เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ปลากัด" ของ ยุทธ ภู่พลับ คนสู้ชีวิต แห่งปากน้ำโพ สู้อย่างทระนง แม้ร่างกายพิการ
   
ปัญหา :
 
 
การ ตีไก่ กัดปลา มีมาแต่ครั้งโบราณกาลสมัยสร้างบ้านแปงเมืองก็ได้รับความนิยมกันมาแล้ว การตีไก่ กัดปลา เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยแต่ดั้งเดิม ยามว่างจากการทำนาหรือหมดหน้านาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็หางานอดิเรกทำ โดยจับเอาไก่มาตีกัน ช้อนเอาปลามากัดกันให้สนุกสุขสมในอุรา เป็นการสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูงคอเดียวกันอีกทางหนึ่ง และฝึกความขยันอดทนที่จะต้องเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลากัดด้วย ครั้น เมื่อวัฒนธรรมพื้นบ้านตรงนี้ได้รับการถ่ายทอดตกทอดมาถึงรุ่นหลาน เหลน โหลน การตีไก่ กัดปลา กลายเป็นการพนันกันไป บ้างก็อ้างว่า มันคือ กีฬา มีเดิมพันเล็กๆ น้อยๆ ค่ากับข้าวเสริมความบันเทิงก็เท่านั้นเอง แต่สำหรับไก่ชนและก็ปลากัดแล้ว มันคงไม่อยากเป็นนักกีฬาสักเท่าไหร่นัก เพราะเจ็บตัว แต่โดยสัญชาตญาณของไก่ชน และปลากัด เมื่อเจอพรรคพวกที่ไม่ใช่เพศตรงข้ามกัน มันจะต้องประลองกำลังเพื่อชิงความเป็นผู้นำในฝูงให้จงได้ ไก่ชน จึงต้องชนกัน และปลากัดก็ต้องกัดกันสมชื่อนามที่เรียกขานกันมา การ เลี้ยงไก่ชนและปลากัดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีหัวใจเป็นนักต่อสู้ชอบความเจ็บปวดเป็นต้นทุน การเลี้ยงไก่ชนและปลากัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็มีสิทธิ์เลี้ยงกันได้ แต่กับ คุณยุทธ ภู่พลับ หนุ่มวัยกลางคน แห่งบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แล้ว ไม่ธรรมดาเลยในสายตาของทุกๆ คน คุณ ยุทธ ภู่พลับ เกิดมาอาภัพตั้งแต่เล็กๆ พออายุ 8 ขวบ ก็เป็นโปลิโอ ขาลีบเดินไม่ได้ "ยุทธ" ต้องสู้ชีวิตกับโลกส่วนตัวที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ ที่มีกำลังขาเดินไปไหนมาไหนได้ เขาต้องใช้วิธีถัดไป ทดแทนการเดินด้วยขา พยายามยืนหยัดสู้ชีวิตเลี้ยงตัวด้วยความทระนง เมื่อชีวิตเติบใหญ่ขึ้น "ยุทธ" บอกว่า "ผมเกิดที่บ้านบางม่วงแห่งนี้ เติบโตอยู่ที่นี่ ชอบเลี้ยงไก่ชนมาตั้งแต่เล็กๆ ส่วนปลากัดเพิ่งจะมาเลี้ยง ประมาณ 7-8 ปี เห็นจะได้ รายได้ก็ได้เงินจากการเลี้ยงไก่ชน เลี้ยงปลากัดขาย พอเลี้ยงตัวไปวันๆ" คุณยุทธ กล่าวพร้อมกับบอกต่ออีกว่า มาพักหลังเลี้ยงปลากัดรายได้ดี ชาวบ้านในชุมชนย่านหมู่ที่ 7 ก็เลยหันมาเลี้ยงปลากัดส่งขายกันแทบทุกครัวเรือน จนจะกลายเป็นหมู่บ้านเลี้ยงปลากัดไปแล้ว บ้านแต่ละหลังจะเลี้ยงปลากัดกันตั้งแต่ 5 บ่อ ถึง 2,000 บ่อ ขึ้นไป เลี้ยงส่งขายตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ ในแต่ละสัปดาห์จะมีประชากรปลากัดถูกจับส่งขายไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว ทั่วหมู่บ้าน จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อเหมากัน ตัวละ 4 บาท ถ้าขายปลีกปลาเก่ง ขายกันที่ตัวละ 100-500 บาท "สำหรับผมเลี้ยงไว้ 30 บ่อ บ่อหนึ่งมีปลาประมาณ 300 ตัว ก็พอกำลังการเลี้ยง" คุณ ยุทธ เริ่มต้นให้คำแนะนำการเลี้ยงปลากัด เพื่อการธุรกิจและเพื่อการนำปลาไปเป็นนักกีฬาตามบ่อนปลากัดทั่วๆ ไปว่า หากคิดจะเลี้ยงปลากัดขาย ควรเริ่มต้นที่การเพาะพันธุ์ปลาเองจะดีกว่า ไปหาซื้อพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาเพาะ อัตราการสูญเสียจะน้อยกว่าเอาลูกปลามาเลี้ยงให้โต คุณยุทธ บอกว่า พ่อพันธุ์ปลาจะใช้พ่อพันธุ์ปลากัดจากมาเลเซีย มีตลาดซื้อ-ขาย กันแน่นอน เอาพ่อพันธุ์ปลากัดมาเลเซียมาผสมกับแม่พันธุ์ปลากัดหม้อไทย พ่อพันธุ์มาเลเซีย ผิวหนังจะเหนียวดี เขาเรียกว่า "หนังดี" แต่ตัวจะเล็กกว่าปลาหม้อไทย สีออกดำเข้ม เขี้ยวยาว กัดแรง กัดหนัก เขี้ยวยาวหรือสั้นนั้นจะดูได้ก็ตอนเอาปลาลงซ้อมกับปลาคู่ต่อสู้ ถ้าเห็นกัดแรง กัดแต่ละทีคู่ต่อสู้ได้แผลเลือดออก แสดงว่าปลาตัวนั้นเขี้ยวดี ซึ่งปลามาเลเซียมักจะเขี้ยวดี ปลากัดมาเลเซีตัวผู้ลักษณะหัวหางเท่ากัน วิธีเลือกซื้อดูที่รูปร่างตันๆ โครงร่างสวย ส่วนปลากัดหม้อไทยตัวผู้ ลำตัวจะยาว ส่วนหัว หาง และลำตัวจะเท่ากันหมด นิยมเล่นกันทุกสี แต่สีแดงกับสีฟ้าจะขายดีที่สุด คุณ ยุทธ บอกว่า ปลามาเลเซียเก่งๆ ตัวหนึ่ง ตั้งแต่ 800-1,000 บาท ขึ้นไป พอเราเลือกซื้อได้ ก็ซื้อปลากัดหม้อไทยตัวเมียที่รูปร่างหนา โครงร่างสวย การผสมพันธุ์ปลากัดจะใช้ตัวผู้เป็นปลามาเลเซีย ตัวเมียเป็นปลากัดหม้อไทย หรือจะใช้ตัวเมียเป็นปลามาเลเซีย ตัวผู้เป็นปลากัดหม้อไทยก็ได้ แล้วแต่ผู้เลี้ยง เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์เรียบร้อยแล้ว ก็เอาอ่างน้ำ กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นอ่างดินเผายิ่งดีใหญ่ เอาปลาตัวผู้ใส่ขวดโหลตั้งไว้กลางอ่าง ในอ่างใส่น้ำประมาณครึ่งหนึ่ง ปล่อยแม่พันธุ์ลงไป ใส่ผักบุ้งเพื่อให้ปลามีที่หลบบ้าง ให้อาหารไฮเกรดเป็นอาหารปลากัดโดยเฉพาะ ให้เช้า-เย็น ถ้ามีลูกน้ำเสริมทั้งพ่อแม่พันธุ์ก็จะดีมาก ทิ้งให้พ่อแม่พันธุ์ได้ จ้องกันอยู่เช่นนั้น ประมาณ 21-22 วัน แม่พันธุ์ก็จะตั้งท้อง สังเกตเห็นไข่เหลืองๆ ที่ท้องได้ชัดเจน ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมทำน้ำหมักไว้รองรับลูกปลาก่อน ประมาณ 5 วัน โดยใช้อ่างอีกอ่างหนึ่งใส่น้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่ดินเหนียว-ผักบุ้ง-ใบตองแห้ง 2 ใบ ไม่ต้องใหญ่มากนัก ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ก็พอ หมักน้ำทิ้งไว้ 5 วัน พอตัวเมียท้องแก่ครบ 22 วัน ก็เอาพ่อแม่พันธุ์ออกมาใส่ในกะละมังพลาสติคเล็กๆ ใส่น้ำไม่ต้องมาก พอประมาณ ใส่ผักบุ้ง 2-3 ต้น หาอะไรปิดฝากะละมังเสียหน่อย ให้พ่อแม่พันธุ์ได้อยู่ด้วยกันเงียบๆ ให้อาหารเช้า-เย็น ตามปกติ ทิ้งไว้ 3 วัน เปิดฝาออกมาจะเห็นไข่ลอยฟ่อง ให้ตักตัวเมียออก และนับจากนั้นไปอีก 5 วัน ลูกปลาเล็กๆ จะเกิดเต็มกะละมัง คุณยุทธ บอกว่า ขณะที่ตัวเมียไข่พ่อพันธุ์ก็จะปล่อยน้ำเชื้อโดยเก็บไข่อมไว้ แล้วก็บ้วนออกมาเป็นหวอดเต็มไปหมด พอลูกปลาเกิดหมดแล้วก็เอาทั้งกะละมังไปเทใส่ในอ่างที่เราเตรียมน้ำทำไว้แล้ว จัดหาลูกไรเล็กๆ เหยาะลงไป ไม่ต้องมากนัก ให้ลูกไร 2 วันครั้ง จนกระทั่ง 1-2 สัปดาห์ ค่อยเอาพ่อพันธุ์ขึ้นมาจากอ่างลูกปลา จากนั้นก็อนุบาลลูกปลาต่อไป สำหรับพ่อแม่พันธุ์ใช้ผสมพันธุ์ต่อไปอีก พ่อพันธุ์ปลากัดใช้เพาะผสมพันธุ์ได้ 10 ครอก แม่พันธุ์ผสมได้ 2 ครั้ง ก็พอแล้ว ต้องหาแม่พันธุ์ตัวใหม่เข้ามาเพาะขยายพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป ลูก ปลากัดที่ออกมาจะเป็นลูกสายพันธุ์ไทย-มาเลเซีย อนุบาลต่อไปอีกประมาณ 2-3 เดือน อาหารให้ลูกไรตลอด พอเห็นว่าตอดอาหารไฮเกรดได้แล้ว อายุประมาณ 3 เดือน เริ่มเข้าสี ให้คัดลูกปลาเลือกเอาตัวที่สมบูรณ์ ดูที่สวยๆ เลือกเอาตัวผู้ไว้ ตัวเมียคัดขาย ตัวละ 1 บาท คัดเอามาเลี้ยงในรองซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เซนติเมตร ใน 1 รอง เลี้ยงลูกปลาได้ประมาณ 300 ตัว ลูกปลากัดแต่ละครอกจะมีประมาณ 2,000-3,000 ตัว ดังนั้น จึงต้องใช้หลายรองในการเลี้ยงลูกปลากัด เลี้ยงปลารุ่นระดับน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร ปลาตัวผู้อยู่ในบ่อเดียวกัน จะมีกัดกันบ้าง ก็ไม่มากนัก หมั่นเอาปลาออกมาลองเขี้ยว คือใส่ในขวดโหลหรือขวดแบนให้กัดกัน ตัวไหนถูกกัดแพ้คัดออกขายเป็นปลาเหมาไป ปลาชนะเป็นปลาเก่งขายอีกราคาหนึ่ง ตั้งแต่ตัวละ 100-500 บาท ปลาแพ้ขายเหมารวม ตัวละ 4 บาท ชีวิตปลา กัดห้ามเป็นผู้แพ้ ถ้าแพ้ถูกขายเหมารวมทันที ผู้ชนะเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับอาหารดีๆ เสริมกำลัง ด้วยไข่ตุ๋นบ้าง ปลาต้มบ้าง โดยเอาปลาช่อนมาต้มให้สุก แล้วเอาเนื้อมาละลายน้ำให้กิน จะช่วยทำให้กระดูกแข็ง ผิวหนังดี ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งอาจารย์สักยันต์ที่ไหน "ที่ บ้านก็มีคนมาซื้อปลาทุกวัน ผมขายไม่แพงครับ ปลาเก่งๆ ขาย 300-500 บาท ที่ราคาตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปก็มี อยู่ที่ปลา ผมเพาะเองจะไปขายแพงกับเขาก็ไม่ได้ ใครมาซื้อก็ขายไป เดี๋ยวก็มีลูกปลาเกิดมาให้เราคัดอีก ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก" คุณ ยุทธ กล่าวและว่า ทุกวันนี้มีพรรคพวกเพื่อนฝูงแวะมาเยี่ยมมาคุยกันตลอด ว่างๆ ก็เลี้ยงปลา ลองปลา เลี้ยงไก่ ชนไก่ ไปวันๆ ชีวิตก็มีเท่านี้ ใครจะแวะมาพูดคุยกัน มาดูปลากัด ไก่ชน ขอเชิญได้ทุกเวลา บ้านอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลบางม่วง มาตามถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก ข้ามสะพานเกลอสรรค์ข้ามแม่น้ำปิง ลงสะพานเลี้ยวซ้ายตรงเข้าไปในหมู่บ้าน ถามชาวบ้านละแวกนั้นก็ได้ เขารู้จักกันทุกคน หรือจะโทร.ที่ (085) 287-5312 ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ คุณยุทธ คนสู้ชีวิตกล่าวในที่สุด
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครสวรรค์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 487
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM