เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ พัฒนามะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีที่ผ่านการพิสูจน์ ดีเอ็นเอ
   
ปัญหา :
 
 
"มะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี" ยังจัดเป็นผลไม้แปลกและหายากของคนไทยที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมานานนับ 10 ปี ผู้เขียนได้ติดตามงานพัฒนาการปลูกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการประกวดมะยงชิดพันธุ์ดีผลใหญ่เป็นครั้งแรกในงานวันเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในการประกวดในครั้งนั้นพบว่า มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าของจังหวัดนครนายก ชนะเลิศรางวัลที่ 1 ในขณะนั้น มะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีจัดเป็นผลไม้แปลก หายาก และมีราคาถึงผู้บริโภคสูงมาก ส่วนใหญ่จะซื้อกันเป็นของฝากประเภท "คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน" ราคากิโลกรัมละ 300 บาท แต่ถ้าเป็นมะปรางยักษ์ที่มีขนาดผลใหญ่เป็นพิเศษราคาเคยสูงถึงกิโลกรัมละ 700 บาท มีราคาแพงกว่าไม้ผลที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยซ้ำไป

อุปสรรคและปัญหาของการปลูกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีในอดีตคือ เกษตรกรเจ้าของสายพันธุ์ดีต่างๆ มักจะหวงสายพันธุ์ ไม่ยอมขยายพันธุ์เผยแพร่และจำหน่ายออกไป อีกทั้งงานพัฒนาทางด้านการขยายพันธุ์ยังไม่มีความก้าวหน้า แม้แต่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบกิ่งเมื่อเกษตรกรนำไปปลูกได้ระยะเวลาหนึ่งต้นจะตายในเวลาต่อมา ด้วยตลาดมีความต้องการมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานพัฒนาและการขยายพื้นที่ปลูกจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ธุรกิจการขายกิ่งพันธุ์ขยายตัวตามไปด้วย เกษตรกรหลายรายถูกย้อมแมวขายด้วยการซื้อมะปรางพันธุ์ไม่ดีไปปลูก แต่ผู้ขายมักบอกว่าเป็นมะปรางพันธุ์ดี ด้วยต้นมะปรางจัดเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตช้า กว่าจะให้ผลผลิตจะใช้เวลานานหลายปี เมื่อต้นมะปรางเริ่มให้ผลผลิตได้มะปรางผลเล็กเหมือนมะปรางบ้านทำให้ผิดหวังไปตามกัน

มาถึงปัจจุบัน ปัญหาในเรื่องของกิ่งพันธุ์ปลอมหมดไป ปัญหาต่อมาคือเรื่องสายพันธุ์ที่เกษตรกรซื้อมาปลูก ส่วนใหญ่ผู้ปลูกมักจะตั้งชื่อสายพันธุ์มะยงชิดพันธุ์ดีที่ขนาดผลใหญ่ใกล้เคียงกับไข่เป็ดตามชื่อหรือนามสกุลของผู้ปลูก ตามชื่อสวน หรือชื่ออื่นๆ ที่คิดว่าเป็นมงคล เกษตรกรที่ซื้อไปปลูกซื้อทุกพันธุ์ไปปลูก ผลสุดท้ายผลผลิตที่ได้ออกมากลับเป็นสายพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่ชื่อสายพันธุ์แตกต่างกันเท่านั้น

ก่อนอื่นเกษตรกรจะต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า ในทางพฤกษศาสตร์จะจำแนกสายพันธุ์ของมะปรางออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตามขนาดและรสชาติของผลดังนี้ มะปรางพื้นบ้าน จัดเป็นมะปรางที่มีขนาดของผลเล็กซึ่งจะมีรสชาติหวาน หวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวก็ได้ แต่ถ้ามีรสชาติหวานสนิทเมื่อนำมาบริโภคส่วนใหญ่จะระคายคอ มะยงชิดพันธุ์ดี หรือที่หลายคนในสมัยรัชกาลที่ 5 มักจะเรียกว่า มะปรางเสวย มีแหล่งที่ปลูกมากอยู่ในเขตตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี จัดเป็นมะปรางที่มีขนาดผลใหญ่ใกล้เคียงกับไข่ไก่หรือไข่เป็ด น้ำหนักผลเฉลี่ย 10-15 ผล ต่อกิโลกรัม เมื่อผลดิบมีรสชาติเปรี้ยว และเมื่อสุกเหลืองทั้งผลจะมีรสชาติหวาน เป็นกลุ่มที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากในปัจจุบันนี้ มะปรางหวานพันธุ์ดี ยังจัดเป็นกลุ่มมะปรางที่หาซื้อบริโภคได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากยังมีการขยายพื้นที่ปลูกกันน้อยและที่พบส่วนใหญ่จะมีขนาดผลเล็กกว่ามะยงชิด อย่างกรณีของมะปรางหวานพันธุ์สุวรรณบาตร จะมีลักษณะผลเรียวยาวคล้ายกับผลมะดัน ขนาดผลเล็กกว่าไข่ไก่เล็กน้อย ลักษณะประจำพันธุ์ของมะปรางหวานพันธุ์ดีเกือบทั้งหมดจะมีรสชาติมันตั้งแต่ดิบ และหวานจัดเมื่อผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และกลุ่มสุดท้ายคือ กาวาง ซึ่งจัดเป็นมะปรางที่มีขนาดผลใหญ่ใกล้เคียงกับไข่เป็ดเช่นกันแต่มีรสชาติเปรี้ยวจัด อีกากินยังวาง ปัจจุบันจะหาได้ยากมาก ในอดีตจะมีพ่อค้ามารับซื้อเพื่อผลิตเป็นส่วนผสมของซอสพริกเนื่องจากมีราคาถูก และผลิตซอสพริกได้สีสวย

ความก้าวหน้าของการปลูกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี ได้มีความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อ คุณวิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ เจ้าของสวนวิจิตรการเกษตรและยังมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมมะยงชิด-มะปรางหวานใหญ่ภาคเหนือ บ้านเลขที่ 363/1 ถนนเทศา 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 โทร. (055) 716-081 จัดเป็นสวนมะปรางที่รวบรวมสายพันธุ์มะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี และคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นและน่าสนใจที่สุดที่ผ่านการพิสูจน์ ดีเอ็นเอ ทุกสายพันธุ์ อาทิ มะยงชิดพันธุ์เพชรกลางดง เป็นสายพันธุ์ที่คุณวิจิตรคัดเลือกแล้วว่าดีที่สุด เมื่อตรวจดีเอ็นเอ พบว่า มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ มากที่สุด สำหรับมะปรางหวานคัดเลือกได้ 4 สายพันธุ์ โดยยึดความโดดเด่น 4 ประเภท คือ หวานฉ่ำ พันธุ์เพชรคลองลาน, หวานเจี๊ยบ พันธุ์เพชรหวานกลม, หวานหอม พันธุ์เพชรหวานยาว และหวานมัน พันธุ์เพชรนพเก้า เป็นต้น และมะปรางหวานพันธุ์ดีทุกสายพันธุ์ที่ได้กล่าวมามีขนาดผลใหญ่ทั้งสิ้น



ความเป็นมาของศูนย์รวม

มะยงชิด-มะปรางหวานใหญ่

ที่ผ่านการพิสูจน์ ดีเอ็นเอ


คุณวิจิตรได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของตนเองกับการเริ่มต้นสะสมสายพันธุ์มะปราง เมื่อปี พ.ศ. 2503 ในขณะนั้น คุณวิจิตรได้ศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) ในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อนมักจะชวนนั่งเรือจากโรงพยาบาลศิริราชเข้าไปเที่ยวในคลองบางกอกน้อยและเที่ยวชมสวนผลไม้แถวบางขุนนนท์ ครั้งแรกได้มีโอกาสชิมผลไม้ที่คล้ายกับมะปรางแต่ลูกมีขนาดใหญ่มากและมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ในขณะนั้นรู้สึกประทับใจและคิดว่าในอนาคตอยากนำมาปลูก

หลังจากนั้นประมาณ 30 ปีต่อมา คือประมาณปี พ.ศ. 2533 คุณวิจิตรได้ออกตระเวนเสาะแสวงหามะยงชิดและมะปรางหวานผลใหญ่พันธุ์ดีทั่วประเทศที่ใครบอกว่าดี เริ่มจากจังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เรื่อยมาจนถึงภาคกลาง นครนายก ปราจีนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น ได้รวบรวมสายพันธุ์ดีมาปลูกจำนวน 50 สายพันธุ์ ปัจจุบันคุณวิจิตรได้คัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดไปตรวจ ดีเอ็นเอ เพื่อจำแนกเอกลักษณ์พันธุ์ให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นต้นแม่พันธุ์จำหน่ายและเผยแพร่แก่สาธารณชนต่อไป



เหตุผลที่ต้องพิสูจน์ ดีเอ็นเอ สายพันธุ์

ก่อนผลิตกิ่งพันธุ์ออกจำหน่าย


คุณวิจิตรก็เหมือนกับเกษตรกรที่ปลูกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีทั่วไปคือ พยายามสืบเสาะไปสวนมะปรางที่บอกว่าเป็นพันธุ์ดีและซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูก บางสายพันธุ์ที่ซื้อมาเมื่อให้ผลผลิตแล้วเหมือนกันทุกประการ ทั้งรูปทรงผลและรสชาติ แต่มีชื่อสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน เชื่อได้ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่มาเปลี่ยนชื่อใหม่ ต่อมาคุณวิจิตรได้พบกับ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประเสริฐ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร และได้ประสานงานติดต่อกับ ดร.ปิยศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวิเคราะห์ ดีเอ็นเอ คุณวิจิตรจึงได้ตรวจ ดีเอ็นเอ สายพันธุ์มะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีที่รวบรวมมามากกว่า 50 สายพันธุ์ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ดีเอ็นเอ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านฟิสิกส์ คือ ความยาว ความกว้างของผลและรูปร่างของเมล็ด ด้านเคมี คือ ความหวานและความเปรี้ยว และด้านสุดท้าย คือ ด้านชีววิทยา ซึ่งเมื่อตรวจ ดีเอ็นเอ แล้วจะรู้ที่มาของสายพันธุ์คือรู้ที่ไปที่มา คุณวิจิตรย้ำว่า ในปัจจุบันนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีห้องแล็บที่ตรวจ ดีเอ็นเอ ที่มีความทันสมัยที่สุด



คัดเลือกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี

ด้วยใจรัก ได้จำนวน 9 สายพันธุ์


จากประสบการณ์ในการรวบรวมพันธุ์มะปรางมานานหลาย 10 ปี คุณวิจิตรได้แบ่งพื้นที่ปลูกมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีในประเทศไทยเป็น 2 โซนหลักๆ คือ โซนภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดพิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และพิษณุโลก และอีกโซนหนึ่งคือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก และปราจีนบุรี ดูเหมือนว่าจังหวัดพิจิตรจะมีพื้นที่ปลูกในเชิงพาณิชย์มากที่สุด มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีในฤดูกาลที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2552 จะมีประมาณ 100 ตัน หรือ 100,000 กิโลกรัม

ในเรื่องของการรวบรวมสายพันธุ์มะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดีนั้น คุณวิจิตรมีความมั่นใจว่าตนเองมีประเภทของสายพันธุ์ไว้มากที่สุด ในการตรวจ ดีเอ็นเอ สายพันธุ์มะปรางจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อสร้างความชัดเจนของสายพันธุ์ และคุณวิจิตรได้ยกตัวอย่างมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าและพันธุ์เพชรกลางดง ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะของต้น ใบ ผลผลิตและรสชาติคล้ายกันมาก แต่เมื่อนำมาตรวจ ดีเอ็นเอ แล้วพบว่าไม่เหมือนกัน สุดท้ายก็พิสูจน์ได้ว่า มะยงชิดพันธุ์เพชรกลางดง จัดเป็นมะยงชิดที่ศูนย์รวมมะยงชิด-มะปรางหวานใหญ่ ของคุณวิจิตร ไกรสรสวัสดิ์ คัดเลือกแล้วว่าดีที่สุด เมื่อตรวจ ดีเอ็นเอ พบว่า มีเอกลักษณ์พันธุ์โดดเด่นแตกต่างจากมะยงชิดสายพันธุ์อื่นๆ มากที่สุด



เหตุผลที่คุณวิจิตรสนใจ

พันธุ์มะปรางหวานผลใหญ่


คุณวิจิตรบอกว่า ในการปลูกมะปรางพันธุ์ดีในบ้านเราในเชิงพาณิชย์นั้นเกือบทั้งหมดจะปลูกมะยงชิดพันธุ์ดี มีเกษตรกรให้ความสนใจมะปรางหวานผลใหญ่กันน้อยมาก ที่มีพูดถึงกันบ้างจะมีเพียงพันธุ์สุวรรณบาตรและพันธุ์ทองใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพันธุ์สุวรรณบาตรจะมีลักษณะผลคล้ายผลมะดัน ผลไม่ใหญ่นักแต่จะมีความโดดเด่นทางด้านรสชาติคือหวานและเนื้อแน่น และต้นแม่พันธุ์อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรที่นำพันธุ์มาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักคือ คุณศิลป์ ศัลยพงษ์ เจ้าของสวนเกษตรศิลป์ ส่วนพันธุ์ทองใหญ่เจ้าของสายพันธุ์คือ ผู้พันทองดำ จังหวัดปราจีนบุรี คุณวิจิตรบอกว่า มะปรางหวานพันธุ์ทองใหญ่จัดเป็นมะปรางหวานที่ดีมากสายพันธุ์หนึ่งคือ ลักษณะของผลยาวใหญ่ แต่มีจุดอ่อนตรงที่ให้ผลผลิตไม่ดก เหมาะที่จะปลูกเพื่อส่งเข้าประกวด ไม่เหมาะที่จะปลูกในเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันคุณวิจิตรได้คัดเลือกสายพันธุ์มะปรางหวานพันธุ์ดีและได้คัดเลือกสายพันธุ์ด้วยการตรวจ ดีเอ็นเอ และเรียกว่า "มะปรางหวานใหญ่จัมโบ้" มีจำนวน 4 สายพันธุ์ คือ เพชรคลองลาน ขนาดผลใหญ่มาก ผลใหญ่สุดใกล้เคียงกับไข่ห่าน รสชาติดีและหวานฉ่ำ เพชรหวานกลม มีรูปทรงกลมมน ขนาดผลใหญ่ใกล้เคียงไข่เป็ด มีรสชาติหวานเจี๊ยบ เพชรหวานยาว มีรูปทรงที่ยาวมากและรสชาติหวานหอม และสายพันธุ์สุดท้ายคือ เพชรนพเก้า ที่มีรูปทรงคล้ายมะยงชิดมากที่สุดและมีรสชาติหวานมัน คุณวิจิตรยังสรุปตอนท้ายเกี่ยวกับขนาดของผลมะปรางหวานที่กล่าวมามีขนาดผลใหญ่กว่าไข่เป็ดทุกสายพันธุ์



หนังสือ "การผลิตและการตลาดมะปรางยักษ์" พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรีพร้อมกับ "การปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงพาณิชย์" รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กำแพงเพชร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 449
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM