เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทุเรียนพวงมณี ทุเรียนพันธุ์เล็กกำลังรุ่ง ประยุทธ อยู่สุข ปลูกเพื่ออนุรักษ์และการค้า
   
ปัญหา :
 
 
ทุเรียนพวงมณี เป็นทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิมอีกสายพันธุ์หนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในเขตภาค ใต้ ต่อมาปริมาณการปลูกทุเรียนสายพันธุ์นี้เริ่มลดลงก็เพราะถูกกระแสความนิยม ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเข้ามาตีตลาดกระจุยกระเจิง จนปัจจุบันทุเรียนพันธุ์พวงมณีแทบจะไม่มีใครปลูกกัน

ทุเรียนพวง มณีเข้ามาแพร่พันธุ์ในเขตภาคตะวันออก แถวจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร สาเหตุก็เนื่องจากถูกกระแสความนิยมทุเรียนพันธุ์หมอนทองมากลบจนหมดสิ้นดัง กล่าว ที่มีปลูกอยู่บ้างก็เพื่ออนุรักษ์ไว้ดูเล่น แซมสวนทุเรียนหมอนทองและสวนผสมผลไม้ตามสไตล์สวนผลไม้ผสมทุเรียน มังคุด ลองกอง อันเป็นแบบฉบับของสวนผสมเขตภาคตะวันออก

คุณลุงประยุทธ อยู่สุข ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่อนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนพวงมณีเอาไว้ คุณลุงประยุทธ เริ่มปลูกทุเรียนพวงมณีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีทุเรียนพวงมณีออกสู่ตลาดพอสมควรในแต่ละปี

คุณลุงประยุทธ เป็นชาวตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แต่ไปจับงานทำสวนผลไม้อีกแห่งหนึ่งที่บ้านหมู่ 3 ตำบลพลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในเนื้อที่ 30 ไร่ เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุณลุงประยุทธ ลงทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนก้านยาว มังคุด และลองกอง ทำเป็นสวนผสม แต่จะเน้นทุเรียนเป็นหลัก คุณลุงประยุทธ บอกว่า

"ผมทำ สวนที่วังจันทร์ ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคบุกเบิกรุ่นที่สองก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้าที่จะมาลงหลักปักฐานทำสวนผสมบริเวณพื้นที่แห่งนี้ มีคนมาทำสวนทุเรียนอยู่หลายสวนเหมือนกัน"

พื้นที่เขตอำเภอวังจันทร์ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล เป็นยอดเขาสูง มีฝนตกชุกมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เหมาะกับการปลูกทุเรียนมาก

คุณลุงประยุทธ บอกว่า มาทำสวนแรกๆ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ได้ผลผลิตดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ต่อมาเมื่อ 5 ปีก่อน เกิดลมพายุพัดต้นทุเรียนเสียหายเป็นจำนวนมาก ก็คิดจะปลูกทุเรียนซ่อมขึ้นมาใหม่ พอดีไปเจอพรรคพวกทำสวนทุเรียนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี แนะนำว่าให้ลองเอาพันธุ์ทุเรียนพวงมณีไปปลูกดูบ้าง เผื่อจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ชอบบริโภคทุเรียน

คุณลุงประ ยุทธ กล่าวอีกว่า เพื่อนบอกมาว่าทุเรียนพวงมณีเป็นทุเรียนจากทางภาคใต้ ชาวสวนแถวจันทบุรีไปเอาพันธุ์มาปลูก เป็นทุเรียนรสชาติดี หวานหอม แต่ผลเล็กย่อมกว่าทุเรียนหมอนทองมาก

"ครั้งแรกผมไปเอากิ่งพันธุ์พวง มณีมา 6-7 กิ่ง แล้วเอามาเสียบยอดกับต้นตอทุเรียนหมอนทอง ที่ลงปลูกไว้ ต้นสูงราว 1 ศอก เปลี่ยนยอดใหม่เป็นพวงมณี"

การปฏิบัติดูแลก็เหมือน กับการดูแลทุเรียนหมอนทอง ต่อมาเพื่อนที่ขยายพันธุ์ไม้ขาย เขาทำกิ่งพวงมณีไว้ แล้วขายไม่ได้ กิ่งพันธุ์โตขึ้นเรื่อยๆ จนสูงใหญ่มาก ก็เลยให้มาปลูกอีก 30 ต้น

ปลูกทุเรียนพวงมณีราว 4-5 ปี ก็ได้ผลผลิต ทุเรียนพวงมณีนั้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ต่างจากทุเรียนหมอนทองและชะนี เวลาติดผลใช้เชือกฟางโยงกิ่งใหญ่อย่างเดียวก็พอ โยงเพื่อเวลาผลทุเรียนใหญ่ขึ้น กิ่งจะได้ไม่หัก ข้อดีของต้นทุเรียนพวงมณี คือกิ่งแข็งแรงเพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง

การดูแลทุเรียนพวงมณีสบายกว่า ดูแลทุเรียนหมอนทองเยอะ ทุเรียนหมอนทองค่อนข้างอ่อนแอ ยุ่งยาก ปลูกทุเรียนพวงมณีแซมสวน ไม่ต้องเสียเวลาไปดูแลเลย ปล่อยไปตามธรรมชาติก็ได้รับประทานผลแล้ว เอาเวลาไปดูทุเรียนหมอนทองมากกว่า หมอนทองต้องซอยกิ่งอยู่เรื่อย ถ้าไม่ซอยกิ่งตั้งแต่ต้นเล็กๆ จะไม่สวย แตกข้างเยอะเกินไป ส่วนพวงมณีไม่ต้อง ต้นจะพุ่งสูงชะลูดขึ้นไปเลย

การ ใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยทั่วๆ ไป สูตร 16-16-16 หลังจากเก็บผลผลิตหมดเป็นการบำรุงต้น จากนั้นก็ไปใส่ปุ๋ยเร่ง 8-24-24 ช่วงปลายฝนใส่ปุ๋ยเร่งก่อน 1-2 เดือน รับลมหนาวมาเยือน นั่นก็คือต้องใส่ปุ๋ยราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พอรู้ว่าฝนจะหมดเดือนไหนต้องคอยติดตามฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าดินฟ้า อากาศจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ให้เตรียมโคนต้น ทำการแหวกโคน ดายหญ้าออก กวาดเอาใบไม้ออกให้โล่งเตียน แล้วใส่ปุ๋ยเร่ง 8-24-24 ให้ทั้งทุเรียนหมอนทองด้วย

พอลมหนาวกระทบดอกทุเรียนจะติดพร้อมๆ กันทั้งสวน จนกระทั่งติดผล สำหรับทุเรียนหมอนทองไม่ต้องซอยผล ถึงเวลาต้นจะสลัดผลไม่ดีทิ้งเอง แต่กับพวงมณีต้องซอยผลทิ้ง ถ้าไม่ซอยทิ้งผลใหญ่ขึ้นๆ จะทำให้กิ่งหักได้ เพราะทุเรียนพันธุ์นี้ติดผลดกมาก ผลติดเป็นกระจุกๆ ต้องซอยให้ผลห่างๆ อย่าไว้เป็นกลุ่ม จะดูแลรักษายาก ถ้าต้นสูงๆ ก็ต้องใช้ไม้ติดใบมีดแทงผลเล็กๆ ออก

ช่วงติดดอกก่อนติดผล ทางดินให้ปุ๋ย 8-24-24 อีกครั้ง ฉีดยาป้องกันเพลี้ยและหนอน 2 ครั้ง พอดอกบานก็หยุดให้ยาจนกระทั่งติดผลเล็กๆ ขึ้นลูกต้องฉีดยาป้องกันหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดง เข้าทำลายผลอ่อน น้ำให้ปกติ 3-4 วันครั้ง ฉีดยาป้องกันหนอน 3-4 เที่ยว ทิ้งระยะห่างครึ่งเดือน ต่อครั้ง ทางดินให้ปุ๋ยเร่งอีก 3 หน

คุณ ลุงประยุทธ บอกว่า ทุเรียนหมอนทองใช้เวลา 120 วัน จากติดดอกจนเก็บได้ ส่วนพวงมณีกับชะนีใช้เวลา 90 วัน ก็เก็บได้ ขณะที่ผลแก่ต้องฉีดยาป้องกันเชื้อราตลอด ในเขตอำเภอวังจันทร์นั้นฝนตกชุกมาก จึงจำเป็นต้องฉีดยาป้องกันเชื้อราบ่อยหน่อย

ทุเรียนพวงมณีผลเล็ก กว่าหมอนทอง ทรงผลของพวงมณีออกทรงรูปไข่ หนามของพวงมณีใหญ่สั้น หนามของหมอนทองแหลมยาว พวงมณีขั้วยาวเล็ก ส่วนหมอนทองขั้วสั้นใหญ่ พวงมณีแก่เต็มที่ผลหนึ่งไม่เกิน 2 กิโลกรัม แต่ถ้าไว้ผลน้อยๆ ก็อาจจะได้ใหญ่กว่านี้

พวงมณีเมล็ดโต สีเนื้อสวยออกเหลืองจำปา กลิ่นไม่ฉุนจัดเหมือนหมอนทองและชะนี รสชาติของพวงมณีออกหวานมัน รับประทานแล้วรับรองไม่มีอาการเรอเอิ้กอ้ากออกมา

สำหรับตลาดของ ทุเรียนพวงมณีนั้น คุณลุงประยุทธ บอกว่า บางครั้งก็มีพ่อค้าเข้ามาตัดถึงสวน บางครั้งก็ต้องขนทุเรียนออกไปขาย ไปส่งเอง ตลาดใหญ่อยู่ที่ตลาดเขาดินหรือไม่ก็เอาไปส่งล้งทุเรียนที่จันทบุรี ที่นั่นมีล้งรับซื้อทุเรียนพวงมณีโดยเฉพาะ เขานำส่งภาคใต้ ส่งประเทศมาเลเซีย คนที่นั่นนิยมบริโภคกัน

ส่วนสถานการณ์การระบาดของ หนอนเจาะติดทุเรียนในเขตวังจันทร์ที่เคยมีการระบาดรุนแรงมาก่อนปัจจุบันนี้ คุณลุงประยุทธ บอกว่า ก็ยังพอมีการระบาดอยู่แต่ก็ไม่ค่อยมากแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เกษตรก็เข้ามาอบรมชาวสวนให้รู้จักวิธีป้องกันกำจัดหนอนเจาะ ต้น ทำให้ลดปริมาณการระบาดของประชากรหนอนไปได้มากทีเดียว เจอรูที่ต้นให้เอาขวานถากต้นตามล่าหนอนในรู เห็นตัวเอาไม้แหลมจิ้มออกมาเลย หรือไม่ก็ฉีดยาไซเปอร์ กำมะถันผง และเชฟวิ่งผสมกันฉีดทางผล และหยอดเข้าไปในรูหาดินอุดรูฆ่าหนอนที่อยู่ข้างใน

คุณลุงประยุทธ บอกว่า พวงมณีมีลูกค้าอยู่บ้างพอสมควร คนที่รู้จักทุเรียนพันธุ์นี้พอเห็นเข้าเป็นซื้อเลย แต่ที่ยังไม่รู้จักก็มีอยู่อีกมาก เวลาเอาไปขายต้องแนะนำให้ทดลองชิมดู

"เพื่อนๆ ผมมาเห็นเข้า มันถามว่าทุเรียนพันธุ์อะไรทำไมผลเล็ก ผมก็ตอบไปว่าพันธุ์พวงมณี มันก็ขอเอาไปชิมลูกหนึ่ง มาอย่างนี้บ่อยๆ ขอชิมลูกหนึ่ง กว่าจะมีคนรู้จักพวงมณีครบทุกคน ทุเรียนคงหมดสวน"

คุณ ลุงประยุทธ กล่าวอย่างสนุกสนาน สร้างเสียงหัวเราะชอบใจได้พอสมควร แถววังจันทร์ยังไม่มีใครปลูกเป็นการค้ามากๆ จะมีก็รายคุณลุงนี่แหละ สนใจจะไปชมทุเรียนพวงมณีต้องไปต้นฤดูกาลทุเรียน เพราะทุเรียนพันธุ์นี้จะเก็บก่อนหมอนทอง อยากจะพูดคุยกันในเรื่องของพวงมณี ลองโทร.ไปคุยกันที่ (081) 429-6058 เจ้าตัวยินดีต้อนรับทุกท่าน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
จันทบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 480
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM