เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กลุ่มสายสัมพันธ์เพาะเห็ด ชุมชนกลุ่มแรกเพาะเห็ดระบบปิด รายได้เดือนละแสน
   
ปัญหา :
 
 
การเพาะเห็ดระบบปิด โดยส่วนใหญ่ผู้นำไปใช้จะได้แก่ บริษัทหรือฟาร์มเพาะเห็ดขนาดใหญ่ซึ่งมีการลงทุนค่อนข้างสูง วิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรยังไม่มีการนำไปใช้ เนื่องจากเข้าใจผิดว่า การเพาะเห็ดระบบปิดต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ต้องมีการลงทุนที่สูงมาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ลุงลีคิดว่า การเข้าใจในเชิงลบกับการเพาะเห็ดระบบปิด ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเป็นอย่างมาก ทำให้วงการการเพาะเห็ดไม่มีการพัฒนาการเพาะเห็ดระบบปิดเท่าที่ควร ทั้งที่การเพาะเห็ดระบบปิดเป็นสิ่งที่ทำให้การเพาะเห็ดมีความยั่งยืน ลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างมากทีเดียว ผลผลิตจากการเพาะเห็ดระบบปิดมีคุณภาพที่ดีกว่า ตลาดมีความต้องการมากกว่า ทำให้ได้ราคาขายที่ดีกว่า

ลุงลีขอเห็นด้วยกับการเพาะเห็ดระบบปิดและจะเป็นผู้หนึ่งที่จะพยายามเผยแพร่ความรู้ในการทำการเพาะเห็ดระบบปิดสู่เกษตรกรผู้เพาะเห็ด

วันนี้ลุงลีขอนำไปเที่ยวฟาร์มเห็ดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสายสัมพันธ์การเพาะเห็ด ที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งมี คุณเครือวัลย์ สุยะใหญ่ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเป็นฟาร์มเห็ดของชุมชนกลุ่มแรกที่มีการเพาะเห็ดแบบระบบปิด

ฟาร์มนี้เพาะเห็ดมานานประมาณ 5 ปีมาแล้ว โดยครั้งแรกได้ซื้อก้อนเห็ดหอมมาเปิดดอกเพราะว่าเห็ดหอมราคาดี แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์ ปีแรกมีปัญหาในเรื่องโรคเห็ดจึงได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ปีต่อมาจึงลองดูใหม่โดยเพาะเห็ดหอมเช่นเดิมอีกเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองนี้ได้ผลผลิตดีกว่าครั้งแรก เนื่องจากว่าเห็ดหอมให้ผลผลิตเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง จึงเริ่มเพาะเห็ดนางรมฮังการีเพื่อที่จะได้มีรายได้เป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มแรกได้ก่อเตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดโดยใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ใช้ขี้เลื่อยเป็นเชื้อเพลิง ทำก้อนเชื้อเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ฉำฉาได้ผลดีพอสมควร โดยทำตามแบบอย่างที่เคยทำกันมา ยังเป็นการเพาะเห็ดระบบเปิด

หลังจากทำก้อนเชื้อเห็ดไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีการสะสมของศัตรูเห็ด ได้แก่ โรค แมลง ทำให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดมีการสูญเสียมากขึ้น จึงขอความช่วยเหลือไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

คุณสุมาลัย ศรีกำไลทอง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ พร้อมด้วย ดร.ชนะ พรหมทอง ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องงานวิจัยเห็ดได้เข้าไปให้คำแนะนำและได้มีการพัฒนาทำโครงการร่วมกันในการทำการเพาะเห็ดระบบปิด

การเพาะเห็ดระบบปิดที่นี่เป็นการปรับเปลี่ยนพัฒนาจากการเพาะเห็ดระบบปิดเหมือนที่ต้องใช้การลงทุนที่สูง ใช้เทคโนโลยีที่สูงและใช้ขนาดการลงทุนแรงงานที่สูง มาใช้การลงทุนที่กลุ่มชุมชนสามารถลงทุนได้ ขนาดแรงงานที่ย่อส่วนลงมาให้ชุมชนสามารถทำกันเองได้โดยไม่ใช้เทคโนโลยีที่สูงนัก

หลังจากได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเพาะเห็ดระบบปิดแล้วโดยมีการลงทุนเพิ่ม ทั้งตัวอาคารและระบบประมาณ 400,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาบ้านธิ ซึ่งวันนี้ท่านผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบ้านธิ ได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มด้วยคือ คุณนุกูล แจ่มศิลป์ ซึ่งลุงลีได้พูดคุยกับท่านแล้ว วิสัยทัศน์ดีมาก ท้ายคอลัมน์ลุงลีจะนำมาคุย

จากการพูดคุยกับคุณเครือวัลย์และสมาชิกกลุ่มแล้วเห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน ความอุตสาหะ เพื่อให้ได้ก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพสูงสุดเพื่อนำไปใช้เปิดดอกในโรงเรือน เปิดดอกแล้วจะได้ผลผลิตสูงสุด ต้องยอมรับว่าต้องใช้ความอดทนสูงมาก

คุณเครือวัลย์เล่าให้ลุงลีฟังว่า เดิมที่ทำก้อนเชื้อเห็ดแบบปกติตามแบบอย่างที่เคยทำกันมา มีการสูญเสียจากการที่ไม่สามารถควบคุมเชื้อรา แมลงซึ่งเป็นศัตรูเห็ดได้ ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดติดเชื้อใช้ไม่ได้ ซึ่งบางครั้งสูญเสียถึง 50% คือ ดีครึ่ง เสียครึ่ง เฉลี่ยแล้วสูญเสียมากกว่า 20% ในการทำก้อนเชื้อเห็ดแต่ละครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ผลผลิตไม่ได้สม่ำเสมอ

หลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับ วว. แล้ว การผลิตก้อนเชื้อเห็ดมีความแตกต่างจากเดิมมาก การสูญเสียมีน้อยมาก ประมาณว่าไม่ถึง 1% ทั้งๆ ที่อาหารเสริมที่ใส่ลงไปในก้อนเชื้อเห็ดมากกว่าเดิมด้วย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมาก ผลผลิตที่ได้รับจากการเปิดดอกมากขึ้นด้วย เห็ดนางฟ้าภูฏานซึ่งขณะนี้ทำอยู่ ให้ผลผลิตมากกว่า 400 กรัม ต่อถุง ซึ่งดีมาก ขณะนี้มีก้อนเชื้อเห็ดในกลุ่มประมาณ 100,000 ก้อน สามารถส่งดอกเห็ดไปขายได้วันละกว่า 200 กิโลกรัม ถ้าคิดเป็นตัวเงินราคาขายส่งกิโลกรัมละ 25-35 บาท จะมีรายได้วันละประมาณ 5,000-7,000 บาท ต่อวัน หรือ 150,000-210,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีมากทีเดียว และได้ทุกวันเป็นประจำอีกด้วย กลุ่มนี้ทำอย่างไร ฟังคุณเครือวัลย์เล่าต่อ

ในการทำก้อนเชื้อเห็ดจะผลิตวันละ 1,200 ก้อน โดยมีสมาชิกกลุ่มมาร่วมทำงาน 5 ท่าน จะผสมขี้เลื่อยกับอาหารเสริมไว้ให้ช่วงเย็น ทิ้งไว้ถึงช่วงเช้า สมาชิกกลุ่มอีกชุดหนึ่งจะมาเอาขี้เลื่อยพร้อมอาหารเสริมที่ผสมไว้ใส่ถุงพลาสติคอัดก้อนเชื้อเห็ด ใส่คอขวดพร้อมจุกประหยัด เป็นการจ้างเหมา ก้อนละ 30 สตางค์ จำนวน 1,200 ก้อน ใช้เวลาไม่ถึงเที่ยงวันก็เสร็จ ไปทำงานที่บ้านต่อ มีรายได้ครึ่งวัน 120 บาท ต่อคน เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

หลังจากทำก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว จะนำเข้าเตานึ่งขนาดบรรจุ 1,200 ก้อน พอดี โดยมีหม้อกำเนิดไอน้ำต่างหาก จะเริ่มจับเวลาเมื่ออุณหภูมิที่เตานึ่งได้ 100 องศาเซลเซียส จะใช้เวลาในการนึ่ง 4 ชั่วโมง ใช้ขี้เลื่อย ขี้กบเป็นเชื้อเพลิงในการนึ่ง

หลังจากนึ่งเสร็จแล้ว จะนำก้อนเชื้อเห็ดออกจากเตาโดยไม่ผ่านอากาศภายนอก เข้าสู่ห้องปลอดเชื้อ พักเย็น โดยเปิดแสง ยูวี เพื่อฆ่าเชื้อไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนเข้าไปเขี่ยเชื้อเห็ดลงถุงเชื้อเห็ด ต้องผ่านห้องแต่งตัว สวมหมวก เปลี่ยนรองเท้าบู๊ต เพื่อลุยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าไปเขี่ยเชื้อในห้องเขี่ยเชื้อ

เวลาเขี่ยเชื้อใช้ผ้าปิดปาก พูดคุยกันน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากเขี่ยเชื้อเสร็จจะนำเอาก้อนเชื้อเห็ดไปยังห้องบ่มทันที

ห้องบ่มก้อนเชื้อเห็ดเป็นห้องที่ปลอดเชื้อเช่นเดียวกัน เป็นห้องที่ทำจากอิฐซึ่งทำจากโฟมใช้แล้ว มีอุณหภูมิเย็นพอสมควร สามารถบ่มก้อนเชื้อเห็ดได้ดี

หลังจากบ่มก้อนเชื้อเห็ดประมาณ 30-40 วัน ก็จะนำเอาก้อนเชื้อเห็ดไปที่โรงเปิดดอก เพื่อเปิดดอกต่อไป

ที่ฟาร์มกลุ่มสายสัมพันธ์เพาะเห็ดจะมีผู้มาขอซื้อก้อนเชื้อเห็ดไปเปิดดอกขายเองจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเก่าที่เคยซื้อไปเปิดดอกแล้วกลับมาซื้อใหม่ เพราะว่าได้กำไรดี ลูกค้าจะพอใจกับก้อนเชื้อเห็ดของฟาร์มนี้เพราะว่าราคายุติธรรม ราคาก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏาน นางรมฮังการี ถ้ามารับเองก้อนละ 4 บาท เท่านั้น ถ้าไปส่งจะคิดก้อนละ 5 บาท ส่วนใหญ่จะมารับเองมากกว่า เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาไปส่ง

ลุงลีถามว่าทำไมถึงขายได้ราคานี้ มีกำไรเหลือหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า เนื่องจากการสูญเสียจากการทำก้อนเชื้อเห็ดระบบปิดมีน้อยมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ จึงสามารถขายในราคานี้ได้ กำไรมี แต่ไม่มาก เห็นใจผู้นำก้อนเชื้อเห็ดไปเปิดจะได้มีกำไร ต้นทุนก้อนเชื้อเห็ดก้อนหนึ่งประมาณ 3.50 บาท (รวมทั้งหมดตั้งแต่ขี้เลื่อยถึงบ่มเสร็จ) น้ำหนักก้อนเชื้อเห็ดก้อนละประมาณ 900 กรัม



สูตรสำหรับทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏานและเห็ดนางรมฮังการี

ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม

รำ 8 กิโลกรัม

ปูนขาว 1 กิโลกรัม

ยิปซัม 1 กิโลกรัม

น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม

ดีเกลือ 2 ขีด

สิ่งที่ต้องการต่อไปในอนาคตก็คือ ต้องการเพิ่มมูลค่าของดอกเห็ดโดยการแปรรูปเห็ดเป็นเห็ดหย็อง น้ำพริกเห็ด และอื่นๆ เนื่องจากเมืองลำพูนเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวมามาก สำหรับตลาดนั้นผู้ที่จะขายผลิตภัณฑ์แปรรูปให้บอกว่าต้องมีผลิตภัณฑ์มาให้ดูก่อน

ลุงลีถามถึงตลาดเห็ดสดว่ายังมีความต้องการมากน้อยเท่าไร ดอกเห็ดล้นตลาดหรือยัง ได้รับคำตอบว่า ตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก มีเห็ดล้นบ้างเป็นบางช่วง เป็นเห็ดที่ล้นมาจากเชียงราย ปีหนึ่งประมาณ 4-7 วัน ช่วงนั้นราคาจะตกมากเหลือกิโลกรัมละ 17 บาท แต่ในช่วงที่เห็ดขาด จะได้ราคาถึง 40 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยในขณะนี้จะอยู่ที่ 30 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่พอใจ ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ถ้าราคาดอกเห็ดอยู่ที่ 20 บาท ต่อกิโลกรัม ฟาร์มเห็ดก็ยังสามารถอยู่ได้

การส่งดอกเห็ดไปขายจะถึงตลาดประมาณ 15.00 น. ไปขายตลาดเย็น ถ้าแม้จะมีเห็ดจากที่อื่นมาแต่แม่ค้าจะรับเห็ดจากกลุ่มก่อนเพราะว่าความสม่ำเสมอในการส่งดอกเห็ด คือว่ามีปริมาณดอกเห็ดสม่ำเสมอทุกวัน ถือว่าเป็นเคล็ดไม่ลับในการทำฟาร์มเห็ดให้ได้ราคาดี ไม่ใช่ว่าวันนี้ได้ 10 กิโลกรัม วันพรุ่งนี้ไม่มีดอกเห็ดหรือได้ดอกเห็ดมากเป็น 50 กิโลกรัม จะทำตลาดเห็ดยากมาก และจะมีปัญหากับแม่ค้า ทำให้คิดกันว่าดอกเห็ดขายยาก ทั้งที่ความจริงแล้วถ้ามีดอกเห็ดสม่ำเสมอจะขายได้ง่ายมาก

สุดท้ายประธานกลุ่มให้ข้อคิดว่า ผู้ที่สนใจจะเพาะเห็ดต้องมีความตั้งใจจริง ปีแรกอาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ต้องท้อแล้วไม่ถอย เริ่มทำใหม่สู้กับมัน ผู้เพาะเห็ดรายใหม่ควรเริ่มจากการเปิดดอกเห็ดก่อน ให้มีความชำนาญแล้วจึงพัฒนาไปทำก้อนเชื้อเห็ด

สำหรับ คุณนุกุล แจ่มศิลป์ ในฐานะผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบ้านธิ ให้ข้อคิดว่า การเพาะเห็ดสามารถเริ่มได้จากการทำเป็นอาชีพเสริม เมื่อชำนาญแล้วสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ เพราะว่ารายได้ดีพอสมควร ใช้พื้นที่ไม่มาก ระยะเวลาต่อรุ่นเหมาะสมไม่นานเกินไป ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรควรที่จะเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป เป็นการเพิ่มมูลค่าวิธีหนึ่ง ธ.ก.ส. มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน คิดว่าการเพาะเห็ดของกลุ่มสายสัมพันธ์เพาะเห็ดนี้น่าจะเป็นแบบอย่างในการศึกษาได้

ท่านที่ต้องการเยี่ยมฟาร์มเห็ดกลุ่มนี้หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเครือวัลย์ ประธานกลุ่ม เบอร์โทร. (086) 654-4015 คุณแสงเดือน รองประธาน เบอร์โทร. (081) 961-0328 หรือคุณยุพิน เลขานุการ เบอร์โทร. (089) 432-7815

ในการเยี่ยมฟาร์มครั้งนี้ลุงลีขอขอบคุณ ดร.ชนะ พรหมทอง จาก วว. ที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน และยังยินดีที่จะสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในแนวนี้เพื่อพัฒนาวงการการเพาะเห็ดต่อไป



ข้อมูลก่อนตัดสินใจเพาะเห็ด นางฟ้าภูฏาน นางรมฮังการี

เห็ดนางฟ้าภูฏาน มีสีดรีมถึงดำ ผลผลิตประมาณ 300-400 กรัม ต่อก้อน ขนาด 900 กรัม ราคาขายส่ง 20-40 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วแต่จังหวัด ระยะเวลาบ่ม 50-60 วัน ระยะเวลาเปิดดอก 4 เดือน ต้นทุนการผลิตต่อก้อน 2.50-3.50 บาท ราคาขายก้อน 3-5 บาท คนหนึ่งสามารถดูแลโรงเปิดดอกได้ 30,000-50,000 ก้อน ชอบอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซนติเกรด ศัตรูสำคัญคือ แมลงหวี่ และหอย

เห็ดนางรมฮังการี มีสีขาว คนทั่วไปมักเรียกผิดว่าเห็ดนางฟ้า ผลผลิตประมาณ 300-450 กรัม ต่อก้อน ขนาด 900 กรัม ราคาขายส่ง 20-35 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วแต่จังหวัด ระยะเวลาบ่ม 50-55 วัน ระยะเวลาเปิดดอก 4 เดือน ต้นทุนการผลิตต่อก้อน 2.50-3.50 บาท ราคาขายก้อน 3-5 บาท คนหนึ่งสามารถดูแลโรงเปิดดอกได้ 30,000-50,000 ก้อน ชอบอุณหภูมิประมาณ 27-30 องศาเซนติเกรด ออกดอกง่ายกว่านางฟ้าภูฏาน นักเพาะเห็ดมือใหม่ควรเริ่มจากการเพาะเห็ดนางรมฮังการีชนิดนี้ ศัตรูสำคัญคือ แมงหวี่ และไรดีด

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ลำพูน
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 420
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM