เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
หรือว่า...อัมพวา กำลังจะกลายเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับอัมพวา
   
ปัญหา :
 
 
อัมพวา เป็น 1 ใน 3 อำเภอ ของจังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ประมาณ 106,352 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 77,876 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 73.22 ประกอบด้วย 13 ตำบล การทำสวนตาลมะพร้าวและการทำสวนผลไม้เป็นอาชีพหลักของประชากร อัมพวาจึงเป็นแหล่งดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผลไม้หลายชนิด บางคนเชื่อว่ามะม่วงเขียวเสวยมีต้นกำเนิดที่นี่เช่นเดียวกับมะพร้าวซอ

บางชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น มะพร้าว ลิ้นจี่ ส้มโอ แต่บางชนิดก็ไม่ได้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและกำลังจะสูญหายไปจากสวน ดังเช่น ชมพู่สาแหรกขาวหรือชมพู่งาช้าง ชำมะเลียงขาว มะพูด ส้มแก้ว (คล้ายส้มเขียวหวาน ผลใหญ่มาก รสชาติออกเปรี้ยวนำ) มะกรูดหวาน (เหมือนมะกรูด แต่มีรสหวาน ไม่ใช่ส้มซ่า) ทุเรียนแขก (คล้ายน้อยหน่า มีหนามอ่อน) ละมุดสีดา (ผลเล็ก สีน้ำตาลคล้ายผลพิกุลเมล็ดใหญ่) และอัมพวา

อัมพวา เป็นผลไม้ที่มีชื่อเดียวกันกับอำเภออัมพวา แต่ไม่ได้เป็นผลไม้ประจำอำเภออัมพวา เป็นผลไม้แปลก ที่แปลกก็เพราะว่านอกจากชื่อ รูปร่างแปลกแล้ว ชาวอัมพวาส่วนมากยังไม่รู้จักอัมพวา ถึงแม้ว่า อัมพวา ไม่ได้เป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่อัมพวา แต่อัมพวาก็อยู่คู่กับอัมพวามานานแล้ว ส่วนที่ว่าต้นอัมพวาได้ชื่อไปจากอำเภอหรืออำเภอได้ชื่อไปจากต้นอัมพวา เป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป

กระแสการท่องเที่ยวตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวอัมพวาไปอย่างมาก จากการที่เคยดำรงชีวิตด้วยการประกอบอาชีพที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ดั้งเดิม มาเป็นการจัดฉากสร้างภาพใหม่บ่ายเบี่ยงการดำรงชีวิตแบบเดิม เพื่อตอบรับกระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลสู่อัมพวา การมาเที่ยวตลาดน้ำยามเย็นเพื่อเลือกหาซื้ออาหารในเรือขึ้นมารับประทาน โดยหาซื้ออาหาร ผัก ผลไม้ ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อย รวมทั้งผลอัมพวาและต้นอัมพวา ต่อจากนั้นจึงลงเรือท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวอัมพวาไปตามลำคลองอัมพวา จนไปสู่การนั่งเรือชมหิ่งห้อยริมคลองและแม่น้ำแม่กลองในตอนกลางคืน และพักแรมกับธุรกิจโฮมสเตย์ที่ผุดขึ้นหลายแห่งราวดอกเห็ดเผาะ

อัมพวา เป็นผลไม้ที่ผู้เขียนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก จึงเคยรับประทานและรู้จักกับมันมานาน ก่อนที่จะกลายเป็นกระแสนิยมได้รับความสนใจในขณะนี้

การเพาะปลูกอัมพวาไม่ได้ทำกันเป็นสวนเหมือนกับสวนตาลมะพร้าว สวนมะม่วง สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ ชาวสวนมักปลูกไว้เป็นพืชประดับสวน เนื่องจากมีทรงพุ่มเตี้ย ใบสวยงาม จึงปลูกกันไว้ตามหัวสวนท้ายสวนในสวนตาลมะพร้าวเหมือนกับตะลิงปลิง ชำมะเลียง ทุเรียนแขก พบมากที่ตำบลสวนหลวง และบางนางลี่

อัมพวา มีชื่อเรียกอื่นอีกหลายชื่อที่ชาวอัมพวาเรียกกัน เช่น น้ำพวา มะเปลียว มะเปรียง และนางอาย

ชาวพังงาเรียก ลูกหล่ำล่ำ หรือหล่ำล่ำ แต่จังหวัดชายแดนทางภาคใต้ในบางพื้นที่ชาวบ้านที่นั่นเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า ลูก ห...หมา (ชื่ออวัยวะสืบพันธุ์ของสุนัขเพศเมีย) นราธิวาส เรียก มะขามคางคก เนื่องจากผลมีผิวขรุขระเป็นคลื่น มีส่วนคล้ายกับผิวหนังของคางคก และมีรสเปรี้ยว จึงเรียกตามลักษณะและรสชาติ

อัมพวา มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พื้นเมืองของมาเลเซีย เรียกว่า นัมนัม (Namnam) ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น นามู-นามู (namu-namu) โกปิ อันจิง (kopi anjing) ปูกิ (puki) อินโดนีเซีย เรียก มนัม (Namnam) และปูรู Puru อัมพวา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไซโนเมตร้า คอลิฟลอร่า (Cynometra cauliflora L.) ถูกจัดให้อยู่ในวงศ์เดียวกับถั่ว (Leguminosae) แต่บางตำราจัดให้อยู่ในวงศ์ซีแซลพิเนียเซอี้ (Caesalpiniaceae) วงศ์เดียวกับ โศก มังคะ มังคาก ชัยพฤกษ์ เป็นต้น

การแพร่กระจาย สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้ามาจากชวา ในสมัยรัชกาลที่ 5 และนำเมล็ดจากกรุงเทพฯ มาปลูกที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อีกทางหนึ่งน่าจะมีผู้นำเมล็ดมาจากภาคใต้ เนื่องจากพบอัมพวามากทางภาคใต้ จึงเข้าใจว่ามีการกระจายพันธุ์จากมาเลเซีย อัมพวา จึงไม่ใช่พืชดั้งเดิมของอำเภออัมพวา อัมพวา พบอยู่ทั่วไปตามสวนผลไม้ในอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที แต่แหล่งที่พบอัมพวามากอยู่ที่ตำบลสวนหลวง บางนางลี่ บางแค เหมืองใหม่ แควอ้อม ในเขตพื้นที่อำเภออัมพวา

ลำต้น มีสีน้ำตาล ผิวไม่เรียบ ลักษณะของลำต้นส่วนโคนค่อนข้างแบนคล้ายพูหรือกลีบซึ่งจะพบกับลำต้นใหญ่ ถ้าลำต้นเล็กยังไม่ปรากฏลักษณะเช่นนี้ เนื้อไม้เหนียว กิ่งใหญ่จะเหนียวหักไม่ค่อยขาดง่าย เมื่อตัดแต่งยอดจะแตกกิ่งก้านช้ามาก หรือหยุดการเจริญเติบโตเพียงแค่นั้น อัมพวาเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ไม่เตี้ยและไม่สูงเกินไป ความสูงของต้นประมาณ 7 เมตร เป็นพืชที่โตช้ามาก กว่าจะสูงถึง 7 เมตร ใช้เวลากว่า 10 ปี เนื่องจากเป็นพืชที่โตช้า จึงทำให้มีทรงพุ่มต่ำอยู่ตลอด สวยแปลกตา เพราะความเป็นพืชที่โตช้า มีชื่อแปลกและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน จึงทำให้กระแสความสนใจเริ่มกระเพื่อมขึ้น มีผู้สนใจนำไปปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับสนามหญ้าหน้าบ้าน แต่กระแสนิยมคงไม่แรงเท่าลีลาวดี จัดเป็นพืชที่มีเนื้อไม้เหนียว หักไม่ขาดจากกันง่าย เนื่องจากเป็นไม้ที่มีลำต้นเล็ก จึงนำไม้มาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างไม่ได้

ใบ ออกเป็นคู่ๆ มีก้านใบติดกัน ใบเป็นรูปยาวรี มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ด้านบนของใบเรียบเป็นมัน ด้านใต้ไม่เรียบ เป็นเส้นใบและไม่เป็นมัน ปลายสุดของใบมีรอยเว้า โคนใบเรียว เส้นกลางใบจะไม่อยู่ตรงกลางใบ แต่อยู่ในแนวเยื้องออกมาทางขอบใบด้านหนึ่ง ใบอ่อนมีสีขาวอมเหลืองปนม่วงอ่อน ใบอ่อนแตกเป็นช่อห้อยลงมาคล้ายกับใบอ่อนของต้นโศกระย้า เป็นช่อสวยงาม เขาบอกว่าเหมือนกับใครกำลังโบกผ้าเช็ดหน้า

ดอก จะออกเป็นกลุ่มหรือกระจุกเป็นช่อสั้นๆ ตามบริเวณลำต้น โดยเฉพาะส่วนโคนต้นหรือติดกับพื้นดิน ดอกมีสีขาวปนม่วง ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เป็นข้อถี่ๆ กลีบดอกมีอยู่ 8 กลีบ ประกอบด้วยอับเรณูสีขาวอมเหลือง 8 อับ การออกดอกจะออกดอกได้ตลอดปี

ผล มีลักษณะคล้ายไตหรือเมล็ดถั่ว แต่จะเหมือนกับขนมกะหรี่ปั๊บมากกว่า ส่วนหัวและส่วนปลายขั้วเรียว ส่วนกลางของผลค่อนข้างกลม มีเปลือกบาง ลักษณะของผลขรุขระเป็นคลื่น ไม่เป็นระเบียบคล้ายกับรอยย่น ผลอ่อน สีเขียวมีผงสีน้ำตาลติดอยู่ทั่ว ต่อเมื่อผลแก่ผงหยาบๆ เหล่านี้จะหายไป ผลยาว 7-10 เซนติเมตร กว้าง 3-5 เซนติเมตร หนา 3-4 เซนติเมตร น้ำหนักต่อผล ประมาณ 200 กรัม ผลแก่มีสีเหลืองอ่อน เนื้อบางภายในผลกลวงเป็นโพรงเพราะเนื้อไม่ติดหุ้มเมล็ด เมื่อเขย่าจะเกิดเสียงดังจากการเคลื่อนตัวของเมล็ดในโพรง ผลที่แก่จัดจะมีเสียงจากการเขย่า ผลแก่เมื่ออายุได้ 1 เดือนเศษ ถึง 2 เดือน

เมล็ด มีลักษณะไปตามลักษณะของผล คล้ายกับกะหรี่ปั๊บแต่แบน เมล็ดมี 2 ซีก เหมือนเมล็ดถั่วขนาดใหญ่ ประกบกันไว้ มีเยื่อหุ้มเมล็ดบางๆ สีน้ำตาลลอกหลุดง่าย เมล็ดจะแยกออก ถ้าปล่อยไว้ 2-3 วัน จะแห้งหดเล็ก ถ้าจะเพาะปลูกอย่าปล่อยให้เมล็ดแห้ง เมล็ดเมื่อเอาออกจากผลสามารถปลูกได้เลย

ราก จะแพร่กระจายไปไกล รากมีสีน้ำตาลเข้ม เป็นรากที่มีความเหนียว การขุดเพื่อย้ายไปปลูกมักตาย เป็นเพราะระบบรากไม่เป็นกระจุกบริเวณโคนต้น

การเพาะปลูก อัมพวา เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้นตลอด เช่น ตามสวนที่มีน้ำหล่อเลี้ยง อัมพวา เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดขึ้นง่าย ไม่พิถีพิถันในการปลูก เพียงแต่เมล็ดสัมผัสกับดินได้รับความชุ่มชื้นก็จะงอก เมื่ออายุ 3-4 ปี ก็จะออกดอกให้ผล พบว่าถ้าพื้นดินรอบโคนต้นปูด้วยอิฐมอญเว้นช่องว่างรอบโคนต้น รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ อัมพวาจะเจริญเติบโตได้ดี หากใช้น้ำฉีดที่ช่อดอกจะทำให้ติดผลง่าย ในประเทศไทยอัมพวาขึ้นเจริญเติบโตได้ทั่วไป จากการนำมาปลูกที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เมื่อปี 2522 มีการเจริญเติบโตช้า แต่สามารถออกดอกติดออกผลได้เช่นกัน โดยอัมพวาที่นำมาปลูกออกดอกในปี 2545 และติดผลในปี 2549 ผลไม่ดก ผลมีขนาดเล็กกว่าที่อำเภออัมพวา รสชาติไม่ได้ต่างกัน ปัจจุบันมีลำต้นสูงประมาณ 2.5 เมตร การปลูกอัมพวาในสภาพพื้นที่ภาคเหนือที่ไม่ใช่พื้นที่ร่องสวน การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างช้ามาก

ศัตรู ที่มารบกวนทำความเสียหายกับต้นอัมพวาแทบไม่มี คงพบบ้างพวกหนอนเจาะลำต้นที่เจาะบางกิ่งจนแห้งเหี่ยวไป เพลี้ยแป้ง จะเกาะกินตามผลจนขาวไปทั้งผล การกำจัดใช้วิธีกลด้วยการจับออกหรือฉีดด้วยน้ำ หนอนเจาะลำต้นพบบ้าง แต่ไม่ทำความเสียหายมากนัก

การใช้ประโยชน์ อัมพวาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงจากผลที่สุก สามารถรับประทานผลสดได้เช่นเดียวกับผลไม้อื่นๆ รับประทานผลสดรูปทรงของผลไม่น่ารับประทาน แต่รสชาติออกจะแปลกไปจากผลไม้อื่นๆ มีรสหวานอมเปรียว เนื้อกรอบ ถ้าสุกจะนิ่ม ทั้งกลิ่นและรสชาติคล้ายกับชมพู่สาแหรก

ควรรับประทานขณะที่ยังสด หากทิ้งไว้ข้ามคืนผิวจะเหี่ยว เนื้อนิ่ม และออกรสเปรี้ยว อัมพวาสามารถนำเป็นไม้ประดับที่แปลกตาได้ ผลอัมพวาไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะเพียง 2-3 วัน ผลจะเริ่มเหี่ยวไม่น่ารับประทาน ในประเทศมาเลเซียการนำไปประกอบอาหาร และทำเป็นน้ำซอสผลไม้ปรุงรส ใช้เป็นผลรวมกับผลไม้อื่นๆ เป็นสลัด ทำผลไม้แช่อิ่ม ผลอ่อนดองเก็บไว้ ทำเป็นอาหารคาวผัดกับพริก ต้มกับปลา การใช้ประโยชน์จากต้นใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง หรือปลูกเป็นไม้ดัดบอนไซได้ไม่แพ้ไม้ดัดยอดนิยม เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างแทบไม่ได้ เนื่องจากมีขนาดลำต้นเล็ก เผาไฟก็ไม่ค่อยติด

การเพาะปลูกอัมพวาเพื่อเป็นต้นกล้าจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเริ่มขยายวงกว้างขึ้น จากผลไม้ที่มองไม่เห็นอนาคตกลับเริ่มส่อแววเปล่งประกายพร้อมกับกระแสของตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวา ดังนั้น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลอัมพวา ต้นอัมพวาได้ โดยมีจำหน่ายที่ตลาดน้ำยามเย็น ทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ และถนนเรียบแม่น้ำฝั่งขวาตั้งแต่ตำบลสวนหลวงถึงตำบลแควอ้อม ผลอัมพวา ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ประมาณ 15-20 ผล ต้นสูง 15-30 เซนติเมตร ขายในราคาต้นละ 20-150 บาท ตามขนาดของต้น อัมพวากำลังจะเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวอัมพวาจนเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับขอสังคมไทย...

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสงคราม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 443
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM