เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มันสำปะหลัง ในมุมมองของนักวิชาการเกษตร
   
ปัญหา :
 
 
ปัจจุบันนี้ มันสำปะหลังในประเทศไทยนั้นถือว่ามีราคาสูงที่สุดในรอบหลายๆ ปีเลยทีเดียว ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาของมันสำปะหลังนั้นสูงขึ้น และแนวโน้มในอนาคตของมันสำปะหลัง

จากข้างต้นนั้นจึงได้ไปสอบถามจาก คุณสมศักดิ์ ทองศรี นักวิชาการเกษตร 8 ว สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 ถึงรายละเอียด ข้อเท็จจริงและความรู้ต่างๆ ทางด้านการพัฒนามันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตลาดและการส่งออกมันสำปะหลังของไทย

คุณสมศักดิ์ กล่าวว่า งานที่สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการอยู่นั้นคือ งานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ การเก็บเกี่ยว และเก็บรักษา การปลูกพืชแซม การอนุรักษ์ดิน การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมวัชพืช การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ นอกจากหัวสด เช่น ใบ และลำต้น การใช้แป้งมันทำขนมเพื่อทดแทนแป้งจากข้าวสาลี เป็นต้น

จากการที่ได้ศึกษามาพบว่า พื้นที่ในการปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศไทยนั้นมีประมาณ 7,000,000 ไร่ ประมาณ 500,000 ครัวเรือน ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกมากที่สุด มันสำปะหลังเป็นพืชกึ่งระยะยาว เหมาะกับดินร่วน เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ๆ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกร

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งรวบรวมมันสำปะหลังไม่น้อยกว่า 600 สายพันธุ์ สำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์และปัจจุบันมีพันธุ์ที่รับรองจากกรมวิชาการเกษตรนั้นมี 9 พันธุ์ โดย 8 พันธุ์ เป็นพันธุ์เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม อีก 1 พันธุ์ เป็นพันธุ์เพื่อ บริโภค นอกจากนี้ ยังมีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีก 4 พันธุ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นได้รับทุนจากทางมูลนิธิมันสำปะหลัง ส่วนกรมวิชาการเกษตรนั้นจะได้เงินงบประมาณจากรัฐบาล แต่ละพันธุ์นั้นก็จะมีจุดเด่น ด้อยต่างกันไป โดยจะวัดจากการให้ผลผลิตหัวสด เปอร์เซ็นต์แป้ง และการเจริญเติบโตดี เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ

คุณสมศักดิ์ ได้ให้เหตุผลหลายประการเกี่ยวกับราคาที่สูงขึ้นว่า เนื่องจากความต้องการของตลาดเยอะมากจนปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยพิบัติต่างๆ ของต่างประเทศนั้นอาจจะทำผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งทำให้ขาดแคลนพืชต่างๆ ที่จะนำมาทำอาหารสัตว์ รวมทั้งประเทศจีนที่นำเข้ามันสำปะหลังจากเราไปทำเอทานอล

ปัจจุบันในประเทศไทยการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังนั้นยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีโรงงานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และในช่วงนี้ก็ยังปิดบริการอยู่บ่อยๆ เพราะทางด้านต้นทุนการผลิตและความต้องการของตลาดในประเทศนั้นมีน้อย จึงไม่ใช่สาเหตุของการทำให้ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทางด้านคุณสมศักดิ์ ก็ได้ให้คำแนะนำการปลูกมันสำปะหลังกับเกษตรกรว่า ควรที่จะต้องศึกษาสภาพดินให้ดีเพราะดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปุ๋ยให้เหมาะกับสภาพดิน เพราะหากเลือกปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินก็จะทำให้ดินมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและอาจจะช่วยลดรายจ่ายได้อีกด้วย

สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกมันสำปะหลังนั้นควรที่จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร ไม่มีน้ำท่วมขัง ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ มีการระบายน้ำดีและถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร มีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5-7.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 25-37 องศาเซลเซียส

ส่วนทางด้านการใช้ปุ๋ยนั้น คุณสมศักดิ์ กล่าวว่า ควรใช้ทั้งทางด้านปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กัน ปุ๋ยเคมีนั้นใส่เพื่อให้มีธาตุอาหารเยอะ ปุ๋ยอินทรีย์ใส่เพื่อให้ดินมีความโปร่ง มีคุณลักษณะของดินดีขึ้น ปุ๋ยอินทรีย์นั้นก็มีธาตุอาหาร แต่น้อย หากใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวอาจจะต้องใส่เยอะ เนื่องจากปัจจุบันปุ๋ยมีราคาแพงมาก จึงเสียค่าใช้จ่ายมาก สำหรับปุ๋ยอินทรีย์นั้นก็จะเน้นมูลไก่ มูลหมู เนื่องจากมูลวัวมีข้อเสียใส่แล้วหญ้าจะขึ้นเยอะ

การใส่ปุ๋ยนั้นก็จะใส่เพียงครั้งเดียวตลอดการปลูก โดยใส่แยกกันระหว่างปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีนั้นจะให้ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง หลังปลูก โดยขุดเจาะหลุมชายพุ่มแล้วใส่ปุ๋ย

สำหรับปุ๋ยอินทรีย์นั้นต้องใส่ในช่วงตอนเตรียมดินและไม่ควรเป็นปุ๋ยใหม่ๆ เพราะว่ามีเชื้อราและมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเป็นภัยกับต้นไม้ จำเป็นต้องหมักให้ย่อยสลายเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้

สำหรับการให้น้ำมันสำปะหลังนั้น เนื่องจากมันสำปะหลังนั้นเป็นพืชที่ทนต่อความแล้งได้ดี จึงไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่มากนัก โดยจะให้ประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อฤดูปลูก แล้วแต่ความแห้งแล้ง

การเก็บผลผลิตของมันสำปะหลังนั้นก็จะขึ้นอยู่กับพันธุ์ บางพันธุ์จำเป็นต้องใช้เวลา 1 ปี ขึ้นไป แต่สำหรับมาตรฐานของการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังนั้นอยู่ที่ประมาณ 8-18 เดือน แต่อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 12 เดือน หลังปลูก ไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนชุก เนื่องจากหัวมันสำปะหลังจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

การใช้มันสำปะหลังในประเทศมีประมาณ 22-25 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนมากใช้เป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์ และใช้แป้งมันเพื่อการบริโภค ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษและอาหารต่างๆ มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก 70-75 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสัดส่วนการตลาด 90 เปอร์เซ็นต์

ประเทศไทยนั้นส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 4 ของโลก โดยเป็นรองไนจีเรีย บราซิล อินโดนีเซีย ผลผลิตหัวสดของมันสำปะหลังประมาณ 45-50 เปอร์เซ็นต์ จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้นและมันอัดเม็ด มันเส้น คือการนำหัวมันมาหั่นๆ แล้วตาก จะนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น พลังงานแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนมันอัดเม็ดนั้น จะมี 2 ชนิด คือมันอัดเม็ดธรรมดา กับมันอัดเม็ดแข็ง แต่ปัจจุบัน มันอัดเม็ดธรรมดาไม่มีแล้ว จึงเหลือแต่ทางด้านมันอัดเม็ดแข็ง ซึ่งจะนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้เท่านั้น

สำหรับราคาของมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นที่น่ายินดีของทางด้านเกษตรกร เพียงแต่จากเหตุการณ์นี้ก็จะมีผลเสียตามมาอย่างเห็นได้ชัด คือการที่บุคคลหรือองค์กรส่วนหนึ่ง มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เก็บเร็วขึ้น หรือได้หัวมันใหญ่และเยอะขึ้นนั้น ทางด้านคุณสมศักดิ์นั้นกล่าวว่า เนื่องจากการที่ราคามันสำปะหลังนั้นมีราคาที่สูงขึ้น จึงเกิดเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมายซึ่งบางอย่างก็จริง บางอย่างก็ไม่จริง สำหรับตนเองนั้นยังไม่เคยพบเห็นว่าเป็นเรื่องจริง

นอกจากนี้ ทางด้านคุณสมศักดิ์กล่าวว่า ทางมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยนั้นมีแปลงทดลอง ซึ่งทดลองนำเทคโนโลยีที่มีในโฆษณาทุกชนิดมาใช้ โดยประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนก็จะนัดเก็บเกี่ยวและเชิญผู้สื่อข่าวไปชม สำหรับทางด้านข่าวที่มีเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ให้ได้เห็นกันต่อหน้า ถ้าหากสามารถทำได้จริงนั้น ตนเองก็จะเป็นคนที่ช่วยสนับสนุนอีกทาง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้

สำหรับเรื่องเทคโนโลยีที่บอกว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงเกินจริงนั้นก็อาจเกิดปัญหาทางด้านการตลาด ก็คือหากต่างชาติผู้ที่รับซื้อมันสำปะหลังจากประเทศไทยนั้นรู้ข่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยนั้นมีจำนวนผลผลิตมากขึ้น ทางต่างประเทศนั้นอาจจะรอให้มันสำปะหลังมีจำนวนมากและล้นตลาดเสียก่อน แล้วจึงกดราคาซื้อในราคาที่ถูก ถึงเวลานั้นแล้วอาจเกิดความเสียหายให้กับเกษตรกรและประเทศชาติเป็นอย่างมาก

ทางด้านแนวโน้มความเป็นไปของการส่งออกและปลูกมันสำปะหลังในอนาคตนั้น คุณสมศักดิ์ได้กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังนั้นมีความโชคดี เนื่องจากว่าเมื่อปีที่แล้วต้นทุนในการผลิตจำพวกปุ๋ยหรืออุปกรณ์ต่างๆ นั้นมีราคาถูก รวมไปถึงการที่ราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมานั้นมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรทั้งหลายนั้นมีกำไรดี

แต่เนื่องจากปี 2551 นั้น ทางด้านต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ย มีราคาสูงขึ้นถึงเท่าตัวเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งหากในปีนี้ราคาของมันสำปะหลังมีราคาเท่าเดิมหรือลดลง จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนก็เป็นได้

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยนั้นคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง ?????? นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งในประเทศต่างๆ ทำให้ผลผลิตธัญพืชได้รับความเสียหายและมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปบางประเทศ

ทางด้านตลาดจีนยังคงมีความต้องการใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ซึ่งรัฐบาลจีนมีการผลักดันในด้านพลังงานทดแทน ดังนั้น การส่งออกมันเส้นไปจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คู่แข่งสำคัญของไทยคือ เวียดนาม ซึ่งแม้ว่าจะมีปัญหาด้านความชื้นในหัวมัน แต่คุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก จึงทำให้เวียดนามสามารถขยายการส่งออกมันสำปะหลังได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับเกษตรกรที่สนใจและกำลังคิดปลูกมันสำปะหลังนั้น ไม่ควรที่จะคิดว่าราคาของมันสำปะหลังสูงและปลูกง่ายจึงรีบหันมาปลูก จำเป็นต้องศึกษาทางด้านต้นทุนการผลิตและราคาขายให้ดีด้วย เพื่อดูว่าจะเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือไม่

นอกจากนี้ คุณสมศักดิ์ก็ได้ฝากเตือนและให้แง่คิดกับเกษตรกรที่นำต้นและเหง้าของมันสำปะหลังไปขายเพื่อนำไปเผา ซึ่งจากการคำนวณถือว่าไม่คุ้ม ควรปล่อยไว้ที่ดินเพื่อให้แร่ธาตุต่างๆ คืนสู่ดิน เพราะหากเรานำต้นและเหง้าไปขาย เท่ากับเรานำแร่ธาตุที่ใส่ไปกับปุ๋ยนั้นไปขาย จึงน่าเสียดายเพราะปุ๋ยนั้นมีราคาแพงหากว่าเราปล่อยไว้ ทางด้านต้นและเหง้านั้นก็จะกลายมาเป็นปุ๋ยและแร่ธาตุให้ดินที่จะปลูกมันสำปะหลังต่อไป

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM