เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
โรคสำคัญของไก่และการให้วัคซีน
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเลี้ยงไก่ไว้หลายแม่ แต่มักไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากลูกไก่ที่ฟักออกมาแล้ว เลี้ยงต่อไปมักไม่รอด จึงขอเรียนถามว่าโรคสำคัญของไก่มีอะไรบ้างที่ทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก และจะมีการใช้วัคซีนอย่างไร
วิธีแก้ไข :
 
    โรคระบาดสำคัญที่ระบาดในไก่ มีหลายโรค ดังนี้ โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในไก่ ถ้าเกิดการระบาดในฝูงไก่ ไก่จะตายทั้งฝูง เกิดจากเชื้อไวรัส ไก่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อโรคแล้ว 3-6 วัน ระบาดในไก่ได้ทุกวัย อาการของโรคไก่จะหายใจลำบากขึ้น มีน้ำมูกไหล ท้องเดิน คอบิด กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต บางรายจะถ่ายออกมาเป็นสีเขียว แม่ไก่ที่กำลังไข่เมื่อเป็นโรคจะหยุดวางไข่ทันที การติดเชื้อเกิดขึ้นได้จาก กินน้ำและอาหาร ร่วมกับไก่ที่เป็นโรค หรือแม้แต่อยู่ใกล้ชิดกันก็เกิดโรคได้ นอกจากนี้ เชื้อที่ติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ มนุษย์ สุนัข แมว นก หนูและแมลงวันก็เป็นพาหะนำเชื้อได้ ข้อควรระวัง ห้ามชำแหละไก่ที่เป็นโรคนี้ไปบริโภค ให้นำซากไก่ที่เป็นโรคเผาหรือฝังทิ้งไป การใช้วัคซีนป้องกัน เป็นวิธีที่ดีที่สุด เริ่มให้ลูกไก่ด้วยวิธีหยอดจมูกตั้งแต่อายุ 1-7 วัน 1-2 หยด และให้วิธีเดียวกันอีกครั้งเมื่อลูกไก่มีอายุ 21 วัน แต่อายุ 3 เดือน ให้วัคซีนด้วยการใช้เข็มคู่ จุ่มวัคซีนแทงที่ปีก 1 ครั้ง จะคุ้มโรคได้นาน 6 เดือน โรคฝีดาษไก่ โรคชนิดนี้มักพบการระบาดในลูกไก่และไก่รุ่น มีนกพิราบเป็นพาหะนำโรค ที่สำคัญการติดต่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไก่มักตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโตเป็นปกติ อาการที่แสดงให้เห็นเมื่อรับเชื้อแล้ว 1 สัปดาห์ พบว่ามีตุ่มฝีดาษลักษณะคล้ายหูดตามผิวหนัง โดยเฉพาะส่วนที่ไม่มีขน เช่น บริเวณใบหน้า หงอน เหนียง หนังตาและขา ต่อมาขนาดจะใหญ่ขึ้น ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้งและหลุดออกไป นอกจากนี้ ตุ่มฝีดาษยังเกิดขึ้นในลำคอไก่ได้ด้วย ทำให้กินอาหารลำบาก มีน้ำลายไหลยืด ต่อมาไก่จะตาย ฝีดาษไก่เกิดจากเชื้อไวรัส มียุงและนกพิราบเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ นอกจากนี้ โรคสามารถติดต่อได้จากการจิกตีกันระหว่างไก่เป็นโรคกับไก่ที่ยังไม่เป็นโรค วิธีป้องกันและรักษา ระวังอย่าให้ยุงกัดลูกไก่เล็ก เมื่อพบตุ่มฝีดาษระยะแรกให้ทาบริเวณนี้ด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน การให้วัคซีนป้องกันด้วยใช้เข็มคู่จุ่มในวัคซีนแทงปีกที่บริเวณพังผืด ขณะยืดปีกให้ยาวออกเมื่อลูกไก่มีอายุ 1 สัปดาห์ จะคุ้มโรคได้นาน 1 ปี โรคอหิวาต์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การติดต่อเกิดขึ้นจากการกินน้ำและอาหารร่วมกับไก่ที่เป็นโรค นก หนู และสุนัขเป็นพาหะนำโรค อาการของโรค ไก่จะมีอาการหงอย เซื่องซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง ถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองหรือเขียว ส่วนหงอนและเหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ในตัวที่อมโรคเหนียงจะบวมและข้อขาบวมทำให้เดินไม่สะดวก วิธีป้องกันและรักษา ต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนอยู่เสมอ จัดให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดีไม่อบอ้าว การใช้วัคซีน เมื่อไก่อายุ 1-3 เดือน ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง อัตราตัวละ 1 ซีซี จะคุ้มโลกได้นาน 3 เดือน หลังจากอายุ 3 เดือน ให้อัตรา 2 ซีซี ต่อตัว จะคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน และให้ทำซ้ำอีกทุก ๆ 3 เดือน เมื่อพบการระบาดของโรคแล้วแต่ยังไม่รุนแรงให้ใช้ยา ซัลฟา ละลายน้ำให้กินติดต่อกัน 2-3 วัน อาการของโรคจะทุเลาลง โรคหลอดลมอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัสระบาดในไก่ได้ทุกวัย แต่ไก่เล็กจะมีอัตราการตายมากกว่าไก่ใหญ่ การแพร่ระบาดติดต่อทางน้ำมูก และการกินอาหารร่วมกันระหว่างไก่เป็นโรคกับไก่ที่ไม่เป็นโรค อาการของโรค คล้ายกับการเป็นหวัด หายใจเสียงดังครืดคราด ตาแฉะ หงอยและซึม ลูกไก่มักตายในระยะนี้ เนื่องจากหายใจไม่ออก ส่วนไก่ใหญ่จะตายน้อยกว่า ไก่ไข่จะให้ไข่น้อยลง เปลือกไข่บาง ขรุขระ นิ่มและไข่ขาวเหลวกว่าปกติ ป้องกันและรักษา ทำได้ดังนี้ ควรเลี้ยงลูกไก่แยกออกจากไก่ขนาดใหญ่ หมั่นทำความสะอาดโรงเรือนหรือเล้าไก่ด้วยยาฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งภาชนะใส่น้ำและอาหารอีกด้วย อาหารที่ไก่กินไม่หมดให้เก็บทิ้ง อย่าปล่อยให้อาหารเน่าเสียเกิดขึ้น การให้วัคซีนหยอดจมูกและหยอดตาเมื่อลูกไก่อายุ 2 สัปดาห์ จะคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน หัวใจสำคัญ การจะเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดี จะต้องมี ไก่พันธุ์ดี อาหารมีคุณภาพและสะอาด โรงเรือนที่ดี การจัดการบริหารดี และ การควบคุมและป้องกันโรคดี ต้องการรายละเอียดอื่น ๆ ติดต่อสอบถามที่สำนักงานปศุสัตว์หรือสำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้านหรือกลุ่มงานบำบัดโรคสัตว์ปีก ถนนพญาไท กทม. โทร. 0-2653-4483 ต่อ 4341 ในวันเวลาราชการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
ในเมือง
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ปีที่ 15 ฉบับที่ 299
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM