เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
บีลีฟ ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษเมืองกรุง กมลเทพ เอกมโนชัย...ภูมิใจเสนอ
   
ปัญหา :
 
 
ไปจากพระราม 9 ข้ามถนนศรีนครินทร์นิดเดียว จะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าคู่ขนาน ใช้ถนนคู่ขนาน ประมาณ 5 กิโลเมตร ซ้ายมือมีหมู่บ้าน "เนอวานา" เลยหมู่บ้านไม่กี่มากน้อย มีทางโค้งบังคับให้เลี้ยวซ้าย จะผ่านหมู่บ้านมัณฑนา เมื่อผ่านหมู่ บ้านมัณฑนา ราว 1 กิโลเมตร ข้างทางซ้ายมือจะเป็นซอยเลขคู่ คือ 16, 18 เลย ซอย 18 จะพบซอยไม่มีชื่อ ตรงหัวมุมมีรั้วก่อกำแพง มีซาแรน เจ้าของทำขึ้นเพื่อทำร่มเงาให้กับพืชพรรณที่ปลูก เมื่อเลี้ยวเข้าไป จึงเห็นผักไร้ดินหรือผักไฮโดรโปนิกส์ เจ้าของคือ คุณกมลเทพ หรือ บอย เอกมโนชัย อาณาบริเวณทั้งหมดมีราว 1 ไร่ นอกจากผลิตผักแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นที่อยู่อาศัย ที่สร้างขึ้นใหม่ เจ้าของบอกว่า แถบนั้นคือแขวงและเขตสะพานสูง กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิไม่เกิน 10 กิโลเมตร จบ ปริญญาโท แต่สนใจปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ คุณบอย เล่าว่า ตนเองเรียนจบปริญญาตรีทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จากนั้นทำงานอยู่ราว 1 ปี ต่อมาจึงไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ทางด้านบริหารธุรกิจ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "จบจากจุฬาฯ ทำงานอยู่ปีกว่า ไม่มีความสุขกับการทำงานบริษัท อาศัยว่าทางบ้านมีเงินทุนสนับสนุน ลองนั่งคิดว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้าง ส่วนตัวอยากทำธุรกิจของกินของใช้ อยากทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ สุดท้าย ก็เกี่ยวกับอาหาร เป็นผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ เราทำเองรับประทานได้ ให้ครอบครัวรับประทานได้ ให้ลูกค้าเรามีสุขภาพที่ดีด้วย เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่...สินค้าคุณภาพดี ปลอดภัย สะอาด" คุณบอยเล่า และบอกต่ออีกว่า "สมัยที่เรียนอยู่ วิชาที่เรียนใกล้เคียงมากคือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในห้องทดลอง เราเห็นว่าพืชขึ้นได้ทุกสภาวะ ถ้าเข้าใจหลักการ อาหารที่เขาต้องการคืออะไร อย่างอื่นที่ช่วยมี อุณหภูมิ แสงแดด เราควบคุมได้ ปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ หากมีแสงแดด สามารถบริหารพื้นที่ให้มีผลผลิตต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะมาทำ ใช้เวลาตัดสินใจ 6 เดือน บริษัทที่ทำเกี่ยวกับการส่งออก ช่วงนั้นไม่แน่นอน มีเพื่อนที่เรียนระดับปริญญาตรีด้วยกัน บอกว่า มีการเปิดสอนการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์ จึงไปเรียนราว 1 อาทิตย์ เรียนไม่ยาก ช่วงที่เรียนปริญญาตรี ไม่เกี่ยวกับเกษตรเลย ปลูกต้นไม้ไม่เป็น ตอนนี้มาให้ปลูกไม้กระถางอาจจะตายก็ได้ เริ่มปลูกผักเดือนมกราคม 2553 พื้นที่ตรงนี้ 1 ไร่ ส่วนหนึ่งสร้างที่พัก ใช้ปลูกผักราว 100 ตารางวา คือ 1 ใน 4 ไร่ ต่อไปจะขยายให้ได้ครึ่งไร่...ที่ตรงนี้เช่าจากญาติ" ศึกษา การตลาด ควบคู่ไปกับการผลิต คุณบอย บอกว่า ตนเองศึกษาพื้นที่ ดูว่าได้ผลผลิตเท่าไหร่ จากนั้นคำนวณย้อนไป ถ้าตั้งราคาขายจะได้เท่าไร เมื่อเห็นตัวเลขที่น่าพอใจ จึงลงมือทำ ตัวอย่าง ผู้ที่ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ ประสบความสำเร็จมีอยู่ไม่น้อย บางส่วนทำร้านอาหารควบคู่กันไปด้วย โดยนำผลผลิตมาแปรรูปให้ลูกค้ารับประทาน ผู้ผลิตบางรายแรกเริ่มขายส่งผัก 70 เปอร์เซ็นต์ ขายปลีก 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 3 ปี เขาสามารถขายปลีกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ข้อดีของการ ขายปลีก ไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลาง ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายมาก "ที่ตรง นี้เหมาะสม ลมผ่านตลอด แดดไม่ต้องการมาก เพราะเป็นผักเมืองหนาว ระบบน้ำ ใช้น้ำประปา ไม่มีปัญหา เพราะน้ำประปามีความคงที่ หากเป็นผู้ผลิตตามหัวเมือง ถ้าใช้น้ำบาดาล อาจจะต้องปรับกันไม่น้อย เงินลงทุน หากไม่รวมที่พัก เฉพาะโต๊ะปลูก ราคาโต๊ะละ 30,000 บาทเศษ ทุกวันนี้มีอยู่ 6 โต๊ะ เราจะวางแผนตัดผักให้มีจำหน่ายสัปดาห์ละ 2 โต๊ะ มีผักสลัด 6 สายพันธุ์ ด้วยกัน" คุณบอย อธิบาย ผลิตผลของคุณบอย เมื่อออกสู่ตลาด ใช้แบรนด์เนมว่า "บีลีฟ" (Bee Leaf) ผลิตอย่าง ไร คุณบอย บอกว่า ปัจจุบัน ตนเองเน้นผลิตผักสลัด เพราะได้รับคำแนะนำว่า ผู้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ยุคเริ่มต้น ผักสลัดปลูกง่ายที่สุด ส่วนสายพันธุ์ผักสลัดประกอบด้วยคอส, กรีนโอ๊ค, บัตเตอร์เฮด, เรดบัตตาเวีย, เรดโอ๊ค และฟิลเลย์ ส่วนใหญ่ แล้วเป็นผักสีเขียว มีเพียงเรดบัตตาเวียและเรดโอ๊ค ที่มีสีแดง แนว ทางการผลิตนั้น คุณบอยจะซื้ออุปกรณ์จากบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ทางด้านนี้มาประกอบ บางส่วนซื้อมาเพิ่มเติม อย่างปั๊มน้ำ ขั้นตอนการผลิต เจ้าของซื้อเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมาเพาะ ในราคาเมล็ดละ 50 สตางค์ เจ้าของเพาะในถ้วยเพาะ วัสดุประกอบด้วยเพอไลท์และเวอมิคูไลท์ วัสดุเหล่านี้โปร่ง แต่ดูดซับความชื้นได้ดี ใช้เวลา 3 วัน จึงย้ายได้ ซึ่งระยะเวลาการดูแลรักษา มี 3 ระยะ ด้วยกันคือ หนึ่ง...ชั้นอนุบาล 1 ใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอง...ชั้นอนุบาล 2 ใช้เวลา 1 สัปดาห์ สาม...โต๊ะ ปลูกปกติ ใช้เวลา 3 สัปดาห์ เหตุที่ต้องแบ่งระยะ เพราะเขามีการให้สูตรอาหารที่แตกต่างกัน รวมเวลาตั้งแต่ปลูกจนเก็บ เกี่ยวผลผลิตได้ ใช้เวลา 42 วัน เนื่องจากเป็นการปลูกพืชไม่ใช้ดิน เขาจึงให้อาหารพืชทางน้ำ โดยที่เจ้าของไปซื้อปุ๋ยผงมาละลายน้ำเอง อาหาร ของผัก ผู้ปลูกเรียกว่าสารละลาย โดยมีสารละลายที่ 1-3 สารละลายที่ 1 คือแคลเซียมไนเตรต จำนวน 1 กิโลกรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร สารละลายที่ 2 เหล็กเวสโก้ ดีพี จำนวน 20 กรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร สารละลายที่ 3 ประกอบด้วย โพแทสเซียมไนเตรต 600 กรัม แมกนีเซียมซัลเฟต 500 กรัม โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 265 กรัม และเวสโก้ เทรซเสปรย์ เบอร์ 1 จำนวน 60 กรัม ละลายน้ำ 10 ลิตร คุณบอย บอกว่า ให้นำ 3 สารละลายเทลงในถัง ทีละสารละลาย เหตุที่ไม่ชั่งสารทั้งหมดแล้วเติมน้ำ 30 ลิตร ซึ่งจะง่ายกว่านั้น คุณบอย บอกว่า หากเทพร้อมกัน สารมีโอกาสตกตะกอนมาก ที นี้ มาดูการควบคุมความเข้มข้นของสารละลาย ว่าแตกต่างกันอย่างไร ระดับ อนุบาล 1 ความเข้มข้น อยู่ที่ 1.6 มีอีซีมิเตอร์เป็นตัววัด ระดับ อนุบาล 2 ความเข้มข้น อยู่ที่ 1.4 ส่วนผักที่ปลูกบนโต๊ะ สัปดาห์ที่ 4-6 ความเข้มข้น อยู่ในระดับ 1.2, 1.0, 0.8 ตามลำดับ ขณะที่ไปพูดคุย กับคุณบอย จะเห็นผู้ดูแลผัก ใช้เครื่องวัดอีซี อย่างเคร่งครัด โต๊ะ ที่ปลูกผัก ความสูงของโต๊ะไม่เท่ากัน หัวโต๊ะสูง 90 เซนติเมตร ท้ายโต๊ะ 60 เซนติเมตร ปรับให้ความลาดชัน 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สารละลายหมุนเวียน แล้ว สารละลายหมุนเวียนได้อย่างไร คุณบอย บอกว่า ใช้ปั๊มน้ำ เป็นชนิดเดียวกับที่เลี้ยงปลาสวยงาม ให้น้ำขึ้นจากถังสารละลายไปยังโต๊ะปลูก แล้วไหลตามท่อ จึงกลับมายังถัง หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ราว 2 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนถ่ายสารละลายทีหนึ่ง ผลผลิตเป็นอย่างไร อย่าง ที่แนะนำไปแล้ว คุณบอย จะผลิตผักให้ออกสู่ตลาดในช่วงนี้ สัปดาห์ละ 2 โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีผัก 472 ต้น ในโต๊ะหนึ่ง มีผักปลูกครบทุกสายพันธุ์ โดยปลูกสายพันธุ์ละ 80 ต้น ผักสลัดที่บีลีฟ สายพันธุ์คอสมีจำนวน 8 ต้น ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์อื่น 10 ต้น ต่อกิโลกรัม นี่เป็นตัวเลขโดยทั่วไป หากเป็นช่วงหนาว น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีกต้นละ 1-2 ขีด เจ้าของอธิบายว่า งานปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ แต่หน้าแล้ง อากาศจะร้อนมาก จึงต้องพรางแสงให้ด้วยซาแรนสีเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ สายๆ เจ้าของจะให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ไม่ใช่รดน้ำให้กับผัก แต่เป็นการลดความร้อน หากปฏิบัติตามที่แนะนำมา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งต้นผักเจริญเติบโตได้ดี หากเป็นช่วงหนาว อย่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ไม่จำเป็นต้องพ่นน้ำให้แต่อย่างใด ศัตรูผักที่พบเห็นอยู่ เรื่อง โรค เจ้าของบอกว่า ยังไม่พบ แต่ก็ป้องกัน โดยทำความสะอาดอย่างดี แมลง ที่ผ่านมา อากาศร้อนแล้งมีเพลี้ยไฟบ้าง แต่เมื่อให้น้ำ เพลี้ยไฟไม่ชอบจึงหายไป นอกจากนี้ ยังพบว่า มีหนอนบ้าง ทางแก้ไขคือ ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว "ที่ นี่ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำส้มควันไม้ล้างออกอยู่แล้ว ล้างด้วยน้ำเปล่า ไม่มีสารตกค้าง จุดเด่น...ของที่นี่ น่าจะเป็นเรื่องทำเล เราอยู่ไม่ไกล ตอนนี้ส่งทุกวันศุกร์ แถวดินแดง สาทร สีลม พระราม 9 ใครอยู่ละแวกนี้พูดคุยได้ โอกาสต่อไปจะเพิ่มขึ้น ผมขับรถส่งเอง ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ คนพร้อมที่จะรับประทานผลผลิตปลอดสารพิษอยู่แล้ว ผู้บริโภคซื้อผักปลอดสารพิษตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้ว แต่น้อยที่จะเข้าถึงฟาร์ม เพราะว่าส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ฟาร์มต่างจังหวัดเขาเน้นเข้าห้าง ของผมเน้นขายปลีก ส่งถึงบ้านให้ลูกค้า ได้ความสด ราคาซื้อขายก็ไม่สูง เพราะไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลาง" คุณบอย บอก คุณ บอย บอกว่า ผักสลัดที่ตนเองปลูกอยู่ นอกจากรับประทานในรูปแบบสลัดแล้ว บางสายพันธุ์ อย่างคอส สามารถลวกน้ำร้อนพอสะดุ้ง จะได้รสชาติดีมาก รับประทานกับน้ำพริก "คุณพ่อผมชอบผัก บนโต๊ะจึงใช้ผักไฮโดรโปนิกส์ การรับประทานผัก ทำให้รับประทานอาหารคล่องคอ เป็นผลดีต่อสุขภาพ โอกาสต่อไปคงเปิดขายที่หน้าฟาร์ม ยังไม่ได้ขึ้นป้าย คงใช้ชื่อ Be Leaf...ตามที่ผมได้ศึกษา ต้นทุนการผลิตผักแบบนี้ อยู่ที่ต้นละ 10 บาท สำหรับการคืนทุน ไม่รวมที่อยู่อาศัย ปีหนึ่งถึงสองปีก็คืนทุนได้แล้ว" คุณบอย บอก สำหรับการซื้อขายผักสลัดของคุณบอย ใครไปจอดรถซื้อที่หน้าฟาร์ม จำหน่ายกิโลกรัมละ 120 บาท ส่งถึงที่กิโลกรัมละ 140 บาท กรณีที่ผู้สนใจอยากผลิตผักเอง คุณบอย บอกว่า ไม่ต้องลงทุนมากนัก พื้นที่เล็กๆ แคบๆ ก็ทำได้ ถามไถ่กันได้ที่ โทร. (081) 923-1132, (081) 341-2795 Email:squareot@gmail.com
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 481
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM