เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ฝรั่งกิมจู "สวนตานิด" สวนหลังปั๊มที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
   
ปัญหา :
 
 
การเดินทางมุ่งสู่จังหวัดต่างๆ ที่ห่างไกล จุดที่ทำให้นักเดินทางอุ่นใจมากที่สุดก็คือ "ปั๊มน้ำมัน" เพราะนอกจากจะช่วยเติมพลังรถแล้ว ยังช่วยเติมพลังกายและเป็นจุดพักเพื่อผ่อนคลายระหว่างการเดินทางได้อย่างดี

บนเส้นทางกรุงเทพฯ-สลกบาตร เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดกำแพงเพชร ตามถนนสายพหลโยธิน มีปั๊มน้ำมัน ปตท. ขนาดกว้าง ขึ้นป้ายข้างทางว่า "ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ" ใครผ่านไปผ่านมาก็อดแวะไม่ได้ เพราะมีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำสะอาด และมีพื้นที่กว้างขวางพอที่จะรองรับพาหนะของนักเดินทางมากมาย

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความยิ่งใหญ่ของปั๊มที่น้อยคนนักจะรู้ก็คือ พื้นที่หลังปั๊มแห่งนี้มีสวนเกษตรกว่า 140 ไร่ ที่ คุณพงษ์สวัสดิ์ พงษ์บุญฤทธิ์ หรือ คุณนิด เจ้าของปั๊มลงทุนปลูกไม้ผลไว้หลากชนิด มีทั้ง ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน แก้วมังกร มะปราง มะยงชิด มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ

ชนิดที่ออกผลผลิตให้คุณนิดได้ชื่นใจมากที่สุดตอนนี้ก็คือ ฝรั่งพันธุ์กิมจู เพราะนอกจากจะให้ผลเร็วแล้ว ใครที่มีโอกาสได้ลิ้มรสก็มักบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝรั่งที่นี่รสชาติดี หวาน กรอบ อร่อย ไม่แพ้ใคร



นักธุรกิจพลิกนาร้าง

สร้างสวนด้วยใจรัก


ภาพลักษณ์ของคุณนิดที่คนทั่วไปรู้จัก ก็คือ "เฮียนิด" นักธุรกิจผู้เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันถึง 6 แห่ง ในเขตตำบลสลกบาตร จังหวัดกำแพงเพชร ปั๊ม ปตท. ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือแห่งนี้ จึงเป็น 1 ใน 6 สาขา ของเขา ซึ่งการทำธุรกิจน้ำมันเป็นหลักดูจะห่างไกลกับงานด้านเกษตรมาก เขามีสวนฝรั่งรสดีได้อย่างไร??

"ยอมรับว่า เมื่อก่อนไม่ได้สนใจงานด้านเกษตรเลย ผมทำงานบริหาร ทำธุรกิจมาตลอด ไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าต้นอะไร ชื่ออะไร แต่พออายุมากขึ้น ตอนนี้ 60 แล้วก็รู้สึกเริ่มชอบต้นไม้ รู้สึกสุขใจที่เห็นต้นไม้สีเขียวๆ ก็เกิดความสนใจอยากเรียนรู้ไปเอง พอดีผมมีที่อยู่หลังปั๊ม เมื่อก่อนเป็นที่ว่างเปล่า ปล่อยให้ชาวนาเช่าทำนา ได้ค่าเช่าบ้างไม่ได้บ้าง จนระยะหลังถูกปล่อยให้รกร้าง เลยคิดอยากมาทำสวนกับเขาบ้าง"

พอมีแนวคิด เฮียนิดจึงปรึกษากับญาติที่มีความรู้เรื่องการเกษตร เริ่มแรกมองเห็นว่าควรปลูกไม้ผลรับประทานได้ จึงเล็งไปที่ส้มเขียวหวาน เพราะเห็นว่าในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรนิยมปลูกกันมาก ราวปี 2549 เขาลงมือปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการปลูกไม้ผล ขุดดินทำคันล้อม เพราะละแวกนี้ถ้าน้ำป่าไหลบ่าเข้ามาระดับน้ำจะขึ้นสูงถึง 1.50 เมตร จึงต้องสร้างคันดินล้อมรอบสูง 1.80-2.00 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม และแบ่งพื้นที่ 22 ไร่ ทดลองปลูกส้มเขียวหวานตามใจคิด

ต่อมาเฮียนิดได้รู้จักกับ คุณสุกิจ ผู้จัดการสวน ซึ่งมาจากบ้านแพ้ว แนะนำว่าปลูกฝรั่งก็เป็นเรื่องดี เนื่องจากเป็นพืชที่ดูแลง่าย โตเร็ว เพียงแค่ปีครึ่งก็สามารถเก็บผลผลิตให้ได้ชื่นใจ เฮียนิดจึงพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยศึกษาจากหนังสือและดูงานตามสวนต่างๆ จนมั่นใจ จากนั้นก็หากิ่งพันธุ์มาจากบ้านแพ้วและลงปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู 7,500 ต้น เพราะชอบในจุดเด่นที่มีรสชาติดี หวาน กรอบ เมล็ดน้อย เหมาะสำหรับบริโภคสด

"ผมไปดูตามสวนตัวอย่างมาหลายแห่ง แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเหมาะหรือไม่ ผมก็เห็นแล้วว่าที่นี่เหมาะมาก เพราะดินที่นี่อุดมสมบูรณ์ดี ผมมีเครื่องวัดดิน มีค่า พีเอช 5.5-6 ซึ่งเป็นค่าที่กำลังดี ผมมีระบบน้ำ แล้วก็มั่นใจว่าปลูกแล้วตลาดไปได้ เพราะหาข้อมูลมาก่อนแล้วเป็นปี จากบ้านแพ้ว นครชัยศรี นครปฐม ถึงจะมาลงมือทำ"

หนึ่งปีเศษผ่านไป ปรากฏว่าผลผลิตรุ่นแรกที่ออกมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี 30-50 ผล ต่อต้น น้ำหนักเฉลี่ย 4 ผล ต่อกิโลกรัม และมีรสชาติอย่างที่เขาพอใจ จนมีพ่อค้าสนใจรับซื้อไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 25 บาท



หยิบความรู้จากทัวร์เกษตร

มองการแปรรูปเพื่อต่อยอด


นอกจากฝรั่งกิมจูแล้ว เฮียนิดยังปลูกฝรั่งแป้นยอดแดงอีก 6,000 ต้น เขาบอกเหตุผลที่ปลูกพันธุ์นี้เพิ่มเติมว่า เหมาะสำหรับแปรรูปทำฝรั่งแช่บ๊วย ซึ่งปัจจุบันเฮียนิดกำลังก่อสร้างโรงงานฝรั่งแช่บ๊วยภายในสวนไว้อีกด้วย

"ต้องขอขอบคุณมติชนด้วย จากการเที่ยวสัญจรเชิงเกษตรกับมติชนผมได้ไอเดียมาเยอะเลย ทำให้ผมคิดอยากต่อยอดสิ่งที่เริ่มต้นมาเรื่อยๆ ผมไปเที่ยวกับเกษตรสัญจรมา 3 ครั้งแล้ว ได้ไอเดียมาตั้งแต่เที่ยวนครชัยศรี ที่คลองมหาสวัสดิ์ มีรถอีแต๋นนำเที่ยวก็เป็นบรรยากาศที่ผมประทับใจ อยากให้มีสวนแบบนั้นเป็นของตัวเอง ซึ่งผมก็อาจจะมาปรับใช้ต่อไป เหมือนกับเรื่องที่จะทำฝรั่งแช่บ๊วย ผมก็เพิ่งมาคิดระยะหลัง เพราะมีโอกาสไปเรียนการทำฝรั่งแช่บ๊วยมาจากศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน ไหนๆ ก็ปลูกผรั่งเลยเรียนเพิ่มทั้งทำน้ำฝรั่งและฝรั่งแช่บ๊วย จากที่ไม่เคยรู้เลยก็ได้ความรู้ กลับมาลองเอาฝรั่งในสวนมาทำฝรั่งแช่บ๊วยดู ก็ได้รสชาติดี อร่อย ลองทำใส่ถุงขาย 4 ลูก 24 บาท ก็ขายได้ทั้งในปั๊มและร้านค้าละแวกใกล้เคียง"

จากผลการทดลองที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เฮียนิดจึงรู้สึกสุขใจในฐานะเกษตรกรมากขึ้น แต่เขายอมรับว่าเขายังขาดประสบการณ์และความรู้ด้านเกษตรมากมายนัก จึงต้องอาศัยเทคนิคด้านวิชาการเป็นหลัก และต้องจัดการดูแลสวนอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยหลักการบริหารที่เขาถนัดเป็นหลัก อาทิ การคำนึงถึงเรื่องเงินทุน การวางแผนการจัดการ การหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาดูแล การสร้างอาคารและโรงเรือนที่เหมาะสม และการใช้เครื่องจักรเพื่อช่วยทุ่นแรง เป็นต้น

"ผมเองไม่มีความรู้เรื่องเกษตรมากมาย แต่ก็โชคดีที่มีผู้จัดการสวนที่ดี เทคนิคการดูแลก็ใช้ข้อมูลทางวิชาการมาก เพราะผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านผมมีหนังสือเกษตรเยอะมาก ถ้าเห็นว่าอันไหนที่เหมาะสำหรับเราก็นำมาใช้ นอกจากนี้ ผมยังชอบอะไรแปลกๆ ไปดูงานที่ไหนๆ ก็สนใจอยากปลูกด้วย อย่างตอนนี้กำลังปลูกละมุดยักษ์ ลูกเท่ากระป๋องนม ตะขบยักษ์ มะเดื่อญี่ปุ่น ทับทิมเม็ดนิ่ม พุทราจัมโบ้ ส้มโอเพชรทองดี แก้วมังกรสี่พันธุ์แปลก มะพร้าวน้ำหอม มะปรางยักษ์ มะยงชิด อีกห้าปี ได้กินหมด ผักหวานป่าก็มี แต่จะขึ้นหรือเปล่าไม่รู้" เฮียนิด สาธยายแกมรอยยิ้มอย่างอิ่มสุข



สร้างแรงงานท้องถิ่น

ผลิตปุ๋ยใช้เอง


ที่สวนแห่งนี้ยังมีการหมักปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยใช้ซากพืช เช่น ต้นกล้วย มะละกอ ทางมะพร้าว ซึ่งมาจากผลผลิตในสวน ใส่ในเครื่องย่อยซากพืช หมักผสมกับ อีเอ็ม มูลไก่ และปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 และ 12-24-12 เพื่อเสริมธาตุอาหาร NPK ให้ครบ นำมาหมักกองไว้หนา 50 เซนติเมตร ทิ้งไว้นานเดือนครึ่ง โดยใช้แบ๊กโฮกลับกอง 3 ครั้ง ทุก 15 วัน ปุ๋ยหมักนี้เฮียนิดจะนำมาใช้รองก้นหลุมเมื่อเริ่มปลูก และใส่บำรุงต้นทั้งปี

ส่วนระบบน้ำ ใช้วิธีสูบน้ำบาดาลลงสระก่อนเพื่อให้น้ำคลายตัว แล้วจึงต่อท่อกระจายน้ำไปตามระบบ เฮียนิด บอกว่า เพราะน้ำบาดาลแถวนี้มียาฆ่าหญ้า มีสารเคมีตกค้างมาก การพักน้ำจึงจำเป็นมาก จากนั้นจึงจะสูบเข้าสวน นอกจากนี้ เขายังเผยเทคนิคว่าน้ำที่นี่เป็นด่างอ่อนๆ จึงต้องใส่ยิปซัมปรับค่าน้ำให้น้ำเป็นกลางขึ้น

ด้วยพื้นที่มาก และปลูกพืชหลากชนิด เฮียนิดจึงจัดการแรงงานโดยจ้างชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 30 กว่าคน

จ้างเป็นรายวัน วันละ 160-170 บาท ต่อคน ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ลูกหลานของลูกจ้างเข้ามาช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งจะได้รายได้พิเศษกันวันละ 60-110 บาท เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ดีกว่าให้เด็กใช้เวลาไปเล่นเกมและเที่ยวเตร่

"ผมกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า ในประเทศไทยไม่มีใครทำสวนหลังปั๊มอย่างนี้ น้ำมันเราก็ขายดีขึ้น อาหารของฝาก ผลไม้ หรือผลผลิตที่ผมสร้างขึ้นก็ได้ดีไปหมด หากมองในแง่ธุรกิจจุดคุ้มทุนก็ไม่รู้เมื่อไหร่ แต่ก็รู้ว่าได้ความสุขเป็นอันดับแรก ปลูกไปออกดอกออกผลมาก็รู้สึกภูมิใจ ผลผลิตที่ออกมา ขายเองก็ราคาถูก ไม่แพง เอามาบริการลูกค้าที่มาแวะปั๊ม มันเอื้อกันไปหมด ที่นี่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ เลยกลายเป็นจุดขายของปั๊มได้อีก"

เกิดเป็นสวนใหญ่โตและมีจุดขายเด่นดวงขนาดนี้เลยสงสัยว่า ทำไมไม่ตั้งชื่อ "สวนหลังปั๊ม" เฮียนิด ให้คำตอบว่า เพราะอยากมีหลาน อยากเป็นคุณตาของเด็กๆ เพราะมีแต่ลูกสาว ไม่มีลูกชาย เลยตั้งชื่อง่ายๆ ว่า "สวนตานิด" หากท่านใดมีโอกาสผ่าน แวะเที่ยวหาเฮียนิดได้ หรือติดต่อก่อนที่โทร. (055) 771-678

หรือหากท่านใดไม่สะดวกเดินทาง จะร่วมไปชิมฝรั่งที่สวนแห่งนี้กับทีมทัวร์เกษตรสัญจรของทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านก็ได้ ในวันที่ 17-18 มกราคม 2552 สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. (02) 589-2222, (02) 589-0492 และ (02) 954-4999 ต่อ 2100 คุณณัฐสมน 2101 คุณญาฑิกานต์ 2102 คุณวนิดา และ 2103 คุณอนุวัฒน์

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กำแพงเพชร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 443
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM