เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ลุงเสด ใจดี คนระยอง มีสวนทุเรียนหมอนทอง GAP
   
ปัญหา :
 
 
ทุเรียน ผลไม้ยอดนิยมของคนไทยและคนเอเชียทุกประเทศ จากรสชาติที่หวานมัน สีสันของเนื้อสีเหลืองทอง ดูสวยงาม เคี้ยวนุ่มลิ้นไม่เละและเก็บไว้ได้นาน จึงถูกยกย่องให้เป็นราชาแห่งผลไม้ (king of fruit) จุดเด่นเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาคุณภาพแบบต่อเนื่องของเกษตรกรหลายร้อยหลาย พันคน ทำให้ไทยเราส่งทุเรียนไปขายต่างประเทศ นำรายได้เข้ามาปีละมากกว่า 3,500 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เป็นพันธุ์ดีที่สุด ทั้งการรับประทานผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ วันนี้จึงขอ พาท่านไปเยี่ยมสวน คุณลุงเสด ใจดี แห่งจังหวัดระยอง หนึ่งในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนคุณภาพ ผ่านการรับรองแปลงตามระบบ GAP และเป็นแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรจากทั่วประเทศ จากผลผลิตที่ได้คุณภาพจึงมีพ่อค้าเข้าซื้อแบบมาเหมาสวนเป็นประจำและไม่ เกี่ยงด้านราคารับซื้อแต่อย่างใด ถิ่นฐานและบ้านเกิด ก่อน ที่จะเข้าไปเยี่ยมสวนทุเรียนหมอนทองคุณภาพส่งออกของคุณลุงเสด มารู้จักกับภูมิหลังของเกษตรกรคนเก่งที่ชาวระยองยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนนี้กันหน่อยครับ คุณลุงเสด เล่าว่า ตนเองเป็นคนระยองโดยกำเนิด เกิดที่หมู่ที่ 7 บ้านชำสมอ ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีพี่น้อง 9 คน ผมเป็นคนที่ 6 ตอนเด็กๆ ก็ค่อนข้างลำบากเพราะครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาและปลูกมันสำปะหลัง จะมีสวนผลไม้บ้างก็ไม่มากมายอะไร เป็นแบบสวนหลังบ้าน มีรายได้ไม่มากนัก จุดเริ่มต้นของการทำสวนทุเรียนก็เมื่อพี่ชายแบ่งที่ดินให้ 2 ไร่กว่าๆ เท่านั้น จึงไปซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมาลงจนเต็ม ทำได้มาก็เก็บเงินซื้อที่ดินขยายสวนเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ซึ่งทุกวันนี้ มีทุเรียนหลายแปลง รวมต้นทุเรียนก็ 1,000 กว่าต้น แล้วก็มีมังคุดกับลองกองอีกนิดหน่อย เอาไว้เป็นรายได้หมุนเวียนในครอบครัว การทำสวนก็ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก จะมีคนงานจ้างบ้างไม่กี่คน แต่ก็สามารถจัดการทุกสวนได้ทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร สภาพ สวนและการบำรุงดินในสวน สภาพพื้นที่สวนที่นี่เป็นดินลูกรังหยาบ เป็นเม็ดสีแดง (ก้อนกรวด) ระบายน้ำได้ดี ให้น้ำแล้วไม่เหนียวเละหรือแข็งเมื่อดินแห้ง ไม่เหมือนชุดดินเหนียวสีแดงที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่เกษตรกรปลูกพริกไทยและทำสวนผลไม้หลายชนิด คุณลุงเสดใส่ปุ๋ยขี้วัวทุกปี ใส่ต้นละ 10 กิโลกรัม ไม่ใส่ขี้ไก่เพราะทำให้ทุเรียนเป็นโรคและเสี่ยงต่อสารโซดาไฟที่อาจตกค้างมา กับขี้ไก่ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อต้นทุเรียน อีกอย่างคุณลุงเสดทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เองโดยใส่ทุกเดือนช่วงการเตรียมต้น ทุเรียนก่อนที่จะออกดอก ส่วนกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออกจากต้น ก็จะนำสุมที่โคนต้นทุเรียน ปล่อยให้ผุพังสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุทำให้สภาพดินร่วนซุยขึ้น เก็บความชื้นได้ดีและยังเป็นอาหารของไส้เดือนอีกด้วย สังเกตว่าพอ เดินเหยียบย่ำจะรู้สึกนุ่มหยุ่น ไม่แข็งกระด้างเหมือนเมื่อก่อน อ้อ!...ลืมบอกไปว่า เมื่อก่อนตอนลงทุเรียนใหม่ๆสภาพดินไม่ค่อยดีนัก เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลังมานาน ฉีดสารฆ่าหญ้าทุกปี ดินแน่นแข็ง จะขุดหาไส้เดือนทำเหยื่อตกปลาสักหน่อยก็ต้องขุดดินหาจนได้เหงื่อกว่าจะได้ มากพอ แต่เดี๋ยวนี้ไส้เดือนชุกชุมมาก ทดลองวัดพื้นที่ประมาณ 1 ตาราเมตร ในหลายจุด แล้วขุดบริเวณหน้าดินลึกสัก 10-15 เซนติเมตร ก็พบว่ามีไส้เดือนมากถึง 20, 80-250 ตัว ต่อจุด โดยเฉพาะหน้าฝนหรือบริเวณที่มีความชื้นที่มีใบทุเรียนหรือใบไม้คลุมหน้าดิน จะพบไส้เดือนมากหน่อย อันนี้เป็นผลจากการที่คุณลุงเสดใส่ขี้วัว หมักใบทุเรียนร่วมกับใช้ปุ๋ยชีวภาพมาตลอด อีกอย่างคงเป็นเพราะให้น้ำทุเรียนตลอดปี ดินมีความชื้นตลอด สวนของคุณลุงเสดวางระบบน้ำด้วยหัวพ่นฝอยแบบสปริงเกลอร์ตรงที่ใต้ทรงพุ่ม ทุเรียน และให้น้ำทุก 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับสถานการณ์ของอุณหภูมิ แสงแดดและช่วงฤดูกาลต่างๆ การให้น้ำคำนวณในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป คอยสังเกตดินและใบทุเรียนด้วยว่าเป็นอย่างไร แล้วคอยปรับปริมาณน้ำและปุ๋ยชีวภาพที่ใส่ลงไป ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นก็ใส่ประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ทั้งหมดเป็นพื้นฐานการปฏิบัติในสวนทุเรียนแห่งนี้ ตัด แต่งช่อผล : เทคนิคการเพิ่มคุณภาพ "ผมอยู่กับทุเรียนมาราวๆ 47 ปี พอจะจับทางได้แล้ว ดูจากคุณภาพทุเรียนที่ได้รับค่อนข้างดี แต่ก่อนนี้เอาไว้ทุกลูกที่ติด มองดูเต็มต้นไปหมด ต่อมาเรียนรู้ว่ามันมากเกินไป อาหารไม่พอไปเลี้ยงผล ขนาดของผลทุเรียนจึงเล็ก พูไม่เต็มและผลบิดเบี้ยวไปบางส่วน เดี๋ยวนี้ผมตัดแต่งเอาไว้แค่ต้นละ 60-80 ผล เท่านั้น ขึ้นกับขนาดของต้นทุเรียนและจะดูจำนวนกิ่งใหญ่ที่จะเอาไว้ผลด้วย สังเกตไหมว่าทุเรียนหลายต้นที่กิ่งล่างจะไม่มีลูกทุเรียนเลย เพราะถูกตัดแต่งออกไปหมดเนื่องจากลูกไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เพื่อให้อาหารส่งขึ้นไปเลี้ยงลูกที่กิ่งข้างบน การตัดแต่งลูกทุเรียนผมจะตัดแต่ง 4 ครั้ง ตามระยะการเติบโตของลูกทุเรียนคือ ครั้งที่ 1 ระยะที่ผลทุเรียนอ่อนมีขนาดเท่ากับไข่นกกระทา จะตัดผลอ่อนที่มีหางแย้ (ส่วนที่ยื่นจากปลายผลทุเรียนอ่อนยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดูคล้ายปลายหางแย้) ที่โค้งบิดเข้าหาผลทิ้งไป เลือกเอาไว้เฉพาะผลทุเรียนที่มีหางแย้ตรงเท่านั้น เพื่อจะได้ผลทุเรียนที่สมบูรณ์ พูเต็มทุกด้าน หากเลือกผลอ่อนที่หางแย้บิดเบี้ยวไว้จะได้ทุเรียนที่มีทรงผลบิดเบี้ยว บางส่วนของผลจะลีบ ไม่มีเนื้อหรือไม่เต็มพู (ทรงแป้ว) ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ครั้งที่ 2 ตัดแต่งผลหลังจากครั้งแรกประมาณ 15-20 วัน ดูว่าขนาดผลทุเรียนประมาณไข่ไก่ รูปทรงผลจะเริ่มชัดเจนขึ้นกว่าครั้งแรก ก็ยังคงเลือกตัดผลทุเรียนที่มีหางแย้บิดเบี้ยวออกทิ้งไป คำนวณว่าเอาไว้ 60-80 ลูก ต่อต้น อาจเผื่อไว้อีกนิดหน่อยก็ได้ การเลี้ยงผลจะเลือกไว้เฉพาะกับกิ่งที่ใหญ่ โดยเฉลี่ยก็ราวๆ 2-4 ผล ต่อกิ่ง เท่านั้น ครั้งที่ 3 ตัดแต่งผลทุเรียนเมื่อมีขนาดของผลเท่ากับกระป๋องนมโดยประมาณ เลือกตัดผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากแต่จะมีหลงเหลือมาไม่มากนัก ผลทุเรียนเกือบทั้งหมดค่อนข้างสมบูรณ์ดีแล้ว ครั้งที่ 4 นั้นเป็นครั้งสุดท้ายก็จะเข้าไปดูว่ายังมีผลทุเรียนที่บิดเบี้ยว ทรงไม่ได้คุณภาพหลงเหลืออีกหรือไม่ หากพบก็ตัดทิ้งไป ปกติก็จะมีสัก 1-3 ผล ต่อต้น เท่านั้น แต่หากพอรับได้ก็จะเก็บไว้ตัดขายต่อไป" คุณลุงเสดอธิบาย การ ให้น้ำและใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การที่จะทำทุเรียนให้มีคุณภาพนั้น ผมจะเน้นการเตรียมต้นแม่ให้สมบูรณ์เสียก่อน ดังนั้น จึงเน้นที่การให้น้ำและให้ปุ๋ยตลอดปี โดยเฉพาะหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ต้องรีบบำรุงต้นทันที เริ่มจากการตัดแต่งกิ่งที่โทรม กิ่งตายและกิ่งที่ไม่ต้องการออก แล้วก็ให้น้ำและปุ๋ยควบคู่กันไป คุณลุงเสดเน้นปุ๋ยขี้วัวที่ใส่ต้นละ 10 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม วิธีการโดยโรยรอบๆ ต้นให้ห่างจากโคนต้นทุเรียนสัก 1 เมตร และปุ๋ยหมักชีวภาพ (ปุ๋ยจุลินทรีย์) ที่ให้พร้อมกับน้ำ อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร สลับกับการฉีดพ่นทางใบ เพื่อให้ต้นทุเรียนสะสมอาหารให้เพียงพอกับการออกดอกรุ่นต่อไป ปุ๋ย หมักชีวภาพ ได้จากการหมักใบตำลึงหรือผักบุ้งหั่นหรือบดละเอียด 3 กิโลกรัม กล้วยน้ำว้าสุกหั่นหรือบดละเอียด 3 กิโลกรัม และน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลแดง 2 กิโลกรัม โดยนำส่วนผสมทั้งหมดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี นำไปหมักในภาชนะปิดฝา ทิ้งไว้สัก 15 วัน แล้วจึงเติมน้ำลงไปอีก 20 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักต่อทิ้งไว้ 15-20 วัน กรองเอากากออกจะได้น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้นไว้ใช้ต่อเชื้อในปริมาณ ที่มากขึ้น วิธีการขยายเชื้อทำน้ำหมักใช้ คือใช้น้ำหมักหัวเชื้อ 10 ลิตร ผสมน้ำตาลทรายแดง 10 กิโลกรัม หมักกับน้ำ 200 ลิตร คนให้เข้ากันดี หมักในภาชนะปิดฝาอีก 1-5 เดือน ก็นำออกมาใส่หรือฉีดต้นทุเรียนได้ การใช้กับทุเรียน คือใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ไปฉีดพ่นทางใบเพื่อช่วยให้ทุเรียนได้ปุ๋ยเร็วขึ้น ส่วนอีกทางก็ให้ไปพร้อมกับการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ ต้นละประมาณ 80-100 ลิตร ต่อครั้ง เทคนิคคือจะให้น้ำในทรงพุ่มเท่านั้น ไม่กระจายถึงปลายทรงพุ่ม เพราะจะทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน ไม่สร้างดอกสร้างผล วิธีการนี้จะทำให้ทุเรียนได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ ลองใช้มือปาดหน้าดินดูจะพบว่ามีรากทุเรียนเล็กๆ เส้นสีขาวแผ่กระจายเต็มไปหมดเลย นั่นแสดงว่าใช้ได้ สำหรับกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออกก็นำสุมไว้บริเวณใต้ต้นทุเรียน ปล่อยให้มันจะผุพังสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุและเป็นปุ๋ยในที่สุด ขนาด ของสวน จำนวนต้นและผลผลิต ทุเรียนของคุณลุงเสดเป็นหมอนทองเกือบ ทั้งหมด ที่ให้ผลแล้วประมาณ 780 ต้น จะมีกระดุมบ้างเล็กน้อย เอาไว้นิดหน่อย เพราะออกก่อนและแก่เร็วกว่าเพื่อน แล้วก็ยังมีมังคุดกับลองกองอีกประมาณ 200 กว่าต้น เห็นจะได้ เอาไว้ขายพอมีรายได้เป็นค่าขนมเด็กๆ คนงานและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้บ้าง แต่รายได้หลักนั้นมาจากทุเรียนหมอนทอง เมื่อปี 2552 คุณลุงเสดตัดทุเรียนไปรวม 115 ตัน เริ่มตัดขายตั้งแต่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 22 บาท ต่อกิโลกรัม ลงทุนเป็นเงินสดไปราวๆ 250,000 บาท มีรายได้จากการขายทุเรียน ลองกองและมังคุด รวมเป็นเงินประมาณ 3,125,000 บาท คิดแล้วการผลิตทุเรียนแนวนี้ ทำให้คุณลุงเสดอยู่ได้ เพราะต้นทุนค่อนข้างต่ำ ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน รวมทั้งลูกหลานที่ยังเรียนหนังสือ ฝึกให้เขารู้จักการทำงาน รักงานตั้งแต่เด็กๆ ที่สุดแล้วเขาก็ได้รับค่าตอบแทนที่มากพอและทุกคนก็พอใจ ในฤดูปี 2553 ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น คาดว่าจะตัดทุเรียนได้ 120 ตัน รุ่นแรกจะเก็บเกี่ยวได้วันที่ 27 เมษายน 2553 มีทุเรียนแก่ที่ตัดได้ 15,000 ผล น้ำหนักโดยเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัม ต่อผล คิดว่าราวๆ 50 ตัน ส่วนรุ่นที่ 2 จะตัดได้วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ก็ประมาณ 16,000 ผล น้ำหนักราวๆ 50-60 ตัน ใกล้เคียงกับรุ่นแรก หากใครสนใจที่จะซื้อทุเรียนคุณภาพดีก็ติดต่อไปได้ที่คุณลุงเสดโดยตรง อยากให้มาดูที่สวนก่อนให้แน่ใจ ส่วนราคาซื้อขายนั้นตกลงกันได้ ผมเป็นคนที่พูดง่ายไม่เอาเปรียบผู้ค้า ชาวสวนรุ่นใหม่ ต้องใส่ใจการบริหาร การปฏิบัติในสวน คุณลุงเสดเป็นคนจัดการทุกด้าน ตั้งแต่การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ตัดแต่งกิ่ง ดอก ผล ซึ่งคุณลุงเสดจะวางแผนการทำงานไว้อย่างเป็นขั้นตอนตลอดทั้งปี แล้วมอบหมายให้ลูกหลานและคนงานไปทำ คอยแนะนำ ควบคุมดูแลและลงมือทำไปด้วย ให้เป็นไปตามช่วงเวลาและกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ จนที่สุดถึงการขายผลผลิต ซึ่งคุณลุงเสดขายทุเรียนแบบเหมายกสวน จะตกลงกับพ่อค้า/แม่ค้ากันเลย โดยมีข้อมูลด้านจำนวนลูกทุเรียน ขนาดน้ำหนักผลเฉลี่ย ช่วงการแก่และตัดได้ให้เขาไปพิจารณา หลังจากที่ตกลงซื้อขายกันแล้วก็จ่ายเงินกันเมื่อมาตัดทุเรียนในแต่ละครั้ง ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาด้านราคาซื้อขาย เพราะพ่อค้าส่วนมากเป็นขาประจำกันมาก่อน ส่วนรายใหม่ก็มีบ้างที่เขาต้องสอบถามข้อมูลมากหน่อย แล้วก็มีการต่อรองราคากันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการค้าขาย สิ่ง หนึ่งที่คุณลุงเสดให้กับผู้เหมาสวน คือไม่กำหนดวันว่าเขาจะตัดทุเรียนหมดเมื่อไร ตามแต่เขาจะสะดวกและผมก็จะดูแลทุเรียนส่วนที่ยังไม่ได้ตัดให้เป็นอย่างดี ไม่มีการแอบขายต่อหรือสูญหายแม้แต่ลูกเดียว เพราะทุเรียนทุกลูกเป็นของเขาไปแล้ว ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน อีกอย่างคุณลุงเสดได้ติดป้ายบันทึกจำนวนผลทุเรียนไว้ทุกต้น ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบจำนวนผลทุเรียนในแต่ละต้นได้ และเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานคุณภาพของทุเรียนและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอนนี้คุณลุงเสดได้สร้างโรงคัดแยกผลผลิตขึ้น เพื่อคัดเกรดทุเรียน มังคุดและลองกอง เป็นการรองรับลูกค้าหรือให้เป็นทางเลือกของลูกค้าที่มีความต้องการทุเรียน ที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดผล ความแก่ ห่ามหรือผลสุก ราคาก็ว่ากันไปตามที่กำหนดหรือแล้วแต่จะตกลงกัน เรื่องที่สำคัญมาก คือการเงิน ทั้งรายจ่ายและรายรับทุกอย่างในครอบครัว ซึ่งตรงนี้ผมมีการจดบันทึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้อย่างละเอียด เพื่อทราบสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวแล้วมาคำนวณดูว่าเป็นอย่างไร จะได้ปรับให้เหมาะสม ดังนั้น การเบิกจ่ายเงินจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล รายได้จะฝากธนาคารไว้ คุณลุงเสดจะถือบัญชีไว้คนเดียว ค่าใช้จ่ายของทุกคน ค่าจ้าง คุณลุงเสดจ่ายให้ทุกคนแบบพอใช้และมีส่วนเหลือเก็บ คุ้มกับงานที่ได้ทำร่วมกัน จุดเด่นทุเรียนหมอนทองลุงเสด ที่ ว่าทุเรียนหมอนทองสวนผมมีคุณภาพดีเด่นนั้น ขออธิบายอย่างนี้ ประเด็นแรก คุณลุงเสดเน้นที่การตัดทุเรียนระยะผลแก่เต็มที่ บ่มสุกตามธรรมชาติ ไม่จุ่มสารเร่งการสุก แม้ว่าจะขายแบบเหมาสวนแต่ผู้ซื้อจะต้องตัดทุเรียนที่แก่จัดเท่านั้น นี่เป็นข้อตกลงกันตั้งแต่เจรจาซื้อขาย คุณลุงเสดต้องการรักษาชื่อเสียงที่สะสมมายาวนาน ประการต่อมา เป็นทุเรียนปลอดสารพิษ เพราะที่สวนไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูทุเรียนทุกชนิด ผ่านการรับรองแปลงผลิตตามระบบ GAP จากกรมวิชาการเกษตร ประการที่สาม ทุเรียนทุกลูก จะสมบูรณ์เต็มพู มีหลายเมล็ด เปลือกบาง เนื้อมากเมล็ดลีบ เนื้อสีเหลืองทองสวยงาม เหนียวเนียน รสชาติหวานมัน กลิ่นหอม เส้นใยในเนื้อน้อย เนื้อแห้งร่อน ไม่ติดพู แกะง่าย จับถือไม่เปื้อนมือ (ไม่ติดมือ) เก็บไว้ได้นาน สุกเนื้อไม่เละ ไม่เน่าไม่เสียง่าย และประการที่สี่ ผิวสะอาดทุกลูก ปราศจากโรคและแมลงศัตรู สารปนเปื้อน ข้อดีเหล่านี้ทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่ได้รับประทานทุเรียนจากสวนของผม ส่งประกวดในงานผลไม้ประจำปีจังหวัดระยองก็ชนะเลิศมาหลายครั้ง คว้ารางวัลมากมาย นี่เป็นสิ่งยืนยันคุณภาพให้กับทุเรียนของคุณลุงเสด สำหรับ เกษตรกรและผู้ที่สนใจ ให้สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณลุงเสด ใจดี โทร. (086) 144-9103 และที่สำนักงานเกษตรอำเภอแกลง จังหวัดระยอง โทร. (038) 671-379 จาก การเยี่ยมชมสวนทุเรียนหมอนทองของ คุณลุงเสด ใจดี ปราชญ์ไม้ผล แห่งอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่เล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้ผู้เขียนและคณะได้ฟัง ซึ่งเห็นว่ามีสาระสำคัญในกระบวนการผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพ จึงขอสรุปประเด็นหลักที่น่าสนใจไว้ดังนี้ 1. การเตรียมสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์พวกขี้ไก่ ปุ๋ยหมักชีวภาพและใช้ประโยชน์จากกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออก โดยสุมไว้ใต้ทรงต้น ปล่อยให้ผุพัง ทำให้ดินดีขึ้นแล้วก็กลายเป็นปุ๋ยทุเรียน 2. ปุ๋ยหมักชีวภาพทำจากวัสดุหาง่ายในพื้นที่ เช่น ใบตำลึงหรือผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า น้ำตาลทรายแดง นำไปหมักให้สลายตัวจนได้ที่ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบ หรือทางดิน ทำให้ทุเรียนได้รับฮอร์โมนและธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์และเป็นสารไล่แมลง ศัตรูทุเรียนบางชนิดได้อีกด้วย 3. มีการให้น้ำทุเรียนตลอดปี แต่ให้ในระดับที่เหมาะสมตามช่วงเวลา แสงแดด และฤดูกาล ช่วยให้ทุเรียนมีความแข็งแรง สามารถได้รับธาตุอาหารจากดินตลอดฤดู ช่วยในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ และปรับสภาพแวดล้อมในดินให้เหมาะสม มีผลต่อจำนวนประชากรของไส้เดือนดินที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อต้น ทุเรียนแบบถาวร 4. การใส่ปุ๋ยเคมีพิจารณาตามความต้องการของต้นทุเรียน โดยการสังเกตดูใบและปริมาณผลผลิตที่ตัดออกจากสวน/ต้น การใส่ปุ๋ยขี้ไก่ ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต 5. การตัดแต่งผลทุเรียนเพื่อเลี้ยงไว้ในปริมาณที่พอเหมาะ เลือกขนาดของกิ่งที่ไว้ผล จำนวนผลทุเรียน/กิ่ง จำนวนผลทุเรียน/ช่อ และการเลือกตัดแต่งผลที่ไม่ต้องการทิ้งไป 6. มีการวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสวนอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบค่าใช้จ่าย รายรับทางระบบบัญชี และประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่โดยการเรียนรู้และประเมินผล 7. จุดเน้นที่พัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างเคร่งครัด มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า และเป็นผู้นำด้านความรู้และการปฏิบัติในชุมชนและบุคคลทั่วไป
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ระยอง
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 479
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM