เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รายละเอียดงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย ตอนที่ 4
   
ปัญหา :
 
 
หลังจากเสร็จสิ้นงานสัมมนา "มหัศจรรย์... มะพร้าวไทย" ในช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านก็ได้เต็มอิ่มกับหลากเมนูจากมะพร้าวแสนอร่อย พร้อมชิมไอศครีมกะทิที่ผลิตจากมะพร้าวน้ำหอม ฝีมือ คุณอุดม เสิศจรรยารักษ์ (ถ้าใครยังติดใจในรสชาติ ติดต่อได้ที่ โทร. (086) 676-0922 จากนั้นบรรยากาศภายในส่วนแสดงพันธุ์มะพร้าวก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม อีกทั้งยังมีการสาธิตการสกัดน้ำมันมะพร้าวแบบเย็น โดยกรมวิชาการเกษตร การแสดงผลงานผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นาซี 77 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลาทักษิณาวัฒน์ ผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณา โดย บริษัท อาริยะพรธุรกิจ จำกัด และไฮลักซ์วีโก้ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ก่อนเริ่มการเสวนาภาคบ่าย อาจารย์ประทีป กุณาศล เพิ่มเติมความรู้เรื่องมะพร้าวแด่ผู้เข้าร่วมสัมมนา พร้อมภาพประกอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อาจารย์ประทีป : อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่า มะพร้าว เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง คราวนี้มาดูสถานการณ์มะพร้าวในบ้านเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับผมจะคุ้นเคยกับมะพร้าวน้ำหอม เพราะที่บ้านปลูกอยู่ ซึ่งตลาดมะพร้าวน้ำหอมก็กำลังดีและก็ดีขึ้นเรื่อยๆ หากใครมีที่ดินที่เหมาะไม่ไกลนัก น้ำดี ดินดี ไม่ไกลจากตลาดมาก ก็ขอแนะนำให้มาปลูก ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะคุ้มค่า ในปีแรกๆ อาจจะมีการลงทุนสูง แต่ต่อไปก็จะดีขึ้น ขณะนี้ตลาดที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน ก็อย่างที่เรียนไว้แล้วในช่วงแรกๆ ว่า บริษัทที่ผมคุ้นเคยเขาส่งไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนถึง 6 ล้านผล ต่อปี ส่วนอีกแห่งหนึ่งส่งไปที่ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 7 ล้านผล ต่อปี แต่ขนาดลูกไม่ค่อยใหญ่มาก จะเห็นว่าแค่สองแห่งนี้ก็เป็นจำนวน 10 กว่าล้านลูกแล้ว ถ้าหากคิดลูกละ 10 บาท ก็เป็นมูลค่าไม่ใช่น้อยเลย

น้ำมะพร้าวน้ำหอมนั้นดีอย่างไร อย่างแรกที่เกี่ยวกับการขับของเสียออกจากร่างกายนั้นเป็นเรื่องจริง สำหรับสาวๆ โดยเฉพาะสาวน้อยที่จะต้องบำรุงผิวพรรณอย่างดีเลย เพราะการดื่มน้ำมะพร้าวบ่อยๆ จะทำให้ผิวพรรณเต่งตึงขึ้นก็ประมาณสัก 3 ผล ต่อสัปดาห์ ถ้าท่านจะรับประทานมะพร้าวเผาให้อร่อยและไม่มีสารเจือปน ต้องไปที่เส้นพระประโทนกับบ้านแพ้ว แถวสาย 2 พระราม 2 บริเวณนั้นจะมีมะพร้าวเผาขายมากมาย ราคาผลละ 7 บาท ซื้อมามากๆ แล้วนำไปใส่ตู้เย็นไว้ เวลาเปิดดื่มเย็นๆ จะรู้สึกชื่นใจ

เมื่อช่วงแรกที่ผมพูดเรื่องปุ๋ยที่ได้จากน้ำมะพร้าวแก่นำมาหมักนั้นจะมีฮอร์โมนอยู่ด้วย ทำให้พืชออกดอกได้ดีขึ้น หรือถ้ารากลงดินระบบรากจะดีขึ้น ส่วนวิธีหมักก็ไม่ยาก เพียงเติมกากน้ำตาลผสมขี้ค้างคาวเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน และหากต้องการได้สูตรการหมักที่ละเอียด ก็ให้ติดต่อกับผมโดยตรงตามหมายเลขโทรศัพท์ในเอกสารที่ได้แจกไป มะพร้าวเผาอีกชนิดหนึ่งคือ มะพร้าวเผาไม่แท้ ซึ่งก็มีวิธีการทำโดยต้มก่อน แล้วเอาไฟเผาตรงหัวเล็กน้อย มะพร้าวเผาจะมีปัญหา เพราะระหว่างที่ต้มมีการแช่น้ำยา หรือบางทีก็ต้มลงไปเลยแล้วก็ใส่สารโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ลงไป ซึ่งอย่างที่ ท่านอาจารย์จริงแท้ บอกแล้วว่าจะต้องไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผมไปเห็นจริงๆ ดูแล้วว่าเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะต้ม ซึ่งพอมะพร้าวเย็นตัวก็จะสามารถดูดสารดังกล่าวเข้าไปในเนื้อได้ ยิ่งบางลูกที่มีรอยร้าวที่มาขายกันลูกละ 3 บาท พวกเราจะต้องมีการแนะนำกันทุกคนว่าอย่าไปซื้อมารับประทานเด็ดขาด ถึงแม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยแพ้สารดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอันตรายหากบริโภคมากๆ และบ่อยๆ เพราะจะส่งผลให้เลือดในร่างกายจะไม่รับออกซิเจน ผมเองก็พยายามจะรณรงค์บอกกล่าวกันและบอกหลายคนว่า อย่าให้การสนับสนุนเลย ซึ่งจริงๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำให้ลูกมะพร้าวมีสีขาวน่ากลัวอย่างนั้น

มีอีกเรื่องคือ การปอกมะพร้าว ซึ่งเป็นการปอกโดยใช้มีดที่มีลักษณะคล้ายเขาสัตว์ กว้านเข้าไปแล้วจะได้เนื้อมะพร้าวขณะที่น้ำยังอยู่ในลูกมะพร้าว ซึ่งหากใครสนใจอยากรู้รายละเอียดให้เข้าไปดูได้ที่ youtube แล้วพิมพ์ว่า Amazing coconut opening ก็จะได้เป็นคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการปอกมะพร้าวสัก 3 นาที วิธีการในต่างประเทศน่าสนใจมาก สำหรับขุยมะพร้าวก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ และสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี ประเทศแคนาดาที่อยู่ห่างไกลจากประเทศเรามากมีความสนใจเป็นพิเศษ มาซื้อขุยมะพร้าวจากประเทศไทยและศรีลังกาไปใช้

สำหรับประโยชน์ของมะพร้าวอีกอย่างคือ ตะโหงกมะพร้าว หรือ ทางมะพร้าว นำไปปักในนาก็จะเป็นที่สำหรับให้นกเค้าแมวมาเกาะได้สะดวก ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนกเค้าแมวที่คอยมาจับกินหนูในนา เราจะเห็นได้ว่าประโยชน์จากมะพร้าวมีอยู่หลากหลาย

หลังจากอาจารย์ประทีปเล่าเรื่องมะพร้าวเพิ่มเติมพร้อมภาพประกอบ คุณสมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร จึงได้บรรยายเรื่อง "ผลงานวิจัยการผลิตพันธุ์มะพร้าวกะทิ" และ "มหัศจรรย์...น้ำมะพร้าว" ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดที่น่าภูมิใจมาก เพราะผลงานวิจัยการผลิตมะพร้าวกะทิลูกผสมที่ได้ดำเนินการโดยกรมวิชาการเกษตร นับเป็นผลงานแห่งเดียวในโลกที่คิดปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ โดยบรรดาประเทศสมาชิกชมรมมะพร้าวแห่งเอเชีย ในส่วนผู้ร่วมดำเนินการในการวิจัยในครั้งนี้ก็มีอยู่ 3 ท่าน คือ คุณสมชายเอง คุณสมเดช และ ผอ.พิศวาส โดยใช้เวลามาตั้งแต่ ปี 2538 วัตถุประสงค์ของการทดลองก็เพื่อให้ได้มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดี คุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง เพื่อเผยแพร่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าและเพื่อการส่งออก สำหรับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ยพันธุ์แท้ต่อไป

มะพร้าวกะทิ คือมะพร้าวอะไร?

คุณสมชาย : ทุกคนคงทราบว่า มะพร้าวกะทินั้นค่อนข้างหายาก สมัยที่ผมเป็นเด็กช่วยยายปอกมะพร้าวทำขนม 500 ลูก จะเจอสัก 1 ลูก ก็ถือว่าวิเศษมาก มะพร้าวกะทิคือ มะพร้าวที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม รสชาติหวานมัน อร่อย เหมาะสำหรับเป็นอาหารว่าง ลักษณะของมะพร้าวกะทิมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ 1. เนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียว 2. เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นปานกลาง และ 3. เนื้อนิ่ม ไม่ฟู น้ำใส มะพร้าวกะทิในธรรมชาติโดยปกติเป็นมะพร้าวลูกผสม แต่เราจะไม่ทราบว่ามะพร้าวต้นนั้นมีกะทิที่แตกต่างกับมะพร้าวพันธุ์อื่นๆ นอกเสียจากว่าจะเก็บผลมาตอนแก่แล้วจึงทราบว่าบางลูกเป็นกะทิ ปกติถ้าตามทฤษฎีแล้วจะได้อัตราส่วน 3 ส่วน เป็นมะพร้าวธรรมดา และ 1 ส่วน เป็นมะพร้าวกะทิ

สำหรับพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์ดั้งเดิมตามทฤษฎีการเกิดตามธรรมชาติ ถ้าเรานำมะพร้าวกะทิลูกผสมไปปลูกในพื้นที่เดียวกันจำนวนหลายต้น แล้วเป็นแปลงที่อยู่ห่างไกลจากมะพร้าวธรรมดา ดังนั้น การเกิดของมะพร้าวจึงจะเป็นอัตราส่วนคือ มะพร้าวธรรมดา 1 ส่วน และมะพร้าวลูกผสม 2 ส่วน ซึ่ง 3 ส่วนนี้ จะเป็นมะพร้าวธรรมดา แต่ 2 ส่วนนี้ ถ้านำไปปลูกจะได้มะพร้าวกะทิลูกผสม และอีก 1 ส่วน จะเป็นลูกกะทิเลย นำไปเพาะจะไม่งอก ก็จะใช้ในการบริโภค

ตามสภาพการเกิดมะพร้าวกะทิในสวนเกษตรกร จะพบว่า มะพร้าวกะทิที่เก็บมาและขยายพันธุ์ต่อจะเป็นมะพร้าวกะทิลูกผสมน้อย ดังนั้น เกษตรกรที่เก็บมะพร้าวกะทิจากต้นที่เป็นกะทิลูกผสมในสวนไปขายแล้วบอกว่าทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นี้เป็นมะพร้าวกะทิผสม ซึ่งอันที่จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เกษตรกรก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงความเข้าใจผิดเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้ในด้านนี้ โอกาสที่จะได้กะทิลูกผสมจริงนั้นมีน้อย มะพร้าวกะทิแท้เกิดจากการนำคัพภะของมะพร้าวกะทิมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อ ต้นที่ได้จึงเป็นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้

เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดลูกผสมกะทิในธรรมชาติมีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ และยากต่อการพิสูจน์ต้นที่เป็นพันธุ์ลูกผสมกะทิ ดังนั้นสถาบันวิจัยพืชสวนจึงได้ปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ ซึ่งตอนแรกที่ได้เริ่มดำเนินการก็ได้ถูกต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์บอกว่าเป็นโครงการโง่ๆ ที่เมื่อทำไปแล้วมะพร้าวที่นำไปคั้นเป็นกะทิแล้วจะผลิตน้ำมันไม่ได้ แต่ผมมั่นใจว่ามะพร้าวกะทิจะมีราคาดีและสามารถส่งออกได้ จึงได้ดำเนินการ ซึ่งการผสมพันธุ์ช่วงที่ 1 ได้ใช้มะพร้าวต้นธรรมดาผสมกับละอองเกสรมะพร้าวกะทิ ก็จะได้มะพร้าวกะทิที่งอกได้เป็นลูกผสมก็จับมาผสมพันธุ์ ไม่รอให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยการทดลองได้ทำทั้งหมด 4 ครั้ง ใช้พ่อพันธุ์คือพันธุ์กะทินำมาผสมใช้ต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุ 7-8 ปี ประมาณ 100 ต้น และใช้ละอองเกสรจากมะพร้าวกะทิที่เกาะทองผาภูมิที่ได้คัดเลือกไว้แล้ว จำนวน 45 ต้น ปลูกพันธุ์มะพร้าวกะทิลูกผสมทั้งหมด 16 ต้น ต่อครั้ง เราทำทั้งหมด 4 ครั้ง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยมีการบันทึกข้อมูลรายละเอียดไว้หลายอย่าง หลายด้าน เช่น ขนาดรอบโคน ขนาดรอบลำต้น ความสูงลำต้น จำนวนใบ จำนวนใบเพิ่ม ความถ่างใบ ฯลฯ เป็นต้น เพื่อจะได้ศึกษาว่าเป็นลักษณะเฉพาะของพันธุ์แต่ละพันธุ์ และอายุการแตกของใบย่อยก็จะบ่งบอกถึงอายุการตกผล จำนวนใบย่อยและลักษณะของทรงพุ่มด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการคัดเลือกต้นว่าต้นไหนดีและเหมาะสม ซึ่งได้บันทึกทั้งมะพร้าวธรรมดาและมะพร้าวกะทิ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเวลาที่นำไปปลูก ซึ่งก็จะได้มะพร้าวกะทิ 25 เปอร์เซ็นต์ มะพร้าวธรรมดา 75 เปอร์เซ็นต์ ก็จะขายได้ในราคาดี

การศึกษาทางด้านการเจริญเติบโตในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ของมะพร้าวขนาดของรอบโคน ตอนที่เริ่มปลูกจะเห็นใกล้เคียงกันในรอบโคน พอปีที่ 4 มะพร้าวพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูงจะมีโคนใหญ่ที่สุด เนื่องจากมะพร้าวจะมีการเจริญเติบโตทางด้านกว้าง ดังนั้น พอขึ้นปีที่ 5 มันจึงหยุดการเจริญเติบโตและจะคงที่

ลักษณะทรงพุ่มของมะพร้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ จะบอกว่า ลักษณะที่ไม่ดีคือลักษณะที่เป็นรูปตัววี (v) คือมันตั้งขึ้น ปรากฏว่าลูกผสมที่ได้คัดเลือกมาใน 5 สายพันธุ์นั้น จะไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย สำหรับลักษณะที่ดีคือเป็นทรงกลม ครึ่งวงกลมหรือตัวเอ็กซ์ (x) แต่ตัวเอ็กซ์นั้นจะเป็นลักษณะเฉพาะสายพันธุ์ของเวสท์อัฟริกันต้นสูง ประมาณ 54 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอายุของการออกจั่นซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ปรากฏว่ามะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวกะทิต้นแรกที่ออกจั่นก็ประมาณ 31 เดือน การนับจำนวนการออกจั่นหมายถึงการศึกษาต้นพันธุ์นั้นๆ ว่า ออกจั่นเมื่อไร ก็จะใช้จำนวนต้นทั้งหมด 50 เปอร์เซ็นต์ และดูว่าออกจั่นครบ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใด ปรากฏว่ามะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวกะทิ ประมาณ 39 เดือน หรือ 3 ปีเศษ การที่ได้ศึกษาความสูงของจั่นเพราะว่าจะดูว่าความสูงของมันเวลาออกจั่นแล้วทะลายที่ห้อยลงมา จั่นของมะพร้าวทั้ง 4 สายพันธุ์ จะประมาณ 85-87 เซนติเมตร พอติดลูกแล้วก็จะห้อยลงมา เพราะฉะนั้นทะลายก็จะอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 50-60 เซนติเมตร ส่วนเวสท์อัฟริกันต้นสูงจะประมาณ 2 เมตรเศษ ดังนั้น เวลาออกลูกก็จะประมาณ 1 เมตรเศษ

สำหรับผลผลิตกะทิปรากฏว่า มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย จะให้ผลผลิตสูงสุด เรานับจำนวนทั้งหมด 3 ปี ที่เราใช้ 4 และ 5 ควบกันเพราะพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง 3 ปี ยังไม่ออกจั่น พอปีที่ 4 จึงได้ออกจั่น เราจึงต้องใช้วิธีควบปีกัน พันธุ์ที่รองลงมาคือ พันธุ์ทุ่งเคล็ด และพันธุ์กะทิที่ให้ผลผลิตสูงรองลงมาจากมะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมะพร้าวกะทิคือในปีที่ 4 ได้ลองนำพันธุ์มะพร้าวกะทิแท้ละอองเกสรเข้าไปผสม ปรากฏว่าในระยะ 4-5 ปี ได้กะทิถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เวสท์อัฟริกันต้นสูงได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ากฎของเมนเดลที่ควรจะได้ ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และพอนำละอองเกสรของมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้แล้วปรากฏว่าได้สูงกว่า ก็จะใช้เป็นคำแนะนำถ่ายทอดเทคโนโลยีในภายหลังเวลาที่เกษตรกรนำไปปลูกแล้วอยากได้พันธุ์กะทิเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เราก็ใช้วิธีการทำหมันมะพร้าวและนำละอองเกสรมะพร้าวกะทิไปผสม ที่เปอร์เซ็นต์ไม่เป็นไปตามกฎของเมนเดล เพราะมีมะพร้าวธรรมดาผสมอยู่ในส่วนนั้น ดังนั้น จึงต้องกำจัดมะพร้าวธรรมดาออกให้หมด ถ้าเราไปทำสวนมะพร้าวกะทิลูกผสม

ผลผลิตมะพร้าวธรรมดาปรากฏว่ามลายูสีเหลืองต้นเตี้ยได้ผลผลิตสูงสุดคือ 2,717 ผล ต่อต้น ต่อ 3 ปี สำหรับผลผลิตรวมของมะพร้าวลูกผสมมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกับมะพร้าวกะทิ จะให้ผลมะพร้าวสูงสุด 3,378 ผล ต่อไร่ ต่อ 3 ปี และทุ่งเคล็ดรองลงมา คือ 2,864 ผล ต่อไร่ ต่อ 3 ปี ส่วนมลายูสีแดงต้นเตี้ย 2,768 ผล ต่อต้น ต่อ 3 ปี ที่เรานำคู่ของพันธุ์สูงกับสูงมาศึกษาเพราะว่ามะพร้าวต้นสูงเวลาที่ให้ผลผลิตก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยตก ส่วนมะพร้าวที่แม่พันธุ์เป็นต้นเตี้ย พอถึงอายุ 15 ปี ก็จะมีโอกาสที่ผลผลิตจะลดลงมา แต่พอเริ่มต้นแรกๆ จะค่อยเป็นค่อยไป

ผลผลิตที่ได้จากการปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม ถ้าปลูกพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยได้ประมาณ 28,008 บาท ต่อไร่ ต่อ 3 ปี ถ้าเป็นทุ่งเคล็ด ก็ประมาณ 22,000 บาท ถ้าเป็นมะพร้าวน้ำหอมก็จะได้น้อย แต่มีข้อดีคือ จะให้ผลผลิตที่เป็นกะทิน้ำหอมอาจจะขายได้ราคาดีกว่ามะพร้าวธรรมดา คุณภาพของมะพร้าวกะทิเท่าที่ได้มีการศึกษาว่ามะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยที่ถึงแม้จะมีลูกเล็ก แต่เนื้อข้างในจะหนาและผลผลิตก็จะไม่ต่างจากมะพร้าวน้ำหอมเลย ประมาณ 720 กรัม ต่อผล ส่วนมะพร้าวน้ำหอมโตมาก ประมาณ 730 กรัม ต่อผล

ส่วนลักษณะของเนื้อก็จะมีเนื้อฟูเต็มกะลา เนื้อฟูปานกลาง และเนื้อฟูเล็กน้อย ได้ทดสอบความหวานของมะพร้าวปรากฏว่าจำนวนความหวานจะวัดได้ที่ 7 องศาบริกซ์ ขึ้นไป ก็จะถือว่ามะพร้าวกะทินั้นหวาน มะพร้าวน้ำหอมถ้าฟูเต็มกะลา จะได้ 19.55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผลมีความหวาน 10.6 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผล ส่วนมะพร้าวลูกที่ไม่ฟูจะมีจำนวนลูกที่หวานไม่มาก คือจะนิ่มเท่านั้น ส่วนพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูงจะมีพันธุ์นิ่มธรรมดา นิ่มมากและพันธุ์น้ำใส ก็จะไปตรงกับลักษณะของที่ฟิลิปปินส์คือไปค้นพบมะพร้าวที่เนื้อนิ่มแล้วก็ตั้งชื่อว่า โลโน่ ซึ่งฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นมะพร้าวพันธุ์ที่วิเศษของประเทศ เพราะมีลักษณะเหมือนมะพร้าวกะทิทุกอย่าง ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวทางไทยเองก็มาเจอเป็นพันธุ์คู่ผสมระหว่างเวสท์อัฟริกันต้นสูงกับกะทิ ถ้าหากฟิลิปปินส์ส่งออกมะพร้าวพันธุ์โลโน่ ทางไทยเราก็จะนำพันธุ์คู่นี้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก เพราะไม่ค่อยฟู มีแต่ความนิ่ม ส่วนมลายูสีแดงต้นเตี้ยกับมะพร้าวกะทิก็จะให้จำนวนลูกที่ฟูมาก ประมาณ 46.27 ลักษณะข้อดีของเนื้อฟูคือ เหมาะสำหรับนำไปทำเป็นไอศครีม เนื้อฟูปานกลาง นิยมนำไปทำทับทิมกรอบ ส่วนที่ไม่ฟูนำไปลอยในน้ำเชื่อมสำหรับใส่น้ำแข็ง ใส่กะทิเพื่อรับประทาน มีรสชาติอร่อยมากเลย

สรุปผลโดยรวม พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย จะมีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะที่ดีไปยังลูกผสมได้ มะพร้าวต้นแม่พันธุ์น้ำหอมมีลักษณะพิเศษคือ เมื่อจับคู่กับมะพร้าวกะทิจะถ่ายทอดพันธุกรรมความหอมและความหวานไปสู่ลูก ซึ่งจากการทดลองจะได้ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นที่ปลูก เปอร์เซ็นต์ของผลมะพร้าวกะทิที่ได้จากพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิขึ้นอยู่กับแหล่งปลูก เพราะหากปลอดจากมะพร้าวธรรมดาก็จะได้ตามกฎของเมนเดล คือ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเราใช้เทคโนโลยีผสมพันธุ์เข้าไปคือทำหมันกับต้นมะพร้าว จะได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และเมื่อคิดรายได้ต่อผลที่ขายจากไร่ ก็ประมาณ 30 บาท ในกรณีที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับของผลิตภัณฑ์นี้ก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพันธุ์แนะนำทั้ง 2 สายพันธุ์ และมะพร้าวน้ำหอมจะได้มีการพัฒนาเป็นมะพร้าวให้ได้มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงคัพภะต่อไปในอนาคตอีกสัก 2 ปี คงจะได้พันธุ์มะพร้าวที่มีแห่งเดียวในโลกนี้ที่ประเทศไทยคือ มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย ...

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 472
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM