เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แดงสุริยา และ เพชรดำรง ขนุนดียุคปัจจุบัน
   
ปัญหา :
 
 
นช่วงเวลาผ่านมาประมาณ 30 ปี การพัฒนาการปลูกขนุนในบ้านเรามีมาอย่างต่อเนื่อง คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับขนุนพันธุ์ดีที่มีเนื้อหนาและรสชาติอร่อย เริ่มตั้งแต่พันธุ์ฟ้าถล่ม ทองสุดใจ แม่น้อยทวาย เบาเปลือกหวาน ฯลฯ มาสู่ยุคที่มีการขยายพื้นที่ปลูกขนุนกันมากที่สุดคือ พันธุ์ทองประเสริฐ ศรีบรรจง และเพชรราชา เป็นต้น หลังจากนั้นมาวงการขนุนเริ่มซบเซา เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกกันน้อยลง ทั้งๆ ที่ขนุนเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่นำมาปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดสารพิษได้เพราะมีการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืชน้อยมาก ตลาดหลักในการบริโภคขนุนไทยยังนิยมบริโภคสดและอาชีพการแกะขนุนขายยังสร้างรายได้ที่ดี ถ้าได้ขนุนพันธุ์ดี สีสวย เนื้อแห้ง และมีรสชาติหวาน กรอบ หลายคนทราบดีว่า ขนุนสายพันธุ์ดีๆ ที่มีการขยายพื้นที่ปลูกในประเทศไทยนั้น เกือบทั้งหมดได้มาจากการกลายพันธุ์ด้วยเมล็ด และในแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะดีเด่นและด้อยแตกต่างกันไป ไม่มีขนุนสายพันธุ์ใดที่มีลักษณะดีเด่นครบถ้วน ซึ่ง ได้แก่ "เนื้อหนา มีความกรอบและแข็ง รสชาติหวาน สีสวย เมล็ดเล็ก เยื่อที่หุ้มเมล็ดบาง และเนื้อบริเวณที่ติดโคนเมล็ดจะต้องน้อยที่สุด ที่สำคัญเปอร์เซ็นต์เนื้อในแต่ละผลจะต้องมีมากกว่า 50% ขึ้นไป" ในบรรดาขนุนเนื้อสีจำปา คนไทยมักจะคุ้นกับพันธุ์จำปากรอบ หรือถ้าเป็นนักกินขนุนจริงๆ จะรู้จักพันธุ์แดงรัศมี แต่ขนุนทั้งสองพันธุ์นี้มีจุดอ่อนตรงรสชาติและสีของเนื้อที่มีความแปรปรวนตามสภาพพื้นที่ปลูกและสภาพแวดล้อม เช่น ถ้าขนุนแก่ในช่วงฤดูฝนความเข้มของเนื้อสีแดงจะจางลง

คุณประภาส สุภาผล
บ้านเลขที่ 33/4 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20260 มีประสบการณ์ในการปลูกขนุนมานาน ได้มีความพยายามที่จะค้นหาสายพันธุ์ขนุนที่มีเนื้อสีจำปา (สีแดงออกเข้ม) มานาน ปัจจุบันได้พบขนุนต้นหนึ่งในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่ปลูกด้วยเมล็ด มีอายุต้นกว่า 40 ปี ติดตามและตรวจสอบการให้ผลผลิตและคุณภาพอยู่นานหลายปี พบว่า เมื่อผ่าผลดูลักษณะภายใน พบว่า เป็นขนุนที่มีเนื้อสีแดงเข้มหรือสีจำปาเข้ม รสชาติหวาน กรอบ เนื้อแข็ง (เนื้อไม่นิ่มเหมือนกับขนุนพันธุ์อื่นๆ) แกนกลางเล็ก มียางน้อยมาก และมีเปอร์เซ็นต์เนื้อไม่น้อยกว่า 50% และมีการตั้งชื่อว่า "แดงสุริยา" จัดเป็นขนุนพันธุ์เบา เมื่อนำกิ่งที่ได้จากการทาบกิ่งหรือติดตามาปลูกใช้เวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น จะเริ่มให้ผลผลิต ที่สำคัญจัดเป็นขนุนพันธุ์ทะวายโดยธรรมชาติ ที่ให้ผลผลิตปีละ 2 รุ่นใหญ่ๆ คือ รุ่นแรกแก่เดือนมีนาคม-เมษายน และรุ่นที่ 2 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

คุณประภาส ได้ส่งขนุนพันธุ์นี้เข้าประกวดในงานไม้ผลและของดีจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศหลายปีติดต่อกันในประเภทขนุนเนื้อสีจำปา "แดงสุริยา" ยังมีลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ มีปริมาณของดอกตัวผู้หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ส่า" มากกว่าปกติ ทำให้ส่งผลดีต่อการผสมเกสร ช่วยให้มีการติดผลที่ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังจัดเป็นขนุนที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นคือ หลังจากดอกบานจนผลแก่ ใช้เวลาเพียง 3 เดือนครึ่ง-4 เดือน เท่านั้น ขณะนี้เริ่มมีแม่ค้านำขนุนแดงสุริยามาแกะเนื้อขายและขายเปรียบเทียบกับขนุนพันธุ์ดีเนื้อสีเหลือง คนจะเลือกซื้อขนุนเนื้อสีจำปาเข้มมากกว่า ซึ่งขายถึงผู้บริโภคราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท บางช่วงผลผลิตออกน้อยขายผลผลิตแบบยกผล ในราคาถึงผลละ 600 บาท (น้ำหนักผลเฉลี่ย 10 กิโลกรัม)

คุณดำรงศักดิ์ วิรยศิริ บ้านเลขที่ 90 หมู่ที่ 4 ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 67210 เป็นเกษตรกรที่ให้ความสนใจในการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล เริ่มต้นผสมพันธุ์ขนุนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 โดยใช้ขนุนพันธุ์คุณหญิงเป็นพ่อพันธุ์

ขนุนพันธุ์คุณหญิง จัดเป็นขนุนพันธุ์ดีอีกสายพันธุ์หนึ่งของไทยที่มีการปลูกมานานแล้ว ซึ่งเจ้าของพันธุ์ คือ ม.ร.ว.มนทรีย์ รุ่งเรืองสุข และขนุนต้นแม่ดั้งเดิมปลูกอยู่ที่ซอยพระอรรถราชปรารภ กรุงเทพมหานคร และปัจจุบันต้นแม่พันธุ์ถูกน้ำท่วมได้ตายไปแล้ว คุณดำรงศักดิ์ วิรยศิริ ได้กิ่งพันธุ์มา 1 ต้น ได้มานานกว่า 30 ปีแล้ว เหตุผลที่ขนุนสายพันธุ์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนักเพราะไม่มีการเผยแพร่ และสมัยแรกๆ จะค่อนข้างหวงพันธุ์ แต่มาถึงปัจจุบันเริ่มมีขนุนสายพันธุ์นี้มาแกะขาย และเกษตรกรที่ปลูกขายผลผลิตจากสวนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 15 บาท โดยชั่งทั้งผล นับว่าได้ราคาดีพอสมควรและแม่ค้าที่ซื้อผลผลิตไปขายจะชอบใจเป็นพิเศษ ตรงที่เป็นขนุนที่ผ่าออกมาแล้วได้เปอร์เซ็นต์เนื้อมากกว่า 60% ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ มีแต่เนื้อ พบซังน้อยมาก และพันธุ์ทองประเสริฐเป็นแม่พันธุ์

ในหนังสือ "ชนิดและพันธุ์ไม้ผลเมืองไทย" ซึ่งเขียนโดย รศ.วิจิตร วังใน ได้บอกถึงประวัติความเป็นมาของขนุนพันธุ์ทองประเสริฐได้มาจากการเพาะด้วยเมล็ดขนุนไม่ทราบชื่อพันธุ์ ซึ่งนำมาจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 และคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดีไว้ 1 ต้น จากจำนวน 20 ต้น ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประมาณ 1,000 ต้น ปลูกเป็นขนุนนอกฤดู สามารถให้ผลิตผลได้ 2 รุ่น ต่อปี โดยเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 135 วัน หลังดอกบาน คือประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และช่วงเดือนกรกฎาคม ผลเป็นแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลมถึงกลมรี ผิวเปลือกผลมีสีเขียวจนถึงผลแก่ และอาจจะมีสีน้ำตาล มียางน้อย เนื้อสีเหลือง ค่อนข้างเหนียว รสชาติหวาน ค่าความหวาน 22-23 องศาบริกซ์

การเริ่มต้นผสมพันธุ์ขนุนนั้น คุณดำรงศักดิ์ บอกว่า เกษตรกรจะต้องรู้จักดอกตัวผู้และดอกตัวเมียขนุนเป็นลำดับแรก วิธีสังเกตง่ายๆ ดอกตัวผู้จะมีลักษณะก้านเล็ก ส่วนดอกตัวเมียจะมีก้านใหญ่และมักจะออกจากลำต้นหรือกิ่งใหญ่ เมื่อเลือกดอกตัวเมียได้แล้วเราจะต้องใช้ถุงคลุมดอกเอาไว้ เมื่อดอกตัวเมียมีความพร้อมจะเห็นหนาม จะออกมาเป็นแฉกๆ ควรจะผสมพันธุ์ในช่วงเวลาเช้า เด็ดเอาดอกตัวผู้ของพันธุ์คุณหญิงมาทาบริเวณแฉกของดอกตัวเมียพันธุ์ทองประเสริฐ หลังจากทาแล้วจะต้องคลุมถุงให้มิดชิด หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน เปิดถุงดูว่าผสมติดแล้วมีขนาดของผลใหญ่ขึ้นและไม่มีอะไรมารบกวน เปิดแล้วจะต้องหาถุงมาห่อผลจนผลแก่ ซึ่งใช้เวลานานประมาณ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง เมื่อขนุนลูกผสมสุกคุณดำรงศักดิ์ได้คัดเลือกเมล็ดที่มีความสมบูรณ์มาเพาะ และนำไปปลูกในแปลงได้ขนุนสายพันธุ์ใหม่ ประมาณ 60 ต้น มาถึงปี พ.ศ. 2552 บรรดาขนุนลูกผสมที่เพาะเมล็ดทั้งหลายได้ออกดอกและติดผลกันเกือบทุกต้น จากการใช้เวลาในการผสมพันธุ์ขนุนนาน 5 ปี คุณดำรงศักดิ์ บอกว่า คุ้มกับเวลาที่เสียไป เพราะได้ขนุนพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือมนุษย์ ไม่ต้องเสียเวลาไปคัดเลือกจากธรรมชาติ พบว่า หลายต้นมีแนวโน้มจะเป็นพันธุ์ที่ดีกว่าพ่อและแม่พันธุ์ ตัวอย่างต้นที่ 18 ให้ผลผลิตที่มีเนื้อหนาประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อนำมาชั่งได้น้ำหนัก 5 ยวง ต่อกิโลกรัม และได้ตั้งชื่อว่า "เพชรดำรง" บางต้นให้ผลผลิตดกมาก และมีลักษณะของทรงผลกลมและขนาดของผลไม่ใหญ่จนเกินไป มีน้ำหนักเฉลี่ย 2-3 ผล ต่อกิโลกรัม ขนาดของผลใหญ่ๆ พอกับผลทุเรียน ในอนาคตตลาดมีความต้องการผลขนุนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สะดวกต่อการบริโภคและซื้อเป็นของฝาก เมื่อได้เมล็ดและนำไปเพาะให้ต้นมีความสูงประมาณ 1 ศอก หลังจากนั้น จะนำต้นเพาะเมล็ดมายกตุ้มทาบกับต้นขนุนใหญ่ ใช้เวลาเพียง 1-2 ปี ก็จะทราบผลว่าเป็นขนุนพันธุ์ดีหรือไม่

ขนุนพันธุ์เพชรดำรง ที่มีลักษณะดีเด่นมากมายหลายประการ อาทิ จัดเป็นขนุนเนื้อสีเหลืองที่มีความหนามาก ถ้าผลสมบูรณ์เต็มที่และมีการบำรุงรักษาอย่างดี เนื้อจะหนาถึง 2 เซนติเมตร เมื่อนำเนื้อไปชั่งน้ำหนักจะได้ 5 ยวง ต่อ 1 กิโลกรัม เนื้อมีความแข็งและกรอบ เมื่อนำมาแกะขายจะวางตลาดอยู่ได้นาน เพราะเนื้อไม่เละ เมล็ดมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งเยื่อหุ้มเมล็ดบาง (ในขณะที่พันธุ์ทองประเสริฐมีขนาดของเมล็ดใหญ่กว่า และเยื่อหุ้มเมล็ดหนา) และได้มีการใช้ชื่อสายพันธุ์ว่า "เพชรดำรง" จัดเป็นขนุนสายพันธุ์ดีที่น่าส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่สำคัญเป็นขนุนพันธุ์ดีที่ได้จากความพยายามและผสมพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์ ใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี เมื่อขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบกิ่งและนำไปปลูก ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต และมีขนาดน้ำหนักผลเฉลี่ย 8-10 กิโลกรัม ผู้เขียนได้ทดลองชิมขนุนลูกผสมพันธุ์ดีจะต้องยอมรับว่ามีรสชาติหวานอร่อยมาก เหมาะที่จะปลูกเพื่อแกะยวงขาย นอกจากนั้น ด้วยความหนาของเนื้อยังสามารถนำไปแปรรูปโดยการเชื่อมหรือนำไปทอดแบบทุเรียนทอดกรอบได้



สภาพแวดล้อมและการปลูกขนุน

1. ชนิดของดิน ขนุนเป็นไม้ผลที่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง ปกติขนุนชอบดินร่วน หรือดินร่วนปนทรายที่ต้องระบายน้ำดี ส่วนดินเหนียวหรือดินทรายต้องมีการปรับปรุงด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มากๆ จะช่วยให้ขนุนเจริญเติบโตได้ดีขึ้น

2. ความสมบูรณ์ของดิน ขนุนชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีอินทรียวัตถุมาก ซึ่งทำให้ดินมีสีดำ ขนุนจะเจริญเติบโตได้เร็ว ให้ผลดก ผลใหญ่ เนื้อยวงมีสีเข้ม และมีรสหวานกว่าขนุนที่ปลูกในดินที่มีสภาพความสมบูรณ์ต่ำ อาจสังเกตว่าพืชที่ขึ้นปกคลุมอยู่นั้น ถ้ามีการเจริญเติบโตดี ใบมีสีเขียวเข้ม แสดงว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

3. ความเป็นกรด-ด่างของดิน ขนุนขึ้นได้ในดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง 6-7.5 ถ้าดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำกว่า 6.0 ดินจะเป็นกรด ซึ่งจะเกิดการตรึงจุลธาตุและฟอสเฟต ต้องปรับแก้โดยการใช้ปูนเพื่อการเกษตร นิยมใช้ปูนโดโลไมต์ ปูนมาร์ล การปรับแก้ความเป็นกรดของดินต้องใช้หลักการใส่ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดการปรับตัวขึ้นทีละน้อยๆ ช่วงความเป็นกรด-ด่าง ระดับ 6.0-7.5 ช่วงนี้ทำให้ขนุนสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขนุนจะตอบสนองต่อปุ๋ยอย่างเต็มที่

4. ทำเลปลูกขนุน ต้องเป็นที่ที่น้ำไม่ท่วม และดินต้องมีการระบายน้ำได้ดี ต้นขนุนไม่ชอบน้ำท่วมขัง ดังนั้น พื้นที่ลุ่มที่ใช้ปลูกขนุนจึงต้องทำโคกหรือทำสันร่องแบบร่องจีนจึงปลูกขนุนได้

สรุปได้ว่า การปลูกขนุนในเชิงพาณิชย์ในอนาคตจำเป็นต้องมีการจัดการดูแลเพิ่มเติมกว่าที่เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ปุ๋ยและน้ำ ต้นขนุนไม่ชอบสภาพพื้นที่ปลูกที่มีน้ำขังแฉะหรือมีการระบายน้ำไม่ดี สำหรับเรื่องโรคและแมลงศัตรูขนุนถือว่าน้อยกว่าไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ สามารถผลิตในระบบอินทรีย์หรือปลอดสารพิษได้

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชลบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 474
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM