เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลากดหลวง ในกระชัง เลี้ยง 2 ปี ได้ 5 กิโลกรัม ที่อุตรดิตถ์
   
ปัญหา :
 
 
อ่านข้อเขียนของ อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ เรื่อง "ขึ้นภูไปดูเขาเลี้ยงปลากดหลวงในกระชัง ที่เมืองแพร่" ฉบับที่ 429 อ่านแล้วน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ด้วยว่าได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดี

วันนี้ผมจะนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับปลาชนิดนี้กันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำว่าสัตว์น้ำหน้าใหม่ซึ่งเดินทางมาจากทวีปอเมริกาจะเป็นปลาเศรษฐกิจได้หรือไม่

ครั้งนี้ไม่ต้องขึ้นภูเขาให้เหนื่อย เพียงแต่ขับรถผ่านตัวเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ก็ได้เห็นการเลี้ยงปลากดหลวงในกระชังแล้ว เนื่องจากที่นี่มีสายน้ำน่านไหลผ่านตัวเมืองนั่นเอง

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่านมักยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และมีการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังกันนับร้อยๆ รายเลย ทั้งนี้ เพราะว่ามีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริม พร้อมกับประกันราคารับซื้อ ทำให้อาชีพเลี้ยงปลาทับทิมได้รับความนิยมค่อนข้างสูง

สำหรับการเลี้ยงปลากดหลวงนั้นมีน้อยราย เนื่องจากยังไม่ได้รับการแนะนำหรือส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าปลาชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีบนที่สูงหรืออุณหภูมิค่อนข้างต่ำ

แท้จริงที่ราบต่ำอย่างเช่นริมแม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ยังสามารถเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้เจริญเติบโตดี และมีอัตรารอดชีวิตสูงได้เช่นนี้กัน

ผู้ที่สามารถให้คำตอบได้ดี ก็คือ คุณลุงโชต กับ คุณป้าทองเจือ ต่ายทอง ซึ่งทดลองนำปลากดหลวงมาเลี้ยง 3-4 รุ่น แล้ว ปรากฏว่าไม่ผิดหวังเลย ปลาเกือบทุกตัวเจริญเติบโตดีไม่แพ้ที่ราบสูง อีกทั้งมีอัตรารอดชีวิตสูง แถมยังสามารถรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำได้ค่อนข้างดีด้วย กล่าวคือ ปลาชนิดนี้สามารถกินของเน่าเสียเป็นอาหารได้ โดยเฉพาะสัตว์น้ำหรือปลาทับทิมที่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นอาชีพ และมีบางส่วนลอยตาย ก็สามารถนำมาเป็นอาหารของปลากดหลวงได้

"ปลาทับทิม ที่ชาวบ้านและฉันเลี้ยงอยู่นี้ มันอยู่ในกระชังค่อนข้างหนาแน่น และมีการตายบ้าง กระชังละ 1-3 ตัว ต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมทิ้งลงไปในแม่น้ำ แต่ที่ฟาร์มของเรานำมาใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว โดยนำมาขอดเกล็ดออก แล้วโยนใส่ในกระชังเลี้ยงปลากด พวกมันจะรุมกินกันเป็นอาหาร เพราะว่าสัตว์ประเภทนี้ในธรรมชาติมันชอบอาหารที่เน่าเสียอยู่แล้ว" คุณป้าทองเจือ กล่าว



เลี้ยงปลาทับทิม เป็นอาชีพหลัก

ที่ฟาร์มเลี้ยงปลาของ คุณลุงโชต และคุณป้าทองเจือ มีกระชังเลี้ยงปลาทับทิมอยู่ 150 กระชัง และปลากดหลวง 30 กระชัง คุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือยึดอาชีพเลี้ยงปลามานานเกือบ 10 ปีแล้ว เริ่มแรกเลี้ยงปลาทับทิมในบ่อดิน โดยเน้นด้านงานอนุบาลลูกปลา 45 วัน จากนั้นก็จำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วๆ ไป

"มันเป็นอาชีพที่รับจ้าง คือเรารับลูกปลาจากบริษัทมาอนุบาลให้ได้ผลผลิต 35 กรัม หรืออายุ 45 วัน ก็นำออกไปจำหน่าย ทำได้ 2-3 ปี ก็มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง จึงได้ติดต่อขอซื้อที่ดินริมแม่น้ำน่านบริเวณหน้าวัดท่าทอง ประมาณ 1 ไร่ เพื่อทดลองเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังเอง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก คือมีกำไรทุกรุ่น และดีกว่าอนุบาลลูกปลาขาย ดังนั้น อาชีพหลักของเราก็คือเลี้ยงปลาทับทิมขาย ส่วนปลากดหลวงนั้นเป็นงานเสริม ซึ่งเริ่มดำเนินการมา 3-4 รุ่น แล้ว " คุณป้าทองเจือ เล่าถึงความเป็นมา

การเลี้ยงปลาทับทิมประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการเลี้ยงเพียง 10 กระชัง ในช่วงต้นๆ กลายเป็น 150 กระชัง และทุกเดือนจะจับผลผลิตปลาขายประมาณ 30-50 กระชัง ซึ่งแต่ละกระชังได้น้ำหนักปลาประมาณ 700 กิโลกรัม เลยทีเดียว

"เหตุที่เราประสบความสำเร็จ ก็มาจากประสบการณ์ที่เคยอนุบาลลูกปลามาก่อน เรารักปลา มันก็รักเรา พร้อมที่จะให้ผลผลิตเต็มที่ ยกตัวอย่างสักเรื่องถึงวิธีการให้อาหาร ถ้าเพียงแต่หว่านอย่างเดียว ไม่สังเกตพฤติกรรมของปลา ก็จะทำลายสุขภาพปลาได้ แต่ที่นี่ดูทุกวัน และให้อาหารวันละ 4 ครั้ง ปริมาณที่ให้ก็พอเหมาะ ไม่ให้มากเกิน ถ้ามากปลาจะขี้ดำและสั้น ไม่มีผลกับปลาเลย เราต้องให้พอดี คือปลาจะขี้ขาวและยาว ซึ่งจะทำให้สุขภาพปลาดีมากเลย" คุณป้าทองเจือ เล่าถึงปัจจัยส่วนหนึ่งในความสำเร็จ

และว่าอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ก็คือลูกชายที่ชื่อ คุณอุกฤษฎ์ ต่ายทอง เข้ามาช่วยเหลือทุกด้าน พร้อมกับพัฒนาตัวเองเป็นพ่อค้ารับซื้อผลผลิตปลาของตนเองและเพื่อนบ้าน เพื่อนำส่งตลาดสด ร้านอาหาร ฯลฯ เองด้วย

"ป้ากับลุงก็มีอายุมากแล้ว ก็อาศัยลูก กับลูกจ้าง 2-3 คน ช่วยกันให้อาหาร และดูแลส่วนอื่นๆ ตอนนี้เรามีหน้าที่เพียงคอยสั่งงาน และติดตามดูงานว่าทำตามขั้นตอนหรือไม่ หากเราไม่รัดกุม โอกาสที่เสียหายหรือขาดทุนมีสูงเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ต้องการการดูแล หรือให้อาหารที่ถูกต้อง ปลาก็จะเจริญเติบโตดี ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้ดูแล ปล่อยให้คนงานทำหน้าที่แทนทั้งหมด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้มีน้อยมาก"

"ที่ผ่านมาเราแนะนำอาชีพนี้ให้กับชาวบ้านหลายคนแล้ว บางคนไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่เชื่อสิ่งที่สอนไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีเงินและว่าจ้างคนงานเลี้ยง ซึ่งความลึกซึ้งและความละเอียดอ่อนไม่มี สู้เจ้าของไม่ได้ มีคนเคยพูดว่า รอยเท้าเจ้าของสวนผลไม้นั้นเป็นปุ๋ยชั้นดีที่สุด ซึ่งการเลี้ยงปลาก็ไม่แตกต่างเหมือนกัน" คุณป้าทองเจือ กล่าว

คุณลุงโชต และคุณป้าทองเจือ เลี้ยงปลาแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลาเพียง 4 เดือน เท่านั้น ก็ได้ผลผลิตปลาทับทิม 8-10 ขีด ต่อตัว โดยปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 900-1,000 ตัว ต่อกระชัง

ขนาดของกระชังยาว 3 เมตร กว้าง 3 เมตร ลึก 1.50 เมตร ทำด้วยโครงเหล็กทั้ง 4 ด้าน และใช้ถังพลาสติค 200 ลิตร เป็นทุ่น ซึ่งสามารถเดินได้รอบกระชังเลยทีเดียว

"เราทำกระชังเลี้ยงปลาค่อนข้างแข็งแรง เพราะว่าที่นี่ฤดูฝน น้ำไหลแรง และต้องการให้เป็นอาชีพมั่นคงด้วย ดังนั้น วัสดุอุปกรณ์ต้องดีและแข็งแรง ทนทานทุกชิ้น โดยเฉพาะเหล็กที่ใช้มาทำเป็นโครงสร้าง จำเป็นต้องลงทุน แม้ว่าบางอย่างมันราคาแพง แต่ก็ต้องลงทุน เพราะว่าสามารถใช้งานได้นานหลายปีเลยทีเดียว" คุณป้าทองเจือ กล่าว



ปลากดหลวง เป็นงานเสริม

เลี้ยงน้อย ได้กำไรเยอะ


กระชังเลี้ยงปลากดหลวงก็ไม่แตกต่างกับปลาทับทิมเลย เพียงแต่อัตราการปล่อยเลี้ยงไม่เหมือนกัน คือปลากดหลวง ประมาณ 350 ตัว ต่อกระชัง แต่ในช่วงอนุบาล 1 เดือน 1,000 ตัว เดือนที่ 3 เหลือเพียง 500-600 ตัว ต่อกระชัง

"ปลากดหลวงนี้ ยิ่งอายุมากขึ้นก็เป็นปลาใหญ่ ไม่สามารถเลี้ยงหนาแน่นเหมือนกับปลาทับทิมได้ เคยทดลองเลี้ยงเหมือนกัน ปรากฏว่า ปลาไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าใด แต่เมื่อแบ่งเลี้ยงในอัตราหนาแน่นดังกล่าว ปลาจะเจริญเติบโตค่อนข้างดี คือ เลี้ยง 2 ปี ได้น้ำหนักปลาอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัม ต่อตัวเลยทีเดียว"

คุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือ ซื้อลูกพันธุ์ปลากดหลวงขนาดก้านไม้ขีดมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในราคาตัวละ 1 บาท มาอนุบาลต่อในกระชังมุ้งเขียว ขนาดยาว 3 เมตร กว้าง 3 เมตร ปล่อยเลี้ยง 1,000 ตัว ให้อาหารกินทุกวัน โดยซื้ออาหารสำเร็จรูปไฮเกรดมาบดให้ละเอียด หว่านให้กินวันละ 4-5 ครั้ง

"ช่วงอนุบาลนี้ เราต้องขยันให้อาหารหน่อย เพราะว่าปลามันหิวบ่อย และต้องการให้มีสุขภาพสมบูรณ์เจริญเติบโตเร็วด้วย"

บดอาหารให้กิน 2 สัปดาห์ เมื่อเห็นว่าปลาเริ่มโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดไฮเกรด ย่างเข้าเดือนที่ 2 ก็เปลี่ยนเป็นอาหารปลากินพืช และลดการให้กิน เหลือวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น

"ปลากดหลวงนี้ เป็นปลาที่ค่อนข้างทนทานไม่ค่อยตาย ยกเว้นช่วงอนุบาลอย่างเดียว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ค่อยๆ หว่านให้อาหารทีละนิดๆ และนาน เรารักเขามันก็เสียหายน้อย" คุณป้าทองเจือ กล่าว

และว่า หากเปรียบเทียบความอดทนระหว่างปลากดหลวงกับปลาทับทิม ตั้งแต่อนุบาลและตัวโตนั้น ปลากดหลวงชนะขาด เพราะว่าเท่าที่ผ่านมาแม้ว่าน้ำจะเปลี่ยนสีหรือฤดูฝนมาปลาก็ไม่ตาย ไม่เหมือนปลาทับทิมเลย

อย่างไรก็ตาม ปลากดหลวงนี้มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งก็คือ กินอาหารเก่งมาก คุณป้าทองเจือบอกย้ำว่า ปลาพวกนี้กินอาหารไม่มีการอิ่ม คือกินได้ตลอดเวลา และไปสร้างเนื้อดี แต่ผลผลิตที่ได้รับไม่มีคุณภาพ นั่นก็คือ เนื้อและหนังจะเหลว รสชาติไม่ค่อยอร่อยเท่าที่ควร

"จริงๆ ปลาชนิดนี้รสชาติเหมือนกับปลากดคังเลย แต่ต้องเลี้ยงเหมือนกับธรรมชาติ ไม่ใช่เลี้ยงเหมือนกับพวกไก่เนื้อ หรือปลาทับทิม ที่อัดอาหารอย่างเดียว เพื่อให้น้ำหนักดี แต่ปลากดหลวงนี้หากเช่นนั้นรสชาติก็เปลี่ยนแปลง"

"ที่นี่จะเลี้ยงให้กินอาหารเม็ดน้อยมาก คือปลาเล็กให้กินไม่เกิน 1 กิโลกรัม ต่อวัน ต่อกระชัง ปลาใหญ่หรือน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ให้วันละ 2 กิโลกรัม ต่อกระชัง เราให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปกินเพื่อประคองชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แต่ปลาของเราโตได้ดี รสชาติและหนังมีคุณภาพ เพราะว่าเราได้ให้อาหารเสริมพวกปลาทับทิมที่ชอบลอยตายทุกวัน ขอดเกล็ดและตัดหัวออก โยนให้กินทุกๆ วัน ปลามันชอบมาก เพราะว่าธรรมชาติของปลาชนิดนี้นิยมกินของเน่าเปื่อยเป็นอาหารอยู่แล้ว ทำให้เนื้อและหนังปลากดหลวงที่เราเลี้ยงอยู่แตกต่างจากการเลี้ยงที่อื่นๆ โดยสิ้นเชิง" คุณป้าทองเจือ กล่าว

แม้ว่าการเลี้ยงปลากดหลวงของคุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือให้กินอาหารไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาหารเสริมดังกล่าว แต่ทว่าเมื่อเลี้ยงครบ 2 ปี ก็ได้ผลผลิตประมาณ 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม แล้ว แถมรสชาติเนื้อและหนังมีคุณภาพอีกด้วย

"เมื่อเราเลี้ยงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ก็ไม่มีปัญหาด้านการตลาดเลย เนื่องจากทั้งตัวจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นตามตลาดสดหรือห้องอาหารต้องการปลาชนิดนี้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เราจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 100 บาท ในราคาดังกล่าวเราก็ยังมีกำไรมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะว่าต้นทุนค่าอาหารมีน้อยนั่นเอง" คุณป้าทองเจือ กล่าวทิ้งท้าย



ความเป็นมาของปลากดหลวง



อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ได้ระบุในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 429 ว่า เป็นปลากดพื้นบ้านของทวีปอเมริกา ที่มีอากาศอบอุ่น ซึ่งจะเย็นกว่าอากาศทางบ้านเราอยู่พอสมควร เช่น ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา แถวๆ มลรัฐมิสซิสซิปปี แอละแบมา จอร์เจีย เทกซัส และแคลิฟอร์เนีย อันที่จริงปลากดอเมริกัน แชนเนล แคตฟิช มีอยู่ 4 ชนิด คือ บลู แคตฟิช (Blue catfish), ไวท์ แคตฟิช (White catfish), แฟลตเฮด แคตฟิช (Flthead catfish) และแชนเนล แคตฟิช (Channel catfish) ตัวที่เราพูดถึงนี่แหละ เพราะแชนเนล แคตฟิช มีสัดส่วนของเนื้อสูงกว่า และเติบโตได้รวดเร็วกว่าอีก 3 ชนิด คนอเมริกันจึงเลือกมันมาเพาะเลี้ยงกันจนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตในตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ แต่ละฟาร์มมีเนื้อที่นับเป็น 1,000 ไร่ ขึ้นไปแทบทั้งนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 กรมประมง ได้สั่งการให้ อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองประมงน้ำจืด ติดต่อขอพันธุ์ปลากดชนิดนี้มาศึกษาทดลอง วิธีการเพาะเลี้ยง เพื่อพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในบ้านเราได้หรือไม่ และเหมาะสมเพียงใด โดยผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า สถาบัน AIT ซึ่งตั้งอยู่แถวๆ รังสิตนั้นแหละครับ

เมื่อได้รับพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ก็ส่งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ ปีเดียวเท่านั้น ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตัวนี้ และต่อมาปลากดอเมริกันตัวนี้ก็ได้รับชื่อใหม่อย่างไทยจากกรมประมงว่า "ปลากดหลวง"

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 434
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM