เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลูกมันสำปะหลัง แบบมีการให้น้ำ ช่วยเพิ่มผลผลิตและป้องกันเพลี้ยแป้ง
   
ปัญหา :
 
 
สถานการณ์เพลี้ยแป้งที่ได้คุกคามในมันสำปะหลังและแพร่ระบาดมา อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2551 จนมาถึงปัจจุบันนี้ และได้กลายเป็นมหันตภัยต่อมันสำปะหลังอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต ผู้เขียนเคยได้ฟังคำปรารภจากท่านจเร จุฑารัตนกุล อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยว่า

"การ ระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมาเร่ง แก้ไขวิกฤตการณ์นี้อย่างได้ผลสำเร็จ เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ส่งผลให้หัวมันสำปะหลังที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง ผู้ใช้จากต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะยังคงสามารถเป็นฐาน วัตถุดิบที่ยั่งยืนได้เช่นเดิมหรือไม่ อาจหันไปใช้วัตถุดิบจากพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้"

ดัง นั้น การหามาตรการป้องกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนของนักวิจัยทุกสาขาของมันสำปะหลัง ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติจากแมลงศัตรูพืช ชนิดนี้ให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรไทยอยู่อย่างมีอนาคตและดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตการปลูก มันสำปะหลังที่ผ่านมาราวครึ่งศตวรรษได้



ผลกระทบต่อผล ผลิต

มันสำปะหลังในอนาคต


จากการระดมสมองเรื่องมาตรการ ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง จัดโดยมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 โดย คุณบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ประธานคณะสำรวจภาวการณ์ผลิตและการค้ามันสำปะหลังของสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้รายงานไว้ว่าในฤดูการผลิต ปี 2552-2553 ผลผลิตรวมลดลงเหลือ 22 ล้านตัน จากประมาณการไว้ 28 ล้านตัน สาเหตุผลผลิตลดลงมาจากความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง และ คุณบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขานุการสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยได้ให้ความเห็นว่า ถ้าในฤดูกาลการผลิต ปี 2553-2554 หากไม่มีมาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างได้ผลชัดเจน จะมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตรวมจะลดลงเหลือ 10 ล้านตัน อาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบมีความเป็นไปได้สูง โดยที่ผู้ใช้อาจจะเปลี่ยนไปซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทน หรืออาจเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบตัวอื่นแทนมันสำปะหลังในระยะยาว เพราะเกิดความไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นฐานผลิตวัตถุดิบมันสำปะหลังที่ มั่นคงได้เหมือนเดิม



ผลกระทบ

ต่ออุตสาหกรรมมัน สำปะหลัง


คุณเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จากการระบาดของเพลี้ยแป้งจะทำให้ผลผลิตลดลง ในด้านอุตสาหกรรมมันเส้นซึ่งมีลานตากมันสำปะหลังอยู่ 1,000 แห่ง ใช้ผลผลิตประมาณ 5 ล้านตัน ต่อปี หันไปตากข้าวโพดแทนมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมแป้งใช้ผลผลิตประมาณ 3.5 ล้านตัน ต่อปี กำลังการผลิตลดลงไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการต่อ อาจต้องปิดตัวไป อุตสาหกรรมแป้งดัดรูปมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 9 แสนตัน ต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 5 แสนตัน ต่อปี อาจต้องปิดตัวลง ส่วนอุตสาหกรรมเอทานอลอาจปรับเปลี่ยนมาใช้โมลาสจากอ้อยแทน ตามข้อเท็จจริงโรงงานเอทานอลอยู่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังห่างไกลจากโรงงาน น้ำตาล สำหรับในด้านต่างประเทศ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้นำเข้ามันเส้นรายใหญ่จากไทย อาจเปลี่ยนนโยบายหันไปนำเข้าข้าวโพดแทน หากมันสำปะหลังมีไม่เพียงพอ ถ้าทิศทางการใช้วัตถุดิบจากข้าวโพดแทนมันสำปะหลังแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เหมือนเดิมอีก



ชนิดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

เพลี้ย แป้ง ที่พบว่าระบาดทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย มีด้วยกัน 4 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งตัวลาย (striped mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ferrisia virgata Cockerell เพลี้ยแป้งสีเขียว (madeira mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Phenacoccus madeiresis Green เพลี้ยแป้งสีชมพู (pink mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Phenacoccus manihoti Matile-Ferrero และเพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (Jack-Beardsley mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudococcus jackbeardsleyi Gimpel & Miller เพลี้ยแป้งทั้ง 4 ชนิด พบว่า เพลี้ยแป้งสีชมพูมีการระบาดอย่างรุนแรงที่สุด มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจในทุกภาคของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้อย่างได้ ผลดี ทำให้เกษตรกรเริ่มวิตกกังวลต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้ในมันสำปะหลัง โดยเกษตรกรบางรายได้หันกลับไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่นแทน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม



มาตรการ ป้องกันกำจัด

เพลี้ยแป้ง ในมันสำปะหลัง


แนวทางในการ จัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง ซึ่งไม่ง่ายเหมือนกับการจัดการเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยทั่วไป เนื่องจากเพลี้ยแป้งมีข้อจำกัดที่ลำตัวปกคลุมด้วยไขแป้ง ไข่อยู่ภายในถุงไข่ ส่วนลำต้นของมันสำปะหลังที่ถูกทำลายด้วยเพลี้ยแป้ง จะมีข้อถี่มากและมีการแตกใบเป็นพุ่มหนาเป็นกระจุก เป็นเกราะกำบังอย่างดีให้กับเพลี้ยแป้ง ทำให้การพ่นสารเคมีค่อนข้างยากที่จะถึงตัวและไข่ของเพลี้ยแป้ง

นอก จากนี้ การจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งด้วยสารเคมี เป็นวิธีที่อันตรายและก่อให้เกิดการทำลายล้างต่อแมลงศัตรูตามธรรมชาติ อย่างแมลงตัวห้ำและตัวเบียน สุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การใช้สารเคมีควรจะเป็นวิธีสุดท้ายในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมีด้วยกัน 5 แนวทาง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การจัดการด้านวิธีเขตกรรม การจัดการด้านที่อยู่อาศัย การควบคุมโดยชีววิธี การควบคุมโดยสารสกัดชีวภาพและวิธีกล และการควบคุมโดยสารเคมี มีรายละเอียด ดังนี้

1. การจัดการด้านเขตกรรม เป็นแนวทางวิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น ได้แก่ การเลือกพื้นที่ปลูก การเลือกฤดูปลูก การเตรียมดิน การเตรียมท่อนพันธุ์ เทคนิคการปลูก การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว

2. การจัดการที่อยู่อาศัย เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงตัวห้ำและตัวเบียนที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น ตามธรรมชาติ ได้แก่ การให้น้ำ การปลูกพืชหมุนเวียน และการสร้างแนวพืชป้องกัน

3. การควบคุมด้วยชีววิธี เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตในการควบคุมแมลงศัตรูพืชให้อยู่ภายใต้ระดับความเสีย หายทางเศรษฐกิจที่กำหนด ได้แก่ การใช้แมลงช้างปีกใส แตนเบียน และด้วงเต่า

4. การควบคุมด้วยสารสกัดชีวภาพและวิธีกล เป็นการนำสารธรรมชาติจากพืชโดยได้มาด้วยการนำพืชมาสกัดเพื่อหาสารออกฤทธิ์ ที่มีศักยภาพในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ การใช้วิธีควบคุมเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์และระบาดในไร่มันสำปะหลัง ด้วยวิธีกลอย่างมีประสิทธิภาพ

5. การควบคุมด้วยสารเคมี เป็นวิธีสุดท้ายในการแนะนำให้ใช้เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ เพลี้ยแป้งที่อาศัยตามซากมันสำปะหลังและวัชพืชที่ไถกลบลงดิน และเพลี้ยแป้งที่มาจากไร่มันสำปะหลังที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากการใช้สารเคมีจะทำให้ระบบนิเวศเกษตรสูญเสียความสมดุลไป โดยทำลายทั้งเพลี้ยแป้งและศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยแป้งด้วย ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรง โดยที่แมลงศัตรูธรรมชาติไม่อาจควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ ควรพ่นสารเคมีเฉพาะบริเวณที่ระบาดอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันมิให้เพลี้ยแป้งแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นอีก หรือใช้สารเคมีเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์



แนว ทางการปลูกมันสำปะหลัง

แบบมีการให้น้ำเพื่อป้องกันเพลี้ยแป้ง


การ ระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงในมันสำปะหลัง อาจนำไปสู่การลดลงของผลผลิตอย่างมหาศาลตามที่กล่าวข้างต้น จนทำให้ผู้ใช้วัตถุดิบในต่างประเทศปรับเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดแทนมันสำปะหลังก็ ได้ ดังนั้น แนวทางระยะสั้นในการหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่น่า สนใจ ก็คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว มาเป็นการปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ซึ่งสามารถใช้ได้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการนำน้ำใต้ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปลูกมันสำปะหลัง จากรายงานผลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 10 ตัน ต่อไร่ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน มาใช้ปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ เพื่อชดเชยผลผลิตที่ขาดหายไปจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง และเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง โดยการให้น้ำเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำ และตัวเบียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยแป้ง โดยพบว่าแมลงตัวห้ำและตัวเบียนมีปริมาณลดลงในช่วงแล้ง



การ ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำใต้ดิน

เป็นที่ทราบกันว่า แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีอยู่ด้วยกัน 3 แหล่ง คือ 1. น้ำที่ได้จากผิวดิน ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเล 2. น้ำที่ได้จากใต้ดิน ได้แก่ น้ำที่ได้จากผิวดินซึมผ่านลงไปสะสมอยู่ในช่องว่างของดิน ทราย กรวด และโพรงของหินที่อยู่ใต้ดิน โดยน้ำใต้ดินจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและสภาพภูมิประเทศในบริเวณนั้น และ 3. น้ำที่ได้จากบรรยากาศ ได้แก่ น้ำที่ได้จากฝนตกเท่านั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะในส่วนของแหล่งน้ำใต้ดิน สำหรับแหล่งน้ำใต้ดินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบ 2 ประเภท คือ 1. ขุดเป็นบ่อน้ำซับ เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึก ไม่ควรเกิน 5 เมตร จากผิวดิน สามารถขุดเป็นสระขนาดเล็ก เพื่อนำน้ำมาใช้ได้ โดยน้ำในบ่อจะซึมออกมาตลอดเวลา 2. ขุดเป็นบ่อน้ำบาดาล เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกมากกว่า 20 เมตร จากผิวดิน สามารถเจาะเป็นบ่อโพรงแล้วนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยน้ำในบ่อจะซึมออกมาตลอดเวลา



วิธีการให้น้ำกับมัน สำปะหลัง

วิธีการให้น้ำพืชมี 4 วิธี ด้วยกัน คือ 1. การให้น้ำทางผิวดิน เป็นการให้น้ำแบบปล่อยให้ท่วมเป็นผืน กับการให้น้ำแบบท่วมร่อง 2. การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นการให้น้ำด้วยการพ่นน้ำออกจากหัวสปริงเกลอร์ขึ้นไปบนอากาศ แล้วให้เม็ดน้ำตกลงมาบนแปลงปลูกพืช โดยมีรูปทรงการแผ่กระจายของเม็ดน้ำที่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับฝนตก 3. การให้น้ำแบบหยด เป็นการให้น้ำแก่พืชที่จุดใดจุดหนึ่งบนผิวดินในเขตบริเวณรากพืช โดยผ่านท่อน้ำหยด และ 4. การให้น้ำทางใต้ดิน เป็นการให้น้ำแก่พืชโดยการยกระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาให้สูงพอที่น้ำจะไหลซึม ขึ้นมาสู่ระดับเขตรากพืช ได้แก่ การให้น้ำในคูและการให้น้ำไหลเข้าท่อที่ฝังไว้ใต้ดิน

สำหรับการให้ น้ำกับมันสำปะหลัง ผู้เขียนมีความเห็นว่า การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์และแบบน้ำหยด น่าจะเป็นวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับมันสำปะหลัง โดยการให้น้ำทั้ง 2 วิธีการ สามารถเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชอย่าง เพลี้ยแป้ง ข้อดีของการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์อีกประการหนึ่งคือ สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมันสำปะหลังได้ด้วย การให้น้ำทั้ง 2 วิธี ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้



การ ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์

การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ น้ำที่พ่นขึ้นไปบนอากาศ แล้วให้เม็ดน้ำตกลงมา สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมันสำปะหลังได้ การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์มีหลายแบบ ได้แก่ แบบหลายตัว แบบหัวเดียว แบบคานยื่น และแบบขนาดเล็ก การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ต้องมีส่วนประกอบดังนี้

1. เครื่องสูบน้ำ ทำหน้าที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำแล้วดันออกไปตามท่อผ่านหัวพ่นออกสู่อากาศ โดยอาศัยกำลังจากมอเตอร์หรือเครื่องยนต์

2. ท่อประธาน ทำหน้าที่นำน้ำออกจากเครื่องสูบน้ำไปยังท่อแขนง อาจเป็นท่ออ่อนเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อแข็งเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อที่ติดตั้งถาวร

3. ท่อแขนง ทำหน้าที่นำน้ำออกจากท่อประธานไปยังหัวพ่น อาจเป็นท่ออ่อนเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อแข็งเคลื่อนย้ายได้ หรือท่อที่ติดตั้งถาวร

4. หัวพ่น ทำหน้าที่พ่นน้ำออกเป็นฝอยคล้ายกับฝน หัวพ่นจะมี 2 รู โดยรูแรกพ่นน้ำออกไปไกล อีกรูหนึ่งพ่นน้ำในระยะใกล้

การ ปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ปลูกมัน สำปะหลัง ขุดบ่อน้ำซับหรือเจาะน้ำบาดาล 1 บ่อ เพื่อใช้ปลูกมันสำปะหลัง ขนาด 10-15 ไร่ โดยติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์แบบใดก็ได้ ตามความสะดวกของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง



การให้น้ำแบบ น้ำหยด

การให้น้ำแบบน้ำหยด เป็นการให้น้ำแก่พืชที่จุดใดจุดหนึ่งบนผิวดินในเขตบริเวณรากพืช โดยผ่านท่อน้ำหยด เป็นวิธีที่ไม่สามารถชะล้างและทำลายตัวเพลี้ยแป้งพร้อมถุงไข่ออกจากต้นมัน สำปะหลังได้ แต่จะเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับตัวพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การให้น้ำแบบน้ำหยดต้องมีส่วนประกอบ ดังนี้

1. เครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำส่งเข้าสู่ระบบน้ำหยด ต้องส่งน้ำให้มีแรงดัน อย่างน้อย 0.6 บาร์

2. ระบบส่งน้ำ ประกอบไปด้วย 1. ท่อประธาน เป็นท่อที่ต่อจากแหล่งน้ำ โดยวางไว้บนดินหรือฝังในดิน 2. ท่อรองประธาน เป็นท่อที่แตกจากท่อประธาน อาจใช้ท่อ พีวีซี หรือ พีอี ขนาด 30-50 มิลลิเมตร 3. ท่อน้ำหยด เป็นท่อที่แตกจากท่อรอง วางขนานกับแถวของพืช อาจใช้ท่อ พีวีซี หรือ พีอี ขนาด 12-20 มิลลิเมตร ยาวไม่เกิน 300 เมตร 4. หัวน้ำหยด เป็นหัวปล่อยน้ำอยู่ติดกับท่อน้ำหยด เป็นตัวควบคุมปริมาณการไหลของน้ำจากท่อน้ำหยดสู่ดิน ขนาดของรู 0.5-1.5 มิลลิเมตร

3. เครื่องกรอง จะทำหน้าที่กรองเอาเศษวัชพืช ใบไม้ ทราย ออกจากน้ำ ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไป จะทำให้หัวน้ำหยดเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุให้ต้นพืชขาดน้ำแล้วชะงักการเจริญเติบโต

4. เครื่องควบคุมการจ่ายน้ำต้นทาง ทำหน้าที่ควบคุมการจ่ายน้ำทั้งระบบจากแหล่งน้ำไปสู่ระบบของการให้น้ำแบบหยด ประกอบด้วยประตูน้ำใหญ่ เครื่องวัดปริมาตรน้ำ เครื่องวัดแรงดันน้ำ เครื่องควบคุมแรงดัน ประตูป้องกันน้ำไหลกลับ และเครื่องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมี



การ ปลูกมันสำปะหลัง

แบบมีการให้น้ำ ต้องทำอย่างไร


เมื่อ ศึกษาโมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังในประเทศไทย พบว่า มันสำปะหลังจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ดังนั้น การให้น้ำในช่วงฤดูแล้งก็เพื่อต้องการให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตและมี การสะสมอาหารในหัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้น้ำจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับมันสำปะหลัง ตลอดจนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงตัวห้ำและตัวเบียน ของเพลี้ยแป้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติด้วย การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนรายละเอียด ดังนี้

1. การปรับปรุงดิน ควรทำ 3-5 ปี ต่อครั้ง 1. การไถระเบิดชั้นดินดานด้วยไถสิ่ว ลึกอย่างน้อย 60 เซนติเมตร โดยดินดานขัดขวางการแพร่กระจายของรากพืชและการแทรกซึมของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือไหลบ่ามากขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ขณะเดียวกันก็ทำให้พืชขาดแคลนน้ำในช่วงแล้ง 2. วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) เป็นที่ยอมรับว่า ดินที่มี pH สูงหรือต่ำเกินไป มีผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ควรปรับสภาพดินให้ pH อยู่ระหว่าง 6.5-7.5 ถ้าดินเป็นกรด ควรใส่ปูนจากหินปูนบด หรือหินฝุ่นจากโรงโม่หินปูน หรือปูนมาร์ล หรือโดโลไมท์ อัตรา 200 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านแล้วไถกลบก่อนปลูก ประมาณ 1 เดือน ข้อควรระวัง ห้ามใส่ปูนติดต่อกันหลายปี อาจมีผลให้ดินอยู่ในสภาพเกินปูนหรือเป็นด่าง แก้ไขยาก 3. ปลูกพืชบำรุงดิน ได้แก่ ถั่วพร้า โสนอินเดีย หรือปอเทือง ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดขณะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยให้น้ำหนักสด 3-4 ตัน ต่อไร่ คิดเป็นธาตุไนโตรเจน 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ 4. การป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการปลูกพืชบางชนิดเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ เช่น ปลูกแฝกเป็นแถวกำแพงเพื่อลดแรงไหลบ่าของน้ำและช่วยกักตะกอนดิน ป้องกันการสูญเสียดินและน้ำ 5. เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินด้วยการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก วัสดุอินทรีย์ และการไถกลบซากมันสำปะหลังลงสู่ดิน

2. การเลือกฤดูปลูก เมื่อศึกษาโมเดลการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง พบว่า มันสำปะหลังจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ดังนั้น การปลูกมันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต้องปลูกในช่วงต้นฤดูร้อน คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งในช่วงนี้ความเข็มของแสงจะสูงและท้องฟ้าไม่มีเมฆบังแสง ทำให้พืชสามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย มีการให้น้ำในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโต ตั้งแต่อายุ 1-3 เดือน และให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตและสะสมอาหารในหัวอย่างต่อเนื่อง ตามที่กล่าวข้างต้น

3. การเลือกพันธุ์ ปัจจุบัน ยังไม่มีพันธุ์ที่ทนทานต่อเพลี้ยแป้ง แต่ควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมตามชนิดของดิน โดย 1. ดินทรายร่วน ใช้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 2. ดินร่วนปนทราย ใช้พันธุ์ระยอง 7 ระยอง 9 ระยอง 90 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 3. ดินร่วนปนเหนียว ใช้พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และห้วยบง 60 4. ดินเหนียวสีน้ำตาลหรือแดง ใช้พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 และ 5. ดินเหนียวสีดำ ใช้พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72

4. การเตรียมดิน ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์ก่อนเตรียมดิน อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน แล้วไถดะครั้งแรกให้ลึกในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะด้วยผาล 3 หรือผาล 4 แล้วตากดินนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำลายหรือลดปริมาณไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งที่หลงเหลือในดิน จากนั้นก็ไถแปรเพื่อย่อยดินด้วยผาล 7 แล้วยกร่องพร้อมปลูกโดยยึดหลักการที่ว่าต้องทำให้ฐานร่องปลูกใหญ่เพียงพอ เพื่อรองรับขนาดของหัวที่โตขึ้นได้ ถ้าฐานร่องปลูกเล็กจะไปจำกัดการโตของหัว แต่ถ้าหัวโผล่พ้นดินจะมีผลทำให้หัวหยุดการเจริญเติบโตทันที โดยทั่วไป ระยะร่องปลูกควรห่างกันอย่างน้อย 1.20 เมตร ระยะต้นตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตั้งแต่ 0.80-1.20 เมตร

5. การเตรียมท่อนพันธุ์ เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปราศจากโรคและแมลง อายุ 10-14 เดือน ใช้ต้นสดหรือตัดต้นกองทิ้งไว้ไม่เกิน 10 วัน ก่อนปลูก ความยาวของท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ไม่ควรตัดท่อนพันธุ์ยาวกว่านี้ เพราะไม่ช่วยให้มันสำปะหลังโตและคลุมวัชพืชได้เร็วขึ้น การตัดท่อนพันธุ์ควรใช้เลื่อยที่คมตัดเป็นมัด หรือใช้มีดที่คมตัดทีละต้น โดยตัดแบบตรงหรือตัดแบบเฉียงก็ได้ หลังจากนั้น ควรแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีไทอะมีโทแซม (25%WG) หรือ อิมิดาโคลพริด (70% WG) อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน (10% WG) อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร นานประมาณ 5-10 นาที นำไปผึ่งลมในที่ร่มให้แห้งก่อนนำไปปลูก สามารถฆ่าเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ได้ และยังป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งหลังปลูกได้อีกประมาณ 1 เดือน

6. เทคนิคการปลูก หลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้วไม่ควรรบกวนดิน หรือรบกวนให้น้อยครั้งที่สุด การรบกวนดินมีผลทำให้ดินแน่น ซึ่งจะไปจำกัดการแพร่กระจายของราก และการลงหัวของมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังไปรบกวนการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดินด้วย ดังนั้น การกระตุ้นให้มันสำปะหลังแตกทรงพุ่มใบเพื่อคลุมวัชพืชได้เร็ว ด้วยการรองพื้นก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ พด. 12 ร่วมกับการพ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนงอกและการให้น้ำในช่วงแรกของการเจริญเติบ โต

7. การกำจัดวัชพืช หลังจากปลูกมันสำปะหลังเสร็จแล้ว พ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนงอก โดยไม่ควรเกิน 3 วันหลังจากปลูก หรือพ่นสารเคมีคุมวัชพืชก่อนที่ตาของท่อนปลูกจะงอก สารเคมีประเภทคุมใช้ได้ผลเฉพาะการปลูกต้นฤดูฝนเท่านั้น เพราะต้องมีความชื้นของดินเป็นตัวนำพาสารเคมีไปสู่เมล็ดวัชพืช และไม่มีเศษวัชพืชขัดขวางการแพร่กระจายของสารเคมี หลังจากการพ่นสารเคมีประเภทคุมวัชพืชก่อนงอกแล้ว ถ้ามีวัชพืชขึ้นอีกต้องใช้สารเคมีประเภทฆ่าหลังวัชพืชงอก สารเคมีประเภทฆ่าโดยเฉพาะห้ามใช้ไกลโฟเสทในขณะที่มันสำปะหลังต้นเล็กอยู่ เพราะมีผลทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

8. การใส่ปุ๋ย ต้องใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับมันสำปะหลัง โดยปุ๋ยเคมีต้องใช้ในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย การใส่ปุ๋ยเคมีควรเลือกใช้ อัตราส่วน 2:1:2 ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ 15-7-18 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือน หลังจากปลูก หรือแบ่งใส่ด้วยการรองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่อีกครั้งเมื่ออายุ 1-2 เดือน หลังปลูก ส่วนปุ๋ยอินทรีย์แนะนำให้ใช้รองพื้นหรือรองก้นหลุมปลูก โดยในดินทรายร่วนและดินร่วนปนทราย ใช้อัตรา 2 ตัน ต่อไร่ ดินร่วนปนเหนียว ดินเหนียวสีน้ำตาลหรือแดง และดินเหนียวสีดำ ใช้อัตรา 1 ตัน ต่อไร่ สำหรับปุ๋ยชีวภาพแนะนำให้ใช้ พด.12 อัตรา การใช้ปุ๋ยชีวภาพขยายเชื้อ 300 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถทำปุ๋ยชีวภาพขยายเชื้อได้ โดยใช้ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม รำข้าว 3 กิโลกรัม ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง หนัก 100 กรัม คลุกเคล้ารวมกันโดยมีความชื้นพอเหมาะ ใช้เวลาในการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ 4 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์

9. การเก็บเกี่ยว ควรเลือกเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่เหมาะสม ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุมากกว่า 12 เดือน หรือใกล้เคียงปีครึ่ง จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน โดยไม่เสียต้นทุนในการปลูกใหม่อีกครั้ง หัวมันสำปะหลังที่อายุเกิน 18 เดือน ไปแล้ว จะให้ปริมาณแป้งในหัวสดต่ำ คุณภาพของแป้งไม่ได้มาตรฐาน มีปริมาณเส้นใยสูง และหัวบางส่วนเริ่มเน่าแล้ว



บท สรุป

สถานการณ์เพลี้ยแป้งที่ได้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น มหันตภัยต่อมันสำปะหลัง หากทุกภาคส่วนไม่สามารถหามาตรการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างได้ผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่น่า สนใจก็คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวมาเป็นการปลูก มันสำปะหลังแบบมีการให้น้ำ การปลูกมันสำปะหลังแบบนี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 10 ตัน ต่อไร่ เป็นการชดเชยผลผลิตที่ขาดหายไปจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง นอกจากนี้ การให้น้ำยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับแมลงศัตรู เพลี้ยแป้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า แมลงหางหนีบ และแมลงศัตรูเพลี้ยแป้งนำเข้า อย่างเช่น แตนเบียน Anagyrus lopezi จากประเทศเบนิน ในทวีปแอฟริกา ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนำน้ำใต้ดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ เพื่อผลิตมันสำปะหลังในภาวะวิกฤตการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้ง




บรรณานุกรม

กรม พัฒนาที่ดิน. 2547. การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในไร่นา. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กรุงเทพมหานคร.

พงษ์ศักดิ์ ชลธนสวัสดิ์. 2548. ข้อควรรู้ในการให้น้ำพืช. ภาควิชาเกษตรกลวิธาน. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม.

โอภาษ บุญเส็ง. 2552. ต้นแบบของการผลิตมันสำปะหลังในดินชุดหลัก. หนังสือพิมพ์กสิกร 82 (1) : 15-28

โอภาษ บุญเส็ง. 2553. เพลี้ยแป้ง...มหันตภัยต่อมันสำปะหลัง. เทคโนโลยีชาวบ้าน 22 (471) : 36-42

Harren, H.R. and Neuenschwander, P. 1991. Bio-logical control of cassava pests in Africa Annual

Review of Entomology 36 : 257-283.

Lohr, B. and Varela, A.M. 1 990. Exploration for natural enemies of the cassava mealybugs

Phenococcs manihoti (Homopera: Pseudococcidea) in South America for the biological control of

this introduced pest in Africa. Bulletin of Entomological Research 80 : 417-425.

Williams, D.J. and Granara de Willink, M.C. 1992. Mealybugs of Central and South America. CAB International, Wallingford.
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 478
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM