เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ยุพิน บั้งทอง กับความสำเร็จในการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง 2 ไร่
   
ปัญหา :
 
 
คุณยุพิน บั้งทอง บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 11 บ้านร่องกอก ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ 67110 เคยมีอาชีพในการปลูกผัก เช่น กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว ฯลฯ มาก่อน แต่ขายผลผลิตไม่ได้ราคาและไม่คุ้มกับการลงทุน จึงคิดหาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ที่สร้างรายได้มากกว่าเก่า คุณชนะบดี ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคุณลุงของคุณยุพิน ได้ทราบข่าวมาว่าปัจจุบันทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนามะละกอพันธุ์ครั่งและเริ่มมีเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าจำหน่ายให้เกษตรกรได้นำไปทดลองปลูก คุณชนะบดีได้ซื้อต้นกล้ามะละกอพันธุ์ครั่งจากศูนย์ในราคาต้นละ 3 บาท มาปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ ผลปรากฏว่าใช้เวลาปลูกไม่นาน ประมาณ 5 เดือนเท่านั้น สามารถเก็บผลผลิตมะละกอดิบขายได้มากถึง 5,000 กิโลกรัม (5 ตัน) หลังจากนั้น คุณยุพินจึงได้ตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 3 ไร่ โดยซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอครั่งจากศูนย์มาเพาะเองในราคาเมล็ดละ 1 บาท



มะละกอพันธุ์ครั่งปลูกเพื่อเน้นขาย

เพื่อทำส้มตำโดยเฉพาะ


คุณยุพินมีเป้าหมายหลักของการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งเพื่อขายเป็นมะละกอดิบส่งขายเพื่อทำส้มตำโดยเฉพาะ เนื่องจากมะละกอสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นตรงที่เนื้อมีความกรอบ เนื้อมีสีขาวขุ่น รสชาติหวานเล็กน้อยและที่สำคัญเนื้อไม่แข็งกระด้าง ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า "ส้มตำ" จัดเป็นอาหารคาวของไทยอย่างหนึ่ง มีต้นกำเนิดยังไม่แน่ชัดว่ามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนมากจะทำโดยนำมะละกอดิบที่ขูดเป็นเส้นมาตำในครกกับมะเขือลูกเล็ก ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง พริก และกระเทียม ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ปูดอง หรือปลาร้า ให้มีรสเปรี้ยว เผ็ด และออกเค็มเล็กน้อย นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยมีผักสด เช่น กะหล่ำปลีและถั่วฝักยาวเป็นเครื่องเคียง

จาก "วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี" ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ส้มตำ" ว่า คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกัน ว่า "ส้มตำ" เป็นอาหารพื้นเมืองของคนอีสานหรือของลาว แท้จริงแล้ว "ส้มตำ" จัดเป็นอาหารสมัยใหม่ถือกำเนิดมา ประมาณ 40 ปีเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มีการนำเข้ามาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพและตัดถนนมิตรภาพเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สู้รบ พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอมาปลูกสองข้างทางของถนนมิตรภาพ มะละกอจึงได้เผยแพร่สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน "ส้มตำ" ได้เป็นอาหารหลักของคนอีสานไปแล้ว และเป็นอาหารที่ได้เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังแพร่หลายกลายเป็นอาหารที่ต่างชาติรู้จักกันมากขึ้น ในด้านการปลูกมะละกอจากที่เคยปลูกแบบสวนครัว พัฒนามาปลูกในเชิงพาณิชย์ มีการพัฒนาสายพันธุ์มะละกอเพื่อใช้ทำส้มตำโดยเฉพาะ จากที่มะละกอพันธุ์แขกนวลใช้ในการทำส้มตำมากที่สุดมาถึงมะละกอพันธุ์ครั่งที่มีคุณสมบัติดีมากกว่าหลายประการในขณะนี้



ผลกะเทยและผลกลม

ของมะละกอพันธุ์ครั่งขายได้หมด


คุณยุพินบอกว่า จากการเริ่มต้นปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในพื้นที่ 2 ไร่นั้น พบว่า ต้นมะละกอที่ปลูกอยู่ในแปลงแบ่งออกเป็นได้ 3 ชนิด คือ ผลยาวหรือผลกะเทย โดยลักษณะผลจะยาวเรียว ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ผลกลม (ดอกตัวเมีย) จะมีลักษณะผลกลมกว่าผลยาว แต่ไม่ถึงกลับกลมแบบมะละกอแขกดำหรือแขกนวล ถึงลักษณะผลจะกลมแต่ก็มีความยาวของผล ประมาณ 30 เซนติเมตร คุณยุพินบอกว่า ขายดิบให้พ่อค้าได้ทั้ง 2 ชนิด ได้ราคาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องตัดต้นตัวเมีย (ลูกกลม) ทิ้งเหมือนพันธุ์แขกดำและแขกนวล ชนิดสุดท้ายที่ยังพบอยู่บ้างคือ ต้นที่ไม่ออกดอกหรือเป็นดอกตัวผู้ คุณยุพินบอกว่า ในพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง 2 ไร่ จะพบบ้างประมาณ 2-3 ต้นเท่านั้น จะตัดต้นทิ้งทันที ซึ่งก็สอดคล้องกับทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ที่บอกว่า เมล็ดมะละกอพันธุ์ครั่งที่ผลิตได้จากทางศูนย์ยังอาจจะพบต้นตัวผู้บ้างแต่ว่าน้อยมาก



ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งยกแปลงปลูก

แบบลูกฟูกและปลูกแถวเดียว


สภาพดินปลูกมะละกอของคุณยุพินจะมีลักษณะเนื้อดินค่อนข้างไปทางทราย จึงได้ซื้อหน้าดินมาถมเพิ่มเติมเพื่อให้สภาพดินเป็นร่วนปนทรายมากขึ้น (สภาพดินละแวกนี้เหมาะที่จะปลูกถั่วลิสง งาดำ และงาขาว) ในการเตรียมแปลงปลูกจะนำรถไถมายกแปลงปลูกเป็นลูกฟูก แต่ละแปลงจะปลูกมะละกอเพียงแถวเดียว โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร (พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 180 ต้น เมื่อต้นมะละกอเจริญเติบโตเต็มที่ทรงพุ่มจะชนกันพอดี แต่ในแปลงปลูกใหม่ในพื้นที่ 3 ไร่นั้น คุณยุพินได้ปรับระยะปลูกให้กว้างขึ้นคือ จะใช้ระยะปลูก 3.5x3.5 เมตร



น้ำและปุ๋ยเคมีมีความจำเป็น

ต่อการปลูกมะละกอครั่ง

ในเชิงพาณิชย์


จากการเดินสำรวจแปลงปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งของคุณยุพินพบว่า จุดเด่นที่สำคัญประการแรกคือ สภาพแปลงปลูกมีความสะอาดมาก โคนต้นมะละกอทุกต้นจะคลุมด้วยฟางข้าว มีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณวัชพืชและช่วยรักษาความชื้น ในการปลูกมะละกอของคุณยุพินจะไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ในทางปฏิบัติจริงการใช้สารกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอมีข้อจำกัดและเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้แต่การใช้ยากำจัดวัชพืชในกลุ่มของไกลโฟเสตอาจจะมีผลข้างเคียงกับต้นมะละกอได้ "น้ำ" จัดเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง คุณยุพินบอกว่า ตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่าให้ต้นมะละกอขาดน้ำ จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สภาพแปลงปลูกมะละกอของคุณยุพินจะให้น้ำตามร่องเฉลี่ย 3-5 วัน ต่อครั้ง ในขณะที่การให้ "ปุ๋ยเคมี" คุณยุพินจะเน้นการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ให้กับต้นมะละกอที่ให้ผลผลิตแล้วเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ใส่ให้ต้นละ 1 กำมือโดยประมาณ ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมากขึ้น คุณยุพินได้สลับมาใช้ปุ๋ยคอกบ้าง (ใช้ปุ๋ยขี้ไก่) และมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบและฮอร์โมนบ้าง ได้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากนัก ประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้มาก



ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง

หลุมละ 1 ต้น หรือ 2 ต้น

อย่างไหนดีกว่ากัน


ปัจจุบันคุณยุพินได้ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งหลุมละ 1 ต้น และมีบางส่วนปลูกหลุมละ 2 ต้น คุณยุพินบอกว่า ถ้าปลูกหลุมละ 1 ต้น จะได้ต้นมะละกอที่มีลำต้นอวบอ้วน ขนาดของผลจะใหญ่และสมบูรณ์มาก ในขณะที่บางหลุมปลูก 2 ต้น จากการสังเกตพบว่า ต้นมะละกอยังคงความสมบูรณ์เพียงแต่ขนาดของลำต้นเล็กกว่าเพราะแย่งอาหารกัน ผลของมะละกอมีขนาดผลเล็กเรียวยาวและน้ำหนักน้อยกว่า แต่การปลูกหลุมละ 2 ต้นนั้น กลับพบข้อดีว่า ผลมะละกอพันธุ์ครั่งไม่มีขนาดใหญ่จนเกินไป เป็นที่ชื่นชอบของแม่ค้าที่รับซื้อไปขาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อไปบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากขนาดของผลไม่ใหญ่จนเกินไป จากการเก็บข้อมูลการให้ผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่งที่สวนของคุณยุพินพบว่า ในแต่ละรุ่นหรือแต่ละครั้งจะให้ผลผลิตได้ต้นหนึ่งเฉลี่ยน้ำหนัก 20 กิโลกรัม

นอกจากนั้นแล้ว คุณยุพินยังได้มีเทคนิคในการตัดต้น ในขณะต้นมะละกอยังเล็กอยู่เพื่อให้มีการแตกยอดเพิ่มจากยอดเดียวเพิ่มเป็น 2-3 ยอด (คุณยุพินบอกว่า เหมือนมีมะละกอเพิ่มขึ้นมาจาก 1 ต้น เป็น 3 ต้น) มีผลทำให้ผลผลิตมะละกอเพิ่มขึ้นและต้นมะละกอไม่ต้องมีภาระไว้ผลมากเกินไป ต้นมะละกอจะร่ม เวลาเข้าไปทำหญ้าก็ไม่ร้อนมาก



มะละกอพันธุ์ครั่ง

ค่อนข้างทนทาน

ต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน


ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาโรคไวรัสจุดวงแหวนในการปลูกมะละกอของประเทศไทยแบบยั่งยืนจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์มะละกอที่ตัดแต่งพันธุกรรมหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เมล็ดมะละกอ GMOs และความเป็นจริงอีกเช่นกันที่การพัฒนามะละกอ GMOs ในบ้านเราถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจและมีความก้าวหน้าติดระดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย แต่ยังมีบางหน่วยงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไม่เห็นด้วย กลัวว่าเมื่อคนไทยบริโภคมะละกอ GMOs ไปแล้วอาจจะเป็นอันตรายได้ในอนาคต ทำให้งานทดลองและงานเผยแพร่ได้หยุดชะงักลง มะละกอพันธุ์ครั่งก็เช่นเดียวกันเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวน แต่มีความทนทานได้ดีระดับหนึ่ง อย่างกรณีของคุณยุพิน บั้งทอง ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งรุ่นแรกในพื้นที่ 2 ไร่นั้น พบว่า เป็นโรคไวรัสจุดวงแหวนเพียง 5 ต้นเท่านั้น และได้ทำลายเผาทิ้งทันที



ผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่ง

ในช่วงฤดูแล้ง

ได้ขายกิโลกรัมละ 10 บาท


จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ในพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง จำนวน 2 ไร่ ของคุณยุพินหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 4 เดือนเศษ ได้เก็บผลมะละกอดิบส่งขายตลาดในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปแล้วประมาณ 5 ตัน หรือ 5,000 กิโลกรัม ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มะละกอออกสู่ตลาดมากๆ (ทุกสายพันธุ์) ราคาของมะละกอพันธุ์ครั่งจะขายส่งได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3-4 บาท โดยคุณยุพินจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาเช้าในแต่ละครั้งที่พ่อค้ามีออเดอร์มาจะเก็บเกี่ยว ประมาณ 70-80 ถุง บรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม โดยคุณยุพินจะเลือกเก็บผลใหญ่ๆ ออกจากต้นก่อน หลายคนยังไม่ทราบว่าสำหรับมะละกอพันธุ์ครั่งจะเก็บขายผลดิบเพื่อใช้บริโภคเป็นส้มตำได้นั้น จะเก็บได้หลังจากที่ออกดอกแล้วนับไปอีกเพียง 30-45 วันเท่านั้น

คุณยุพินมักจะวางแผนกักผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่งไว้รอราคาขายในช่วงฤดูแล้งคือ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะขายได้ราคาสูงกว่าเท่าตัว ในช่วงฤดูแล้งจะขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 10 บาท



มะละกอพันธุ์ครั่งดิบ

เก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิปกติ

ได้นานถึง 7 วัน


มะละกอพันธุ์ครั่งมีจุดด้อยที่พ่อค้าไม่ชอบตรงที่มีร่องที่ผลและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก แต่เมื่อได้ซื้อไปทำส้มตำแล้วล้วนแต่ประทับใจกันทุกราย โดยเฉพาะในเรื่องของความกรอบและอร่อยกว่ามะละกอดิบสายพันธุ์อื่นๆ (ความจริงแล้วมะละกอพันธุ์ครั่งเมื่อสุกมีรสชาติหวานพอใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคดิบมากกว่า) ข้อดีประการหนึ่งที่พ่อค้าชอบมะละกอพันธุ์ครั่งก็คือ เก็บรักษาได้สภาพอุณหภูมิปกติได้นานถึง 7 วัน โดยผลไม่เหี่ยวและคุณภาพของเนื้อไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่มะละกอดิบพันธุ์อื่นเก็บไว้ 2-3 วัน ก็เหี่ยวแล้ว (มะละกอถ้าผลเหี่ยวแล้วจะทำส้มตำไม่อร่อย)



หนังสือ "ครั่ง" มะละกอไทยพันธุ์ใหม่เพื่อทำส้มตำ พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับหนังสือ "เทคนิคการผลิตมะละกอเงินล้าน" จำนวน 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เพชรบูรณ์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 427
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM