เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
บุญชู สุขเกษม มุ่งมั่นกับงานปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิง
   
ปัญหา :
 
 
ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ตื่นกันตั้งแต่เช้า เป้าหมายการทำงานอยู่ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ซึ่งไกลจากกรุงเทพฯ พอสมควร เพราะไปอีกราว 30 กิโลเมตร ก็เป็นชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว ต้นฤดูร้อน ต้นเหลืองปรีดิยาธร ริมมอเตอร์เวย์ พอมีดอกให้เห็นบ้าง เสียดาย แรกสุดนั้นเขาปลูกไว้ตรงกลางถนน แต่เนื่องจากมีการขยายผิวจราจร จึงย้ายไปปลูกไว้ริมถนนทั้งสองฝั่ง ต้นจึงไม่สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งได้ตายลง

รถวิ่งถึงหน้าศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว จันทบุรี แวะเติมพลังด้วยแกงป่า ซึ่งรสชาติยังจัดจ้านมีเอกลักษณ์เหมือนเดิม แต่ที่มีเพิ่มเติมขึ้นมานั้น เป็นน้ำซุป น้ำพริกกะปิและผัก น้ำพริกและผักให้กินฟรี อิ่มแล้วออกเดินทางกันต่อ ผู้นำทางประจำถิ่น บอกด้วยสำเนียงท้องถิ่นมีเสน่ห์ว่า รออยู่ที่ประตูเมือง ข้ามแม่น้ำเวฬุก็เจอแล้ว



จากงานประจำ

ทำงานเกษตรด้วยใจมุ่งมั่น


อาจารย์ทรงยศ พุ่มทับทิม ประธานชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย นำทางไปยังแปลงปลูกไผ่ของ คุณบุญชู สุขเกษม ห่างจากถนนสุขุมวิทไม่น้อย ขณะที่ไปถึงแปลงปลูก เห็นป่าไผ่ร่มครึ้ม ต้นสูง ข้างล่างเตียนโล่ง เดาเอาว่า ต้นไผ่ที่เห็นอยู่อายุน่าจะสัก 4-5 ปี วันที่ไปกันตรงกับวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551 แต่หน่อไผ่ผุดขึ้นเต็มไปหมด หากไม่ติดภารกิจ สามารถเอนหลับในป่าไผ่ได้สบาย เพราะข้างล่างใบไผ่ร่วงหล่น เหยียบลงไปนุ่มนิ่มดี

รออยู่สักพัก คุณบุญชู และ คุณกมลพร สุขเกษม ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ 41/3 หมู่ที่ 1 ตำบลเทพนิมิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ก็มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิง

คุณบุญชูบอกว่า เดิมตนอยู่จังหวัดสระบุรี แต่งงานกับคุณกมลพร ช่วงแรกๆ ของการทำมาหากิน ทำงานอยู่ที่เมืองใหญ่ งานที่ทำวนเวียนอยู่กับการเงินการธนาคาร ระยะหลังๆ คุณกมลพรอยากทำเกษตร อยากใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ในพื้นที่ 30 ไร่ จึงลาออกมาเพาะเห็ด เลี้ยงไก่เนื้อ

งานเลี้ยงไก่เนื้อให้กับบริษัท พออยู่ได้ แต่อยู่ได้ไม่ดีนัก จึงมาเลี้ยงไก่ไข่ โดยรับเลี้ยงลูกไก่ไข่อายุ 1 เดือน นำมาเลี้ยงอีก 3 เดือน เริ่มเป็นไก่สาว จากนั้นมีคนมารับไปขึ้นกรงไข่ ระยะเวลา 3 เดือน ที่เลี้ยง ได้ค่าจ้างเลี้ยงตัวละ 8 บาท เลี้ยงชุดละ 10,000 ตัว ปัจจุบันกำลังขยายเล้าเพิ่ม

ก่อนเดือนเมษายน 2549 อาจารย์ทรงยศ ไปพูดคุยกับพี่ภรรยาของคุณบุญชู เกี่ยวกับไผ่จีนเขียวเขาสมิง พี่ภรรยาคุณบุญชู มาเล่าให้คุณบุญชูฟังอีกทีหนึ่ง เมื่อได้ยินคุณบุญชูเริ่มสนใจ เพราะที่สระบุรี คุณแม่ปลูกไผ่รวก ปล่อยให้เทวดาเลี้ยง ปีหนึ่งหักหน่อขายได้เงิน 30,000-40,000 บาท คุณบุญชูไปที่บ้านอาจารย์ทรงยศ ซื้อต้นพันธุ์จำนวน 400 ต้น มาปลูก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2549

"จริงๆ แล้วอยากปลูกมากกว่า 400 ต้น แต่ทางเราไม่มีพันธุ์ให้ ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 100 ต้น" อาจารย์ทรงยศ กล่าวเสริม

ปลูกไปเมื่อเดือนเมษายน เมื่อฝนลงได้เดือนสองเดือน น้ำท่วมแปลงปลูกของคุณบุญชู เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม ทางตะวันออกเรียกว่า "มาบ" น้ำท่วมไผ่ที่ปลูก คุณบุญชูวิ่งแจ้นไปหาอาจารย์ทรงยศ ได้รับคำตอบจากอาจารย์ว่าไม่เป็นไร แต่คุณบุญชูไม่เชื่อ เพราะท่วมจนมิด

เมื่อน้ำลด ต้นไผ่มีอาการซีดเหลืองบ้าง แต่จากนั้นไม่นาน ต้นเริ่มเขียว และมีหน่อให้เห็น ขนาดของหน่อใหญ่กว่าลำต้นหลายเท่า เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น คุณบุญชูจึงไปหาซื้อต้นพันธุ์จากแปลงเครือข่ายของชมรมไผ่เศรษฐกิจ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกไผ่ 23 ไร่ ของพี่ชายคุณกมลพรอีก มีพื้นที่ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน งานเลี้ยงไก่ของคุณบุญชูยังทำอยู่ ส่วนเรื่องเห็ดนั้น เคยเพาะถึง 70,000 ถุง แต่เนื่องจากงานยุ่ง จึงให้พี่ๆ ภรรยาเป็นคนทำ



มั่นใจในเขียวเขาสมิง

คุณบุญชูบอกว่า หลังปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิงราว 3 เดือน ก็จะเริ่มให้หน่อแล้ว แต่หน่ออาจจะไม่ใหญ่นัก เมื่อ 6-7 เดือนไปแล้ว ต้นจะให้หน่อดีมาก

"ถึงวันที่ 17 เมษายน 2551 ก็จะถึง 2 ปี สำหรับแปลงนี้ ตรงนี้เก็บขายตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2551 ได้เงินกว่า 30,000 บาทแล้ว ขายกิโลกรัมละ 25 บาท แรกๆ ที่ปลูกไม่มั่นใจ เมื่อไปเห็นชอบเพราะเห็นเป็นป่าร่มครึ้ม ข้างล่างโล่งเตียน หญ้าดูแลเพียงปีแรก ปีต่อมาไม่มีแล้ว ไผ่ชนิดนี้หนามไม่มี ขนไม่มี พี่เขาเอาหน่อให้มาทดลองทานดูด้วย สิ่งที่ผมมั่นใจมากขึ้นนั้น ผมไปตลาดไท ไปพบเพื่อนที่ทำโต๊ะจีน ถามเขาว่า ซื้อหน่อไม้สดเท่าไหร่ ได้รับการบอกเล่าว่า ถุงหนึ่งมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ขาย 300 บาทเศษ แสดงว่ากิโลกรัมละกว่า 30 บาท อย่างนี้หากเรามีมากก็นำไปส่งได้ ยิ่งปีใหม่ โต๊ะจีนหาหน่อไม้ทำกระเพาะปลายาก" คุณบุญชู บอก

คุณบุญชูเล่าว่า เวลา 2 ปี มีความมั่นใจ แล้วก็ได้อะไรหลายอย่างจากไผ่จีนเขียวเขาสมิงนี้มาก สิ่งที่ได้จากไผ่อันดับแรกคือหน่อ

อย่างที่แนะนำไปแล้ว หน่อไผ่จีนเขียวเขาสมิงออกนอกฤดูกาลได้ดี เจ้าของบอกว่า เก็บจำหน่ายได้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2551 ขนาดของหน่อโดยเฉลี่ยน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ต่อหน่อ แต่เคยพบว่า น้ำหนักของหน่อที่เกิดจากต้นใหญ่สมบูรณ์ อายุของต้นมากกว่า 3 ปี หนัก 5 กิโลกรัม แต่โดยทั่วไปแล้วน้ำหนักของหน่อเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม อายุของกอ 3 ปีขึ้นไป มีหน่อ 29 หน่อ

ถามแทนผู้สนใจที่อ่านบทความนี้ อย่างเกษตรกรอยู่ที่อีสาน อยู่ภาคเหนือ ไม่มีระบบน้ำ สามารถทำนอกฤดูได้ไหม

คุณบุญชูอธิบายว่า บริเวณที่ตนเองปลูกไผ่เป็นที่ลุ่มน้ำล้อมรอบ แถมยังมีระบบน้ำให้เป็นแบบสปริงเกลอร์ จึงสามารถทำให้ออกนอกฤดูและก่อนฤดูได้ดี ส่วนเกษตรกรที่อยู่ถิ่นอื่นไม่มีน้ำ คงทำนอกฤดูและก่อนฤดูไม่ได้ ทางที่ทำได้คือปลูกเพื่อเก็บหน่อไม้ปี คือเก็บผลผลิตหน้าฝนเท่านั้น

ขอย้ำว่า ไม่มีน้ำหน้าแล้ง สามารถเก็บหน่อไม้ปี หน้าฝนเท่านั้น



แผนพัฒนาไผ่

อนาคตมีหลายเรื่องให้ทำ


อาจารย์ทรงยศบอกว่า ปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องการปลูก การให้ผลผลิต ซึ่งทราบข้อมูลในระดับที่แน่นอนแล้ว

"ไผ่ได้รับความสนใจอย่างมาก เบื้องต้นคือเรื่องของหน่อ ที่นี่คือ ตลาดแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง เป็นศูนย์รวมมาจากบ่อไร่ด้วย ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์รวมกัน ส่วนหนึ่งมีผู้ใช้แรงงาน หน่อไม้เป็นผลิตผลขายดี วันหนึ่งๆ มีคนมาหาซื้อวัตถุดิบปรุงอาหารกัน เช่น งานบวช งานแต่ง และงานอื่นๆ ผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งชอบเผ็ด เขาซื้อหน่อไม้ไปจิ้มน้ำพริก งานพัฒนาอย่างหนึ่งนั้น เริ่มมีคนมาติดต่อเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ ปาร์เก้ต์จากไม้ไผ่ ส่วนงานผลิตข้าวหลาม หลังปีที่ 3 ไปแล้ว ลำไผ่จะกลวง ทำข้าวหลามได้ เขาซื้อกันตันละ 1,300 บาท ที่หนองมนต้องไปซื้อไกล บ้านเราไม่มีแล้ว ไปซื้อจากเขมร" อาจารย์ทรงยศ บอก

ส่วนคุณบุญชูบอกว่า จากการที่ตนเองนำหน่อออกจำหน่ายตลาดนัดใกล้บ้าน ปรากฏว่าคนสนใจมาก หน่อไผ่มีหลังปีใหม่ไม่นาน ถึงกับมีการจองกันเลย

"ผมลองเผาถ่านดู ใช้ดีมาก มีคนตีเหล็กใกล้ตลาด เขาบอกว่าตีเหล็กต้องใช้ถ่านจากไผ่อย่างเดียว คนที่ทำสวนยาง ปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่ส่วนใดที่ปลูกไม่ได้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจจะเป็นเพราะน้ำท่วม อยากให้นำไผ่ไปปลูก เพราะลำไผ่ใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น ค้ำกิ่งเงาะ" คุณบุญชู บอก

ในแง่ของลำไผ่ คุณบุญชูและอาจารย์ทรงยศ ร่วมให้ข้อมูลดังนี้

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่ได้ 100 กอ เมื่อต้นอายุ 3 ปี หากสางลำออกจากกอได้ 5 ลำ จะได้ไผ่ 500 ลำ หากน้ำหนักลำไผ่ ลำละ 30 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักไผ่ 15,000 กิโลกรัม หรือ 15 ตัน หากขายตันละ 1,000 บาท เพื่อเข้าโรงงานกระดาษหรือใช้สอยอย่างอื่น จะมีรายได้จากลำไผ่ไร่ละ 15,000 บาท

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่ได้ 100 กอ เมื่อต้นอายุ 3 ปี สางลำออกจากกอได้ 5 ลำ จะได้ไผ่ 500 ลำ หากน้ำหนักลำไผ่ ลำละ 50 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักไผ่ 25,000 กิโลกรัม หรือ 25 ตัน หากขายตันละ 1,000 บาท เพื่อเข้าโรงงานกระดาษ จะมีรายได้จากลำไผ่ไร่ละ 25,000 บาท

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่ได้ 100 กอ เมื่อต้นอายุ 3 ปี สางลำออกจากกอได้ 10 ลำ จะได้ไผ่ 1,000 ลำ หากน้ำหนักลำไผ่ ลำละ 30 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักไผ่ 30,000 กิโลกรัม หรือ 30 ตัน หากขายตันละ 1,000 บาท เพื่อเข้าโรงงานกระดาษ จะมีรายได้จากลำไผ่ไร่ละ 30,000 บาท

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่ได้ 100 กอ เมื่อต้นอายุ 3 ปี สางลำออกจากกอได้ 10 ลำ จะได้ไผ่ 1,000 ลำ หากน้ำหนักลำไผ่ ลำละ 50 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักไผ่ 50,000 กิโลกรัม หรือ 50 ตัน หากขายตันละ 1,000 บาท เพื่อเข้าโรงงานกระดาษ จะมีรายได้จากลำไผ่ไร่ละ 50,000 บาท

อาจารย์ทรงยศบอกว่า ลำไผ่ที่สมบูรณ์ดี จะมีน้ำหนัก 40-50 กิโลกรัม ต่อลำ เป็นตัวเลข ณ พื้นที่ปลูกอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เขตที่ฝนดี น้ำดี ท่านผู้อ่านที่ได้รับข้อมูลตรงนี้แล้ว ต้องใช้วิจารณญาณ เพราะหากปลูกที่ทุ่งกุลาร้องไห้ น้ำหนักของลำคงไม่สมบูรณ์ ลำอาจจะเท่าข้อมือก็ได้ แต่หากปลูกที่จังหวัดระนอง น้ำดี ดินอุดม ขนาดของลำรวมทั้งน้ำหนักอาจจะเท่ากับที่คิดคำนวณหรือมากกว่าก็ได้ ตัวเลขที่คุณบุญชูและอาจารย์ทรงยศแสดงให้ดู บอกภาพกว้างๆ

"มั่นใจมากสำหรับไผ่พันธุ์นี้ ดูแลไม่ยาก ผมไม่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เลย ใส่ปุ๋ยมูลไก่ ต้นเล็ก 2 กิโลกรัม ต่อปี ต้นใหญ่ 15 กิโลกรัม เป็นมูลไก่ที่มีแกลบ" คุณบุญชู บอก

น่าสนใจ สำหรับงานปลูกไผ่ของคุณบุญชู สภาพที่เห็นอยู่ แปลงปลูกของคุณบุญชูมีน้ำล้อมรอบ แต่ไผ่ไม่ได้เดินลงไปหากินเอง เจ้าของปั๊มน้ำ แล้วให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ ต้นจึงสวยงาม เพียง 2 ปี ต้นสูงมาก หน่อเต็มไปหมด

คุณบุญชูบอกว่า ผู้อ่านท่านใดสนใจข้อมูล ถามไถ่กันได้ตามที่อยู่หรือโทร. (086) 127-1256

หรืออาจารย์ทรงยศ พุ่มทับทิม โทร. (089) 931-5626

ผู้ที่อยากไปเยี่ยมชมแปลง นัดหมายกับเจ้าของได้ โดยออกจากจันทบุรี มุ่งไปตราด ตามถนนสุขุมวิท ข้ามแม่น้ำเวฬุ จะเห็นงอบใบใหญ่ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์และประตูเมือง นัดให้เขามารับตรงนั้นได้

ผู้อ่านท่านใดอยากไปชมแปลง แต่ไม่สะดวก นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและเส้นทางเศรษฐี (เครือมติชน) จัดเสวนาเกษตรสัญจรพาไปชมกัน ช่วงเดือนพฤษภาคม ดูรายละเอียดได้ในหน้าถัดๆ ไป ของนิตยสารเล่มนี้

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 428
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM