เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การกลับมาของชวนชมพันธุ์ยักษ์ “เพชรบ้านนา”พร้อมกับแนวคิดใหม่ “ต้นชวนชมพันเกลียว”
   
ปัญหา :
 
 
“ถ้าพูดถึงความดังของชวนชมตอนนี้คงต้องยกให้ชวนชม 2 พันธุ์ คือ ราชินีพันดอก และเพชรบ้านนา เพราะทั้ง 2 พันธุ์ ต่างมีความโดดเด่นเฉพาะ” นั่นเป็นคำยืนยันจาก คุณภรคุณ เจ้าของสวนชวนชมพันธุ์ราชินีพันดอก หากท่านผู้อ่านยังพอจำได้ว่า นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเคยนำเสนอเรื่องการเพาะ-จำหน่ายต้นชวนชมราชินีพันดอกจากสวนคงนคร ที่มี คุณภรคุณ อยู่วิจิตร โทรศัพท์ (081) 801-6419, (089) 895-2002 หรือ คุณบอม หรืออีกชื่อที่ผู้คลุกคลีวงการชวนชมรู้จักเป็นอย่างดีว่า บอม บางนา ซึ่งเป็นผู้ที่รักและหลงใหลไม้ดอกไม้ประดับในเชิงงานอดิเรก กลับกลายมาทำรายได้อย่างงดงามแก่เขา จนทำให้วงการชวนชมเกิดความคึกคัก ตื่นตัวเป็นอย่างมาก เรียกว่าทุกเวทีประกวดราชินีพันดอกจากสวนคงนครต้องไม่พลาดรางวัลระดับต้นๆ เลย จากการพูดคุยกับคุณบอมทราบว่า นอกจากชวนชมราชินีพันดอกของเขาที่โด่งดังและถูกจัดให้เป็นราชินีของชวนชมอันเนื่องมาจากความสวยงามของดอกที่มีขนาดใหญ่ เต็มต้นและเต็มทุกยอดแล้ว สีของกลีบดอกยังเพิ่มเสน่ห์ให้กับพันธุ์นี้ด้วย คุณบอมบอกว่า ยังมีชวนชมอีกพันธุ์ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ นั่นคือ ชวนชมพันธุ์เพชรบ้านนา ที่ถือว่าเป็นชวนชมพันธุ์ยักษ์ที่เคยโด่งดังในอดีต และปัจจุบันกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และยังได้รับการจัดให้เป็นราชาของชวนชมอีก “ความที่ผมอยู่ในวงการชวนชมมานาน คลุกคลีและติดตามความเคลื่อนไหวของสวนชวนชมทุกราย เพราะต้องศึกษาว่าแต่ละแห่งมีการปลูกอะไร มีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไรบ้าง ก็พบว่าคุณอนุชา แห่งสวนเพชรบ้านนา เป็นบุคคลที่น่าสนใจ เพราะจากการที่ได้ทำความรู้จักกัน คุณอนุชามีความยึดมั่นต่อการปลูกชวนชมมาก มีการพัฒนาวิธีการปลูก ตลอดจนหาแนวทางใหม่ๆ เติมเข้ามาตลอด ที่สำคัญเขายึดมั่นกับชวนชมมาตลอด ไม่เคยปลูกพืชชนิดอื่นเลย จึงทำให้เขารู้จักความเป็นชวนชมที่แท้จริง และยิ่งคบหากันนานวัน ยิ่งทำให้พบว่า คุณอนุชายึดถืออาชีพนี้อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา ไม่เคยคิดเอาเปรียบลูกค้า” เจ้าของสวนราชินีพันดอกกล่าวยืนยันอีกครั้ง สำหรับคุณอนุชาที่คุณบอมกล่าวถึงก็คือ คุณอนุชา เกียรติกุล อยู่บ้านเลขที่ 150/1 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ (085)177-7455 และเป็นเจ้าของ “สวนเพชรบ้านนา” ที่เป็นแหล่งเพาะ-จำหน่ายต้นชวนชมสายพันธุ์เพชรบ้านนา ที่เดิมเป็นสายพันธุ์ยักษ์มาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย คุณอนุชาเล่าว่า คุณพ่อได้นำมาเมื่อครั้งไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และได้นำมาปลูกไว้ในกระถาง ขนาด 12 นิ้ว ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี การปลูกครั้งนั้นไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะต้องกลับไปขุดทองที่ประเทศซาอุดีอาระเบียต่อ แต่หลังจากไม่ได้ไป ได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งตอนที่มาอยู่ที่อำเภอบ้านนา ต้นชวนชมก็เริ่มติดฝักและมีการเพาะเลี้ยงมาเรื่อยๆ และมีต้นลูกอยู่หลายร้อยต้น จึงตัดสินใจรวบรวมสายพันธุ์ให้มากที่สุด หวังว่าจะเป็นสวนชวนชมที่มีสายพันธุ์มากที่สุดในเมืองไทย แล้วต่อมาก็ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันต้นแม่พันธุ์ที่นำมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่อุทยานหินล้านปี ที่พัทยา แต่ก็มีผู้ที่ได้สะสมไว้หลายคนที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทย บางส่วนถูกขายออกไปนอกประเทศ แต่คุณอนุชายังคงมีกิ่งแม่ที่เสียบต่อ เริ่มและจะกลับมาผลิตสายพันธุ์นี้อีกครั้ง พร้อมกับจะสร้างสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีก อย่างไรก็ดี Socotranum สายพันธุ์ที่ชื่อว่าเพชรบ้านนา เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศไปแล้ว โดยให้ชื่อว่า Thai Socotranum Peth Ban Na ชวนชมรุ่นแรกที่ฮือฮา ทำเท่าไร ขายได้หมด “อยู่ที่บ้านนาประมาณ 7 ปี ช่วงนั้นทำชวนชมเป็นรุ่นแรกและถือว่าเป็นเจ้าแรกด้วย ทำเท่าไรขายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อะไร ทำออกมาขายได้ทั้งนั้น แต่ที่ขายดีและเป็นที่นิยมคือ พันธุ์เพชรบ้านนา เพราะเราเป็นเจ้าของพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ยักษ์จากประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีขนาดใหญ่เท่ากับใช้คน 2 คน โอบต้น” เจ้าของพันธุ์เล่า ต่อมาคุณอนุชาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่สุพรรณบุรี โดยในช่วงแรกยังหาพื้นที่ไม่ได้ และเพิ่งมาได้เริ่มงานอาชีพที่มีความถนัดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณอนุชาบอกว่า ได้ทำชวนชมพันธุ์เพชรบ้านนาอีกครั้งหลังจากเคยประสบความสำเร็จมาก่อน พร้อมกับแตกแนวคิดใหม่ที่ใช้การตลาดนำการเกษตร ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าก็คือ ต้นชวนชมพันธุ์ไทย ด้วยการนำไปทำเป็นเกลียวเพื่อให้เกิดความแปลก ใหม่ น่าสนใจ แบบที่ไม่มีใครทำมาก่อน ที่สำคัญยังไม่เคยเปิดตัวที่ใดมาก่อนด้วย ส่วนความน่าสนใจอีกประการคือ การเสียบดอกสีของต้นชวนชมที่สามารถทำได้หลายสีในต้นเดียว ซึ่งคุณอนุชาบอกว่า ใครก็ทำได้ แต่หากไม่มีเทคนิคอย่างที่เขาทำแล้ว ดอกและต้นอาจออกมาไม่สวยและน่าสนใจ เจ้าของสวนเพชรบ้านนาให้รายละเอียดว่า ข้อเด่นของชวนชมพันธุ์เพชรบ้านนาที่ทำให้ราคาแพงเป็นที่สนใจของคนเล่นเพราะให้ลูกยาก และอีกประการเมื่อโตเต็มที่จะแตกกิ่งก้านออกมาเองจำนวนมาก มีลักษณะรูปทรงสวยคล้ายบอนไซ โดยที่เราไม่ต้องตกแต่งกิ่ง เพราะรายละเอียดกิ่งที่แตกออกมาจะเกิดเองตามอายุการโต และประมาณ 3-5 ปี กิ่งต่างๆ จะแตกออกมาเต็มที่ “จากลักษณะ รูปร่าง สีสันดอก ตลอดจนความอ่อนช้อยของกิ่งก้าน ล้วนแต่เป็นเสน่ห์ของเพชรบ้านนาทั้งสิ้น แต่ความที่ให้ลูกยากจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการขยายพันธุ์ จึงทำให้มีจำนวนต้นไม่มาก โดยภายในปีจะให้ลูกได้ประมาณร้อยต้นเท่านั้น ดังนั้น จำนวนต้นจึงสวนทางกับความต้องการของผู้สนใจ และทำให้ราคาสูงตาม” คุณอนุชา กล่าว ชวนชมตระกูลยักษ์มีหลายชนิด เช่น ยักษ์ญี่ปุ่น ยักษ์ซาอุดีอาระเบีย แล้วยังมีประเภทที่เป็นชื่อเฉพาะพันธุ์ เช่น เพชรบ้านนา บางคล้า และอีกหลายชนิดที่ระยะหลังมีการแตกย่อยออกไปอีก การเลี้ยงชวนชมเมื่อมีอายุประมาณ 1-2 ปี ก็จะเริ่มให้ฝัก เมื่อฝักแตกก็นำเมล็ดมาเพาะ ดังนั้น การขยายพันธุ์ชวนชมยักษ์ส่วนใหญ่เกิดจากการเพาะเมล็ด แต่ทั้งนี้ผลข้างเคียงของการใช้เมล็ดเพาะอาจจะทำให้มีการกลายพันธุ์ได้ “ดังนั้น ถ้าจะให้ดีควรมาจากการตอนกิ่ง เพราะดีกว่าเมล็ด เพราะว่าเมล็ดอาจมีทั้งข้อดีและเสีย สามารถกลายไปทางที่ดี นั่นหมายถึงจะได้พันธุ์ใหม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้ามอาจเป็นข้อด้อย คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คิดว่าถ้าใช้เมล็ดจะเหมือนกันหมด ข้อเท็จจริงคือไม่เหมือนกัน” เจ้าของสวนเพิ่มเติม คุณอนุชา เผยว่า การปลูกชวนชมกันทั่วไป ผู้ปลูกไม่ค่อยมีความอดทน มีความใจร้อน เพราะเลี้ยงเท่าไรก็ไม่โตสักที หรือโตแล้วทำไมรูปร่างจึงไม่สวย ไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อย่าเพิ่งท้อแท้ หมดหวัง ควรใช้ความอดทนและค่อยๆ ดูว่าจะแก้ไข ปรับปรุงอะไรบ้าง? คุณอนุชาบอกต่ออีกว่า มีหลายคนบอกว่าต้นชวนชมไม่ชอบน้ำ แต่สำหรับคุณอนุชาที่คลุกคลีกับชวนชมมาเป็นเวลากว่า 15 ปี กลับคิดว่าชวนชมชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ ถ้าไม่รดน้ำเป็นเวลานานก็ได้ ไม่ตาย แต่จะไม่โต ต่างกับชวนชมที่รดน้ำจะโตดี “สำหรับผม ชวนชมชอบน้ำ แต่ไม่แฉะ และหลักการรดน้ำเพื่อไม่ให้แฉะคืออย่ารดน้ำให้ลงไปจนถึงก้นกระถาง เพราะเท่ากับเป็นการล้างดิน แร่ธาตุ อาหารต่างๆ จะถูกชะล้างออกไป อายุของดินจะสั้น ในที่สุดดินจะจืด ทำให้ต้นไม้ไม่แข็งแรง ขี้โรค ไม่สวย จึงควรรดน้ำเพียง 1 ใน 3 ของกระถางใบนั้นเท่านั้น แล้วปล่อยให้น้ำซึมลงไปเอง แล้วแร่ธาตุ อาหาร ก็ยังคงอยู่ในกระถาง อายุของดินจะนานไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนกระถางขนาดใหม่” คุณอนุชาแนะนำ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำเกลียว เจ้าของสวนเพชรบ้านนาเปิดเผยต่อว่า ในอดีตคนที่เล่นชวนชมทำกันเพียงไม่กี่ราย ใครทำก่อนได้เปรียบในช่วงนั้น ทำออกมาเท่าไรขายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อะไร แบบไหนก็ตาม หลังจากนั้น ผู้คนก็เริ่มหันมาเพาะชวนชมกันมากขึ้น เป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก “พอมาถึงช่วงนี้เป็นอย่างไร จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ต้องหันมาคิดเพิ่มลูกเล่น นำมาดัดแปลง ประยุกต์อะไรหลายอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น วิธีคิดนี้ใช้หลักการตลาดนำการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สมัยก่อนเคยสร้างมูลค่าต้นชวนชมด้วยการถักเปีย คือ การนำต้นชวนชมหลายต้นมาสานกัน แต่ต่อมาพบว่ามีข้อเสียตรงที่ตัวลำต้นจะไม่มีโอกาสเป็นไม้ใหญ่เลย ซึ่งขัดกับความชอบส่วนตัวที่ชอบในความเป็นไม้ใหญ่มากกว่า ดังนั้น จึงหยุดทำและหาวิธีอย่างอื่นแทน เพื่อทำให้เป็นไม้ใหญ่ได้ ในที่สุดก็มาพบวิธีตามที่ต้องการด้วยการทำต้นชวนชมเป็นเกลียว” คุณอนุชา บอก การใส่เกลียวเข้าไปในต้นชวนชม หมายถึงการพันลำต้นให้เป็นเกลียวในแนวตรง โดยมีเทคนิคคือ ต้องยืดต้นให้ได้ก่อน ต้องทำให้ต้นมีความสูงในระดับพอเหมาะก่อน ประมาณ 1 เมตร ในเวลา 1 ปี จะมีขนาดลำต้นประมาณนิ้วโป้ง ถ้าสั้นทำไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเป็นปีจึงจะเริ่มทำได้ พอได้ความสูงที่ต้องการแล้วจึงพันเกลียวด้วยไม้ไผ่ที่ใช้เป็นหลัก แล้วใช้ต้นชวนชมพันเข้ากับหลัก ในช่วงนี้จะใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะสามารถปล่อยหลักออกได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนทำเกลียวมีเทคนิคอีกคือ ควรงดน้ำก่อนสัก 1 สัปดาห์ เพื่อให้ลำต้นมีความนิ่ม ทำให้ง่าย และสะดวกต่อการพันเกลียว ขณะนี้ต้นชวนชมที่ทำเป็นเกลียวมีจำนวนเป็นพันต้น ยังไม่มีการจำหน่าย คุณอนุชาบอกว่า วิธีนี้ในต่างประเทศยังไม่มีใครทำ และเมื่อถึงเวลาอาจมีการส่งไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย คุณอนุชาเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการพันเกลียวต้นชวนชมเริ่มจากพยายามคิดค้นหาวิธีการในช่วงที่มีเวลาว่าง ตอนแรกทำประมาณ 10 กว่าต้น ยังไม่คิดว่าจะเป็นอย่างไร แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ความแปลกและสวยงามเริ่มปรากฏ ต่อมามีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติมาขอซื้อ คุณอนุชาบอกว่า ตั้งใจจะทำปีละ 500-1,000 ต้น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เว้นมาจากรุ่นก่อน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว รอให้ต้นโตเต็มที่ก่อน แล้วค่อยใส่ดอกสี การพันเกลียวต้นชวนชม ไม่สามารถทำได้ทุกพันธุ์ ทั้งนี้เพราะแต่ละพันธุ์มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่สำหรับของคุณอนุชาได้ทำโดยการใช้ชวนชมพันธุ์ไทย เหตุผลที่เลือกใช้เพราะเป็นพันธุ์ที่เกิดจากกิ่งตอน สามารถทำซ้ำได้ แล้วยังมีคุณสมบัติที่แข็งแรง หาอาหารเก่ง นอกจากนั้น ยังมีความทนทานที่เป็นต้นตอได้อีก หมายความว่าให้ทำเป็นเกลียวไปก่อน พอต้นมีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถเปลี่ยนสีดอกได้ภายหลัง เช่น ต้องการสีแดงสักร้อยต้น สีขาวสักร้อยต้น ก็ค่อยมาเปลี่ยนสีภายหลังได้ “ต้องการจะเปลี่ยนสีอะไรก็ทำได้ที่ยอดด้านบน เพียงแต่เปลี่ยนสีที่ต้องการบนยอดด้วยการเสียบยอดใหม่ที่เป็นสีที่ต้องการ แต่ขอย้ำว่าต้องให้อายุต้นโตก่อนจึงจะทำขั้นตอนเสียบยอดได้ อย่าทำตอนอายุน้อย เพราะจะหยุดโตทันที ทั้งนี้ เพราะไม้ที่ออกดอกมาก อาหารจะส่งไปเลี้ยงที่ดอกเท่านั้น จึงทำให้ต้นไม่ค่อยโต การทำในช่วงที่ต้นโตจะทำให้เลี้ยงทั้งต้นและดอกไปพร้อมกัน”คุณอนุชาเพิ่มเติม การทำให้ต้นชวนชมมีขนาดใหญ่จะสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นอีก คุณอนุชาบอกว่า พันธุ์ไทยธรรมดา ถ้าเป็นกิ่ง ราคาเพียง 5-6 บาท เท่านั้น แต่เมื่อเลี้ยงเป็นต้นใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน อาจทำให้ราคาถึงหลักแสนบาท เพราะตลาดชวนชมไม่ตาย ถ้าหากเลี้ยงเพื่อให้สวย ใหญ่ คุณอนุชาย้ำว่า หากเล่นกันที่ความใหญ่แล้วไม่มีจบ บางคนยังไม่ต้องการขายเพราะส่วนใหญ่จะหวงต้นใหญ่กันทั้งนั้น เพราะตลาดตอนนี้แข่งกันด้วยคุณภาพและความแปลกใหม่ ดังนั้น หากเล่นกันเป็นอาชีพจะต้องดิ้นเพื่อหาความแปลกใหม่อยู่เสมอ คุณอนุชาบอกถึงชวนชมสีว่า ในสวนมีเกือบทุกสายพันธุ์ และบอกอีกว่าสายพันธุ์หลักจะเป็นของประเทศฮอลแลนด์ มีหลากหลายสีสัน สวยงาม โดยจะเรียกรวมกันว่า ชวนชมไม้สี และมีเพาะ-จำหน่ายกันทุกสวน สวนไหนเพาะได้พันธุ์ใหม่ มีสีใหม่ ก็จะตั้งชื่อใหม่ตามเจ้าของสวนที่เพาะได้ ขณะนี้ชวนชมสีมีชื่อมากมายเป็นพันชื่อ ขอย้ำ...ยิ่งโต ยิ่งแพง ที่ผ่านมา นักเล่นชวนชมที่เป็นมือใหม่มักเริ่มต้นด้วยชวนชมสี พอมาสักพักจะรู้สึกเบื่อแล้วจะหันมาเล่นประเภทยักษ์แทน เพราะเสน่ห์ของพันธุ์ยักษ์จะมีความเป็นอมตะ ทนทาน เหตุผลที่ชวนชมยังครองใจนักเล่นต้นไม้อยู่ได้ทุกวันนี้ คุณอนุชาบอกว่า เป็นเพราะขนาดที่เป็นตัวกำหนดปัจจัยหลายอย่าง ทั้งนี้ หากขนาดโตมากเท่าไร จะมีความสวยงามมากขึ้น และเมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น เช่น โกสน หรือโป๊ยเซียน ซึ่งก็มีความสวยเป็นเสน่ห์อยู่แล้ว แต่ต้นไม้เหล่านั้นต้องคอยตกแต่งและทำให้ใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อเรียกความสนใจจากคนซื้อ ตรงกันข้ามกับชวนชมยักษ์ที่ไม่ต้องมีการตกแต่ง จัดทรงอะไรเลย เพราะมีความเป็นธรรมชาติในตัวที่ทำให้ต้นชวนชมสามารถแตกกิ่ง แตกยอดออกมาได้ด้วยตัวมันเองแบบมีความสวยอยู่ในตัว ดังนั้น ขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะมีราคาแพงตามไปด้วย หากใครที่เลี้ยงมาเป็น 10 ปี มีขนาดต้นใหญ่มาก ราคาอาจเป็นแสน และกระนั้นก็ยังมีโอกาสเจริญเติบโตได้เรื่อยทุกปี จึงเป็นข้อแตกต่างจากชวนชมสีที่สามารถทำขนาดให้ใหญ่ได้เพียงระดับหนึ่ง จากนั้นต้องคอยเสียบใหม่ ทำใหม่ แต่ตระกูลยักษ์มูลค่าอยู่ที่ความใหญ่ ปรับเปลี่ยนพันธุ์ยักษ์ จากทรงพุ่มเป็นทรงต้นดีกว่า แต่ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเมื่อคุณอนุชาเล็งเห็นว่าตลาดชวนชมยักษ์กำลังให้ความสนใจการเลี้ยงแบบทรงพุ่มเป็นสำคัญ และหากมีการเลี้ยงขยายวงออกไปอาจทำให้ราคาไม่ขยับตัว ดังนั้น เขาจึงหันมาเล่นแบบทรงต้นที่ขณะนั้นยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไรเพราะทำยากและใช้เวลานาน จึงเป็นความต้องการที่จะฉีกตลาดออกมาทำเป็นทรงต้นดูบ้าง และนั่นก็เป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเช่นกัน คุณอนุชายกตัวอย่างของการแข่งขันทางการตลาดว่า อย่างพันธุ์ยักษ์ซาอุดีอาระเบีย มีการเลี้ยงต้นให้โตเพื่อเป็นกอ เพื่อจะได้มีการแตกยอดออกมาหลายยอด ต่างกับวิธีคิดของเขาที่ต้องการทำพันธุ์ดังกล่าวให้เป็นทรงต้นมากกว่า เพราะการคิดแบบนี้ในตลาดมีคนทำน้อยมาก หากทำได้อาจมีราคาดีมาก “ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าการปลูกเป็นกอไม่สวย แต่อยากจะบอกตรงนี้ว่า ถ้าทำแบบนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาไป ไม่แตกต่าง ราคาก็ไม่ขยับ จึงต้องพยายามหาวิธีที่คิดและทำให้แตกต่างเพื่อหนีตลาดเก่าไปสู่ตลาดใหม่ แล้วราคาจะเริ่มขยับตามมาทันที” เจ้าของสวนอธิบายเพิ่ม พันธุ์ยักษ์ ยังคงกระแสความแรงไม่เลิก คุณอนุชายังย้ำว่า ขนาดความใหญ่ของต้นยังคงสร้างเสน่ห์และสีสันให้กับพันธุ์ยักษ์ตลอดเวลา และมีหลายพันธุ์ที่มีมานานแล้ว เช่น พันธุ์ยักษ์ญี่ปุ่นที่เคยโด่งดัง แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน “ลองตระเวนดูหลายสวนแล้วไม่พบเลย ทั้งที่มีมานานเป็น 10 ปีแล้ว น่าจะมีขนาดใหญ่ให้เห็นบ้าง หากมาคิดดูอาจจะเป็นเพราะการเติบโตที่ไม่สามารถมีขนาดใหญ่ได้ เพราะน่าจะเกิดจากการกลายพันธุ์มากกว่า จึงหาความใหญ่ไม่ได้ ทั้งนี้ อาจเป็นที่เมล็ด เมื่อปลูกไปนานเข้าก็เลยกลายพันธุ์ ความเป็นยักษ์จึงหมดไป” เจ้าของสวนกล่าว อย่างไรก็ตาม ความโด่งดังของชวนชมได้ถูกเบียดให้เงียบหายไประยะหนึ่งในช่วงที่มีการตื่นตัวกับการปลูกต้นลีลาวดี แต่ในช่วงเวลานั้นก็มิได้ทำให้ชาวชวนชมเดือดร้อน ทว่ากลับเป็นการดีเสียอีกเพราะทำให้การบ่มเพาะต้นชวนชมดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการพักชั่วคราว “ในช่วงที่ลีลาวดีเป็นกระแสดัง น่าจะอยู่ประมาณ ปี 2545-2547 จากนั้นก็เงียบไป ขณะที่ตลาดลีลาวดีมาแรง ผู้ประกอบการที่ปลูกชวนชมก็ไม่ได้เงียบหายไปไหน เพียงแต่ไม่หวือหวาเท่านั้น แต่หลังจากนั้นความนิยมก็กลับมาอีก ถึงแม้รายได้จะลดลงมาบ้าง แต่กลับเป็นเรื่องดี เพราะคนเชื่อว่าชวนชมสามารถโตได้ และพร้อมกับมาแรงอีกครั้งด้วยกระแสความนิยมจากต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี อินโดนีเซีย เพราะประเทศเหล่านี้มีความสนใจมาก ต้องยอมรับว่าประเทศเราอ่อนด้านตลาด แต่หากเป็นการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว เราไม่เป็นรองใครแน่” คุณอนุชา ให้รายละเอียด เจ้าของสวนแนะนำว่า สำหรับใครที่มีแผนจะกระโดดเข้าสู่วงการชวนชม ขอบอกว่า สิ่งแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบหรือไม่ แล้วเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อะไร ความจริงควรเริ่มต้นที่ความชอบก่อน อย่าไปมองด้านธุรกิจมากจนเกินไป อย่าไปสนใจว่าจะกำไรหรือขาดทุน “เมื่อคุณมีความชอบแล้ว จากนั้นคุณจะเริ่มศึกษาและให้ความสนใจในความเป็นมาของชวนชมอย่างละเอียด และขอบอกก่อนว่า เมื่อทำชวนชมแล้วคุณจะมีใจรัก ผูกพัน เกิดความหลงใหล และไม่มีขาดทุนแน่นอน เพราะในปัจจุบันและอนาคตการต่อสู้แข่งขันในวงการนี้ คงเป็นเรื่องของรูปแบบมากกว่า เป็นการคิดค้นหาสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามาสู่ตลาดเพื่อสร้างราคา แต่ทั้งนี้ควรเน้นที่คุณภาพและความสวยควบคู่ไปด้วย” เจ้าของสวนกล่าวในที่สุด สนใจขอรายละเอียด สอบถามและปรึกษาวิธีเลี้ยง หรือซื้อพันธุ์ชวนชมได้ที่ คุณอนุชา เกียรติกุล สวนเพชรบ้านนา จังหวัดสุพรรณบุรี (ใกล้แยกอู่ยา) โทรศัพท์ (085) 177-7455
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM