เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มหัศจรรย์นิวเคลียร์ "ทำหมันแมลงวันผลไม้ สารละลายโปรตีนไหม" ลดความเสียหาย และเพิ่มมูลค่าผลผลิตในมังคุด
   
ปัญหา :
 
 
มหัศจรรย์นิวเคลียร์ "ทำหมันแมลงวันผลไม้ สารละลายโปรตีนไหม" ลดความเสียหาย และเพิ่มมูลค่าผลผลิตในมังคุด

หากกล่าวถึง นิวเคลียร์ เกษตรกรหลายท่านคงจะไม่คุ้นหูกันนัก เมื่อได้ยินก็คงตกใจกันน่าดู เพราะคำว่านิวเคลียร์ ชาวบ้านจะเข้าใจกันว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง มีพลังอำนาจในการทำลายล้างสูง มักนำมาใช้ในทางสงคราม แต่ในทางกลับกันความร้ายกาจของนิวเคลียร์ก็ยังมีคุณประโยชน์เป็นอันมาก


มนุษย์สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรม กสิกรรมได้ โดยการฉายรังสี ซึ่งรังสีที่ใช้เป็นรังสีแกมมา ส่วนปริมาณการฉายขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าว่าเป็นอะไร เครื่องมือการแพทย์ อาหารสัตว์ อาหารกระป๋อง และผลไม้สด แต่ละชนิดระดับรังสีที่ฉายจะไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องอันตรายนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์บอกว่า การฉายรังสีเป็นเพียงการส่งผ่านพลังงานเท่านั้น ส่วนสารกัมมันตรังสี (โคบอลต์ 60) ไม่ได้สัมผัสกับสินค้าที่นำมาฉายรังสีแม้แต่น้อย ดังนั้น สินค้าที่ผ่านการฉายรังสีจึงสะอาด ไม่มีปริมาณรังสีตกค้าง

เกษตรกรหลายท่านคงตกใจน่าดู ด้วยความกลัวจากข่าวคนที่ได้รับสารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก ทำให้เป็นมะเร็ง เป็นหมันได้ หลายท่านคงจะพอทราบกันบ้างแล้วว่า นิวเคลียร์มันไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กล่าวว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ จำนวน 6 ชนิด

ได้แก่ สับปะรด เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

มะม่วง เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

ลิ้นจี่ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

มังคุด ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เดือนเมษายนถึงกันยายน

เงาะ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เดือนเมษายนถึงสิงหาคม

ลำไย ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

ประเทศไทยส่งออกให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 100 ตัน ต่อวัน ซึ่งคุณภาพของผลไม้ที่ส่งออกจะต้องปลอดสารเคมี ไม่มีสารพิษตกค้าง ตรงตามมาตรฐาน GMP ของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง ทาง สทน. จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และนำมาใช้ในการเกษตร โดยได้รับความร่วมมือจากทางสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้รับใบอนุญาต (วีซ่า) นำเข้าผลไม้ไทยจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาขยายต่อให้กับ บริษัท ไอโซตรอน จนสามารถได้รับใบอนุญาตการส่งออกผลไม้ แต่ทาง สทน. เองไม่สามารถใช้เครื่องฉายรังสีให้ได้ผลไม้ตามปริมาณที่สหรัฐอเมริกาต้องการในแต่ละวัน

ปกติสามารถนำผลไม้มาฉายรังสีได้เพียง 20 ตัน ต่อวัน แต่สหรัฐอเมริกาต้องการปริมาณมากกว่า 100 ตัน ดังนั้น บริษัท ไอโซตรอน สามารถใช้เครื่องฉายรังสีเพื่อลดจำนวนสารเคมี เชื้อโรคของผลไม้ ได้ในปริมาณที่มากกว่า 60 ตัน ต่อวัน จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการส่งออกไม้ผลทั้ง 6 ชนิด

จังหวัดจันทบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องเมืองไม้ผล เกษตรกรมีการส่งออกผลไม้กันมาก แต่มักประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลง โดยเฉพาะแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่อันตรายที่สุด ถึงแม้ตัวจะจิ๋วแต่ความสามารถในการสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรก็มาก เจ้าแมลงวันชนิดนี้มันมีการเติบโตและขยายพันธุ์รวดเร็วมาก ฟักไข่ทีละหลายพันฟอง ชาวสวนเกิดปัญหาเข้าตาจนหาทางแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ได้แต่ป้องกันเพื่อลดความสูญเสียแก่ผลผลิต

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหานี้ ทาง สทน. จึงได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ โดยการฉายรังสีทำให้แมลงวันเจาะผลไม้เป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์และวางไข่ได้ เพื่อช่วยลดความสูญเสียของผลผลิต ซึ่งพื้นที่ที่ทดลองคือเกษตรกรชาวสวนตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ทางทีมงานได้ลงพื้นที่และทำการวิจัยภายใต้โครงการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีผสมผสาน โดยได้รับความร่วมมือจากทางองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล และเยาวชนโรงเรียนบ้านตรอกนอง เป็นแนวร่วมสำคัญในการกระจายข่าวสารและเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ทางการเกษตร

คุณวณิช ลิ่มโอภาสมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ กล่าวว่า การทำให้แมลงวันผลไม้เป็นหมันนั้น เริ่มแรกทางทีมงานและแนวร่วมในพื้นที่จะดักจับแมลงวันผลไม้มาเพาะเลี้ยงเป็นล้านๆ ตัว โดยจะนำเอาพ่อแม่พันธุ์ของแมลงวันผลไม้มาเพาะเลี้ยง เพื่อให้ขยายพันธุ์ในปริมาณมาก ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงแมลงวันในห้องแล็บจะเป็นอาหารวุ้นที่มีส่วนผสมของน้ำหวานและน้ำ

เลี้ยงแมลงวันผลไม้ในกล่องสี่เหลี่ยม จากนั้นก็นำแมลงวันผลไม้ที่จับได้มาฉายรังสี (แกมมา) ทำให้เป็นหมัน แล้วก็ปล่อยแมลงวันผลไม้ออกสู่พื้นที่กว้าง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเมื่อแมลงวันผลไม้ตัวผู้ที่เป็นหมันไปผสมกับแมลงวันผลไม้ที่อยู่ตามธรรมชาติ ทำให้ตัวเมียไม่สามารถวางไข่ได้ ในขั้นตอนการฉายรังสีนั้นจะฉายในระยะดักแด้ เมื่อแมลงวันผลไม้ไม่สามารถวางไข่ได้ ประชากรก็ลดลง ส่งผลให้ผลไม้ของเกษตรกรถูกทำลายน้อยลง ช่วยลดความสูญเสียของผลผลิต เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ไม้ผลตัวไหนที่ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ปัจจุบันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ อย่างเช่น กล้วย ชมพู่ ลองกอง จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญและทีมงานพบว่า เกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีฉายรังสีแมลงวันผลไม้ในแถบละแวกนี้ มีความพอใจกับผลผลิตที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณวณิช บอกว่า นอกจากจะใช้วิธีนี้แล้ว เกษตรกรควรจะใช้วิธีการจัดการผลผลิตแบบผสมผสานด้วย เพื่อป้องกันการสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด แต่ทางทีมงานก็ประสบปัญหาจากความไม่ร่วมมือของเกษตรกรที่ไม่เห็นความสำคัญของวิธีการนี้เช่นกัน หากเกษตรกรหรือมีผู้ที่สนใจ ทางผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำ และพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสนับสนุน แต่ทางทีมงานยังขาดกำลังคนและงบประมาณในการสนับสนุน



ตัวอย่างหนึ่งของโครงการ

เยาวชนจากโรงเรียนตรอกนองรวมกลุ่มกันทำสารสกัดจากต้นสะคร้าน (พริกไทย) และสมุนไพรอื่นๆ เพื่อนำมาทำเป็นสารฟีโรโมนดักจับแมลงวันผลไม้ จากนั้นก็นำไปเพาะเลี้ยง ไปฉายรังสี แล้วปล่อยออกสู่ธรรมชาติ

เป็นอีกโครงการหนึ่งของ สทน. ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ เยาวชนตรอกนองยังทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ที่ได้มาจากสวนของแต่ละคน เก็บผลที่เน่าเสียจะไม่ทิ้ง สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการทำปุ๋ยขาย (มีรายได้เข้าโรงเรียน) และทำไว้ใช้รดแปลงเกษตรของโรงเรียนด้วย

นอกจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะสามารถนำมาใช้ลดประชากรของแมลงวันผลไม้โดยการทำให้เป็นหมันแล้ว

ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ คุณสิรินาฎ เลาหะโรจนพันธ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า จากการดำเนินงานเรื่องการทำให้แมลงวันผลไม้เป็นหมันแล้ว หมู่บ้านตรอกนองยังเป็นหมู่บ้านส่งออกมังคุด โดยได้รับความดูแลจากทาง สทน. มีโครงการต่อยอดอีกก็คือ การใช้โปรตีนไหมเพื่อเพิ่มมูลค่ามังคุดเพื่อการส่งออก เมื่อใช้กับมังคุดแล้วจะทำให้ผลมีสีสวยงาม ขั้วผลมีสีเขียวสด เก็บรักษาได้นาน สามารถนำไปฉีดพ่นทำให้ช่อดอกแตกช่อดีด้วย

มีเกษตรกรท่านหนึ่งที่อยู่จังหวัดอ่างทอง ก็นำสารละลายโปรตีนไหมไปใช้ในนาข้าว ฉีดพ่นในนาข้าว สามารถป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาทำเป็นสบู่สมุนไพรที่ทำจากสารละลายโปรตีนไหมได้อีกด้วย ตัวอย่างที่ผู้เขียนได้พบเห็นจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็คือ เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี

คุณชนะพล โห้หาญ เกษตรกรสวนไม้ผล บ้านตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ทำสวนผลไม้บนพื้นที่ 16 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกมังคุดกับลองกอง จำนวน 5 ไร่ พื้นที่ส่วนที่เหลือปลูกสะละ เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่มีประสบปัญหาเรื่องแมลงวันผลไม้เจาะผลไม้ จึงทดลองใช้สารละลายโปรตีนไหมฉีดพ่นบนพื้นที่สวนมังคุด จำนวน 3 ไร่ ซึ่งสารละลายโปรตีนไหม 1 ถัง มีจำนวน 200 ลิตร สามารถฉีดพ่นได้ประมาณ 20 กว่าต้น พื้นที่ 3 ไร่ ก็ใช้ประมาณ 4 ถัง เจ้าของสวนจะฉีดพ่น 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกระยะที่มังคุดออกดอก ครั้งที่สองระยะที่มังคุดออกลูก และครั้งที่สามช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณชนะพล ใช้สารละลายโปรตีนไหมมาแล้วนับเวลาได้ 3 ปี ผลปรากฏว่าจากที่เคยขายส่งให้กับพ่อค้า พ่อค้าก็จะชมกลับมาว่า เวลาที่มังคุดสุกเต็มที่ บริเวณตรงหัวจะคงสีเขียวอยู่นาน ผลสวยกลมใหญ่ ผู้ใช้เคยทดลองเปรียบเทียบการใช้สารละลายโปรตีนไหมกับฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด พบว่า มังคุดที่ใช้สารละลายโปรตีนไหมมีอายุการเก็บรักษายาวนานกว่า หากพูดถึงเรื่องราคาการลงทุนใกล้เคียงกัน แต่คุณภาพผลผลิตที่ใช้สารละลายโปรตีนไหมจะดีกว่า คือมีผลสด เก็บได้นาน ถ้าต้องการเห็นภาพจริง ก็สามารถไปดูได้ที่สวนของ คุณชนะพล จังหวัดจันทบุรี หรือโทร.สอบถามโดยตรงที่ (081) 590-6611

หากเกษตรกรท่านใดสนใจเทคโนโลยีที่กล่าวถึงนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. (02) 596-7600 ต่อ 3218, 3221 หรือ 9/9 หมู่ที่ 7 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120 โทร. (037) 392-901-6

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 472
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM