เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
หลากหลายคำถาม ที่เกี่ยวกับ "ปลาบึก"
   
ปัญหา :
 
 
นับตั้งแต่ผมริเป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นต้นมา ได้รับการสอบถามจากบรรดาแฟนๆ ของคอลัมน์นานาสัตว์น้ำมากมาย ไม่เพียงแต่บรรดาแฟนในประเทศไทยเท่านั้น แถมยังมีแฟนคนไทย ที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานในต่างประเทศก็ยังมีโทรศัพท์เข้ามาถามอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไต้หวัน ที่มักจะพูดในแนวเดียวกันว่า เขาได้ไปทำงานอยู่หลายปีแล้ว อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเงินเดือนไว้ได้จำนวนหนึ่ง เพื่อเอาไว้ทำทุนเมื่อเดินทางกลับบ้านแล้ว ตอนนี้เริ่มคิดถึงบ้านขึ้นมาตงิดๆ แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วจะเอาเงินไปลงทุนทำอะไรดี บางคนก็ถามเข้าเป้าเลยว่า จะเลี้ยงปลาดีไหม ถ้าจะเลี้ยงควรจะเลี้ยงปลาอะไรดี ปลาไหลดีไหม? หรือกบดีไหม? เพราะเห็นว่าในไต้หวันมีคนนิยมกินกันมาก และก็มีบางคนถามตรงตัวเลยว่า จะเลี้ยงปลาบึกได้ไหม เลี้ยงยากหรือเปล่า? ผมก็อธิบายวิธีการคร่าวๆ ไปให้ฟังทุกราย สงสัยจะเสียค่าโทรศัพท์มากโขอยู่แหละ ในใจก็นึกภูมิใจแทนนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านอยู่ลึกๆ ว่า นิตยสารฉบับนี้ได้รับความนิยมเชื่อถืออย่างกว้างขวางไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย เพราะทุกรายอ้างว่าได้รับข้อมูล ความรู้จากนิตยสารฉบับนี้ทุกคนเลย

เอาละครับ ผมจะรวบรวมคำถามทั้งหลายแหล่ ที่ได้รับการสอบถามมาตอบไปเรื่อยๆ แต่จะเน้นเรื่องปลาบึกก่อน เพราะได้รับการสอบถามมามากที่สุด

คำถามจาก คุณครูธงชัย แก้วงาม จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถามมาว่า

ผมเกิดที่อำเภอเชียงของ และได้เห็นการจับปลาบึกในแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดหาดไคร้ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ จนเดี๋ยวนี้อายุก็ปาเข้า 46 ปีแล้ว ก็ยังมีการจับปลาบึกกันอยู่ทุกๆ ปี บางปีจับได้เยอะแยะ 30-40 ตัว แต่บางปีก็จับได้น้อยเพียง 2-3 ตัว หรือบางปีจับไม่ได้เลยสักตัวก็มี แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ กำหนดเวลาที่เริ่มลงมือจับปลาบึก ชาวบ้านที่จะลงจับปลาบึก เขาจะเริ่มตั้งข้อสังเกต หลังจากเสร็จสิ้นงานสงกรานต์ไปแล้วไม่กี่วัน ถ้าเห็นว่าต้นโพธิ์หน้าวัดหาดไคร้เริ่มผลัดใบ เขาก็จะเริ่มตระเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการจับปลาบึกไว้ให้พร้อม เมื่อต้นโพธิ์ผลัดใบจนหมดต้น และเริ่มแตกใบอ่อน ในขณะเดียวกันต้นซอมพลอ (หางนกยูง) ก็เริ่มจี๋ คือ ผลิดอกตูม เขาก็จะเริ่มทำพิธีบวงสรวง "เจ้าน้ำ" เพื่อขออนุญาตจับปลาบึกในแม่น้ำโขง และบางคนก็จะเริ่มเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เพื่อขอพรให้ตนเองจับปลาบึกได้หลายๆ ตัว ไปในคราวเดียวกัน แต่บางคนจะยังไม่เซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ จะรอจนกว่าจับปลาบึกได้เสียก่อนจึงค่อยเซ่นไหว้ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว จึงออกเรือจับปลาบึก โดยจะมีหัวหน้าคอยจัดคิวให้ออกจับทีละลำ เหมือนคิวมอเตอร์ไซค์ปากซอยนั่นแหละ ซึ่งตอนนี้ก็จะตกอยู่ในราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี

อยากรู้ว่า

1.ทำไม บางปีจึงจับปลาบึกได้มาก แต่บางปีก็จับได้น้อย

2.ทำไม ช่วงเวลาที่ชาวบ้านเริ่มลงมือจับปลาบึก จึงค่อนข้างแน่นอนทุกปี

แหม! ถามเป็นข้อๆ สมกับเป็นครูบาอาจารย์เสียจริงนะครับ เอาละครับ ผมขอตอบคำถามคุณครูเป็นข้อๆ ให้สมกับเป็นนักเรียนที่ดีเช่นเดียวกันครับ

1.สาเหตุที่บางปีชาวบ้านจับปลาบึกได้มาก บางปีจับได้น้อยนั้นเป็นเพราะปีนั้นมีฝนตกในบริเวณเหนือน้ำมาก เช่น ในประเทศจีน และพม่า ก็จะมีปลาบึกเดินทางขึ้นมาจากทะเลสาบเขมรเป็นจำนวนมาก ถ้าปีไหนฝนตกในบริเวณเหนือน้ำน้อย ก็จะมีปลาบึกเดินทางมาน้อย หรือไม่สามารถเดินทางมาได้เลย ที่เป็นดังนี้เพราะว่าในลำน้ำโขงบริเวณคอนพระเพ็ง จะมีเขื่อนหินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติขวางลำน้ำโขงอยู่ ที่ชาวบ้านแถวๆ นั้น เขาเรียกกันว่า "ลี่ผี" ซึ่งอยู่ในบริเวณชายแดนด้านใต้ของประเทศลาว ติดต่อกับทิศเหนือของประเทศเขมร ผมเคยไปสำรวจมาแล้ว เป็นเสมือนกำแพง หรือสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ (Natural Barrier) มีความสูงกว่าระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ประมาณ 10-15 เมตร กั้นขวางอยู่เต็มลำน้ำโขง มีช่องทางน้ำแคบๆ แต่สูงชันอยู่ 4-5 ช่องทาง แต่กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก ยากที่ปลาชนิดใดๆ จะสามารถว่ายผ่านขึ้นไปเหนือน้ำได้ ดังนั้น ถ้าปีใดมีฝนตกน้อย น้ำจะไม่ท่วมเขื่อนหินนี้ ปลาบึกก็ไม่สามารถผ่านด่านอันตรายนี้ขึ้นไปสู่บริเวณเหนือน้ำได้ ชาวเชียงของที่รอจับปลาบึก ก็คงต้องรอเก้อกันทั้งบาง แต่ถ้าปีใดมีฝนตกชุก ทำให้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมากพอที่จะท่วมลี่ผีนี้ได้ ปลาบึกก็จะสามารถว่ายผ่านขึ้นไปสู่บริเวณเหนือน้ำได้ ชาวเชียงของก็จะแฮปปี้กันทั่วหน้า เพราะจับปลาบึกได้เยอะ

เมื่อพูดถึงสิ่งกีดขวางโดยธรรมชาติแล้ว ก็อยากจะพูดต่ออีกสักหน่อยเพราะกำลังมันปากว่า ในต่างประเทศที่เขามีการศึกษาเรื่องราวของสัตว์บกและสัตว์น้ำตามธรรมชาติ เขาจะรู้ว่าสิ่งกีดขวางโดยธรรมชาตินี้ มีอิทธิพลมากต่อการแพร่กระจายหรือการเดินทางย้ายถิ่น (Migration) ของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำ เช่น ปลาแซลมอน ซึ่งมีวงจรชีวิตที่สลับซับซ้อน และในแต่ละช่วงชีวิตของมันจะเปราะบางมาก เพราะปลาแซลมอนที่โตเต็มวัยจะอาศัยเลี้ยงตัวอยู่ในทะเลกว้าง เมื่อใกล้จะถึงฤดูผสมพันธุ์พวกแซลมอนจะต้องมีการเดินทางย้ายถิ่นเข้ามาในน่านน้ำจืด และเดินทางทวนน้ำขึ้นไปไกลจนถึงบริเวณต้นน้ำที่มีน้ำสะอาด ก้นลำธารเป็นกรวดทรายที่มีขนาดเหมาะสมต่อการขุดหลุมวางไข่ แต่เส้นทางระหว่างทะเลกับแหล่งผสมพันธุ์ที่ว่านี้ อาจอยู่ห่างไกลกันมาก บางทีนับเป็น 1,000 ไมล์ เลยทีเดียว ซึ่งแน่ละเส้นทางไปสู่สวรรค์ชั้นทิพย์วิมานนี้มันไม่ราบรื่นเหมือนโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบเลย ย่อมจะต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ เช่น บริเวณช่องเขาที่น้ำไหลเชี่ยวและสูงชัน หรือบริเวณที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น ผาน้ำตก หรือก้นแม่น้ำที่มีหินแหลมคม แต่น้ำตื้นต้องกระเสือกกระสนว่ายน้ำผ่านไปอย่างช้าๆ จนร่างกายเต็มไปด้วยรอยแผล หรืออาจจะถูกศัตรูตามธรรมชาติ เช่น หมีสีน้ำตาล หรือเหยี่ยว ดักจับกินอยู่ตามสิ่งกีดขวางเหล่านั้นเป็นระยะๆ จำนวนของปลาแซลมอนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เหลือเพียงจำนวนน้อยที่จะเดินทางไปถึงแหล่งวางไข่ เมื่อผสมพันธุ์วางไข่เสร็จแล้ว พ่อแม่ปลาเกือบทั้งหมดก็จะตาย เพราะร่างกายบอบช้ำมากเกินไปจากการเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตครั้งนี้ จะเหลือเพียงไข่ที่จะฟักออกเป็นตัวในอีก 3-4 เดือน ข้างหน้า เพื่อทดแทนพ่อแม่ที่ตายไป แต่ถ้าเส้นทางที่เดินทางผ่านมานั้นมีอุปสรรคมากเกินไป ลูกปลาที่เกิดใหม่ก็อาจจะมีน้อยกว่าจำนวนพ่อแม่ที่ตายไปในปีนั้นๆ และถ้าเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่นานนักปลาแซลมอนก็จะสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำสายนี้

ดังนั้น ในประเทศที่เขาศึกษาค้นคว้าจนรู้และเข้าใจในอิทธิพลของสิ่งกีดขวางการเดินทางเพื่อไปผสมพันธุ์วางไข่ของปลาแซลมอน จึงคิดค้นหาวิธีการแก้ไข เพื่อช่วยให้ปลาแซลมอนสามารถเดินทางไปถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในบริเวณต้นน้ำได้โดยสะดวก โดยการสร้างทางปลาผ่าน (Fish Passages) หรือบันไดปลาโจน (Fish Ladders) โดยออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพของสิ่งกีดขวางนั้นๆ แหละเหมาะสมกับสมรรถนะของปลาแต่ละชนิดที่ต้องการช่วยเหลือสามารถผ่านไปได้โดยสะดวก เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของปลาชนิดนั้นๆ ไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์

ผมร่ายมาซะยาว เลยหายคันปากไปแล้วครับ ทีนี้มาดู ข้อ 2 กันต่อครับ

2. ทำไม ช่วงเวลาที่ชาวบ้านลงมือจับปลาบึกในแม่น้ำโขงจึงค่อนข้างจะเป็นช่วงเวลาที่แน่นอนทุกปี

คำตอบก็คือ เพราะปลาบึกจะเริ่มมีการเดินทางย้ายถิ่นจากทะเลสาบเขมร เป็นกำหนดเวลาที่ค่อนข้างแน่นอนน่ะซิครับ ถ้าจะถามว่า ทำไม จึงเป็นอย่างนั้น ก็คงจะต้องตอบว่า เพราะมันเป็นบัญชาจากพระเจ้าน่ะซิครับ อ้าว! แล้วพระเจ้าสั่งปลาบึกได้ยังไง สั่งทางโทรจิต หรือโทรศัพท์มือถือล่ะครับ เปล่าครับ แต่ท่านสั่งทางสภาพดินฟ้าอากาศ ครับ งั้นช่วยอธิบายให้เป็นภาษาคน เอ้ย! ไม่ใช่ เป็นวิทยาศาสตร์หน่อยได้ไหมครับ? อ๋อ! ได้ครับ

ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนไว้ว่า บรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็ตาม ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจแห่งธรรมชาติทั้งนั้น ที่มีผลปรากฏให้เราเห็นกันชัดๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลนั่นไงครับ ดังนั้น พฤติกรรมของพืชและสัตว์ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับสภาพของดินฟ้าอากาศในห้วงเวลานั้นๆ เพื่อความอยู่รอดของตัวและลูกหลานที่จะตามมาในอนาคต นั่นก็คือ สัญชาตญาณในการที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ให้อยู่ในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ตราบนานเท่านานนั่นเอง ปลาบึกเองก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์อันเป็นอมตะนี้ไปได้ ดังนั้น ปลาบึก ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกฎเกณฑ์ของธรรมชาติบังคับให้มีความรู้สึกที่ "ไวเป็นพิเศษ" ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำที่มันอาศัยอยู่ เมื่อย่างเข้าสู่ปลายฤดูหนาว อุณหภูมิของน้ำจะเริ่มสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่งเป็นสัญญาณจากธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บัญชาของพระเจ้าที่ผมว่าไว้นั้นเอง กระตุ้นเตือนให้ปลาบึกรู้ว่าได้เวลาที่จะต้องออกเดินทางไปหาคู่ผสมพันธุ์ในบริเวณต้นน้ำที่เปรียบเหมือนสวรรค์ชั้นทิพย์วิมานแล้วละ แล้วปลาบึกก็จะต้องเริ่มต้นเดินทางย้ายถิ่นทันที ปลาบึกเมื่อเริ่มออกเดินทางจะมีร่างกายอ้วนพี และมีไขมันมาก ชาวเขมรในสมัยโบราณก็ได้อาศัยน้ำมันปลาบึกนั่นแหละไว้ใช้จุดตะเกียงในยามค่ำคืน และเป็นเหตุให้ชาวเวียดนามเรียกปลาบึกว่า "กายาว" หมายถึง ปลาที่มีน้ำมันมากนั่นเอง การเดินทางขึ้นเหนือน้ำของปลาบึกนั้นมีอัตราความเร็วที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและผ่านสถานที่ต่างๆ ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างแน่นอนทุกปี ผมเคยตามรอยปลาบึกไปถึงหลวงพระบาง ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ คุยกับชาวประมงที่นั่น เขาบอกว่าตอนนี้เขากำลังเตรียมตัวจับปลาบึกกันอยู่พอดี เมื่อถามเขาว่าปลาบึกจะผ่านบริเวณนั้นในช่วงเวลานี้ทุกปีหรือเปล่า เขาตอบว่า มันมาถึงที่นี่ในเวลานี้แทบทุกปี จะเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เมื่อถามถึงรูปร่างลักษณะของปลาบึกที่เขาจับได้ว่าอ้วนหรือผอมอย่างไร เขาก็บอกว่า ปลาบึกที่จับได้ไม่ค่อยจะอ้วน และมีไขมันไม่มากแล้ว และไข่ปลาบึกก็เพิ่งจะสังเกตเห็นเป็นเม็ดละเอียดมากได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น

หลังจากนี้ อีกประมาณ 70 วัน ปลาบึกก็จะมาถึงบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ด้วยรูปร่างที่ปราดเปรียว เพรียวลมกว่าเดิมของปลาเพศผู้ ส่วนตัวเมียจะดูอุ้ยอ้าย ท้องผายใหญ่ขึ้น จากผลของการพัฒนาของไข่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่พบในหลวงพระบาง 3-4 เท่า อยู่ในระยะที่จวนจะสุกแก่ได้ที่เลยทีเดียว จึงนับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่ไข่ปลาบึกและน้ำเชื้อปลาบึกมาสุกแก่จนเกือบได้ที่ในบ้านเรา เมื่อใช้เทคนิคพิเศษเพิ่มเข้าไป ก็ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลาบึกเป็นรายแรกของโลกโดยคนไทย สำหรับฉบับนี้ผมขอลาไปก่อน เพราะหมดสัมปทานแล้ว สวัสดีครับ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เชียงราย
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM