เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รายละเอียดสัมมนา มหัศจรรย์ มะพร้าวไทย ตอนที่ 5
   
ปัญหา :
 
 
มาติดตาม คุณสมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการ จากกรมวิชาการเกษตร กันต่อ ถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของ "น้ำมันมะพร้าว"

คุณสมชาย : เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อสัก 15 ปี ที่แล้ว ตอนนั้นน้ำมันมะพร้าว เวอร์จิน โคโคนัท ออยล์ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกัน ชมรมมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิก ครบรอบ 25 ปี ก็ได้รณรงค์ให้ประเทศสมาชิกนำความรู้ที่เป็นความจริงด้านน้ำมันมะพร้าวและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว จึงได้มีการแจกหนังสือไปเผยแพร่ให้ประชาชนของแต่ละประเทศได้รับรู้ความจริงว่า น้ำมันมะพร้าว ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่คิด แต่เวอร์จิน โคโคนัท ออยล์ ยังไม่ได้มีการรู้จักกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งเมื่อสัก 5-6 ปี ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้หันมาบริโภคน้ำมันมะพร้าวและกะทิเพิ่มมากขึ้น

สำหรับความมหัศจรรย์ของน้ำมันมะพร้าว คือมะพร้าวเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีสมญานามมากมาย เช่น ต้นไม้จากสวรรค์ พฤกษาชีวิน พฤกษาอเนกประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น มีการแพร่หลายกระจายพันธุ์ในเขตร้อน เป็นทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง เรื่องน่ารู้ที่เกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวก็คือ น้ำมันมะพร้าว เป็นน้ำมันที่เก่าแก่ที่สุด เรารู้จักคุณค่าทางยามานานแล้วในตำรายาไทย ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวมากเลย ชนิดของน้ำมันมะพร้าว และองค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวที่มีบทบาทในสังคมปัจจุบัน และน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่าต่อสุขภาพมากที่สุด

ประวัติของน้ำมันมะพร้าวได้มีการใช้กันมายาวนานถึง 4,000 ปีแล้ว โดยใช้ประกอบอาหารคาว หวาน รักษาโรค อย่างที่ประเทศอินเดียก็เป็นยาตำราอายุรเวทที่เก่าแก่มาก ส่วนของไทยก็มีอยู่ในตำราแพทย์แผนไทยที่ได้นำไปรักษาโรคได้หลายอย่าง นอกจากนั้น ยังสร้างภูมิคุ้มกันโรคและบำรุงสุขภาพ และยังได้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องสำอางเสริมความงามของผิวพรรณและผม ในด้านยานั้นนักวิจัยไขมันรู้คุณค่าทางยาของน้ำมันมะพร้าวมานานกว่า 40 ปี ใช้ในโรงพยาบาลให้กับคนไข้ที่มีปัญหาด้านระบบการย่อยอาหารหรือการดูดซึมอาหาร หรือผู้ที่ผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้ เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะย่อยน้ำมันชนิดอื่นๆ ที่ไม่อิ่มตัวก็ให้บริโภคน้ำมันมะพร้าว นอกจากนั้น ยังใช้ในสูตรอาหารสำหรับเด็กทารกเพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการลดน้ำหนัก ซึ่งก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า ทำไมจึงช่วยลดน้ำหนักได้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นน้ำมันชนิดเดียวในโลกที่มีแคลอรีต่ำ ซึ่งน้ำมันทั่วไป 1 กรัม จะมีแคลอรี 9 แคลอรี ส่วนน้ำมันมะพร้าวจะได้เพียง 6.8-8.6 แคลอรี เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าน้ำมันทั่วไป

ต่อไปก็เป็นชนิดของน้ำมันมะพร้าว สำหรับน้ำมันมะพร้าวที่ได้ผ่านกระบวนการสกัดได้จากเนื้อมะพร้าวแห้งที่ทำให้เป็นน้ำมันบริสุทธิ์ โดยการฟอกสี กำจัดกลิ่น หลังจากที่สกัดได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสำหรับการบริโภคต่อไป

ซึ่งเป็นน้ำมันที่เราใช้ในอดีตในการทำอาหาร เป็นน้ำมันสีเหลือง ไม่มีกลิ่น มีปริมาณกรดไขมันอิสระ ประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือเวอร์จิน โคโคนัท ออยล์ หรือ วีซีโอ ได้จากการสกัดโดยวิธีทางธรรมชาติหรือการบีบจากเนื้อมะพร้าวห้าวที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของน้ำมัน เหมาะสำหรับการบริโภค ซึ่งจะมีความใสมากเหมือนน้ำกลั่น มีวิตามินอี และไม่ผ่านกระบวนการเติมออกซิเจน มีค่ากรดไขมันอิสระต่ำ องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลที่มีความยาวปานกลาง มีกรดลอลิกสูง 48-53 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์มะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว จัดเป็นน้ำมันที่มีความอิ่มตัวปานกลาง จากการวิจัยพบว่า น้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติในการต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป มักจะมีแนวโน้มที่จะเป็นต่อมลูกหมากโต หากได้รับการบริโภคน้ำมันมะพร้าวแล้วจะสามารถต้านการอักเสบได้ หรือจะช่วยในผู้ที่มักปวดปัสสาวะบ่อยๆ ในเวลากลางคืน หรือฆ่าเชื้อโรคและป้องกันไม่ให้เส้นเลือดอุดตันด้วยไขมันที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจวาย น้ำมันมะพร้าวมีโครงสร้างเหมือนกับไขมันในน้ำนมมารดาที่ช่วยรักษาภูมิคุ้มกันโรคให้ทารกและมีบทบาทเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเด็กทารกในระยะแรกเกิด ประมาณ 6 เดือนแรกที่ดื่มน้ำนมมารดาจะมีภูมิต้านทาน และหากมารดาได้ดื่มน้ำนม เวอร์จิน โคโคนัท ออยล์ ด้วยก็จะยิ่งช่วยสร้างภูมิต้านทานที่มีอยู่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ในด้านการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรคและป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยเพิ่ม HDL ทำไมจึงเพิ่ม HDL เพราะเนื่องจากไขมันของน้ำมันมะพร้าวจะไม่ต้องการ HDL เพื่อมาย่อยสลาย แต่น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว ต้องการ HDL เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวมาบริโภคเป็นประจำก็จะทำให้คอเลสเตอรอลต่ำ LDL ต่ำ แต่ขณะเดียวกัน HDLก็จะต่ำด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับน้ำมันมะพร้าวที่จะเพิ่ม HDL ให้สูงขึ้น น้ำมันมะพร้าวสามารถป้องกันโรคติดเชื้อที่รักษาไม่ได้โดยยาปฏิชีวนะธรรมดา โดยเฉพาะโรคเอดส์ และโรคไวรัสตับอักเสบซี สำหรับโรคเอดส์ได้มีการทดลองที่ประเทศฟิลิปปินส์ให้ผู้ป่วยบริโภคน้ำมันมะพร้าว ปรากฏว่าจำนวนเชื้อได้ลดลง น้ำมันมะพร้าวสามารถย่อยสลายได้ง่ายโดยไม่ต้องผ่านน้ำดีและผ่านไปยังตับเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรจะบริโภคเป็นประจำเพื่อช่วยให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี

ผิดด้วยหรือ ที่เป็นน้ำมันอิ่มตัว?

คนทั่วไปมักจะได้รับข้อมูลข่าวสารว่า น้ำมันมะพร้าว เลวร้ายต่อสุขภาพ เพราะเป็นน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัว แต่ไม่ได้บอกว่าไขมันที่อิ่มตัวมีอยู่หลายประเภทและมีบทบาทต่อร่างกายต่างกัน ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวต่างจากไขมันจากสัตว์แบบขาวกับดำ เพราะไขมันจากสัตว์จะมีคอเลสเตอรอลสูง ส่วนน้ำมันมะพร้าวมีอยู่เล็กน้อยจนเกือบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพราะมีการวิจัยออกมานับเป็นสิบๆ ปีแล้วว่า น้ำมันมะพร้าวนั้นไม่มีคอเลสเตอรอลหรือมีอยู่น้อยมากในบรรดาน้ำมันพืชทั้งหลาย แต่พวกเราถูกชักนำอย่างผิดๆ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้า ทุกคนรู้อย่างเดียวว่าไขมันอิ่มตัวก็คือไขมันอิ่มตัว เหมือนกับบอกว่าน้ำมันหมูมีคอเรสเตอรอลสูงอย่าไปใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะเวลารับประทานแกงกะทิก็โกยแต่เนื้อ แล้วก็ทิ้งน้ำแกง ซึ่งหารู้ไม่ว่าน้ำแกงมีประโยชน์มากกว่าเนื้อเสียด้วยซ้ำ แถมยังมีหนังติดเนื้อแล้วก็มีคอเรสเตอรอลสูงมากด้วย

หากมามองทางด้านวงการแพทย์ปัจจุบัน ก็ยังมีการคัดค้านกันอยู่ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ความแตกต่างของไขมันอิ่มตัวกับโรคหัวใจ ทุกคนก็ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดในสิ่งที่ตนได้รับรู้มาโดยปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้องในบทบาทของน้ำมันอิ่มตัว ทั้งนี้ ก็เพื่อผลของสงครามเงียบที่ไม่ต้องใช้อาวุธรุกรานคู่ต่อสู้ ในปี ค.ศ.1960-1970 ได้มีการรายงานผลการวิจัยว่า น้ำมันมะพร้าวอิ่มตัวบางประเภทไปเพิ่มปริมาณคอเรสเตอรอลในกระแสเลือด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด สมาคมถั่วเหลืองอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นปากเสียงให้แก่เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองในอเมริกา 400,000 ครอบครัว จึงถือโอกาสใช้เป็นเหตุอันนี้มารณรงค์กล่าวหาน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มว่า เป็นน้ำมันอันตราย ไม่ควรบริโภค ทั้งนี้ เพื่อจะขายถั่วเหลือง ในทศวรรษปี 1980 สมาคมถั่วเหลืองก็ใช้เรื่องนี้เป็นกลยุทธ์ในการรณรงค์อย่างหนักเพื่อให้คนเปลี่ยนมาบริโภคน้ำมันถั่วเหลือง โดยการนำประเด็นการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมานำเสนอ ดังนั้น คนที่เป็นโรคหัวใจจึงเลิกใช้น้ำมันมะพร้าว แม้กระทั่งร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายต่างก็พากันมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองกันหมด การรณรงค์ได้ผลดีเกินคาด เพราะผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาในทศวรรษที่ 1990 จนสมาคมถั่วเหลืองประกาศชัยชนะ ซึ่งท่านทั้งหลายจะสังเกตเห็นว่าในระยะหลังจะหาน้ำมันมะพร้าวที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าไม่ได้ จะมีก็เป็นปี๊บ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันปาล์มที่ใช้สำหรับทอดกล้วยแขก ก็เป็นการโชคดีที่เป็นน้ำมันชนิดนี้ เพราะถ้าหากไปใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวกันสงสัยคนคงเป็นมะเร็งกันมากมายแล้ว

สำหรับฝ่ายที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มที่เรียกกันว่า ทรอปิคคอล ออยล์ ได้ลงทุนให้ทางมหาวิทยาลัยคอนแนลในอเมริกาวิจัยใหม่ และพบว่าข้อกล่าวหาของสมาคมถั่วเหลืองไม่เป็นความจริง สงครามน้ำมันเริ่มดุเดือด เพราะมีเดิมพันเป็นธุรกิจปีละ 3,000 ล้านดอลล่าร์ เฉพาะในอเมริกาเอง ผลยกแรกปรากฏว่าฝ่ายต่อต้านก็แพ้อย่างราบคาบ เพราะ หนึ่ง มีเงินน้อยกว่ามาก สอง งานวิจัยยังมีไม่มากพอ และ สาม คนอเมริกันถูกบอกให้เชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ดี จนไม่สามารถจะชี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ ผลสุดท้ายไม่มีใครเชื่อธุรกิจน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นธุรกิจของคนต่างชาติ ทั้งๆ ที่ต่อมาในภายหลังนักวิจัยอเมริกันเองก็มีงานวิจัยที่เชื่อได้ว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหา และก็ได้พยายามคัดค้านในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครสนใจรับฟัง ผู้ที่แพ้ก็คือเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกมะพร้าวอยู่ในชมรมผู้ปลูกมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวและเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งอาศัยรายได้จากการขายมะพร้าวเป็นหลักก็ได้รับผลกระทบกระเทือน ซึ่งผู้ชนะคือสมาคมถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกาและชาวอเมริกันก็ได้รับโบนัสด้วยการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคอ้วน จนเดี๋ยวนี้กำลังมองหาอาหารแบบตะวันออกอยู่ ขณะที่อีกด้านก็ได้มีการรณรงค์ให้มีการบริโภคน้ำมันถั่วเหลือง อีกด้านหนึ่งก็มองว่าคนเอเชียอย่างที่ศรีลังกา ทำไม จึงไม่ค่อยเป็นโรคอย่างที่คนอเมริกันเป็นอยู่ เพราะพวกเขาได้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมาก

ผลพลอยได้ของคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยด้วยที่บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองก็พลอยรับเคราะห์ไปด้วย ท่านจะเห็นและรับรู้ว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยตายเป็นโรคมะเร็งต่างๆ เพราะมีการบริโภคน้ำมันที่ไม่อิ่มตัว น้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันที่มีไฮโดรจีเนสเต็ทออยล์ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพและร้ายแรงที่สุด อีกทั้งยังมีไขมันอิ่มตัวมากพอๆ กับน้ำมันมะพร้าว แต่ไม่เหมือนน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันถั่วเหลืองมีทรานส์แฟตตี้แอซิดสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพและไปเพิ่มคอเรสเตอรอลในกระแสเลือด เพราะทรานส์แฟตตี้แอซิดไม่ใช่มีเดียมเชนแฟตตี้แอซิด จากผลของไฮโดรจีเนชั่นทำให้น้ำมันถั่วเหลืองเป็นทรานส์แฟตตี้แอซิด ซึ่งอิ่มตัวและเลวร้ายกว่าน้ำมันที่อิ่มตัวจากสัตว์เสียด้วยซ้ำ จึงไปเพิ่มปริมาณคอเรสเตอรอลในเลือดมากกว่าน้ำมันอิ่มตัวชนิดอื่นๆ ผลก็คือ จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้น รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย องค์การอนามัย องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้ทดสอบทรานส์แฟตตี้แอซิดจากเฟรนช์ฟรายที่ใช้น้ำมันถั่วเหลืองทอดก็พบว่ามีการดูดไขมันมากกว่าที่ทอดด้วยเนื้อสัตว์ถึง 2 เท่า

บทบาทของน้ำมันมะพร้าวนั้น พบว่าได้มีการนำน้ำมันมะพร้าวไปใช้ประโยชน์ในการประกอบเป็นอาหาร และยา ต่อสู้กับโรคหัวใจ ต่อสู้กับโรคอ้วน ต่อสู้กับเชื้อโรค ใช้เสริมสุขภาพและความงาม คุณหมอดำรง เชี่ยวสินธุ์ จากสภากาชาดไทยได้บอกว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่สร้างความสมดุลให้กับร่างกายเมื่อได้ใช้บริโภคแล้วจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี สามารถต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ นอกจากนั้น ทางแพทย์แผนไทยยังใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคต่างๆ มาเป็นเวลานานแล้ว ฤทธิ์การต่อต้านโรคอ้วนของน้ำมันมะพร้าวไม่มีส่วนในการเพิ่มน้ำหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนัก น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งของพลังงานไม่สะสมในร่างกายในรูปของไขมัน ไม่มีคอเรสเตอรอล ทั้งนี้เพราะน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น จึงสามารถดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดสู่ตับเผาผลาญโดยไม่ต้องเปลี่ยนไปเป็นรูปอื่น

อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะพร้าว ยังช่วยในด้านสุขภาพและความงาม จากกรณีของชาวเกาะโฟลีนีเซียได้บริโภคไขมันเป็น 2 เท่าของแคลอรีที่ร่างกายต้องการต่อวัน 60 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเป็นชนชาติที่มีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังมีความงามที่เป็นเลิศ ทั้งนี้เพราะใช้น้ำมันมะพร้าวในการชโลมตัวและใส่ผม ซึ่งเป็นน้ำมันชนิดเดียวที่สามารถซึมเข้าไปในเส้นผมได้ เนื่องจากมีโมเลกุลขนาดเล็ก น้ำมันมะพร้าวมีวิตามินอีที่ทำหน้าที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ไปต่อสู้กับอนุมูลอิสระ จึงสามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้

สำหรับแพทย์แผนไทยใช้น้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคกระดูกและอุบัติเหตุ อย่างกรณีของโรงพยาบาลรักษากระดูกที่ชุมพร ซึ่งรับการรักษาอุบัติเหตุแล้วมีผลต่อกระดูกโดยใช้น้ำมันมะพร้าวรักษา ใช้รักษาเม็ดผดผื่นคันต่างๆ ใช้ลบริ้วรอย แล้วถามว่าเราจะบริโภคน้ำมันมะพร้าวอย่างไร? กล่าวคือ หากเราต้องการจะลดน้ำหนักก็บริโภคมื้อละ 1 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารสัก 30 นาที วันละ 3 ช้อนโต๊ะ แต่ถ้าหากต้องการป้องกันโรคต่างๆ ก็บริโภคหลังจากรับประทานอาหารแล้ว 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าเพิ่งจะเริ่มก็ควรจะบริโภคในปริมาณน้อยๆ ก่อน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีส่วนทำให้การขับถ่ายดีขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่มักจะเป็นหวัดง่าย



คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา

1. มะพร้าว 1 ต้น เป็นกะทิหลังจากที่ปลูกไปแล้ว 4 ปี ลูกมะพร้าวที่ออกมา 4 ลูก จะมีลูกมะพร้าวที่เป็นมะพร้าวกะทิ 1 ลูก ใช่หรือไม่

2. ลูกมะพร้าวที่เป็นกะทิสามารถนำไปขยายพันธุ์ได้หรือไม่

3. ส่วนลูกมะพร้าวที่ไม่ได้เป็นกะทิจะออกมาเป็นมะพร้าวอะไร และสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้หรือไม่



คุณสมชาย- มะพร้าวที่ปลูกแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นมะพร้าวกะทิ ดังนั้น ใน 4 ลูก จะเป็นกะทิ 1 ลูก ส่วนที่ไม่ได้เป็นนั้นจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นกะทิลูกผสม แต่อีกส่วนหนึ่งจะไม่ใช่ ดังนั้น หากจะนำไปปลูกเป็นมะพร้าวกะทิ ก็เป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ใช่ แล้วถ้าถามว่าจะใช้วิธีดูอย่างไร ก็คงบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากจะดู ถ้าเราอยากได้กะทิประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเอาต้นไปปลูกก็ให้ไปตัดดอกตัวผู้ทิ้งออกให้หมด แล้วนำละอองเกสรมะพร้าวกะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ ไปพ่นใส่ดอกตัวเมียก็จะได้กะทิ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลูกที่ไม่เป็นกะทิก็จะเป็นลูกผสมทั้งหมด แต่ขณะนี้กำลังทดลอง วิจัยอยู่ ว่าเมื่อเราผสมย้อนกลับไปแล้วต้นที่ได้เป็นกะทิลูกผสมจะได้ต้นที่เหมือนพ่อและแม่เดิมหรือไม่ อีกสัก 6-7 ปี อาจจะได้คำตอบ

คำถาม : ในมะพร้าว 4 ลูก จะทราบได้อย่างไรว่า ลูกไหนเป็นมะพร้าวกะทิ แล้วจะนำไปขายได้

คุณสมชาย - ถ้ามะพร้าวกะทิที่แก่แล้วเนื้อจะฟู เมื่อเขย่าลูกแล้วจะไม่ค่อยได้ยินเสียงน้ำ ถ้าฟูปานกลางจะได้ยินเสียงน้ำเล็กน้อย แต่ถ้าไม่ฟูเนื้อนิ่มก็ยากหน่อย คงต้องใช้วิธีดีดลูกฟังเสียงดู มะพร้าวกะทิก็จะมีลักษณะประจำพันธุ์ของมันที่ต้นไหนฟูแล้วก็จะฟูต่อไป แต่ถ้าหากไม่ต้องการให้ฟูก็ต้องเก็บให้เร็วหน่อย สัก 10-11 เดือน ทุกลักษณะจะเหมือนกัน จะนิ่มเฉยๆ และไม่ฟู น้ำของมะพร้าวกะทิหก็มีคุณสมบัติช่วยในการบำรุงผิวพรรณ

คำถาม : เราจะบริโภคน้ำมันมะพร้าว กะทิ และมะพร้าวกะทิ ทั้ง 3 อย่าง จะได้ผลเป็นอย่างไร

คุณสมชาย - ที่ต่างกันคือ ปริมาณกรดลอลิก ซึ่งเราต้องการในแต่ละวันจากน้ำมันมะพร้าว ประมาณ 45 กรัม แต่หากว่าจะรับประทานกะทิหรือมะพร้าวกะทิเนื่องจากมีไขมันต่ำ โดยปกติมะพร้าวธรรมดา มีไขมัน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่มะพร้าวกะทิมี 10-14 เปอร์เซ็นต์ จะต่างกันตรงที่ได้เส้นใยด้วย และมีผลดีด้านการขับถ่าย สำหรับผู้สูงอายุเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ แล้วถามว่า จะมีผลต่อโรคเบาหวานหรือไม่ ก็คงบอกว่าถ้าไม่ใส่น้ำตาลคงจะไม่มีผล เพราะความหวานที่อยู่ในเนื้อของมะพร้าวจะเป็นฟรุกโทสซึ่งจะย่อยสลายและเผาผลาญได้เร็ว

คำถาม : 1. น้ำมันมะพร้าวรับประทานได้ขณะที่มีลักษณะใสๆ ใช่หรือไม่ และหากอุณหภูมิลดลงแล้วเป็นไขแล้วหากรับประทานจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

2. ระหว่างน้ำมันมะพร้าวขวดที่เป็นไข และไม่เป็นไข จะมีคุณค่าแตกต่างกันหรือไม่ ทั้งๆ ที่บรรจุหรือผลิตในเวลาใกล้เคียงกัน

คุณสมชาย - เนื่องจากจุดที่เป็นไขมันต่ำสำหรับน้ำมันมะพร้าวและเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศา จึงจะเป็นไข ดังนั้นเมื่อเวลาเป็นไขก็ไม่ควรบริโภค ควรจะตั้งไว้ใกล้ๆ ที่มีอุณหภูมิที่มีความร้อนเพื่อให้หายเป็นไข แต่หากดื่มในสภาวะที่เป็นไข เมื่อเข้าไปในร่างกายที่มีอุณหภูมิ 30 กว่าองศามันก็จะหายเป็นไขได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่เปิดบ่อยๆ ความชื้นไม่เข้าก็ไม่เป็นไข ดังนั้น เวลาที่ซื้อมาเป็นลิตรก็ให้นำมาถ่ายลงใส่ขวดเล็กๆ

คำถาม - ถ้าหากจะใช้น้ำมันมะพร้าวมาทำกับข้าวแทนน้ำมันถั่วเหลืองจะได้ไหม

คุณสมชาย - มีบางคนไม่ชอบกลิ่น ก็คงจะต้องมีการผลิตออกมาแบบน้ำมันสำหรับใช้ทำอาหาร และราคาก็คงจะถูกกว่านี้ ทางชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ก็พยายามที่จะส่งเสริมและผลักดันน้ำมันชนิดนี้ออกมา ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการทดลองและทดสอบ และผมขอจบการบรรยายแต่เพียงเท่านี้

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM