เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด จากผลิตเพื่อใช้ ถึงผลิตเพื่อจำหน่าย สร้างสรรค์โดย สุด ลำภา เกษตรกรคนสู้ชีวิต แห่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อรัฐบาลมีโครงการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท โดยให้หมู่บ้านจัดทำโครงการความต้องการของแต่ละหมู่บ้านขึ้นมา เพื่อนำเสนอของบประมาณดำเนินการ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีการพิจารณาความต้องการของชุมชน แล้วก็จัดสรรงบประมาณให้ไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์จังหวัดของปี 2552 ที่ผ่านมา

ที่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้ทำโครงการขอสนับสนุนเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด โดยทางอำเภอแม่เปิน โดย ท่านนายอำเภอ วสันต์ เวชศิลป์ ได้นำเสนอโครงการในแผนการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ โดยการของบประมาณจัดซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดตามความต้องการของชุมชนที่เสนอมา ซึ่งโครงการปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดนั้นกำลังเดินหน้าไปด้วยดี โดยมี คุณสุด ลำภา ประธานกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ป้อนสู่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในพื้นที่ และช่วยกันผลิตปุ๋ยส่งขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ที่สั่งซื้อปุ๋ยจากกลุ่ม จัดว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดที่ประสบความสำเร็จของจังหวัดนครสวรรค์ และของอำเภอแม่เปินเลยทีเดียว

คุณสุด กล่าวถึงเมื่อเริ่มแรกก่อนที่จะก้าวเข้ามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองและจำหน่ายว่า เมื่อก่อนในอดีต เกษตรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทาสของปุ๋ยเคมี มีการใช้ปุ๋ยเคมีกันอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ และราคาปุ๋ยเคมีก็สูงขึ้นๆ เกษตรกรจำต้องอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีในราคาแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ไม่คุ้มกับราคาผลผลิตที่ขายไปในแต่ละงวด บางรายขายผลผลิตไปแล้วหักลบกลบหนี้กับเงินที่ซื้อปุ๋ยเคมี แล้วปรากฏว่าติดลบ เกษตรกรต้องเป็นหนี้สินทับถมเรื่อยมา จนกลายเป็นว่ายิ่งทำงานหนักยิ่งเป็นหนี้สิน สาเหตุหนึ่งก็คือค่าใช้จ่ายในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่เป็นต้นทุนการผลิตแต่แรกเริ่มนั่นเอง

คุณสุด กล่าวต่อไปว่า ในที่สุดตนกับพรรคพวกก็มานั่งปรึกษากันว่า น่าที่จะหาทางลดต้นทุนเรื่องของค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีลง วัตถุดิบในท้องถิ่นของเราก็มี ขาดแต่เพียงอุปกรณ์ในการผลิตปุ๋ยเท่านั้น จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้กันเอง เริ่มจากรวมสมาชิกที่มีความคิดแนวทางเดียวกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชนครั้งแรกมีสมาชิก 7 คน กลุ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ครั้งนั้นสมาชิกช่วยกันทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้กันเองโดยที่ไม่มีเครื่องจักรเข้ามาสนับสนุน ใช้แรงงานคนนี่แหละทำกันเอง แบ่งหน้าที่แต่ละคนไปทำ

"เอาวัตถุดิบมารวมกัน แล้วช่วยกันผลิตปุ๋ยหมัก ความรู้ก็ได้รับจากเจ้าหน้าที่เกษตร และพัฒนาที่ดินแนะนำกระบวนการผลิตปุ๋ยทุกขั้นตอน พอทำแล้วก็แบ่งปุ๋ยกันไปใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง"

คุณสุด กล่าวและว่า หลังจากที่ใช้ปุ๋ยแล้วพบว่าสภาพของดินมีชีวิตขึ้นมาเห็นได้ชัด ในดินมีไส้เดือนมากมาย สัตว์เล็กสัตว์น้อยจะมาอาศัยอยู่ในดิน เวลาพรวนดินจะเห็นว่าดินร่วนซุย ซึ่งเมื่อก่อนใช้แต่ปุ๋ยเคมี หน้าดินจะแข็ง ในดินไม่มีสภาพของสิ่งมีชีวิตเลย เสมือนกับแม่พระธรณีได้ตายจากไปแล้ว แต่พอหันมาใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเอง ดินก็พลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา พรรคพวกที่เป็นสมาชิกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า "เราเดินมาถูกทางแล้ว"

นับจากนั้นมาเพื่อนสมาชิกก็มุ่งมั่นทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีการลงขันเริ่มต้นใช้เงินแค่ 50 บาท มารวมกันเอาไปซื้อวัตถุดิบผลิตปุ๋ย พอปีที่ 2 ลงขันทำอีก คราวนี้ลงเงินคนละ 500 บาท ช่วยกันผลิตปุ๋ยแล้วนำปุ๋ยกลับไปใช้กันเอง

ปีที่ 3 ลงขันอีกเป็นเงิน 1,000 บาท ปีที่ 4 ลงเงิน 1,500 บาท ขยับขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่าเพื่อนบ้านเห็นสมาชิกกลุ่มปลูกพืชได้ผลผลิตดี แถมลงทุนน้อย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำกันเองแต่ได้ผลดี จึงปากต่อปากคุยกันถึงเรื่องสภาพของดินและพืชที่ปลูกโตเร็ว เริ่มมีคนมาขอเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 850 คน

คุณสุด บอกว่า ทางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบจ. สนับสนุนเครื่องปั้นเม็ดปุ๋ยมาให้เครื่องหนึ่ง และทางอำเภอโดยท่านวสันต์ เวชศิลป์ นายอำเภอแม่เปิน สนับสนุนเครื่องปั้นเม็ดปุ๋ยมาให้อีกเครื่องหนึ่ง เพื่อผลิตปุ๋ยให้ทันกับความต้องการของผู้ที่สั่งซื้อมา

"หัวใจหลักของเรา จริงๆ แล้วคือผลิตปุ๋ยใช้กันเอง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีราคาแพงมาใช้ เมื่อผลิตเหลือใช้ก็นำออกจำหน่าย ปรากฏว่ามีเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ให้ความสนใจสั่งซื้อปุ๋ย เช่น จากอำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร, อำเภอชนแดน เพชรบูรณ์, อำเภอบางมูลนาค พิจิตร, เขตจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดชัยนาท ก็มีเข้ามาสั่งซื้อจนผลิตให้แทบไม่ทันกับความต้องการ ทางอำเภอแม่เปินถึงได้สนับสนุนเครื่องปั้นเม็ดปุ๋ยเพิ่มขึ้นอีก 1 เครื่อง เพื่อให้ผลิตตามใบสั่งซื้อได้ทัน

คุณสุด บอกว่า ทุกวันนี้จะมีเพื่อนเกษตรกรจากที่ต่างๆ เข้ามาดูงานการผลิตปุ๋ยที่กลุ่มมากมาย มาขอข้อมูลต่างๆ บ้างก็มาฟังคำบรรยาย เพื่อนำเอาความรู้ไปทำกันเองในหมู่บ้าน เรื่องนี้กลุ่มไม่ได้ทำเป็นธุรกิจการค้า ไม่สงวนลิขสิทธิ์อะไรเลย เราจะถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยาทานให้กับทุกคนที่เข้ามาขอความรู้ เมื่อเขานำความรู้กลับไปสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนได้ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว

"เมื่อเขาเข้ามาสั่งซื้อปุ๋ยกับกลุ่ม ก็เท่ากับเขามาสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเพื่อนสมาชิกในชุมชน ฉะนั้นเราก็คืนกำไรให้กับเขาโดยการให้ความรู้แก่เขาเป็นการตอบแทน"

คุณสุด กล่าวและว่า แต่บางกลุ่มก็ไม่พร้อมที่จะผลิตปุ๋ยใช้กันเอง เขาใช้วิธีรวมเงินกันในกลุ่มมาซื้อปุ๋ยไปใช้ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่คิดใช้กัน อยู่ที่ว่าชุมชนไหนจะสะดวกแบบใด หากทำปุ๋ยใช้เองสะดวกก็ทำ ถ้าไม่สะดวกจะสั่งซื้อปุ๋ยไปใช้ก็ได้

คุณสุด บอกอีกว่า การที่มีลูกค้าสั่งซื้อปุ๋ยจากกลุ่มก็เหมือนกับเขาช่วยสร้างงานในชุมชน เพราะกลุ่มต้องจ้างสมาชิกมาช่วยกันผลิตปุ๋ย ให้ค่าแรงวันละ 200 บาท พอถึงสิ้นปีสมาชิกจะได้เงินปันผลที่เป็นกำไรอีกทีหนึ่ง

ตอนแรกๆ ก็ยังไม่ค่อยมีออเดอร์เท่าไหร่ ทำๆ หยุดๆ พอมาระยะหลังคนเริ่มรู้จักปุ๋ยของกลุ่มมากขึ้น มีออเดอร์เข้ามามากมายเลย กลางวันสมาชิกเข้าไร่เข้านาของตนเองก่อน พอ 6 โมงเย็น ก็มาช่วยกันผลิตปุ๋ยจนถึง 3 ทุ่ม เดือนหนึ่งผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 50 ตัน ยอดสั่งซื้อปีหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 5,000 ตัน ต้องเร่งผลิตปุ๋ยส่งให้ทันฤดูกาลผลิตในแต่ละช่วงด้วย

ทางอำเภอมีโครงการเผยแพร่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สู่ชุมชนอื่นๆ โดยใช้กลุ่มของ คุณสุด ลำภา เป็นต้นแบบนั้น คุณสุด ลำภา บอกว่า การขยายเครือข่ายไปสู่ภายนอกนั้น ตนตอบได้เลยว่าดีที่สุด ถ้ามีงบประมาณต่อยอดไปยังชุมชนอื่นๆ ให้แต่ละชุมชนมีรายได้ขึ้นมา เพื่อนเกษตรกรก็จะมีงานทำมีเงินเพิ่มขึ้น

"ต้องขอย้อนถามกลับไปว่า ความพร้อมของหมู่บ้านนั้นๆ มีแล้วหรือยัง ถ้ามีความพร้อมแล้ว โอเค ทำได้เลย"

คุณสุด กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนเร่งเครื่องจักรให้กับชุมชน ทำไปทำมาเครื่องจักรนั้นๆ ถูกตั้งทิ้งไว้เฉยๆ กลายเป็นอนุสาวรีย์ในชุมชนให้คนมองแล้วก็ผ่านไป

"ผมเองก็งงเหมือนกัน สิ่งดีๆ ที่ภาครัฐ ภาคเอกชนเขายื่นโอกาสให้ แต่ชาวบ้านเองกลับไม่ใช้โอกาสนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ ปล่อยให้เครื่องจักรบ้าง โรงงานบ้าง ถูกทอดทิ้งให้เสียประโยชน์"

คุณสุด กล่าวอีกว่า ตนจึงได้ถามเสียก่อนว่า "ท่านพร้อมที่จะทำแล้วหรือยัง" ถ้ามีความพร้อมก็ไม่มีปัญหาอะไร เรื่ององค์ความรู้การผลิตปุ๋ยนั้นไม่ยาก ไปดูงาน ไปฟังคำบรรยายแล้วก็จดจำไว้ นำความรู้กลับมาทำเอง ไม่ช้าก็เก่ง ความสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อคุณรับเครื่องจักรผลิตปุ๋ยไปแล้วคุณจะทำจริงหรือเปล่า คุณสร้างงานให้กับชุมชน สร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้ไหม ตรงนี้ต้องทบทวนให้ดีก่อนทำ

นอกจากนี้ การผลิตปุ๋ยจะทำแบบตาอินตานา ตาสีตาสาทำกันเหมือนสมัยก่อนนั้นไม่ได้อีกแล้ว การทำต้องทำไปพร้อมกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องนำหลักวิชาการมาใช้ สามารถตรวจวิเคราะห์ปุ๋ยได้ด้วยว่า ในปุ๋ยของเรานั้นมีธาตุอาหารครบถ้วนไหม เป็นปุ๋ยที่ได้มาตรฐานหรือไม่ การปั้นปุ๋ยนั้นใครๆ ก็ปั้นได้ ไปหาจานปั้นปุ๋ยมาก็ทำได้แล้ว แต่ถ้าจะทำให้ปุ๋ยมีคุณภาพนั้นทำได้หรือเปล่า ตรงนี้สำคัญมาก เพราะความเชื่อถือของลูกค้าอยู่ตรงที่ปุ๋ยของเรามีคุณภาพ เมื่อเขาซื้อไปใช้แล้วได้ผลผลิตดี พืชเจริญเติบโตดีหรือไม่ ตรงนี้คือหัวใจของการผลิตปุ๋ยให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่ม คุณสุดบอกว่า มีโลโก้เป็นของเราเอง ใช้ตราปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เขาแหลม กับปุ๋ยสูตรพิเศษ 3 ตราแก้วมังกร ใช้กับนาข้าวและไม้ผล แล้วก็พืชไร่ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง 2 สูตร แล้วแต่จะนำไปใช้กัน

สนใจติดต่อขอเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย หรือจะสั่งซื้อปุ๋ยไปใช้กันเองก็ได้ เท่ากับว่าได้ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โทร. (087) 840-9328 ได้ทุกวัน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครสวรรค์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 472
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM