เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กรมวิชาการเกษตร ทดสอบปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   
ปัญหา :
 
 
ปาล์มน้ำมัน มีความเป็นมาพอสังเขปว่า มีถิ่นกำเนิดแถบแอฟริกาตะวันตก ฝรั่งชาวโปรตุเกสเป็นคนแรกที่เป็นผู้นำมาปลูกในเขตเอเชีย โดยนำไปปลูกที่สวนพฤกษศาสตร์เมืองโบเกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2391

ต่อมามีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังเกาะสุมาตรา ถึงปี พ.ศ. 2454 จึงได้มีการปลูกกันอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์

ปาล์มน้ำมันมีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 เป็นการปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม จนถึงปี พ.ศ. 2511 จึงมีการปลูกในเชิงพาณิชย์ ได้ขยายพื้นที่การปลูกเป็นแปลงใหญ่ในเขตจังหวัดสตูล กระบี่ และแผ่กว้างออกไปในจังหวัดทางภาคใต้ และภาคอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน จากสถิติของกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ 2.5 ล้านไร่

ในปัจจุบัน แม้ว่าไทยเราจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นล้านไร่ แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค เพราะเห็นมีข่าวการจับกุมผู้ค้าหรือผู้ลักลอบนำน้ำมันปาล์มเข้าประเทศอยู่เนืองๆ หรือแม้แต่เร็วๆ นี้ ทางราชการก็อนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มอีกหลายหมื่นตัน ผลกระทบที่ตามมาคือราคาของน้ำมันปาล์มจะต้องสูงขึ้น ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตมุกดาหาร ได้ทดลองปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 โดย คุณเมธี คำหุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์คนปัจจุบัน มอบหมายให้ คุณบุญอุ้ม แคล้วโยธา นักวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ ปลูกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่แปลงทดลองภายในบริเวณด้านหน้าศูนย์ ใช้พื้นที่ปลูก 6.25 ไร่ ได้ต้นปาล์มน้ำมัน จำนวน 149 ต้น และปลูกเพิ่มเติมอีกในปี พ.ศ. 2550 ในแปลงทดลองแห่งที่ 2 ที่บ้านพรานอ้น ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 6 พันธุ์ คือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 พันธุ์ละ 120 ต้น รวม 720 ต้น เพื่อเปรียบเทียบว่าพันธุ์ใดจะเหมาะสมกับแหล่งปลูกของท้องถิ่น



ขั้นตอนการปลูก

เริ่มดำเนินการเตรียมพื้นที่ปลูก โดยการไถปรับแต่งพื้นที่ เตรียมหลุมปลูก เตรียมกล้าปาล์มน้ำมัน การวางผังหลุมปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า วางแนวเพื่อประโยชน์ในการรับแสง ระยะปลูก 9x9x9 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและหินฟอสเฟตหลุมละ 0.5-1 กิโลกรัม ปลูกกลบดินให้แน่น พูนดินให้สูงกว่าพื้นดินเดิมเล็กน้อย เผื่อดินยุบตัวลงให้อยู่ในระดับดินเดิม (ตามภาพการวางผังการปลูกปาล์มน้ำมัน แบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 9 เมตร ของกรมวิชาการเกษตร เอกสารวิชาการ ลำดับที่ 16/2547)



วิธีการดูแลรักษา

หลังจากปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว ต้องคอยหมั่นดูแลทุกวัน อาจมีต้นล้มเพราะแรงลมแรงฝน หรือถูกศัตรูทำลายโดยเฉพาะหนูมักกัดกินต้นปาล์ม พบเห็นความผิดปกติให้รีบแก้ไข

ระยะปลูกใหม่ๆ ต้องดูแลเรื่องน้ำเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานถึง 10 วัน การกำจัดวัชพืชบริเวณรอบโคนต้นและแปลงต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันปาล์มน้ำมันที่ปลูก มีการเจริญเติบโตตามลำดับ แม้เวลาการปลูกจะยังไม่ถึง 3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งทำให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่งว่า ปาล์มน้ำมันพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในภาคอีสานในขณะนี้มากกว่าพันธุ์อื่น เท่าที่ทราบจากการปลูกปาล์มน้ำมันนำร่องในพื้นที่อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถให้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน ต่อไร่ โดยใช้พันธุ์ที่เพาะเองไม่ใช่พันธุ์ลูกผสมตามหลักวิชาการและระบบการให้น้ำยังไม่ดีพอ



ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์กับปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน

ขณะนี้ภาคอีสานยังไม่มีโรงงานรองรับผลผลิตจากปาล์มน้ำมัน เพราะการตั้งโรงงานได้จะต้องมีพื้นที่ปลูกประมาณ 60,000 ไร่ เพื่อมีผลผลิตป้อนโรงงาน 1 โรง แต่ก็มีโครงการตั้งโรงงานที่จังหวัดหนองคาย 2 โรง และจังหวัดอุบลราชธานี 1 โรง หากเกษตรกรหันมาให้ความสนใจปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีแหล่งรองรับผลผลิตอย่างแน่นอน



พื้นที่ภาคอีสานลักษณะใดที่พอจะปลูกปาล์มน้ำมันเชิงพาณิชย์ได้

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีน่าจะมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร และต้องมีแหล่งน้ำ เนื่องจากภาคอีสานมีช่วงแล้งยาวนาน ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการปัจจัยทางธรรมชาติคือ น้ำและแสง ในปริมาณสูงในการสร้างผลผลิต ระบบน้ำที่เหมาะสมคือมินิสปริงเกลอร์ จำนวน 1-4 หัว ตามอายุของปาล์มน้ำมัน คำนวณได้ว่า ปาล์มน้ำมัน 1 ต้น ต้องการน้ำ 200 ลิตร ต่อ 10 วัน หากคิดรวมเป็นไร่ต้นปาล์มน้ำมัน 22 ต้น ต้องการน้ำ 4,400 ลิตร ต่อ 10 วัน คิดเป็นเดือนเพียง 13,000 ลิตร หรือ 13.2 คิวบิกเมตร ทำให้เกษตรกรที่สนใจนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจได้



แหล่งพันธุ์ปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคอีสาน

ถ้าเป็นของทางราชการตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย คือศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย มีพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จำหน่ายราคาต้นละ 50 บาท ทางศูนย์จะเก็บเงินค่าพันธุ์ปาล์มน้ำมันเมื่อได้ผลผลิตแล้ว โดยมีเงื่อนไข เกษตรกรที่ปลูกต้องมีแหล่งน้ำ จังหวัดมุกดาหารมีสถานเพาะชำกล้าปาล์มน้ำมันของเอกชนอยู่ 2 แห่ง ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง และซึ่งแต่ละแห่งได้รับใบอนุญาตและมีใบรับรองพันธุ์ถูกต้องตามระเบียบราชการ คือ "ประเสริฐพันธุ์ยาง" ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดย คุณประเสริฐ จรัสกุล เป็นเจ้าของ โทร. (084) 602-6070 และ "จรัญพันธุ์พืช" เลขที่ 184 ถนนธาตุพนม-มุกดาหาร ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โทร. (081) 964-9499 คุณวิภาวดี แย้มมีศรี เป็นเจ้าของ



บทท้าย

การปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ในระดับหนึ่ง มีผู้ปลูกนำร่องหลายราย ปาล์มน้ำมันสามารถเจริญเติบโตจนถึงให้ผลผลิตได้ ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือแหล่งน้ำ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของภาคอีสานมีช่วงแล้งยาวนาน และปาล์มน้ำมันมีความต้องการน้ำในการสร้างผลผลิตพอสมควร ถ้าขาดน้ำช่อดอกส่วนใหญ่จะพัฒนาเป็นช่อดอกตัวผู้และส่งผลข้ามปี

ด้านการตลาด มีข้อมูลว่าภาคเอกชนจะมาตั้งโรงงานในพื้นที่เมื่อมีพื้นที่ปลูก และคาดการณ์ผลผลิตเพียงพอที่จะป้อนโรงงานได้ สำหรับราคา ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ อุปทาน กลไกตลาดและปัจจัยอื่นๆ ในขณะนั้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจจะปลูกปาล์มน้ำมัน กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตมุกดาหาร โทร. (042) 611-439 หรือคุณบุญอุ้ม แคล้วโยธา โทร. (086) 860-2525 ในวันและเวลาราชการ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 430
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM