เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เป็ดไล่ทุ่ง ยิปซีแห่งท้องนาไทย
   
ปัญหา :
 
 
ใน สถานการณ์ที่วิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบัน ที่เกษตรกรพบความหายนะจากระบบวิธีการผลิตที่มุ่งทางการตลาดและเกษตรเชิง เดี่ยวซึ่งต้องอาศัยปัจจัยการผลิตจากแหล่งอื่นด้วยการซื้อหา แต่การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งกลับอาศัยปัจจัยการผลิตที่เหลือจากการทำเกษตรกรรม หลัก นอกจากจะลดรายจ่ายแล้วยังเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย อีกทั้งการหยุดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรก็เป็นสิ่งที่สังคมผู้บริโภค มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่ง ดังที่มีการเปลี่ยนระบบเกษตรสมัยใหม่มาเป็น เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เป็ดไล่ทุ่งและไข่เป็ดดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์โดยแท้จริง กลับถูกคุกคามเนื่องจากมาตรการป้องกันและกำจัดไข้หวัดนก เพื่อรักษามูลค่าการส่งออกสัตว์ปีกของธุรกิจในระบบทุนนิยมไว้ โดยมองข้ามการดำรงอยู่ของเกษตรกรรายย่อย การที่รัฐออกมาตรการโดยคำนึงถึงเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในภาพรวม และวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด วิถีชีวิตแบบชาวบ้านจึงถูกทำลายไปในมาตรการนั้นด้วย ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ควรถูกแก้ปัญหาแบบบูรณาการเพื่อค้นหาทางออกให้กับทุกฝ่าย การจัดโซนนิ่งเพื่อจำกัดขอบเขตในการดูแล การเฝ้าระวังโรคด้วยมาตรการที่เป็นระบบ รวมถึงการให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อดูแลกันเอง ก็เป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การอยู่รวมกันในสังคมระหว่าง นายทุนกับเกษตรกรรายย่อยอย่างไม่แปลกแยกจากกัน ประชาชนในประเทศไทย ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมากกว่าอาชีพอื่น ในอาชีพการทำการเกษตร การทำนาของชาวนาซึ่งถูกยกย่องว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยแบบครอบครัว มักจะเป็นการทำนา ปลูกพืชผสมกับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงเป็ดในนาข้าวเป็นวิถีชาวบ้านอย่างหนึ่ง นิยมเลี้ยงกันมากในบริเวณภาคกลาง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำอุดมสมบูรณ์ทั้งปี เหมาะกับการเลี้ยงเป็ดที่ต้องอาศัยน้ำตามลักษณะนิสัยตามธรรมชาติ หลัง จากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีพ่อค้านำลูกเป็ดพร้อมกับอาหารและยา มาให้กับชาวนาเลี้ยงในฤดูที่ว่างจากการทำนา เมื่ออนุบาลลูกเป็ดใต้ถุนบ้านจนกระทั่งลูกเป็ดแข็งแรงพอแล้ว ก็จะต้อนลูกเป็ดลงให้ไปหาอาหารในทุ่งนา เพื่อเก็บกินข้าวที่ร่วงหล่นจากการเก็บเกี่ยว ศัตรูพืชสำคัญของนาข้าว เช่น หอยเชอรี่ ปูนา ก็เป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของเป็ดไล่ทุ่ง การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจึงเป็นการเอื้อต่อระบบนิเวศน์ของนา ซึ่งเป็นการใช้ผลพลอยได้จากการเกษตรไม่ให้ทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นการกำจัดศัตรูพืชของไร่นาด้วยวิถีทางธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่งต่อชาวนา คือหลังจากเลี้ยงเป็ดจนได้อายุที่ตลาดต้องการแล้ว พ่อค้าก็จะมารับซื้อเป็ดรุ่นคืน หรือชาวนาอาจเลี้ยงต่อไปอีกเพื่อเป็นเป็ดไข่ไว้จำหน่ายไข่ได้อีกด้วย จาก วิกฤติไข้หวัดนกระบาดในปี พ.ศ. 2547 ทำให้ทางราชการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ในการเลี้ยงของเป็ด ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเป็ดไล่ทุ่งและวิถีชีวิตของชาวนา จึงทำให้เป็ดไล่ทุ่งค่อยๆ หายออกไปจากทุ่งนา เป็นผลให้ชาวนาต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการซื้อยาปราบหอยเชอรี่ ปูนา และต้องใช้แรงงานในการกำจัดต้นข้าวซึ่งงอกจากเมล็ดข้าวที่หล่นในนาเมื่อฤดู ก่อนอีกด้วย การเกษตรที่เกื้อกูลกันในวิถีชีวิตของเกษตรกร เป็นภูมิปัญญาในการจัดการกำจัดศัตรูข้าวของชาวนา เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ กำลังถูกภาคราชการกำจัดแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกซึ่งมีมูลค่ามหาศาลของธุรกิจในระบบทุน นิยมหรือหันกลับมาเลี้ยงแบบวิถีชีวิตอย่างภูมิปัญญาชาวบ้าน อะไรคือทางออก ความเป็นมา เป็ดเป็นสัตว์ปีกที่นิยมเลี้ยง ไว้หลังบ้านในสมัยก่อนเหมือนกับไก่ แต่เป็นเพราะว่าจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำ เช่น หนอง คลอง บึง จึงทำให้มีการเลี้ยงน้อยกว่าไก่ ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ในภูมิประเทศทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำ การเลี้ยงเป็ดจึงเป็นที่นิยมเลี้ยงในที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี การเลี้ยงเป็ดไก่หลังบ้านมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ดังคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า "เลี้ยงเป็ดกินไข่ เลี้ยงไก่กินเนื้อ" การเลี้ยงในอดีตเป็นการเลี้ยงเพื่อใช้ในการบริโภคประจำวัน มีการซื้อขายกันไม่มาก ในสมัยก่อนการบริโภคไข่ในครัวเรือนเป็นการบริโภคไข่เป็ด ไม่ใช่ไข่ไก่อย่างเช่นทุกวันนี้ อาหารที่ทำจากไข่เป็ดของคนไทยในสมัยนั้นเป็นไข่ต้มเพียงอย่างเดียว นอกนั้นจะใช้ในการทำขนมหวาน เมื่อวัฒนธรรมการบริโภคของคนจนเข้ามา เมนูอาหารจากไข่ต้ม เพิ่มเป็นไข่เจียว ไข่ดาว และการถนอมอาหารของจีนที่เข้ามาสู่วัฒนธรรมไทย คือ ไข่เค็ม และไข่เยี่ยวม้า ทำให้เกิดการบริโภคไข่เพิ่มขึ้นจากกรณีดังกล่าว จึงมีการประกอบการโรงฟักเกิดขึ้นแทนการฟักไข่ของแม่เป็ดในธรรมชาติจากการ เลี้ยงหลังบ้าน ในสมัยแรกจะเป็นการฟักด้วยการฝังในหลุมกลางแดด ต่อมาได้พัฒนามาเป็นตู้ฟักที่ประกอบด้วยไม้เรียกกันว่า ตู้ไทย แต่ในปัจจุบันโรงฟักไข่จะใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ มีราคาสูงแต่มีประสิทธิภาพมากกว่าแทน จากเหตุผลดังกล่าว จึงเกิดการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเพื่อการค้า โดยโรงฟักจะเป็นศูนย์กลาง มีการนำลูกเป็ดและอาหารส่วนที่จำเป็นต้องใช้ในการอนุบาลพร้อมกับยาและวัคซีน มาให้กับชาวนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว หลังการอนุบาลในบริเวณบ้าน ชาวนาก็จะต้อนลงทุ่งเพื่อให้เป็ดหากินข้าวหล่นและหอยเชอรี่ ในตอนเย็นก็ไล่ต้อนเข้าคอกพักซึ่งในสมัยก่อนใช้ไม้ไผ่ซีกมัดต่อกันไว้ด้วย เชือกโดยจะม้วนเก็บ ได้เป็นม้วนเหมือนตาข่าย ปัจจุบันใช้ตาข่ายไนล่อนหรือที่เรียกว่ามุ้งเขียวล้อมแทน ถ้าเลี้ยงเป็ดตัวผู้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โรงฟักก็จะเป็นผู้รับซื้อนำไปขุนให้เป็ดอ้วนก่อนขาย ถ้าเป็นเป็ดไข่ก็จะเลี้ยงไปถึง 5 เดือน จึงจะขายหรือให้ชาวนาเก็บไข่ขายโดยโรงฟักจะเป็นผู้รับซื้อ และเมื่อเป็ดแก่ โรงฟักก็จะเป็นผู้รับซื้อเป็ดแก่อีกด้วย พันธุ์เป็ดที่ใช้เลี้ยง พันธุ์ เป็ดที่ใช้ในการเลี้ยงไล่ทุ่ง มี 2 พันธุ์ คือ เป็ดกากี และเป็ดปักกิ่ง เนื่องจากมีคุณลักษณะที่สำคัญคือ หากินเก่ง ทนทานต่อโรค แข็งแรงปราดเปรียว และไข่ดก นอกจากนี้ ยังสามารถกินอาหารจากธรรมชาติหรือของเหลือจากการทำการเกษตร โดยไม่พึ่งอาหารสำเร็จรูปจากโรงงาน การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ เลี้ยงเป็ดเพื่อเป็นเป็ดเนื้อ และการเลี้ยงเพื่อใช้ เป็นเป็ดไข่ 1. เป็ดกากี คำว่า เป็ดกากี ในปัจจุบันที่เรียกขานเป็นการเรียกตามชื่อ เป็ดพันธุ์กากีแคมพ์เบลล์ หรือเรียกกันตามสีของเป็ด ซึ่งเป็ดดังกล่าวเป็นการผสมระหว่างเป็ดพื้นเมืองของไทย คือ เป็ดพันธุ์ปากน้ำ และเป็ดพันธุ์นครปฐม จนเป็ดลูกผสมดังกล่าวกลายเป็นเป็ดที่มีไข่ดก ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมในเมืองไทยได้ดี ในสถานการณ์ไข้หวัดนกกำลังระบาด พบว่าเป็ดสายพันธุ์นี้มีความทนทานต่อเชื้อไข้หวัดนกมากกว่าเป็ดสายพันธุ์ อื่น แต่จะมีลักษณะการอมโรค และเป็นพาหะในการแพร่โรค ลักษณะประจำ พันธุ์ คือ มีสีกากี ดำ แซมสีขาวบ้างเล็กน้อย น้ำหนักในวัยที่เจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 1.5-2.00 กิโลกรัม เนื่องจากตัวเล็ก น้ำหนักน้อย รูปร่างปราดเปรียว จึงเหมาะกับการเลี้ยงในสภาพธรรมชาติ ซึ่งเป็ดชนิดนี้หากินอาหารในธรรมชาติเก่ง เป็ดชนิดนี้เพศผู้และเพศเมียมีน้ำหนักไม่ต่างกันมาก อายุ 3 เดือน ถือว่าเจริญเติบโตเต็มที่ และเริ่มไข่เมื่ออายุย่างเข้าเดือนที่ 4 ระยะไข่ของเป็ดพันธุ์นี้มีจนถึง 2 ปี จำนวนไข่เฉลี่ยประมาณ 220-240 ฟอง แล้วแต่ความสมบูรณ์ของอาหารในทุ่ง ลูกเป็ดพันธุ์กากีนี้ จะขายแบบแยกเพศ เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงมีความมุ่งหมายต่างกัน คือถ้าต้องการใช้เป็ดไข่ต้องใช้เป็ดเพศเมีย ส่วนเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อต้องใช้เพศผู้ ราคาจำหน่ายลูกเป็ดเพศเมียกับลูกเป็ดเพศผู้มีความแตกต่างกันมาก เช่น ถ้าเพศเมียจำหน่ายตัวละ 16 บาท เพศผู้จะจำหน่ายตัวละ 2 บาท ในช่วงที่ราคาลูกเป็ดเพศเมียราคาถูก ลูกเป็ดตัวผู้จะแถมให้กับผู้ซื้อเป็ดเพศเมีย เนื่องจากการแยกเพศลูกเป็ดอายุ 1 วัน จะต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการโรงฟักไข่เท่านั้นสามารถแยกได้ค่อนข้างแม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของผู้ประกอบการโรงฟักนั้นๆ เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดจึงมักจะซื้อลูกเป็ดจากผู้ประกอบการที่เป็นขาประจำกัน 2. เป็ดปักกิ่ง ในที่นี้หมายถึงเป็ดปักกิ่งที่ยังไม่ได้ปรับปรุงพันธุ์ เป็นเป็ดนำเข้าจากประเทศจีน มาเลี้ยงขยายพันธุ์ในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 60 ปี ลักษณะประจำพันธุ์ คือ มีขนสีขาวล้วน ปากและเท้าสีส้ม น้ำหนักเฉลี่ยเพศผู้ ประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม เพศเมีย 2.-2.5 กิโลกรัม เป็ดปักกิ่งนำมาเลี้ยงเป็นเป็ดไล่ทุ่งเพื่อทำเป็นเป็ดเนื้อ ผู้ประกอบการโรงฟักจะขายแบบคละเพศ เพศเมียไม่นิยมนำมาทำเป็นเป็ดไข่เนื่องจากมีปริมาณไข่น้อยกว่าเป็ดกากี เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในปัจจุบัน มี 3 แบบ 1. เกษตรรายย่อยอิสระ การประกอบการรูปแบบนี้ เกษตรกรรายย่อยจะซื้อลูกเป็ดมาเอง โดยเป็นผู้เลี้ยงเอง และรับผิดชอบ อาหารสำเร็จรูปในระยะอนุบาล ยา/วัคซีน การเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดเอง และค่าใช้จ่ายอื่นที่มีขึ้นทั้งหมด ซึ่งในกรณีนี้เกษตรกรสามารถนำไข่ที่ได้จำหน่ายให้กับพ่อค้าเองทั้งหมด วิธีนี้มีข้อเสียที่ความแน่นอนในการซื้อของพ่อค้า และสามารถเลี้ยงเป็ดได้จำนวนไม่มาก ซึ่งเหมาะกับการทำการเกษตรแบบพอเพียง ส่วนข้อดี ถือเป็นรายได้เสริม และสามารถนำไปจำหน่ายในชุมชนในราคาขายปลีก ซึ่งจะได้ราคามากกว่าจำหน่ายให้กับพ่อค้า วิธีนี้นิยมเลี้ยงกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ 2. เกษตรกรรับจ้างเลี้ยง วิธีการจ้างเลี้ยงมักจะใช้กับแรงงานต่างด้าว ซึ่งผู้ประกอบการจะจ่ายให้เฉพาะเงินเดือนหรือค่าอาหารให้ด้วย ผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงการจัดการ เช่น การเคลื่อนย้ายเป็ด การหาแปลงนาเพื่อเลี้ยงเป็ด วิธีนี้มีข้อดีว่า สามารถเลี้ยงได้จำนวนมากโดยการแบ่งเป็นฝูง ประมาณ 1,000-3,000 ตัว ต่อฝูง โดยจะใช้คนงาน 2-3 คน สำหรับเป็ดที่ไข่แล้ว จะเป็นฝูงที่เล็กกว่าเป็ดเนื้อหรือเป็ดรุ่น ข้อเสียคือ การดูแลเอาใจใส่อาจจะไม่ทั่วถึงเนื่องจากมีปริมาณมาก 3. เกษตรรายย่อยมีการรับประกันซื้อ เดิมธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการโรงฟักเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากวิฤกติไข้หวัดนกผู้ประกอบการดังกล่าวเลิกการทำธุรกิจแบบเอเย่นต์แทบ ทั้งหมด เนื่องจากเครือข่ายการเลี้ยงมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถควบคุมดูแลโรคได้อย่างทั่วถึง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนก เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพพอและได้การสนับสนุนจากผู้ประกอบการโรงฟักเดิม จึงมาประกอบธุรกิจนี้แทน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 23 ฉบับที่ 492
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM