เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าววัชพืช
   
ปัญหา :
 
 
ข้าววัชพืช เป็นปัญหาใหม่คุกคามการทำนาที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ได้ระบาดไปทั่วพื้นที่นาข้าวในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากกว่า 2 ล้านไร่แล้ว และคาดว่าจะลุกลามขยายพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มระดับความเสียหายรุนแรงขึ้นไปอีก หากไม่มีมาตรการกำจัดควบคุมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ข้าววัชพืชเป็นปัญหาที่ซับซ้อนผูกพันกับระบบพันธุกรรม ข้าวปลูก-ข้าวป่า การจัดการและระบบนิเวศในนาข้าว การแก้ปัญหาที่ได้ผลจึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมและการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างข้าวป่ากับข้าวปลูก สรีรวิทยาเชิงนิเวศของต้นข้าวในนา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำนา ตั้งแต่การทำนาชลประทานที่ปลูกข้าวตลอดปี การเปลี่ยนจากการทำนาดำมาเป็นหว่านข้าวแห้งหรือหว่านน้ำตม การเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักร ฯลฯ และการวิจัยเชิงบูรณาการร่วมกับชาวนา และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการทำนาทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

ศาสตราจารย์เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.จรรยา มณีโชติ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ทำงานวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการข้าววัชพืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) เพื่อหวังเผยแพร่ความรู้แก่ชาวนาในพื้นที่ที่มีการระบาดของข้าววัชพืชอย่างรุนแรง ตลอดจนเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้การระบาดขยายวงกว้างออกไปและทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ข้าววัชพืชสามารถจำแนกตามความแตกต่างทางลักษณะภายนอกเป็น 3 ชนิด คือ ข้าวหาง ข้าวดีด และข้าวแดง ซึ่งชนิดที่เป็นปัญหาร้ายแรงของชาวนา คือ ข้าวหางและข้าวดีด เพราะเป็นข้าววัชพืชชนิดร่วงก่อนเกี่ยว เจริญเติบโตได้รวดเร็วและสูงข่มข้าวปลูกในระยะแตกกอ ทำให้ชาวนาไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้เพราะเมล็ดร่วงเกือบหมด ผลผลิตข้าวเสียหายได้ตั้งแต่ 10-100% ส่วนข้าวแดงหรือข้าวลายเป็นข้าววัชพืชชนิดเมล็ดไม่ร่วง ผลผลิตจึงไม่เสียหายแต่คุณภาพลดลงเพราะเมล็ดข้าวสีแดงที่ปนอยู่ ทำให้ถูกโรงสีตัดราคา

สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดคือ การปลอมปนของเมล็ดข้าววัชพืชใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก และเมล็ดข้าววัชพืชที่ติดไปกับรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์ที่ใช้เตรียมดิน ดังนั้น หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาข้าววัชพืชก็คือ เกษตรกรต้องเริ่มต้นด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์ และต้องทำความสะอาดรถเกี่ยวข้าวก่อนลงแปลงทุกครั้ง หากไม่ทำความสะอาด เมล็ดข้าววัชพืชจำนวนมากจะติดค้างอยู่ในตะแกรงด้านใน 20-50 กิโลกรัม ทำให้เกิดการระบาดของข้าววัชพืชในแปลงนาเป็นแนวยาว

ทั้งนี้หากมีการระบาดของข้าววัชพืชเพียงเล็กน้อย ต้องรีบกำจัดโดยการถอนต้นออกจากแปลง แต่หากมีการระบาดรุนแรงควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น หรืองดปลูกข้าว 1 ฤดู เพื่อปล่อยให้ข้าววัชพืชงอกและกำจัดโดยไถทิ้งอย่างน้อย 2 ครั้ง หากจำเป็นต้องปลูกข้าวควรปล่อยให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงบนผิวดินงอกให้หมดก่อนจึงกำจัดทิ้ง จากนั้นให้ไถเตรียมดินล่อให้ข้าววัชพืชงอกและกำจัดทิ้งอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนหว่านข้าว

การตัดรวงข้าววัชพืชควรเริ่มทำตั้งแต่ระยะตั้งท้องและระยะเริ่มออกดอก โดยตัดชิดโคนต้นเพื่อป้องกันการแตกต้นใหม่ ในระยะที่เริ่มติดเมล็ดแล้วควรนำไปกำจัดทิ้งนอกแปลง นอกจากนี้ เกษตรกรควรใช้ตะแกรงกรองเมล็ดข้าววัชพืชที่มีลักษณะเหมือนข้าวลีบลอยน้ำมาจากแปลงที่มีการระบาดทิ้งไป เพราะข้าววัชพืชสามารถงอกได้จากเมล็ดที่ยังไม่สุกแก่เต็มที่

สิ่งสำคัญที่นักวิจัยอยากเน้นย้ำกับเกษตรกรคือ การป้องกันจะกระทำได้ง่ายกว่าการกำจัด หากเกษตรกรสังเกตเห็นว่าเริ่มมีต้นข้าวที่สูงกว่าและออกดอกก่อนข้าวปลูก ให้รีบถอนทิ้งทำลายเสียแต่เนิ่นๆ อย่าเข้าใจว่าเป็นข้าวปนที่เมล็ดไม่ร่วงเหมือนแต่ก่อน

ส่วนนาข้าวที่มีการระบาดรุนแรงแต่ไม่สามารถงดปลูกข้าวได้ จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดข้าววัชพืช ซึ่งแนะนำให้ใช้ตั้งแต่ระยะทำเทือกเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของต้นอ่อนข้าววัชพืชและควบคุมวัชพืชชนิดอื่นๆ ในนา ระยะหลังหว่านข้าว 8-10 วัน หากสังเกตเห็นว่ายังมีต้นอ่อนข้าววัชพืชขึ้นหนาแน่น ให้ปล่อยน้ำท่วมยอดข้าววัชพืชแล้วหว่านสารเคมีกำจัดวัชพืชลงในน้ำ สารเคมีจะเข้าไปสู่ยอดข้าววัชพืชและถูกทำลายไปในเวลา 7-10 วัน หลังจากหว่านสารแล้วให้รักษาระดับน้ำไว้อีก 10-15 วัน เพื่อควบคุมต้นข้าววัชพืชที่จะงอกขึ้นมาใหม่จากเมล็ดที่จมอยู่ชั้นใต้ดินลึกลงไปจากชั้นผิวดิน และระยะข้าววัชพืชเริ่มออกรวง ใช้ลูบรวงข้าววัชพืชให้เมล็ดลีบและไม่สะสมเมล็ดในฤดูต่อไป วิธีนี้เหมาะสำหรับทดแทนแรงงานตัดรวงข้าววัชพืชที่มีเริ่มหายากและมีราคาแพง อุปกรณ์ที่ใช้หาได้ง่าย โดยใช้ผ้าขนหนูพันรอบไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร มัดให้แน่นแล้วชุบสาร หลังลูบสาร 7 วัน หากยังมีรวงข้าววัชพืชโผล่ขึ้นมาอีก ควรลูบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้การใช้สารมีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ในกรณีที่ข้าววัชพืชมีความสูงใกล้เคียงกับข้าวปลูก และควรลูบในขณะลมสงบเพื่อป้องกันไม่ให้สารสัมผัสใบข้าวปลูก ไม่ควรลูบในช่วงเช้าที่ยังมีน้ำค้างบนใบข้าว หลังการลูบสารควรมีระยะปลอดฝนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

หากเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างจริงจัง ปัญหาการระบาดของข้าววัชพืชจะลดลงอย่างแน่นอน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือ "ข้าววัชพืช-ปัญหาและการจัดการ" ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการควบคุมกำจัดข้าววัชพืช ไว้เป็นคู่มือชาวนา และผลิต CD แสดงการควบคุมข้าววัชพืชโดยชาวนาผู้เชี่ยวชาญ ท่านที่สนใจติดต่อขอรับหนังสือ หรือ CD ได้ที่ ศาสตราจารย์เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม โทร. (086) 182-4678 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ดร.จรรยา มณีโชติ โทร. (081) 494-6247
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 434
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM