เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไพล
   
ปัญหา :
 
 
ไพล (Phlai) เป็นสมุนไพรใกล้ตัวที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง ชาวบ้านนิยมปลูกกันตามบ้านเรือน เพื่อใช้ในการประกอบเป็นยาไทยแผนโบราณ ไพล จัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae จำพวกเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber cassumunar Roxb. และมีชื่อท้องถิ่นว่า ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ไพล มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ไพลเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า "เหง้า" มีเนื้อในสีเหลืองอมเขียวและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ลำต้นมีสีเขียว ใบออกตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะยาวเรียว โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกเป็นช่อแทงจากดินโดยตรง มีกลีบประดับซ้อนกันแน่น เจริญงอกงามในฤดูฝน ตามตำราแพทย์แผนโบราณมีการนำไพลมาใช้ในการรักษาโรคหลายอย่าง เช่น ใช้เหง้าไพลสดตำพอกบริเวณที่ปวด บวม เคล็ดขัดยอก สมานแผล น้ำคั้นจากเหง้าไพลผสมเกลือสตุรับประทานเป็นยาแก้บิด ขับลม ขับประจำเดือน ใช้รับประทานหลังคลอดบุตรเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ และอาจนำเหง้าแห้งมาบดผสมกับสมุนไพรอื่นๆ รับประทานแก้หืด เนื่องจากได้มีการนำไพลมาใช้รักษาโรคต่างๆ ได้หลายอย่าง จึงมีผู้ศึกษาฤทธิ์ของไพลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างกว้างขวาง

ปัจจุบันวัตถุประสงค์หลักของการผลิตไพล เพื่อสกัดน้ำมันหอมระเหย น้ำมันไพล เริ่มเป็นที่รู้จักและตลาดโลกเริ่มมีความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาแก้ปวดเมื่อย ในรูปเจล ครีม น้ำมันเหลือง และยังนิยมนำมาใช้ในอะโรมาเธอราปี้ (aromatherapy) ในธุรกิจประเภทสปาต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์ในรูปของไพลสดและไพลแห้งเป็นส่วนประกอบในการทำลูกประคบ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการขยายตลาดลูกประคบไปยังต่างประเทศอีกด้วย



ประเด็นวิชาการ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า มีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ ลำต้นเทียมแทงจากดินขึ้นมา ใบออกตรงกันข้าม มีปลายแหลม โคนใบแผ่เป็นก้านใบหุ้มลำต้น ดอกเป็นช่อสีขาวมีกาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งรองรับ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ควรเป็นดินเหนียวปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี หลีกเลี่ยงดินลูกรังและพื้นที่น้ำขัง สามารถปลูกได้ทั้งที่แจ้งและร่มรำไร

พันธุ์ ที่ใช้คือ พันธุ์พื้นเมือง

วิธีการปลูก

การเตรียมเหง้า เหง้าที่ใช้ปลูกต้องมีอายุมากกว่า 1 ปี มีความสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงทำลาย โดยแบ่งหัวพันธุ์ให้มีน้ำหนัก 100-200 กรัม มีตา 3-5 ตา แล้วชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราก่อนปลูก

ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร ขุดหลุมขนาด 15x15x15 เซนติเมตร ตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนปลูกนำดินผสมปุ๋ยคอก นำเหง้าไพลที่เตรียมไว้ ปลูกแล้วกลบดินปิดให้หนา 2-3 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยฝางหรือใบหญ้าคาแห้ง หนาประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วรดน้ำทันที

สามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ

1. ปลูกโดยใช้เหง้า ตัดเป็นท่อนๆ ชุบด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา ทิ้งไว้สักครู่ แล้วปลูกลงในแปลงที่เตรียมไว้

2. ปลูกโดยใช้เหง้าเพาะให้งอกก่อน โดยเพาะเหง้าที่ตัดเป็นท่อนๆ ในกระบะทราย ให้แทงยอด แตกใบประมาณ 2-3 ใบ จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก

วิธีปฏิบัติดูแลรักษา ไม่ต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพราะเชื่อว่าจะมีผลต่อคุณภาพน้ำมันไพล และห้ามฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง ถ้าปลูกพื้นที่แห้งแล้ง ควรรดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ระยะเก็บเกี่ยว ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไพล จะใช้ระยะเวลานาน 2-3 ปี เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ได้น้ำมันไพลที่มีปริมาณและคุณภาพสูง โดยเก็บหัวไพลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งจะสังเกตได้จากต้นไพลจะฟุบลงพื้น ให้ขุดหัวไพลขึ้นมาจากดิน แต่ต้องระวังไม่ให้หัวไพลแตกหัก และห้ามเก็บหัวไพลขณะที่เริ่มแตกหน่อใหม่ เพราะจะทำให้ได้น้ำมันไพลที่มีปริมาณและคุณภาพต่ำ เก็บเกี่ยวโดยใช้จอบ เสียมขุดเหง้าไพลขึ้นมาจากดิน (ต้องระวังไม่ให้เกิดแผลหรือรอยช้ำกับเหง้า) เขย่าดินออก ตัดรากแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้ง

งานปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บหัวไพลที่ตัดราก และผึ่งลมให้แห้ง แล้วเก็บบรรจุกระสอบพร้อมที่จะนำไปสกัดน้ำมัน โดยเครื่องกลั่นไอน้ำ สำหรับไพลที่จะนำไปผลิตเป็นลูกประคบแห้ง ให้คัดเลือกส่วนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง นำมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง จากนั้นนำไพลมาทำให้แห้ง โดยหั่นเหง้าไพลเป็นชิ้นบางๆ วางบนถาดหรือกระด้ง เกลี่ยให้บาง คลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการปลิว นำไปตากแดดให้แห้ง หมั่นกลับบ่อยๆ หรือโดยการอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส สำหรับ 8 ชั่วโมงแรก แล้วลดอุณหภูมิลงเป็น 40-45 องศาเซลเซียส แล้วหมั่นกลับบ่อยๆ จนแห้ง



วิธีการแปรรูป

สามารถใช้เหง้าสกัดน้ำมันหอมระเหย ผลผลิตสด : น้ำมันหอมระเหย เท่ากับ 1 ตัน : 8-10 ลิตร สารสำคัญหลักคือ Terpinene สรรพคุณแก้ปวดเมื่อย

ข้อจำกัดของสินค้า เป็นพืชที่ต้องมีตลาดรับซื้อแน่นอนก่อนการผลิต และหัวไพลที่นำมาสกัดน้ำมันต้องมีอายุ 2-3 ปี

ไพล เป็นพืชที่ปลูก 2-3 ปี จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยคิดต้นทุนการผลิตประมาณไร่ละ 40,000-60,000 บาท

เหง้าไพล ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสารสำคัญที่เกี่ยวกับการออกฤทธิ์ เช่น sabinene, ? -terpinene, ?-terpinene, terpinen-4-ol, ?-pinene เหง้าไพลยังมีสารสีเหลือง curcmin และสาร butanoids derivatives ที่เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ สาร D หรือ (E)-4-(3",4"-dimethoxyphenyl) but-3-en-l-ol และ (E)-1-(3",4"-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) นอกจากนี้ ยังมีสาร cassumunarin A, B และ C ซึ่งเป็น complex curcuminoids ซึ่งมีฤทธิ์ antioxidant แรงกว่า curcumin เหง้าไพลที่มีคุณภาพได้มาตรฐานต้องมีน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่า 2% โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w)



ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญ

การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดหรือสารสำคัญของไพลมีฤทธิ์ทางยาหลายประการ ดังนี้

1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ น้ำมันไพล สารสกัดเหง้าไพล และสารสำคัญในเหง้าไพลหลายชนิด ที่สำคัญคือ สาร D และสาร DMPBD มีฤทธิ์ต้านอักเสบ โดยกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้ง cycloxygenase และ lipoxygenase pathways คล้าย NSAID

2. ฤทธิ์แก้หอบหืด สาร D สามารถต้านฤทธิ์ของฮีสตามีนในการทำให้หลอดลมหดตัวได้ จึงมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นยาบำบัดอาการหอบหืดได้

3. ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สารสกัดไพลสามารถลดการบีบตัวของมดลูก ลำไส้ และกระเพาะอาหารของหนูขาว ซึ่งสารออกฤทธิ์ชนิดหนึ่งในสารสกัดน่าจะเป็น สาร D เนื่องจากพบว่า สาร D มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อมดลูกและลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูขาว



รายงานการวิจัยทางคลีนิค

1. รักษาอาการอักเสบ ปวด บวม ฟกซ้ำ จากการทดสอบประสิทธิภาพของครีมไพลในนักกีฬาที่

บาดเจ็บข้อเท้า พบว่า ครีมไพลจีนซาล ซึ่งมีน้ำมันไพล 14% ช่วยลดอาการปวด บวม และช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อเท้าดีขึ้น

2. ฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในผู้ป่วยเด็ก โรคหืด จากการศึกษาในเด็กที่เป็นหืด พบว่า ไพล มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนโดยสามารถลดขนาดของตุ่มนูนจากการฉีดน้ำยาฮีสตามีนเข้าใต้ผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ และไพลช่วยให้ผู้ป่วยที่กำลังหอบ มีอาการหอบน้อยลง การทำงานของปอดดีขึ้น และเมื่อใช้ไพลติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้อาการหอบน้อยลง ใช้ยาขยายหลอดลมตามความจำเป็นลดลง



ข้อควรระวัง

1. ห้ามใช้ครีมไพลทาบริเวณขอบตา และเนื้อเยื่ออ่อน

2. ห้ามทาครีมไพลบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล หรือมีแผลเปิด

3. ไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือระหว่างให้นมบุตร และกับเด็กเล็ก
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 422
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM