ยว ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ฝักแก่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ผลเป็นแบบแบน โค้งงอ เปลือกหนาไม่แตก มีสีน้ำตาลปนเขียว เปลือกเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทา ข้างในผลมีเนื้อ ฝักดิบมีสีเหลืองนวล เมื่อสุกเนื้อจะเปียกสีน้ำตาลแก่ ผลมีขนาดโตมาก เมล็ดอ่อนมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมดำเมื่อแก่ ใน 1 ฝัก มีเมล็ดตั้งแต่ 5-12 เมล็ด ลักษณะเมล็ดใหญ่แบน



จุดเด่นของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ เป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย การดูแลไม่ยุ่งยาก สามารถขึ้นได้กับดินทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะกับการปลูกคือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ให้ผลดก ติดฝักง่าย ต้นไม่สูงมากนัก กิ่งขยายด้านข้าง มีฝักขนาดใหญ่ หรือประมาณ 5-10 ฝัก ต่อกิโลกรัม ผลผลิตเมื่อต้นมีอายุ 10 ปี ขึ้นไปแล้ว ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ต่อต้น มีการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ยอดอ่อนจนถึงฝักแก่ ส่วนของเนื้อมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ มีกรดทาร์ทาริกสูงประมาณ 12-14 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์หลายชนิด จึงทำให้มีรสเปรี้ยว ทั้งยังมีสารพวก "แพคติน" และ "กัม" อยู่ด้วย สารประเภทนี้ คือ antraquinone มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายได้ด้วย เนื้อมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เวลาสุกมีรสเปรี้ยวมากกว่ามะขามเปรี้ยวธรรมดา 2 เท่า

ดังนั้น เนื้อมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เมื่อสุก จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่ เครื่องปรุงน้ำพริก แยม ซอส เยลลี่ ลูกอม ใช้ทำเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำมะขาม ชามะขาม ใช้ทำยาและสมุนไพร ได้แก่ ยาระบาย สมุนไพรบำรุงผิวพรรณ ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานฟอกหนัง นอกจากนี้ เนื้อมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ยังดิบอยู่ สามารถนำมาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม ขายได้ราคาสูงถึง 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม การแปรรูปดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้ปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ในขณะนี้



การขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

การขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ดีที่สุดก็คือ การทาบกิ่ง และการเสียบยอด ต้นที่ได้จะมีลักษณะตรงตามพันธุ์ที่เราต้องการ การนำเมล็ดมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มาเพาะจะได้ต้นที่ไม่เหมือนต้นเดิม หรือชาวบ้านเรียกว่าเกิดการกลายพันธุ์นั่นเอง ดังนั้น จึงห้ามขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ด้วยวิธีการเพาะจากเมล็ดโดยเด็ดขาด ยกเว้นใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เท่านั้น

สำหรับการทาบกิ่งนั้น ต้องมีการเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้นตอเป็นส่วนสำคัญในการขยายพันธุ์ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นระบบรากของต้นพืช ดูดน้ำและธาตุอาหาร ตลอดจนค้ำยันลำต้นด้วย ส่วนการกิ่งพันธุ์นั้นเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์ดีที่เราต้องการ ทำหน้าที่ออกฝักเพื่อให้ได้ฝักที่มีขนาดและคุณภาพตรงตามที่เราต้องการ

การทาบกิ่ง ต้องมีการเตรียมต้นตอ โดยใช้มะขามเปรี้ยวพันธุ์ธรรมดาหรือมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มาคัดเลือกเมล็ดที่ใช้เพาะด้วยการลอยน้ำ โดยนำเมล็ดที่จมมาเพาะในถุงพลาสติค ขนาด 4x10 นิ้ว ที่บรรจุด้วยวัสดุเพาะที่ประกอบด้วยดิน ขี้เถ้าแกลบ และขี้วัว ตั้งถุงที่เพาะเมล็ดไว้ในแปลงกลางแดด โดยมีพลาสติครองพื้นอย่างน้อย 2 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้รากแก้วทะลุลงดิน จะได้ต้นตอที่รากแก้วไม่ขาด ดูแลต้นตอจนได้อายุ 8 เดือน จึงนำมาทาบกับกิ่งพันธุ์ดีได้ แต่ถ้าเป็นต้นตอจากมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์จะโตเร็วกว่ามะขามเปรี้ยวพันธุ์ธรรมดา 1 เท่าตัว คือใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็นำมาทาบกับกิ่งพันธุ์ดีได้แล้ว หลังจากทาบกิ่งประมาณ 45-60 วัน ตัดกิ่งที่ทาบลงถุงดูแลรักษาในเรือนเพาะชำประมาณ 6 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงใหญ่ได้

การเสียบยอด ในปีแรกเตรียมปลูกต้นตอในราวเดือนพฤษภาคม โดยใช้เมล็ดมะขามเปรี้ยวพันธุ์ธรรมดาหรือมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์หยอดสัก 3-4 เมล็ด ในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ หลุมควรมีขนาดกว้างยาวลึก 50 เซนติเมตร สำหรับระยะปลูก 8x8 เมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก 1 ใน 3 ส่วน ของดินทั้งหมด พร้อมร็อกฟอสเฟต ประมาณ 1 กิโลกรัม จากนั้นบำรุงรักษาให้ต้นตอเจริญเติบโต เมื่อต้นตออายุได้ประมาณ 1 ปี จะได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร ขึ้นไป เลือกต้นที่แข็งแรงไว้หนึ่งต้น เพื่อเปลี่ยนยอดด้วยมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์ที่เราต้องการ ก่อนการเปลี่ยนยอดประมาณ 15 วัน ควรใส่ปุ๋ยยูเรียต้นละ 1 ช้อนชา เพื่อให้ต้นตอลอกเปลือกได้ง่ายขึ้น ต้นตอที่จะเปลี่ยนยอดอายุไม่ควรเกิน 2 ปี ถ้าอายุมากกว่านี้การเปลี่ยนยอดจะติดได้ยาก ส่วนต้นตอที่เหลือที่อยู่รอบต้นตอหลัก ก็เสริมรากต้นตอหลักด้วยวิธีการทาบกิ่ง เพื่อทำให้ต้นตอหลักแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น



การปลูกและดูแลมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดที่มีการระบายน้ำได้ดี ต้องปลูกในสภาพกลางแจ้งที่ถูกแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน คือไม่ชอบมีการบังร่มเงากัน ควรใช้ระยะแถวห่างกัน 8 เมตร ระยะต้นห่างกัน 8 เมตร จะได้จำนวน 25 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกและร็อกฟอสเฟต การดูแลรักษามะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ในช่วง 2 ปีแรก โดยช่วงต้นฝนควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น

จากนั้น ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อจัดการให้ทรงพุ่มแข็งแรง โดยตัดแต่งกิ่งที่โคนต้นออกสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1 ฟุต ควรตัดแต่งกิ่งมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์คล้ายทรงพีระมิด ในช่วงนี้อย่าปล่อยให้ต้นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ออกดอกติดฝักเป็นอันขาด พอย่างเข้าปีที่ 3 จึงปล่อยให้ต้นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์แตกกิ่งอย่างอิสระเพื่อให้ติดผลต่อไป

การตัดแต่งกิ่งต้นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ให้ผลแล้ว หลังจากเก็บฝักหมดแล้วช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ควรดำเนินการตัดแต่งกิ่งมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ เพื่อช่วยให้มีการออกดอกติดฝักอย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ

ดังนั้น ต้องพิจารณาตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออก เช่น กิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งฉีกขาด และกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่ม โดยตัดให้ปากแผลเฉียงชิดลำต้นหรือกิ่งหลักแล้วทายากันเชื้อรา ในกรณีที่ต้นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มีอายุแล้ว หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จเรียบร้อยแล้วปล่อยพักตัวในช่วงฤดูร้อนระยะหนึ่ง ซึ่งจะแตกต่างจากไม้ผลทั่วไป คือหลังจากเก็บผลแล้วจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยหมักบำรุงต้น สำหรับมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ถ้าใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลังตัดแต่งกิ่ง จะทำให้แตกใบอ่อนเฝือใบจนออกดอกไม่มาก

หลังตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูแล้ง ห้ามใส่ปุ๋ยที่เกี่ยวข้องกับไนโตรเจนเด็ดขาด โดยเฉพาะยูเรีย หรือปุ๋ยคอกที่อุดมไปด้วยไนโตรเจน เพราะมีผลต่อการติดฝักของมะขาม นอกจากนี้ เมื่อฝนตกปุ๋ยนี้จะไปบำรุงใบอ่อนทำให้เกิดสภาพเฝือใบ มีผลให้ออกดอกน้อยเกินไป พอเข้าช่วงต้นฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคม มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์จะเริ่มออกดอกเมื่อฝนตก พอมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เริ่มติดฝักอ่อน ค่อยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 20-40 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 2-4 กิโลกรัม ต่อต้น โดยขุดใส่รอบรัศมีพุ่มใบ หลังจากนั้น เมื่อมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มีขนาดฝักโตแล้ว อาจใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-40 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อทำให้ฝักมะขามมีคุณภาพดี



การเร่งออกดอกติดฝักด้วยสาร "จิบเบอเรลลิน"

โดยธรรมชาติของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ ก่อนออกดอกจะต้องมีการสลัดใบทิ้งก่อนถึงจะมีการออกดอก ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างกะทันหัน เช่น ร้อน หนาว หรือขาดธาตุอาหาร จะทำให้ดอกและฝักอ่อนร่วงหล่นได้ ฮอร์โมนหรือสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชมี 2 ชนิด คือสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติภายในพืช และสารที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเอง ตามปกติจิบเบอเรลลินส่วนหนึ่งจะถูกสร้างที่รากแล้วถูกลำเลียงส่งมาที่ยอด เพื่อกระตุ้นให้ยอดแตกใบอ่อน จิบเบอเรลลินอีกส่วนหนึ่งจะถูกสร้างที่เมล็ดที่กำลังเจริญเติบโต จิบเบอเรลลินส่วนนี้ถูกส่งไปที่ขั้ว เพื่อกระตุ้นให้พืชเคลื่อนย้ายอาหารไปเลี้ยงขั้วและฝัก ทำให้ฝักมะขามเจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ การสร้างจิบเบอเรลลินในระยะเริ่มติดฝักอาจมีน้อย ทำให้ฝักร่วงหล่นมีการเจริญเติบโตของฝักช้า ดังนั้น ในระยะนี้เป็นระยะที่ควรใช้จิบเบอเรลลินจากภายนอกช่วย โดยใช้จิบเบอเรลลิน 50 มิลลิกรัม ผสมยาจับใบแล้วผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน แต่เมื่อฝักเริ่มโตขึ้นเมล็ดพัฒนาแล้ว จะมีการสร้างจิบเบอเรลลินตามธรรมชาติอย่างเพียงพอ



เคล็ดลับในการแก้ปัญหา

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ติดฝักหลายรุ่น


เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มักพบว่า มีฝักมะขามเปรี้ยวหลายรุ่นอยู่ในต้นเดียวกัน โดย บางครั้งต้นฤดูฝนออกดอกแล้ว ดอกร่วงมากติดฝักน้อย ต่อมาก็ออกดอกอีกติดฝักอีกบ้าง เป็นแบบนี้ตลอดฤดูฝน จะมีทั้งออกดอกและฝักดิบอยู่บนต้นเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างยากในการดูแลรักษาฝักมะขาม

สาเหตุของการติดฝักหลายรุ่นอาจเนื่องมาจากมะขามออกดอกรุ่นแรกในช่วงระยะต้นฤดูฝน แล้วติดฝักไม่มากพอ อาจมาจากมะขามอยู่ในสภาพเฝือใบ ขาดธาตุอาหาร ขาดฮอร์โมน หรือน้ำฝนไม่เพียงพอ เมื่อมะขามติดฝักในรุ่นแรกน้อย ทำให้มีอาหารสะสมเหลือมาก เกิดออกดอกอีกในช่วงฝนถัดมา นอกจากนี้ อาจเกิดจากการออกดอกครั้งแรกติดฝักน้อย เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงฝัก ทำให้มะขามกลับมาฟื้นตัวสมบูรณ์ขึ้นใหม่ เกิดการออกดอกติดฝักขึ้นมาอีก ดังนั้น ห้ามใส่ปุ๋ยที่เกี่ยวข้องกับไนโตรเจนเด็ดขาด โดยเฉพาะยูเรีย หรือปุ๋ยคอกที่อุดมไปด้วยไนโตรเจนในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงพักตัว เมื่อฝนตกปุ๋ยเหล่านี้จะไปบำรุงใบอ่อนทำให้เกิดสภาพเฝือใบ นอกจากนี้ ควรใช้จิบเบอเรลลินในระยะเริ่มติดฝัก ทำให้มะขามติดฝักมากขึ้น



มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

ที่สวนเขากระดาษ จังหวัดสระแก้ว


ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวสวนมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ ที่สวนเขากระดาษ อยู่ระหว่างถนนสายอำเภอเขาฉกรรจ์กับอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว จะจำให้ง่ายเข้าก็คือถ้ามาจากอำเภอเขาฉกรรจ์ ขับรถเรื่อยมา แล้วมาเลี้ยวขวา ณ หลักเสาไฟฟ้าที่ 747 เข้าไปประมาณเกือบ 7 กิโลเมตร ซึ่งมีป้ายสวนมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์สวนเขากระดาษอยู่ตลอดทาง เจ้าของสวนชื่อ คุณบังเอิญ กันแพงศรี อดีตเคยทำงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดปทุมธานี ตอนหลังลาออกเอาดีทางการเกษตร ปลูกพืชสวนมาหลายชนิดแล้ว ตั้งแต่มะม่วงเขียวเสวย มะขามหวาน สุดท้ายมาประสบความสำเร็จในการปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ พันธุ์ที่ใช้ปลูกได้มาจากพันธุ์ของ พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ตั้งชื่อใหม่ว่า "สระแก้ว 1" โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

คุณบังเอิญ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกได้นำมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์นี้มาปลูกเพียง 4 ต้น พออายุได้ 8 ปี ให้ผลผลิตปีละ 3 ตัน ทางภรรยาของคุณบังเอิญได้นำมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์มาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม ขายได้ในกิโลกรัมละ 100 บาท ดังนั้น รายได้จากการขายมะขามแช่อิ่มอย่างเดียวปีละ 300,000 บาท ยังไม่รวมรายได้จากการทาบกิ่งมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ขายในราคากิ่งละ 100-150 บาท ตอนนี้ทางสวนได้ขยายพื้นที่ปลูกไปแล้วประมาณ 100 ไร่ สามารถผลิตมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ได้ขนาดโตถึง 4 ฝัก ต่อกิโลกรัม ฝักยาว 45 เซนติเมตร มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เมื่ออายุ 10 ปี ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อต้น นอกจากการแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่มขายแล้ว ยังขายในรูปมะขามเปียกแกะเมล็ดออกในราคา 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าสนใจรายละเอียดเรื่องมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์สามารถเยี่ยมชมได้ที่สวนเขากระดาษ ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เบอร์โทรศัพท์ (081) 987-8430 และ (081) 860-1566



มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

ที่สวนวังกระแจะ จังหวัดกาญจนบุรี


ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวสวนมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่สวน ครูนิเวช กุลทรัพย์ศักดิ์ โดยถ้าเดินทางมาจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี เลี้ยวซ้ายที่ทางแยกก่อนถึงน้ำตกไทรโยคน้อย เข้าไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็ถึงสวน ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำแควน้อย เจ้าของสวนเป็นข้าราชการบำนาญครู อายุ 64 ปี ภายในสวนปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์หลายพันธุ์ที่รวบรวมไว้หลายท้องถิ่น ได้แก่ พันธุ์กระทูน สทิงพระ นครศรีธรรมราช พระเจ้าตากสิน สุพรรณบุรี และไชยโกมินทร์ สวนนี้มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ สวนมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 107 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 71150 ซึ่งท่านสามารถไปเยี่ยมชมเพื่อหาความรู้ในเรื่องเทคนิคการปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ โดยติดต่อได้ทางโทรศัพท์ (081) 801-6379

คุณครูนิเวชเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านยึดพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ตรัสไว้ว่า วิถีชีวิตบ้านไทยของเราควรปลูกและอนุรักษ์พืชพรรณ 3 ชนิด ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านอาหารและสมุนไพรก็คือ มะขามเปรี้ยว มะตูม และมะขามป้อม ท่านจึงได้พยายามหาพืชทั้ง 3 ชนิด มาปลูกภายในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะมะขามเปรี้ยว ท่านได้นำพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์ไชยโกมินทร์ จาก พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ คนจังหวัดกาญจนบุรีเหมือนกันมาปลูก

ต่อมาท่านได้เกิดความสนใจและหลงใหลในมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ขึ้นมา โดยปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ด้วยตัวของท่านเอง ด้วยการนำเมล็ดมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ของพันธุ์ไชยโกมินทร์มาเพาะเป็นจำนวนมาก แล้วนำตาของต้นทุกเมล็ดที่เพาะไว้ ไปติดตากับต้นตอขนาดใหญ่ซึ่งติดตาได้หลายพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ประหลาดไว้ต้นหนึ่ง เป็นมะขามเปรี้ยว "ยักษ์ฝักกลม" ใช้เวลาคัดเลือกและทดสอบพันธุ์มาประมาณ 12 ปี ดังนั้น จึงเป็นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่เป็นพันธุ์ฝักกลมพันธุ์แรกของเมืองไทย ซึ่งท่านได้ภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มาก ถือว่าครูนิเวชเป็นนักปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์คนแรกที่ไม่ใช้คำว่าบังเอิญพบพันธุ์ใหม่ แต่เกิดจากความตั้งใจในการปรับปรุงพันธุ์จริงๆ



การแปรรูปมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์สามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ฝักดิบจนถึงฝักแก่ มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่ยังดิบอยู่ สามารถนำมาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม โดยนำมะขามเปรี้ยวฝักดิบสังเกตดูที่เมล็ดยังเป็นสีเขียวอยู่ นำมาปอกเปลือกออก แล้วดองในน้ำเกลือผสมน้ำปูนใสทิ้งไว้ จากนั้นนำมาแกะเอาเมล็ดออก แล้วนำมาแช่ในน้ำตาลทราย ในอัตรา มะขาม 3 ส่วน น้ำตาล 1 ส่วน ซึ่งเติมเกลือด้วย ชิมรสชาติตามความชอบก็สามารถนำมารับประทานได้เลย สูตรนี้สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้นาน 7 วัน นอกจากนี้ มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เมื่อสุก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่ เครื่องปรุงน้ำพริก แยม ซอส เยลลี่ ลูกอม ใช้ทำเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำมะขาม ชามะขาม ใช้ทำยาและสมุนไพร ได้แก่ ยาระบาย สมุนไพรบำรุงผิวพรรณ ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานฟอกหนัง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถส่งไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางของเอเชีย นำเงินตราเข้าประเทศปีละประมาณเกือบห้าร้อยล้านบาท



คุณค่าทางอาหารของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

เนื้อสุกของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ มีกรดทาร์ทาริกสูงประมาณ 12-14 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีกรดอินทรีย์หลายชนิด จึงทำให้มีรสเปรี้ยว ทั้งยังมีสารพวก "แพคติน" และ "กัม" อยู่ด้วย สารประเภทนี้ คือ antraquinone มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายได้ด้วย สำหรับคุณค่าทางอาหารของมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ดังใน ตารางที่ 1





ทำไม คนตะวันออกกลาง

จึงนิยมบริโภคมะขามเปรี้ยว


ประเทศที่มีอากาศร้อนอบอ้าวดังเช่นในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง โดยประชากรในแถบนี้นิยมดื่มน้ำมะขาม เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกาย มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยแก้กระหายน้ำด้วย นอกจากนี้ ประชากรในเขตนี้มักนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ครั้งละมากๆ ในเนื้อสุกของมะขามเปรี้ยวมีกรดทาร์ทาริกและกรดอินทรีย์หลายชนิด กรดพวกนี้มีประสิทธิภาพในการย่อยเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้าไปได้รวดเร็ว ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดภายในกระเพาะอาหาร เวลานี้ในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกาได้ตื่นตัวกันมาก โดยได้มีการนำมะขามเปรี้ยวมาทำผลิตภัณฑ์หลายชนิดเพื่อการบริโภคเพื่อสุขภาพ



แหล่งความรู้เรื่องมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์

การศึกษาและวิจัยมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ของหน่วยราชการมีด้วยกัน 2 แห่ง คือศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และสถานีวิจัยพืชลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้รวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ไว้ตั้งแต่ ปี 2526 มีการแนะนำพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ เพื่อให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าในปี 2538 ชื่อพันธุ์ศรีสะเกษ 019 สำหรับสถานีวิจัยพืชลำตะคอง ได้รวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์จากหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อคัดเลือกพันธุ์ดีและเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ที่นำมาจากจังหวัดกาญจนบุรี เหมาะสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเป็นการค้า สำหรับในภาคของเกษตรกรที่ปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์เป็นรายใหญ่ ซึ่งท่านสามารถไปเยี่ยมชม เพื่อหาความรู้ในเรื่องเทคนิคการปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ได้อีกสวนหนึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น คือสวนของ คุณชุมพล วิรัชจรัลวงศ์ เลขที่ 49 หมู่ที่ 6 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 โทรศัพท์ (081) 297-1250 โทรสาร (034) 209-351



บรรณานุกรม

www.hort.purdue.edu/newcrop/morton/tamarind.html
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 417
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM