เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปัญหาที่ได้จากการเสวนากลุ่มเกษตรกรผู้นำชาวสวนยาง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   
ปัญหา :
 
 
การ ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จัดให้มีการเสวนาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยยางและกลุ่ม เกษตรกรผู้นำชาวสวนยางในเขตปลูกยางใหม่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี คือ ประการแรก ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาและความต้องการที่แท้ จริงของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักวิจัยในการที่จะสร้างงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่ เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างตรงเป้าหมาย ประการที่สอง ทำให้เกษตรกรได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำสวนยาง และได้รับความรู้เพิ่มเติม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้แก่ นักวิจัย นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ซักซ้อมความเข้าใจในปัญหาต่างๆ จากเกษตรกรเจ้าของปัญหาโดยตรง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และได้รู้ในสิ่งที่เกษตรกรต้องการและสนใจจริงๆ ไม่ใช้ความรู้ที่ได้จากการยัดเยียดให้กับเกษตรกร ประการที่สาม เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและประโยชน์ที่ได้จากการทำ งานวิจัยร่วมกัน ทำให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีด้วยตนเอง ประการที่สี่ นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดความผูกพันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและความเข้าใจกันระหว่าง วิทยากรและเกษตรกรผู้ร่วมเสวนา ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับข้อมูลพื้นฐานและปัญหาจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้นักวิจัยได้ผู้ช่วยนักวิจัยคือ เกษตรกรอาสาสมัครที่เต็มใจเข้ามาช่วยเหลือนักวิจัยของรัฐ ซึ่งจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสืบค้นข้อมูล โดยที่เกษตรกรจะช่วยในการเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ตามที่นักวิจัยต้องการทราบและร่วมกันแก้ปัญหา โดยที่นักวิจัยเป็นผู้ศึกษาในเรื่องวิชาการและเกษตรกรเป็นผู้ศึกษาในทาง ปฏิบัติ ผลที่ออกมาจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในเขตพื้นที่ ปลูกยางใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรที่ปลูกยางเป็นเกษตรกรมือใหม่ ย่อมประสบปัญหามากมาย จำเป็นที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากทางภาคใต้ที่มีอาชีพการทำสวนยางมาหลายชั่วอายุคน คุณพิศ มัย จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงราย และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางประจำจังหวัด ได้จัดเสวนา เรื่องปัญหาการปลูกสร้างและดูแลรักษาสวนยางในเขตปลูกยางใหม่ มีเกษตรกรจากจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ อุบลราชธานี และยโสธร เข้าร่วมเสวนากลุ่ม 53 กลุ่ม จำนวนเกษตรกร 1,600 ราย ซึ่งพอสรุปวิเคราะห์ปัญหาในภาพรวมในพื้นที่เขตปลูกยางใหม่ได้ ดังนี้ อาการเปลือกแห้ง เป็น ปัญหาที่พบมากที่สุดในแปลงยางที่เปิดกรีดแล้วถึงร้อยละ 87.5 ของกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด หมายถึงปัญหาดังกล่าวนี้พบเกือบทุกพื้นที่ เกษตรกรไม่ทราบสาเหตุและไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเกิดอาการดังกล่าว สาเหตุเกิดจากเกษตรกรกรีดยางต้นเล็ก กรีดบาดเปลือกบาง เกษตรกรบางส่วนไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมการกรีดยางกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับยางพารามาก่อน อาศัยฝึกกรีดกับเพื่อนบ้าน และนิยมใช้ระบบกรีดถี่ กรีด 2 วันติดต่อกัน หยุดกรีด 1 วัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เปลือกแห้ง แนว ทางแก้ไข ควรกรีดยางตามขนาดแนะนำคือ มีขนาดเส้นรอบลำ 50 เซนติเมตร วัดที่ระดับความสูง 1.50 เมตร จากพื้นดิน และจะต้องมีจำนวนต้นที่ได้ขนาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของสวนยาง และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 30-5-18 อัตราครึ่งกิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ปีละ 2 ครั้ง คือ ต้นและปลายฤดูฝน โดยใส่กึ่งกลางระหว่างแถวยาง เกษตรกรผู้กรีดยางควรเข้ารับการอบรมการกรีดยางที่ถูกต้องกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ ศูนย์วิจัยยางต่างๆ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางประจำจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรีดบาดหน้ายาง และหากต้นยางเริ่มแสดงอาการเปลือกแห้ง สังเกตที่รอยกรีดมีน้ำยางไหลเป็นช่วงๆ บนรอยกรีด ให้ลดความถี่ของการกรีดเป็นกรีดวันหยุดวัน และหากพบว่าน้ำยางไหลน้อยมาก ควรหยุดกรีดเฉพาะต้นที่แสดงอาการ ประมาณครึ่งปีถึง 1 ปี จึงค่อยกลับไปกรีดใหม่ หากเมื่อกลับไปกรีดอีกครั้งแล้วยังพบว่าไม่มีน้ำยางก็แสดงว่าต้นยางต้นนั้น เกิดอาการเปลือกแห้งแบบถาวรไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาต่างๆ ที่บอกว่าใช้สารชนิดนี้แล้วรักษาอาการเปลือกแห้งหรืออาการตายนึ่งได้ ซึ่งส่วนมากต้นยางที่หายจากอาการเปลือกแห้งเนื่องจากแสดงอาการเปลือกแห้งแบบ ชั่วคราว ดังนั้น การหยุดกรีดและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอาการเปลือกแห้งอาจหายได้ หากยังไม่หายแสดงว่าต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้งแบบถาวร ทำได้คือรอขายไม้ตอนโค่นอย่างเดียว สิ่งที่ควรรู้ การเกิดอาการเปลือกแห้งเป็นการผิดปกติทางด้านสรีรวิทยาภายในท่อน้ำยาง ไม่มีเชื้อสาเหตุและไม่ถ่ายทอดสู่ต้นอื่น การติดดอกออกผลของต้นยาง เป็น ปัญหาที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 กระจายอยู่ ร้อยละ 75 ของพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่คิดว่าต้นยางที่ได้รับภายใต้โครงการยางล้านไร่เป็น ยางพันธุ์ปลอม หรือเป็นยางที่ติดตาจากกิ่งตาสอย จึงมีผลทำให้ต้นยางติดดอกออกผลขณะที่อายุยังน้อย และถึงแม้เกษตรกรจะได้ยางพันธุ์ดีที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมวิชาการ เกษตรก็ตาม ในทางปฏิบัติเกษตรกรใส่ปุ๋ยไม่ถูกสูตร อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นยางติดดอกออกผลในขณะที่ยางอายุยังน้อย รวมทั้งอาจเกิดจากต้นยางกระทบแล้งยาวนานด้วย ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใส่ปุ๋ยสำหรับยางก่อนเปิดกรีด โดยใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกสูตร ดังตาราง และหาวิธีการเก็บรักษาความชื้นโดยการคลุมโคนต้นหรือปลูกกล้วยเป็นพืชแซม เป็นต้น และสำหรับในพื้นที่ที่พอหาแหล่งน้ำได้ควรรดน้ำต้นยางในช่วงฤดูแล้ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการติดดอกออกผลของยาง การรอดตายและยังช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นยาง แต่หากไม่มีแหล่งน้ำก็ไม่ควรขวนขวายหาซื้อน้ำมารดต้นยางเพราะหากต้นยางได้ รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการหรือมีให้น้ำแต่ไม่สม่ำเสมอคือ นานๆ ให้น้ำครั้งหนึ่ง การให้น้ำแบบนี้กลับเป็นการเร่งให้ต้นยางตายได้ เพราะปกติต้นยางมีการปรับตัวเพื่อให้ทนกับความแห้งแล้งอยู่แล้ว ข้อควรทราบ ต้นยางเล็กต้องการใช้น้ำวันละ 10-50 ลิตร/ต้น ส่วนยางเปิดกรีดแล้วใช้น้ำวันละ 100 ลิตร/ต้น และต้องให้น้ำสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ สภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมในการปลูกยาง ปัญหา นี้พบมากเป็นลำดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 68.8 เกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อว่ายางสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่เมื่อมีโครงการยาง ล้านไร่เข้ามา เกษตรกรจะรีบไปเข้าชื่อเพื่อขอรับพันธุ์มาปลูก โดยมิได้ศึกษาถึงสภาพพื้นที่ที่มีอยู่เหมาะสมที่จะปลูกยางหรือไม่ เช่น ปลูกในที่นาน้ำท่วมขัง ดินปลวกหรือดินลูกรัง เป็นต้น ดังนั้น แนวทางที่เกษตรกรจะต้องแก้ไขเบื้องต้นในสภาพที่มีน้ำท่วมขัง ให้ทำร่องระบายน้ำออกจากแปลงยาง และสำหรับเกษตรกรที่วางแผนจะปลูกยาง ควรสำรวจพื้นที่เสียก่อนว่าที่ของท่านเหมาะสมกับการปลูกยางหรือไม่ อย่าปลูกตามเพื่อนบ้าน เพราะแม้พื้นที่ใกล้เคียงกัน สภาพเนื้อดินก็แตกต่างกันได้ วิธีสำรวจง่ายๆ คือ ตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นมีน้ำท่วมขังหรือไม่ ไม่ใช่พื้นที่นาดอนที่มีพื้นที่รอบๆ ปลูกข้าวหมด เพราะยางไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง ทนต่อน้ำท่วมขังไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ หากนานกว่านั้นทำให้ต้นยางแคระแกร็นไม่โตจนถึงตายได้ สภาพพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูงพบต้นยางแสดงอาการผิดปกติที่โคนต้นจะเน่าและ ตาย การตรวจความลึกของหน้าดิน ให้ลองขุดดินดู หากว่ามีหน้าดินลึกมากกว่า 1 เมตร ก็สามารถปลูกยางได้ แต่ต้องลองขุดสำรวจหลายๆ จุดให้แน่ใจว่าไม่มีชั้นหินหรือชั้นดินดาน เพราะถึงแม้สภาพที่มีชั้นหินและดินดานจะปลูกยางได้ก็ตาม แต่พอยางเริ่มโต อายุ 3-4 ปี ต้นยางจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น โดยแสดงอาการตายจากยอดลงมาหรือหากกระทบสภาพความแห้งแล้งจะทำให้ต้นยางตายได้ ดังนั้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว และสำรวจเนื้อดินด้วยว่าเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนทรายหรือไม่ ทำง่ายๆ โดยเก็บตัวอย่างดินที่ระดับความลึก 30-60 เซนติเมตร จากพื้นดิน ใช้ดินผสมกับน้ำและปั้นให้เป็นก้อน หากดินจับตัวเป็นก้อนดีมากไม่มีการเปลี่ยนรูปร่างถึงแม้จะหักงอ ก้อนดินก็ไม่แตกแสดงว่าเป็นดินเหนียว หรือหากไม่สามารถปั้นเป็นก้อนได้เพราะดินแตกเสียก่อนก็แสดงว่าเป็นดินทราย ดินทั้ง 2 ชนิด ไม่ควรปลูกยาง ดินที่ยางต้องการคือดินร่วนปนเหนียวและดินร่วนปนทราย สามารถปั้นดินเป็นก้อนได้อยู่ระหว่างดินเหนียวและดินทราย ดินร่วนช่วยในการอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี ปุ๋ยและการใส่ปุ๋ย พบ ปัญหานี้เป็นลำดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 56.3 ปัญหาเรื่องปุ๋ยแบ่งเป็นหลายกรณี ได้แก่ เกษตรกรไม่รู้จักสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับต้นยาง ใส่ปุ๋ยตามพืชที่ปลูกแซมระหว่างแถวยาง เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น บางครั้งใส่ปุ๋ยตามพืชดั้งเดิมที่เคยปลูก เช่น ปุ๋ยข้าว ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นต้น บางรายรู้จักสูตรปุ๋ยดี คือปุ๋ย สูตร 20-10-12 แต่ไม่ใส่เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงหรือหาซื้อปุ๋ยสำหรับใส่ต้นยางไม่ได้ จึงหันไปใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและปุ๋ยคอกแทน เกษตรกรบางรายจะใส่ปุ๋ยคอกก็เกรงว่าปุ๋ยคอกจะเป็นสาเหตุทำให้ปลวกและเชื้อ แพร่กระจายและทำลายต้นยาง นอกจากนั้น เกษตรกรบางกลุ่มไม่ทราบวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าใส่ที่โคนต้นยางและไม่รู้ว่าการใส่ปุ๋ยจะต้องห่างจากต้นยางเท่าไร ยังมีกลุ่มที่ไม่ใส่ปุ๋ยหรือใส่ในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการของต้นยาง ปล่อยให้ต้นยางแคระแกร็น แนวทางแก้ไข ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกที่ และถูกเวลา โดยการใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตรดังตัวอย่างในตาราง หากสวนยางอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และเป็นดินร่วนทราย ยางอายุ 4 ปี เกษตรกรจะใส่ปุ๋ย สูตร 20-10-17 อัตรา 37 กิโลกรัม/ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 18.5 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยให้ถูกเวลา โดยแบ่งใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง คือ ต้นและปลายฤดูฝน และใส่ให้ถูกที่ คือ ให้สังเกตทรงพุ่มยางแผ่ออกไปแค่ไหน นั่นหมายความว่ารากฝอยซึ่งเป็นรากที่ดูดธาตุอาหารพวกปุ๋ยโดยตรงอยู่ตรงนั้น ควรใส่ปุ๋ยบริเวณชายขอบของทรงพุ่ม หากยางอายุ 4 ปีขึ้นไป ทรงพุ่มชิดกันให้ใส่ปุ๋ยบริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาง และขุดเป็นหลุม 3-4 จุด/ต้น ขุดลึกแค่ 1 หน้าจอบ (ลึก 5-10 เซนติเมตร) ใส่ปุ๋ยแล้วกลบดินตามเพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยระเหยเร็วและถูกน้ำชะล้างไปก่อน ที่ต้นยางจะดูดธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ สามารถใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ย คอกหรือปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์ได้ แต่ไม่ควรใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียว เพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นยางที่นำไปใช้ในการเจริญ เติบโตและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ที่แอบอ้างมีสูตรปุ๋ยกำกับด้วย ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดนึกว่าใช้ปุ๋ยถูกสูตร และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ปุ๋ยอินทรีย์มีราคาถูกกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของธาตุอาหารกับราคาจะพบว่าปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว มีราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมีมากหลายเท่าตัว ตรงกับสุภาษิตที่ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" เพราะการใส่ปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นยาง นอกจากจะทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้าแล้ว เกษตรกรยังเสียเวลาและเสียโอกาสที่จะกรีดยางด้วย ศัตรูของต้นยาง ได้แก่ ปลวก หนอนชอนเปลือก ฯลฯ เป็นปัญหาที่พบมากเป็นอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 50 โดยเฉพาะตัวตุ่นเป็นปัญหามากในเขตพื้นที่ปลูกยางภาคเหนือ โดยกัดกินรากยางตั้งแต่อายุ 1-4 ปี ทำให้ต้นยางโค่นล้มและตาย สำหรับปลวกที่เกาะทำรังที่ลำต้นนั้น จากงานวิจัยล่าสุดในเขตภาคใต้ ปลวกสามารถทำลายต้นยางโดยกัดกินทั้งเนื้อเยื่อแห้งและสดบริเวณโคนต้นและราก ให้โค่นล้มในขณะที่ใบยังเขียวอยู่ โดยเข้าทำลายทุกอายุของต้นยางตั้งแต่ยางอ่อนจนถึงยางกรีดแล้ว แนวทาง แก้ไข หากต้นยางมีปลวก ให้ใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟน (carbosulfan, 20%EC) หรือสารฟิโปรนิล (fipronil, 5%SC) หรือไส้เดือนฝอยราดโคนต้น ปริมาณขึ้นอยู่กับขนาดต้นยาง สำหรับการกำจัดตัวตุ่น พบว่า เกษตรกรในพื้นที่มีวิธีการหลากหลายในการกำจัด ทั้งวิธีตกเบ็ดใช้เหยื่อล่อและใช้อาหารคลุกสารพิษเพื่อให้ตุ่นกิน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ อาการไหม้คอดินจากแสงแดด เป็น ปัญหาอันดับที่ 6 คิดเป็นร้อยละ 43.8 ต้นยางแสดงอาการเป็นแผลที่เปลือกโคนต้น ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไข บริเวณเนื้อไม้จะตายและถูกปลวกเข้าทำลาย ต้นยางอาจตายได้ ส่วนใหญ่จะแสดงอาการบาดแผลทางทิศตะวันตก อาการไหม้คอดินพบมากในต้นยางอายุ 1-3 ปี เนื่องจากในเขตปลูกยางใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีช่วงแล้งยาว นาน โอกาสที่ต้นยางมีอาการไหม้คอดินได้ง่าย และมีผลทำให้ยางตายได้ ดังนั้น เมื่อเข้าหน้าแล้งสำหรับต้นยางอายุ 1-3 ปี ควรทาปูนขาว โดยใช้อัตราส่วนปูนขาวกับน้ำ 1 ต่อ 1 ผสมแช่ค้างไว้ 1 คืน หรือให้สีน้ำมันทาต้นยางจากโคนต้นขึ้นมาถึงบริเวณเปลือกสีน้ำตาล หรือสูงประมาณ 1.0-1.5 เมตร การตัดแต่งกิ่ง เป็น ปัญหาอันดับที่ 6 พอๆ กับอาการไหม้คอดิน เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดแต่งกิ่งไม่ถูกวิธี เน้นในเรื่องผลผลิตไม้ยาง โดยตัดแต่งกิ่งจนถึงระดับ 4-5 เมตร ออกหมด ตัดแต่งกิ่งในช่วงหน้าแล้ง มีการโน้มกิ่งลงมาตัดแต่งกิ่งทำให้ลำต้นหักหรือเนื้อเยื่อได้รับอันตราย หรือสร้างทรงพุ่มโดยการควั่นลำต้นหรือการรวบยอด มีการตัดยอดยางเพื่อสร้างทรงพุ่มที่ความสูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร โดยเกษตรกรอ้างว่าได้รับคำแนะนำบอกต่อๆ กันมา แนวทางแก้ไข ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 เมตร ลงมาเท่านั้น การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นยางสูงชะลูดเพียงหวังขายไม้ยางตอนโค่น ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตทางด้านข้างช้า ผลก็คือ ต้นยางมีขนาดลำต้นเล็กกว่าปกติ ต้นยางขนาดเล็กถึงแม้ว่าจะอายุมากแล้วก็ตาม ทำให้ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ เพราะสารอาหารถูกแบ่งเพื่อนำไปใช้ในการเจริญทางยอดเพื่อเพิ่มความสูงของต้น มากกว่า การปลูกพืชแซมยาง เป็นปัญหาอันดับ เดียวกันกับการตัดแต่งกิ่ง ในเขตภาคเหนือนิยมปลูกยางแซมในสวนลำไย และมีพืชไร่อื่นๆ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด พริก ปัญหาที่พบมีการปลูกพืชแซมไม่ถูกวิธี เช่น ปลูกชิดต้นยาง หรือปลูกยางใกล้ต้นลำไย เป็นต้น แนวทางแก้ไข ชนิดของพืชแซมที่จะปลูกขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดของสถานที่นั้นๆ หากปลูกพืชไร่แซมระหว่างแถวยาง เช่น ถั่วต่างๆ ข้าวโพด และสับปะรด เป็นต้น ควรปลูกห่างจากแถวยางด้านละ 1.0 เมตร ส่วนมันสำปะหลังให้ปลูกห่างจากแถวยางอย่างน้อยด้านละ 2.0 เมตร และไม่ควรปลูกมันสำปะหลังก่อนปลูกยาง เพราะเกิดการแก่งแย่งทั้งอาหาร แสงแดด และความชื้นในดิน ทำให้ต้นยางแคระแกร็นและตาย สำหรับไม้ยืนต้นและไม้ผลพบว่า มีบางชนิดเท่านั้นที่สามารถปลูกร่วมกับยางได้ โดยเฉพาะพวกทนร่มเงา เช่น มังคุด โดยปลูกไม้ยืนต้น/ไม้ผลตรงกึ่งกลางระหว่างแถวยาง ห่างจากแถวยางด้านละ 3.5 เมตร ในเขตภาคเหนือที่ปลูกลำไยหรือเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกมะม่วง หิมพานต์มาก่อนปลูกยางแต่เสียดายไม่กล้าโค่นทิ้ง กลับเป็นผลร้ายต่อยางทำให้ต้นยางแคระแกร็น ดังนั้น เกษตรกรควรตัดสินใจว่าต้องการสวนยางหรือสวนไม้ผล เพราะทำให้พืชทั้ง 2 ชนิด แคระแกร็นและไม่ได้ผลผลิตทั้งคู่ การปลูกยาง เป็น ปัญหาอันดับที่ 7 คิดเป็นร้อยละ 37.5 เกษตรกรปลูกยางด้วยกันหลายแบบ ได้แก่ ปลูกแบบไม่เอาถุงออก (ที่จังหวัดอุบลราชธานี) ปลูกแบบหลุมตื้นเท้าช้างโผล่สูง ไม่มีการใส่ปุ๋ยและปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุม ปลูกในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเกษตรกรได้รับกล้ายางล่าช้า ขุดหลุมไม่ได้ขนาด เช่น ขุดลึก 2 หน้าจอบแล้วปลูกเลย ไม่มีการเตรียมหลุมปลูก หรือเตรียมหลุมปลูกเล็กมาก โดยใช้วัสดุทรงกระบอกขนาดใหญ่กว่าถุงยางเล็กน้อย กระทุ้งดินให้เกิดหลุมเพื่อปลูกยาง แนวทางแก้ไข การปลูกยางใช้ระยะระหว่างแถว 7 เมตร และระยะระหว่างต้น 3 เมตร จำนวนต้น 76 ต้น/ไร่ หากเป็นพื้นที่ลาดเอียงก็ให้ปลูกขวางทางลาดเท ขุดหลุมขนาดความกว้างxยาวxลึก 50x50x50 เซนติเมตร ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม โดยใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0) อัตรา 200 กรัม/หลุม ผสมกับดินก้นหลุม และผสมดินบนกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณ 3-5 กิโลกรัม/หลุม แนะนำให้ปลูกด้วยยางชำถุง ขนาด 1-2 ฉัตร ที่มีฉัตรแก่เต็มที่เท่านั้น สิ่งต้องระวังเป็นพิเศษคือ ระวังไม่ให้ดินในถุงยางแตกในระหว่างการขนย้ายและการปลูก หากดินในถุงที่มียางชำถุงแตกจะทำให้รากยางขาดและต้นยางตายได้ ไม่ควรขนย้ายยางชำถุงจากโรงเรือนเพาะชำไปปลูกทันทีจะทำให้ยางช็อคตาย เนื่องจากปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น ควรพักต้นยางที่ขนย้ายไว้ก่อนในที่ร่มแดดรำไร เพื่อให้ต้นยางมีการปรับตัว ข้อระวังตอนปลูก ใช้มีดเฉือนก้นถุงประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วกรีดด้านข้างของถุงให้ขาดออกจากกัน แต่ไม่ดึงถุงออก นำไปวางในหลุม กลบดินลงหลุมจนเกือบเต็มหลุมแล้วดึงถุงพลาสติคออก ระวังอย่าให้ดินในถุงแตก กลบดินจนเสมอปากหลุมแล้วอัดดินให้แน่น โดยให้ดินบริเวณโคนต้นยางสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้น้ำขังบริเวณถุงปลูกยาง ควรนำถุงพลาสติคที่ดึงออกมาวางไว้ข้างต้นโดยใช้ก้อนดินทับ เพื่อตรวจเช็คและป้องกันการลืมดึงถุงออกจากหลุมปลูกยาง อาการผิดปกติของต้นยาง เป็น ปัญหาอันดับเดียวกันกับการปลูกยาง อาการผิดปกติของต้นยางเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น และเกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ ความร้อน พายุ ฟ้าผ่า การขาดธาตุอาหาร ทำให้ต้นยางแสดงอาการผิดปกติและทำให้ยางตายได้ เกษตรกรที่จะปลูกยางควรจะได้ศึกษาถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อเป็นตัวช่วยประกอบในการตัดสินใจปลูกยางและหาวิธีแก้ไขเพื่อลดความเสีย หายของต้นยาง แนวทางแก้ไข เกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบสวนยางอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าต้นยางแสดงอาการผิดปกติให้ส่งภาพ พร้อมทั้งรายละเอียดสวนยางว่า สวนยางอยู่ที่ไหน ปลูกยางพันธุ์อะไร ยางอายุกี่ปี พื้นที่ปลูกกี่ไร่ มีจำนวนต้นยางทั้งหมดกี่ต้น และยางแสดงอาการผิดปกติกี่ต้น ส่งข้อมูลได้ทั้งทางไปรษณีย์และอี-เมลไปที่ สถาบันวิจัยยางหรือศูนย์วิจัยยางที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยอาการผิดปกติและแนะนำแนวทางแก้ไขต่อไป วิธีการเปิดกรีดต้นยาง เป็น ปัญหาอันดับที่ 8 คิดเป็นร้อยละ 31.3 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมการกรีดยางมาก่อน ทำให้หน้ายางเสียหายมาก กรีดบาดหน้ายาง มุมกรีดไม่ถูกต้อง เปิดกรีดยางต้นเล็กอายุน้อย โดยปกติอายุเฉลี่ยเปิดกรีดยางประมาณ 5-6 ปี ขนาดลำต้นเฉลี่ย 40 เซนติเมตร ใช้ระบบกรีด 2 วันเว้นวัน แนวทางแก้ไข กรีดต้นยางที่ได้ขนาดเปิดกรีด คือ มีขนาดเส้นรอบลำต้น 50 เซนติเมตร ที่ระดับความสูง 1.50 เมตรจากพื้นดิน และมีจำนวนต้นที่ได้ขนาดเปิดกรีดมากกว่าครึ่งหนึ่งในสวนยาง คนกรีดยางโดยตรงไม่ใช่ตัวแทน ต้องได้รับการฝึกกรีดอย่างถูกวิธี ไม่ควรฝึกกรีดด้วยตัวเองหรือกับเพื่อนบ้าน ในการกรีดยางควรทำเส้นแบ่งกรีดหน้า-หลัง ทำมุมกรีด 30 องศา กับแนวระดับ จำนวนต้นที่กรีดยางแต่ละครั้งหากแบ่งครึ่งลำต้น ไม่ควรกรีดเกิน 500 ต้น และแบ่งกรีด 1 ใน 3 ของลำต้น ไม่ควรกรีดเกิน 800 ต้น เพราะการกรีดจำนวนต้นมากๆ จะทำให้คนกรีดยางเกิดอาการเมื่อยล้า มีโอกาสกรีดบาดหน้ายางได้ และควรลับมีดกรีดยางให้คมอยู่เสมอ และเปลี่ยนมีดกรีดยางทุกปี นอกจากนั้น ปัญหาที่ต่ำกว่าร้อยละ 31.1 ลงมา ได้แก่ ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปัญหาพันธุ์ยาง โรคยาง ไฟไหม้สวนยาง และปัญหาภัยธรรมชาติ คุณพิศ มัย กล่าวว่า จากการจัดให้มีการเสวนาร่วมกันดังกล่าว ทำให้นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร และรู้ว่ายังมีอีกมากมายที่เกษตรกรยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำสวนยาง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องดีกว่าปล่อยให้เกษตรกรรับรู้ข้อมูลมา อย่างผิดๆ จากเพื่อนบ้าน หรือปล่อยให้เกษตรกรเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 23 ฉบับที่ 491
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM