ชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการ
พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะแขกเมือง
เส้นทางคราสหว้ากอ
จุดดูสุริยุปราคาตำบลหว้ากอปีพ.ศ.2411
ตำบลหว้ากอปีพ.ศ.2411
พระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 

          บันทึกพิเศษ การเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ

             เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสด็จไปทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ จึงใคร่ขอเสนอหมายกำหนดการและ
พระราชกรณียกิจโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
             วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2411 เวลา 10.50 น. ตรงกับเดือน 9 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230
เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่ง อรรคราชวรเดชออกจากท่านิเวศวรดิษฐ์ เวลา 12.15 น. ถึงสมุทรปราการจอด 3 ช.ม.
เศษ ถึง 16.15 น. ออกเดินทางต่อ
             วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 5 ค่ำ เวลาย่ำรุ่งถึงเขาสามร้อยยอด เมืองปราณบุรี และเดินทางต่อ
โดยไปหยุดถึงเกาะหลักเวลา 10.00 น. เวลา 12.00 น. ถึงหน้าค่ายหลวง ต.หว้ากอ ทอดสมออยู่ 6 ช.ม. โปรดเกล้า ฯให้ลอย
เรือไปทอดประทับแรมที่อ่าวมะนาวเหนือพลับพลาไปทางเหนือประมาณ 200 เส้นเศษ
            วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 6 ค่ำประทับแรมในเรือพระที่นั่ง ณ อ่าวมะนาว
            วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 7 ค่ำเวลาเย็น เสด็จขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งจากอ่าวมะนาวไปถึง
พลับพลาค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ เวลาย่ำค่ำประทับแรมเป็นคือแรก
            วันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 8 ค่ำเวลา 9.00 น. เศษ ได้พระฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธง
พระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง รับสั่งให้ประโคมแล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัตถ์ สลุตธง สลับกันกับปืนใหญ่ฝ่ายละ
21 นัด ทั้ง 2 ข้าง ปืนเรือสยามูปสดัมภ์ได้ยิง 21 นัด รวมเป็น 63 นัด เวลา 13.00 น. คณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส มาเฝ้าที่
พลับพลา 8 นาย พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย
            วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 9 ค่ำ นายทหารเรือรบฝรั่งเศส 12 นายขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลา
พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย
            วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 10 ค่ำเวลาเช้า กัปตันเรือรบฝั่งฝรั่งเศสทูลเชิญสมเด็จ
พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถเสด็จชมเรือรบ โปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตาม
เสด็จเหมือนอย่างรับกษัตริย์ในประเทศยุโรป  มีทหารทอดกริบ  แลยืนเพลา แล้วยิงปืนใหญ่รับ 21 นัด ทหารประจุปืนปัศตัน
ลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดตาย 1 คน ครั้นเวลาก่อนเที่ยง ทรงวัดแดด สอบแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง เวลา 17.00 น.
เศษ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ณ ที่พักจนค่ำจึงเสด็จกลับ
            วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 11 ค่ำ เวลา 19.00 น. เศษ มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ ผู้ว่าราชการแทน
กงศุลอังกฤษขึ้นไปเฝ้าที่พลับพลา โปรดให้ยิงปืนรับ 7 นัด
            วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 12 ค่ำ เวลา 19.00 น. เรือเจ้าพระยาเดินทางกลับ มาถึงค่ายหลวง
ทรงรับหนังสือข่าวสารต่างๆหลายฉบับ กับของที่สั่งซื้อจากลอนดอนสำหรับแจกในพระราชพิธีโสกันต์อีกมาก (เตรียมการ โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจารุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์)
            วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 13 ค่ำ เวลา 09.00 น. เซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์มาถึง ด้วยเรือกลไฟ 3 ลำ โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงพิเศษพจนการ (ต่อมาได้เป็นพระยาอรรถราชนาถภักดี ใน ร.5 ) เป็นข้าหลวงไป
เยี่ยมเยียน
            จันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 14 ค่ำ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลาค่ายหลวง โปรดให้ยิง ปืนให้สลุตรับ 11 นัด พระราชทานทองคำบางสะพานตั้งแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์และนายทหารเรือที่ขึ้นมาเฝ้าทุกคน แล้วให้ไปอยู่
ที่เรือนพักซึ่งจัดไว้ต้อนรับ
            วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ เวลา 08.00 น. เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อยเครื่องทรง
ทอดพระเนตรสุริยุปราคา
                 เวลา 10.03 น. เสด็จออกทรงกล้องแต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนคลุมไปในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลย จนถึงเวลา 10.16 น.
เมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้ว จึงประโคมเสด็จสรงมุรธาภิเษก
                 เวลา 11.20 น. แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและ
ดาวอื่น ๆ มากหลายดวง
                 เวลา 11.36 น. 20 วินาที จับสิ้นดวง กินเวลา 6 นาที 45 วินาที เวลานั้นมืดเป็นเหมือนเวลากลางคืน เวลาพลบค่ำ
คนที่นั่งใกล้ๆก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน พระราชทานเงินแจกพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่น้อย ซึ่งตามเสด็จพระราช
ดำเนินออกโดยทั่วกัน
                 เวลา 13.37 น. 45 วินาที อุปราคาคลายถึงโมกขบริสุทธิ์
                 เวลา 17.00 น. เสด็จไปเยี่ยมเจ้าเมืองสิงคโปร์
                 เวลา 22.00 น. โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าเมืองสิงคโปร์กับคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส นายทหารเรือรบฝรั่งเศส กับชาว
ยุโรปที่รับราชการอยู่ในประเทศไทยหลายนายเข้าเฝ้าชมละคร ระบำ และฟังดนตรี ณ ท้องพระโรง
           วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 2 ค่ำ เวลา 09.00 น. เศษ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขอถ่ายพระรูปแต่เครื่องถ่าย
ขัดข้อง ถ่ายไม่ได้ แล้วทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เซอร์ แฮรี่ ออด กับ ภริยา เข้าไปลาข้าราชการฝ่ายในโดย
พระองค์เสด็จทรงนำไป เวลา 15.15 น. เสด็จลงเรือพระที่นั่ง อรรถราชวรเดชทหารปืนใหญ่ยิงสลุตส่งเสด็จ 21 นัด ทหารที่ยิง
ปืนปัศตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดไปข้างหนึ่งตายในที่นั่น เรือพระที่นั่งออกจากที่จอดหน้าค่ายหลวงใช้จักร เสด็จกลับคืนกรุงเทพมหานคร
                  ระหว่างเดินทางถึงเกาะหลัก เวลา 16.30 น. มีพระบรมราชโองการดำรัสให้เอาตัวข้าราชบริหาร 4 นาย ที่ทรงจับ
ไว้ว่าลักลอบเล่นไพ่บนดาดฟ้าชั้นบน ลงเรือโบตไปปล่อยเสียที่ฝั่ง
                 ครั้นเวลา 17.20 น. ออกจากหน้าเกาะหลัก มาจอดทอดสมอที่หน้าเขาตะเกียบเวลาค่ำ ประทับแรมบนเรือ

                 การที่นำเหตุการณ์ตอนนี้มาลงไว้ออกจะเป็นเกร็ดเล็กน้อยมากไป แต่ก็ประสงค์ที่จะแสดงพระราชอัธยาศัยที่เข้มงวด
ต่อการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างจริงจัง อันเป็นคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาทั้งหลาย หรือเป็นอุปนิสัยพื้นฐาน
ของผู้รักความเจริญก้าวหน้า ซึ่งถ้าผู้ใดพูดว่ารักความเจริญก้าวหน้าก็ควรจะได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง จึงจะเรียก
ได้ว่าพูดจริงทำจริง
            วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 3 ค่ำ เวลา 11.00 น. เศษ เสด็จขึ้นทอดพระเนตรหาดและบน
ฝั่งจนถึงเวลา 17.00 น. เสด็จกลับขึ้นประทับในเรือพระที่นั่ง
                  เวลา 23.00 น. เศษ เสด็จออกจากหน้าเขาตะเกียบใช้จักรมุ่งสู่กรุงเทพมหานคร
            วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 4 ค่ำ เวลา 08.15 น. ถึงพระสมุทรเจดีย์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการ
เวลา 09.27 น.ออกจากพระสมุทรเจดีย์ เวลา 12.06 น.เรือพระที่นั่งเทียบท่านิเวศน์วรดิษฐ์เสด็จขึ้นทรงที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย
ให้ลงพระราชอาชญาหมื่นวิเศษในกรมพระแสงปืนต้น ผู้เป็นเจ้าของไพ่ 30 ทีแล้วให้เอาตัวพวกที่เล่นไพ่ไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์
แล้วเสด็จขึ้นในพระบรมราชวัง
            วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ เวลา 09.00 น. เศษ เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม
มีพระบรมราชโองการรับสั่งถามพระโหราธิบดีว่า สุริยุปราคาที่กรุงเทพมหานครจับกี่ส่วน ยังเหลือกี่ส่วน พระโหราธิบดีและโหร มีชื่อกราบทูลพระกรุณาไม่ถูก ทรงพระพิโรธให้ไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน แล้วให้ทำทัณฑกรรมไว้ภายใต้ห้องอาลักษณ์
ลูกประคำหอยโข่งสวมคอ กินข้าวน้ำด้วยกลากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับข้าวอยู่ 8 วัน จึงพ้นโทษ
                  เมื่อเสด็จขึ้น รับสั่งถามท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภาว่าสุริยุปราคาจับเท่าใด ยังเหลือเท่าใด ท้าวสมศักด์ ท้าวโสภา และ
ท่านเฒ่าแก่กราบทูลว่ายังเหลือประมาณนิ้วกึ่ง จึงรับสั่งว่า เขาวัดนิ้วแต่ของผู้ชายดอกกราบทูลก็ไม่ถูก เป็นท้าวนางเสียเปล่าๆ
ให้เฒ่าแก่ท้าวนางไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน จึงให้พ้นโทษแล้วกริ้วเจ้านายและขุนนางซึ่งอยู่รักษาพระนครว่าไม่บอก
การสุริยุปราคาที่กรุงออกไปให้ทรงทราบ แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทำใบออกไปกราบบังคมทูล
มอบไว้ที่หอพระอาลักษณ์ตามพระราชประสงค์
            วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 7 ค่ำ เวลา 07.00 น. เศษ เสด็จออกทรงปรนนิบัติพระสงฆ์
ในพระพุทธนิเวศน์ รับสั่งถามพระราชาคณะด้วยเรื่องสุริยุปราคา พระราชาคณะถวายพระพรไม่ต้องกัน ทรงขัดเคือง
             เหตุการณ์ตอนนี้เป็นเกร็ดสำคัญที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่ง ที่แสดงถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดตามยศถาบรรดาศักดิ์ และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ
ที่ได้รับนิตยภัต แต่มิได้คิดฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเอาใจใส่สนองพระราชประสงค์เท่าที่ควร นี่คือมูลเหตุที่พระองค์
ทรงพิโรธเป็นอันมาก เพราะการพูดและการกระทำที่ไม่ตรงกัน คือ เรามักจะได้ยินคำกราบบังคมทูลว่า มีความจงรักภักดีแต่เวลา
ปฏิบัติไม่ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดี ต้องคอยฟังคำสั่งอย่างนี้ ก็จะฟังเป็นว่า จงรักภักดีด้วยเพ้อๆเท่านั้น หากสามารถคิดอ่าน
ช่วยเหลือตามบทบาทของแต่ละคนอย่างเต็มสติกำลังความสามารถและความคิดระเริ่มของตนเองบ้างแล้ว ก็จะกล่าวได้เต็มปาก
เต็มใจว่าจงรักภักดีอย่างแท้จริง น่าชื่นใจ คือทั้งพูดและปฏิบัติอย่างมีน้ำใจหรือมีความรักผิดชอบ เรื่องนี้ควรเป็นอุทธาหรณ์ที่ดี
สำหรับพวกเราทั้งหลายในปัจจุบันนี้ด้วย
             ครั้นแล้วพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายถึงสุริยุปราคาที่ได้เห็นที่หว้ากอเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ทราบกันตามจริง
และมีรับสั่งให้คัดลอกแบบกันต่อไปถึงเกือบ 50 ราย นับเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องอีกวิธีหนึ่ง
            พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดา
นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในฐานที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง สามารถทรงคำนวณสถานที่ที่จะดูด และเวลา
สุริยุปราคาหมดดวงได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยไม่คลาดเคลื่อนเลย นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่มีชื่อเสียง
โด่งดังปรากฏไปทั่วโลก ในนาม "คิงมงกุฎ" ซึ่งเซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายู ณ เมืองสิงคโปร์ มีความเห็นว่า พระองค์
ทรงเชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์ ที่ทรงสามารถคำนวณกำหนดวันที่จะเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะเกิดในวันที่ 18
สิงหาคม 2411 โดยที่เส้นศูนย์ของอุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ ในพระราชอาณาจักรสยาม ทางฝั่งทะเลตะวันออก
ของแหลมมลายู ตรงเส้นวิตถันดร (แลตติดจูต) 11 องศา 38 ลิปดา ทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร (ลองติดจูต) 29 องศา 39 ลิปดา
ทิศตะวันออก อยู่เกือบชิดเชิงเขาหลวง สูง 4,236 ฟุต อันเป็นที่บนพื้นโลก ซึ่งอุปราคาจะปรากฏหมดดวงนานที่สุดด้วย
            การที่พระองค์ทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกขณะนั้นคือ อังกฤษ และฝรั่งเศส
โดยเฉพาะเซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายู ณ เมืองสิงคโปร์และภริยา มาร่วมดูสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมือง
ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญฝรั่งทุกคนที่ทำงานหรือรับราชการอยู่ในกรุงเทพมหานครมาร่วมด้วยเป็นพิเศษนั่น
เป็นการประสมประสานงานมหกรรมทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่กับการเมืองควบคู่กันไปอย่างแนบเนียนที่สุด คือ มีเรือรบที่สำคัญ
ของอังกฤษ 3 ลำ ชื่อ เรือรบหลวงกราสฮอปเปอร์ เรือรบหลวงซาแคลไลท์ เรือราชการต่างประเทศไปโห ของฝรั่งเศส 2 ลำ คือ
เรือรบหลวงเฟรลอง เรือรบหลวงซาร์ท ของไทยมี 5 ลำ คือ เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เรืออรรคเรศรัตนาสน์ เรือสยามูปสดัมภ์
เรือยงยศอโยชฌิยา เรือขจรชลคดี รวมเรือรบและเรือราชการต่างประเทศสำคัญๆทั้งสิ้น 10 ลำ นับเป็นการชุมนุมกองเรือรบ
พันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
            สำหรับบรรดาแขกต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากจะได้รับทราบถึงพระปรีชาสามารถในทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์
ด้วยตนเองแล้ว ก็ยังได้มาเห็นวิธีการทูตสมัยใหม่ที่มีการปฏิรูปหลายอย่างตามที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นโอกาสที่พระองค์ได้ทั้ง
ประจักษ์พยานที่เป็นชาวต่างประเทศมากมาย พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเช่นกัน
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ได้ทรงเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีอันอบอุ่นประทับใจในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในพิธีการ
ทูตและ พิธีการในพระราชวังให้ทันสมัยขึ้น จนเป็นที่ประหลาดใจแก่ชาวต่างประเทศมาก และทั้งพระปรีชาสามารถของพระองค์
ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนแรกของไทย และขององค์รัชทายาท คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิต
ประชานาถ ในโอกาสอันสำคัญยิ่งครั้งนั้นด้วย
             พระราชกรณียกิจ 10 วันที่ตำบลหว้ากอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้นนับเป็นประวัติศาสตร์โลกได้
เป็นอย่างดีที่สุด ตามที่ได้พรรณนามาจากหลักฐานต่างๆและจากมโนภาพที่ได้มีโอกาสออกไปสำรวจพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการ
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย 2 ครั้ง กับที่ได้ไปราชการที่ท้องที่ตำบลหว้าโทน ในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านหว้ากอใน
ประวัติศาสตร์หลายครั้งข้าพเจ้าในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำใน
พระราชจริยานุวัตรและพระปรีชาสามารถของพระองค์อย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักค้นคว้าที่ทรงมีพระวิริยะ
อุตสาหะเป็นยอด ทรงเป็นนักศึกษาด้วยพระองค์เองเป็นเยี่ยม ทรงเป็นนักสังเกตที่ละเอียดประณีตยิ่ง ทรงเป็นนักปฏิรูปที่ก้าวหน้า
ตลอดเวลา ทรงเป็นผู้บุกเบิกหรือผู้นำทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเป็นพระองค์แรก พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลที่สามารถ
ประสมประสานปัญหาและประโยชน์ต่างๆให้แก้ไขและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดีเยี่ยม สมควรแล้วที่เราชาวไทยจะไดั พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่และถวายสมัญญาแด่พระองค์ว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระองค์ทรงทำให้
โลก สั่นสะเทือนเป็นที่อัศจรรย์ในพระราชกรณียกิจอันเป็นประวัติศาสตร์โลกที่หว้ากอ ซึ่งนำเกียรติยศเกียรติประวัติมาสู่ประเทศ
ไทย ให้ประชาชนคนไทยมีความภาคภูมิใจชั่วกาลนาน ขอเชิญชวนพวกเราชาวไทยได้พร้อมใจกันสืบทอดเจตนารมย์อันสูงส่ง
ด้วยเกียรติคุณทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ท่าน ให้เจริญุร่งเรืองมั่นคงเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รัก
ของเราสืบต่อไป
             ทางด้านรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ 14 เมษายน 2525 อนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นับเป็นข่าวที่น่าปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเพิ่มพูนกำลังใจแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ไทย จักได้เห็นคุณค่าความ
สำคัญและเกียรติของนักวิทยาศาสตร์ไทยมากยิ่งขึ้น และต่อไปพวกเราชาวไทยก็จะได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทิคุณ
แด่องค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยให้ปรากฏต่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 18 สิงหาคมเป็นประจำทุกปี
            ขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย จงทรงเป็นพลังบันดาลใจให้คนไทย เยาวชน
ไทยมีจิตใจรักและศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเจริญรอบตามพระยุคลบาทให้มากยิ่งๆขึ้น เพื่อจะได้สนองพระราชประสงค์
อันแน่วแน่ที่จะให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยะประเทศทั้งหลายในฐานะมิตรประเทศที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี
เสมอกันไปอย่างแท้จริงสืบไป

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, November 30, 2010 10:03 AM
หน่วยงานนี้ทำข้อมูลโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น มิใช่เพื่อการแสวงหาผลกำไร