เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ด ทางที่น่าลองสำหรับผู้ที่สนใจ
   
ปัญหา :
 
 
ผักหวานป่า ชนชาวอีสานเรียกว่า "ผักหวาน" ไม่มีคำว่า "ป่า" ต่อท้าย แต่ผักหวานที่มีคำต่อท้ายของชนอีสานคือ "ผักหวานบ้าน" ผลผลิตจากต้นผักหวานป่า ได้แก่ ยอดอ่อน เมล็ดอ่อน และเมล็ดสุก โดยเมล็ดอ่อนสามารถนำไปประกอบปรุงเป็นอาหารเช่นเดียวกันกับยอดอ่อน ส่วนเมล็ดสุกนำไปนึ่งให้สุกแล้วนำมารับประทานเป็นของว่าง

เมื่อย่างเข้าหน้าแล้งพื้นที่ป่ารกเรื้อด้วยใบไม้พงหญ้า เป็นสาเหตุให้คนชนบทจุดไฟเผาป่า มีทั้งจงใจและไม่จงใจ ที่ไม่จงใจอาจเผาป่า เพื่อทำไร่ ทำสวน ไฟเลยลุกลามไปยังป่าอื่น เมื่อป่าถูกเผาจนเตียนโล่งถูกฝนแรกตกชะ ผืนป่าก็เริ่มเขียวครึ้ม ผลผลิตแห่งป่าชนิดต่างๆ ก็อุบัติ รวมไปจนกระทั่งผักหวานป่าก็แทงช่อยอดตามกิ่งก้าน เพื่อรอการแตกใบปรุงอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นให้เติบโต

วัฏจักรแห่งป่าก็เป็นไปอยู่อย่างนี้

จากการพบปะพูดคุยกับผู้สนใจการปลูกผักหวานป่าหลาย ๆ ราย มีความเป็นมาคล้ายๆ กันว่า เคยปลูกด้วยการขุดมาจากป่า และการปลูกด้วยต้นกล้าจากคนเพาะกล้าผักหวานป่า บางคนหมดเป็นหมื่นซื้อต้นกล้าไปปลูก เมื่อปลูกแล้วก็ไม่เป็นไปดังที่ใจหวัง โดยเฉพาะการปลูกด้วยต้นกล้า ถ้าไม่ตายก็ไม่โต ส่วนปลูกด้วยการขุดมาไม่ต้องพูดถึง คือตาย ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดก็ได้ยินได้ฟังมาบ้าง

จนกระทั่งได้พบปะพูดคุยกับ คุณสังวาลย์ เจริญสุข เจ้าของสวนผักหวานป่าแห่งอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เมื่อกลางเดือนเมษายน 2550 โดยคุณสังวาลย์ได้เล่าให้ฟังอย่างมั่นใจว่า การปลูกด้วยเมล็ดสามารถให้ผลผลิตได้ภายในเวลา 2 ปี ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะคุณสังวาลย์พาไปดูต้นผักหวานป่าอายุ 2 ปี ที่คุณสังวาลย์ปลูกด้วยเมล็ด ลักษณะของต้นสูงประมาณ 1.5 เมตร ลำต้นโตเท่าเหล็กขนาด 6 หุน

จึงได้ทดลองซื้อเมล็ดผักหวานป่าจากคุณสังวาลย์ไป 2 กิโลกรัม เมื่อคัดเลือกตามวิธีการแล้วได้เมล็ดที่สมบูรณ์จำนวน 220 เมล็ด ได้นำลงปลูกในหลุมซึ่งจะเล่ารายละเอียดต่อไป เมื่อมาถึงวันครบรอบ 1 ปี คือวันที่ 28 เมษายน 2551 มีต้นผักหวานป่าที่รอดตายเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ตายเกิดจากการเน่าของลำต้น ที่สำลักน้ำฝนซึ่งตกติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ และก็ไม่ได้วางแผนป้องกันเรื่องนี้ไว้แต่แรก ส่วนสาเหตุอื่นยังไม่พบ และยังมีบางต้นที่เจริญเติบโตไม่ทันเพื่อนเขา คงมาจากการยกร่องภายหลัง เพราะดินท่วมยอด หรือไม่ก็มีอาการป่วยหนักตอนสำลักน้ำ แต่โดยภาพรวมแล้วคิดว่าน่าพอใจอย่างยิ่ง ส่วนต้นที่เติบโตเร็วที่สุด (ตามภาพ) ก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่า เขาจะโตเร็วผิดปกติไปมาก

ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาอีก จึงติดต่อญาติทางจังหวัดชัยภูมิให้เสาะหาแหล่งเมล็ดพันธุ์มาปลูกเพิ่มเติม ซึ่งก็ได้เมล็ดพันธุ์จากท้องที่อำเภอภักดีชุมพล เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ประมาณ 1,000 เมล็ด ราคาซื้อหาตกกิโลกรัมละ 150 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเอาเมล็ดพันธุ์ ค่าติดต่อเดินทางของผู้ไปหาซื้อซึ่งอยู่คนละแห่งแล้ว เป็นราคาสุทธิเมล็ด 4 บาทเศษๆ ทีเดียว แต่เพราะใจรักใจชอบก็คิดว่าเป็นการลงทุนหาประสบการณ์ก็เท่านั้นเอง

เตรียมการ เตรียมสถานที่

เตรียมการคือ การวางแผนไว้พอเป็นแนวทางกว้างๆ เช่น พื้นที่ที่จะปลูกผักหวานป่าของตนมีลักษณะอย่างไร แหล่งน้ำ ภูมิประเทศเพียงพอเหมาะสม แรกๆ ไม่อยากให้ทำมาก ให้เริ่มทำจนเกิดความมั่นใจก่อน และอย่าหวังเพียงผลที่จะได้รับเพียงอย่างเดียว ผู้เขียนคิดว่าสภาพของดินทุกภูมิภาคของไทยเราปลูกผักหวานป่าได้ คงยกเว้นแหล่งที่มีดินเค็มค่อนข้างมากเท่านั้น เมื่อวางแผนไว้แล้ว ขอแนะนำให้ยกร่องสำหรับปลูก ขนาดของร่องควรกว้างไม่เกิน 1 เมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 1.5-2.0 เมตร หากจะแคบหรือกว้างกว่านี้ก็แล้วแต่จะกำหนด

ธรรมชาติของผักหวานป่าชอบร่มรำไร หากไม่มีร่มต้องเตรียมการเรื่องร่มไว้ให้พร้อม อาจปลูกมะเขือขื่นไว้ขอบหลุม หลุมละ 1 ต้น หรือต้นหม่อนไว้เรียงรายเป็นระยะๆ หรือหากมีสวนชะอมอยู่แล้วก็ใช้ชะอมเป็นร่มเงาก็ได้



การเพาะเมล็ดพันธุ์

นำเมล็ดพันธุ์ที่แก่จนสุกมาขยำให้เนื้อในล่อนออกจนหมดเมือก ล้างน้ำจนสะอาด ลองแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำดู หากเมล็ดใดลอยน้ำก็ให้เก็บออกทิ้ง นำเมล็ดที่เหลือขึ้นมาผึ่งลมในร่มให้แห้ง คลุกยากันเชื้อราให้ทั่วทุกเมล็ด

เตรียมกระบะเพาะ อาจใช้อิฐบล็อคกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม หรือใช้กระดานตีเป็นรูปกระบะแล้วแต่จะสะดวก สำหรับผู้เขียนใช้กระบะสำเร็จรูปจากยางรถยนต์ที่เขาทำขึ้นสำหรับปลูกผักสวนครัว วัสดุเพาะใช้แกลบดำจะดีที่สุด เพราะแกลบดำยืดหยุ่น เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี หากใช้อย่างอื่น เช่น ทรายหรือแกลบเผาเองอาจมีปัญหาในการระบายน้ำ หากเพาะไม่มากนักอาจใช้ใบไม้ผุ เช่น ใบมะขาม ใบก้ามปู ก็คงได้

เทแกลบดำลงในกระบะเพาะกดพอให้แน่น กะให้หนาประมาณ 5 นิ้ว นำเมล็ดผักหวานลงบนแกลบดำเกลี่ยให้ทั่ว ให้กระจายติดกันก็ไม่เป็นไร เพราะกระบะขนาด 1 ตารางเมตร เพาะได้เป็นพันเมล็ด นำแกลบดำลงกลบอีกครั้งให้ท่วม อย่าให้หนาเกิน 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มเก็บกระบะไว้ในร่มให้ปลอดภัยจากสัตว์คุ้ยเขี่ย หากอากาศชื้นให้รดน้ำวันละครั้ง หากแห้งจัดก็ให้รดน้ำเช้าและเย็น รออีกประมาณ 10 วัน เมล็ดก็จะแทงรากออกมา ส่วนเมล็ดที่ยังไม่แทงรากให้สังเกตดูที่เนื้อของเมล็ดว่า มีรอยแยกของเปลือกหุ้มเมล็ดหรือไม่ ถ้าเห็นเปลือกนอกปริแตกเห็นเนื้อเมล็ดสีขาวอมเขียว แสดงว่ากำลังจะแทงรากต่อไป หากเมล็ดใดไม่มีร่องรอยดังกล่าว อาจจะไม่งอกหรือแทงรากแล้ว กลบแกลบทับรอดูอาการ

เตรียมหลุมและลงมือปลูก

ระยะการปลูก ผู้เขียนปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร เพราะคิดล่วงหน้าไว้ว่าหากต้นผักหวานป่าเติบใหญ่ จะตัดแต่งต้นให้เป็นทรงพุ่มไม่ให้สูงเกิน 3 เมตร หากท่านใดจะปลูกห่างกว่านี้ก็ไม่ถือว่าผิดแต่ประการใด การขุดหลุมปลูก ขุดลึกประมาณ 5 นิ้ว กว้างเท่าหน้าจอบ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 3 กำมือ กลบดินแล้วกดให้แน่น โดยให้ดินสูงจากปากหลุมเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่มก่อนนำเมล็ดลงปลูก การปลูกใช้ไม้แทงดินให้เป็นรูนำเมล็ดที่จะปลูกวางส่วนรากลงในรู กดดินรอบๆ เมล็ดให้แน่น ระวังอย่าให้กระทบถึงราก ให้เมล็ดส่วนบนโผล่พอมองเห็นหรือหากจะฝังลงลึกกว่านั้น ก็ไม่ควรเกิน 1 เซนติเมตร ปักไม้หมายไว้กันลืมและทำแนวกำบังให้ปลอดภัยจากสัตว์จะคุ้ยเขี่ย ใน 1 หลุม อาจปลูก 2-3 เมล็ด กันพลาดก็ได้

การดูแลรักษาภายหลังการปลูก

หลังจากการปลูกลงดินไปแล้ว รากจะเจริญเติบโตไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ส่วนของลำต้นจึงจะโผล่มาให้เห็น ระหว่างที่ลำต้นยังไม่โผล่ กรุณาอย่าไปขุดไปแคะเขาเด็ดขาด ให้อดใจรอคอยรดน้ำหากฝนไม่ตกให้สม่ำเสมอ ดูแลวัชพืช หรืออื่นๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อผักหวานป่า เมื่อมีลำต้นโผล่ให้เห็นแล้วก็ต้องดูแลในเรื่องร่มเงา อย่าปล่อยให้เขาถูกแดดเต็มๆ ตลอดวัน บางแห่งก็มีพวกจิ้งหรีด จิ้งโกร่ง กัดกินยอด หากพบกินยอดไม่ต้องตกใจ เพราะอีกไม่นานจะแตกยอดขึ้นใหม่ ศัตรูชนิดหนึ่งที่ทำให้ต้นผักหวานป่าถึงตายคือ หนอน มันจะเจาะที่ลำต้นดูดกินน้ำเลี้ยงจนเฉาตายในที่สุด นอกจากที่กล่าวแล้วอาจมีพวกหอยบกต่างๆ หรือกิ้งกือตัวเล็กๆ ทำลายอีก ส่วนเรื่องปุ๋ยบำรุงก็ควรเป็นปุ๋ยคอกเท่านั้น อย่านำปุ๋ยอย่างอื่น เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เขาทำขายไปใช้เด็ดขาด แต่เคยลองใช้น้ำหมักจากผลไม้ที่หมักกับกากน้ำตาล ไม่ปรากฏว่ามีอันตรายแต่ประการใด

ข้อมูลประกอบในบทส่งท้าย

จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียน อาจไม่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับประสบการณ์ของบุคคลอื่น ที่ตั้งใจสื่อสารก็เป็นเพียงแนวทางแนวคิด หากท่านใดมีประสบการณ์ที่สั้นและง่ายกว่านี้ก็ยินดีรับมาเผยแพร่ สำหรับราคาผักหวานป่าที่จังหวัดมุกดาหาร เป็นราคาขายส่งให้กับแม่ค้า ยืนอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ที่สวนของผู้เขียนทดลองทำก่อนฤดู จากต้นที่ปลูกด้วยรากอายุ 2 ปีเศษ นำไปขายช่วงต้นปีใหม่ปีนี้ได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 500 บาท แต่ผลผลิตยังไม่มากพอจะยกมาอ้างได้ เพราะที่หวังไว้ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี

อีกประการหนึ่งที่เพิ่งพบคือ ต้นผักหวานป่าต้นหนึ่ง อายุ 39 ปี เจ้าของผู้ปลูกอายุเกือบ 80 ปี ต้นใหญ่เกือบสองคนโอบ สามารถสร้างรายได้ให้ผู้เป็นเจ้าของถึง 10,000 บาท เพราะขายทั้งยอดทั้งเมล็ด ขายยอดได้กิโลกรัมละ 400 บาท เมล็ดกิโลกรัมละ 150 บาท จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผู้เขียนที่ต้องไปตระเวนหาเมล็ดผักหวานป่าถึงจังหวัดชัยภูมิ เมื่อได้เมล็ดมาแล้วถึงทราบว่า ที่มุกดาหารก็มีพอเพียง เมื่อไปดูและถ่ายภาพมาฝาก กะคร่าวๆ ด้วยสายตาและจากปากคำของเจ้าของ ว่าปีนี้ติดเมล็ดดกมาก น่าจะได้ถึง 100 กิโลกรัม

สุดท้าย หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่หมายเลขโทร. (081) 769-1082 ช่วงเวลา 07.00-18.00 น. ทุกวัน ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ สวัสดี

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 435
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM