เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ขั้นตอนการปฏิบัติในการผลิตมะละกอ
   
ปัญหา :
 
 
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เราทราบดีว่าราคาผลผลิตจากการเกษตรหลายๆ ชนิดจะขยับขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นพืชอุตสาหกรรม พืชผัก ผลไม้ ข้าว จึงมีการวิเคราะห์กันว่าต่อไปประเทศใดที่มีความมั่นคงทางอาหารและมีผลิตผลทางการเกษตรจะได้เปรียบ เนื่องจากสภาพ สภาวะในโลกปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป อุณหภูมิ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน และผู้คนก็เริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ประเทศไทยเรายังเป็นประเทศที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ด้านการผลิตสินค้าเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ในขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกประสบปัญหาการผลิตและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมงานการประชุมเสวนา เรื่อง "52 สัปดาห์ รู้แล้วรวยด้วยนวัตกรรมงานวิจัยเกษตรไทย" โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้ทราบถึงหลักการและเหตุผล ในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาร้อยเรียงและใช้ภาษาที่สื่อความหมายสู่เกษตรกรให้เข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ข้าพเจ้าในฐานะนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ใคร่ขอเผยแพร่ข้อมูลการผลิตมะละกอ ซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจ เป็นทั้งพืชส่งออก (ผลผลิตต้องปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตามระบบการรับรองมาตรฐาน GAP) ตลาดท้องถิ่น เมืองใหญ่ทั่วไปและเป็นพืชส่งโรงงานแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการผลิตมะละกอ โดยข้อมูลนี้มาจากกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำเผยแพร่แก่ผู้สนใจ วิธีการเตรียมพื้นที่ 1. พื้นที่ลุ่ม ขุดดินยกร่องกว้าง 3-4 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1 เมตร 2. พื้นที่ดอน ไถดะและไถแปร 3. ดินเป็นกรดปานกลาง-กรดจัด ควรใส่ปูนขาวอัตรา 100-300 กิโลกรัม/ไร่ วิธีการเตรียมต้นกล้า 1. เพาะเมล็ดในถุงขนาด 4x6นิ้ว เจาะรู โดยผสมดิน 3 ส่วน ปุ๋ยหมักและขี้เถ้าแกลบอย่างละ 1 ส่วน 2. หยอดเมล็ดถุงละ 3-4 เมล็ด ลึก 0.5 เซนติเมตร พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น แมนโคเซบ ผสมคาร์บาริล พ่นทุก 10 วัน กล้าอายุ 45-60 วัน หรือต้นสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ย้ายปลูกในแปลง วิธีปลูก 1. ใช้ระยะปลูก 2x2 หรือ 2.5x2.5 เมตร 2. ขุดหลุมปลูก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร 3. รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต 150-200 กรัม ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัม/หลุม 4. ย้ายต้นกล้าลงปลูก 3 ต้น/หลุม เมื่อมะละกอออกดอก ให้คัดต้นสมบูรณ์เพศไว้ 1 ต้น ต้นที่เหลือให้ตัดทิ้ง การให้น้ำ การให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขาดน้ำมะละกอจะแคระแกร็น ดอกจะร่วง ไม่ติดผลหรือติดผลน้อย ผลพัฒนาไม่สมบูรณ์ วิธีการกำจัดวัชพืช สารเคมีจะทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ วิธีการถอนหรือตัดวัชพืช ระวังไม่ให้กระทบรากพืชเหมาะสมที่สุด หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรรอให้ต้นสูงหรืออายุมากกว่า 6 เดือน แนวทางการใส่ปุ๋ย 1. ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่หลังปลูก 15 วัน อัตรา 5-20 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ 2-4 ครั้ง ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน 2. ปุ๋ยเคมี เมื่ออายุ 1-3 เดือน ใช้สูตร 25-7-7 อัตรา 30 กรัม/ต้น อายุ 3-6 เดือน ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัม/ต้น โดยใส่ทุกเดือน อายุ 6-12 เดือน เปลี่ยนปุ๋ยเป็น 13-13-21 อัตรา 200 กรัม/ต้น ทุก 2 เดือน เมื่ออายุมากกว่า 1 ปี ใช้สูตร 15-15-15 และ 13-13-21 อัตรา 200 กรัม/ต้น ใส่สลับกันทุก 2 เดือน 2. ตรวจสภาพแปลงอย่างสม่ำเสมอ ใช้ปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และผลการวิเคราะห์ดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืช 1. เพลี้ยไฟ ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นสารเคมี พอสซ์ 20% หรือสารเคมีไดเมโทเอต 40% 2. แมลงวันทอง อาจใช้มาลาไทออน พ่นทำลายตัวเต็มวัย หรือล่อทำลายตัวผู้ด้วยเมทิลยูจินอลผสมกับมาลาไทออน 1:1 หรือห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 3. โรคราแป้ง ป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วยเบโนมิล หรือไดโนแคป 4. โรคโคนเน่า ควรจัดการให้แปลงปลูกมีการระบายน้ำดี หรือพ่นด้วยสารเคมีเมตาแลกซิล 25% 5. โรคแอนแทรกโนส ป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วยแมนโคเซบ แคปแทน เบโนมิล การเก็บเกี่ยว 1. ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ใส่ปุ๋ยทางดินสูตร เช่น 13-13-21 2. มะละกออายุ 5-6 เดือน เหมาะบริโภคดิบ อายุ 7-8 เดือน หรือเมื่อผลขึ้นแต้มเหลือง 25% เหมาะบริโภคสุกสำหรับการส่งออกเก็บเกี่ยวเมื่อผลขึ้นแต้ม 5% วิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว 1. แจ้งวันที่จะเก็บเกี่ยวให้ทางโรงงานทราบ 2. นำผลมะละกอบรรจุลงภาชนะ แล้วลำเลียงไปยังแหล่งรวบรวมผลผลิต ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลหรือทำให้ผลช้ำ 3. คัดเลือกผลเสียและผิดปกติ ไม่ได้ขนาด มีตำหนิ สีซีดออกให้หมด 4. ทำความสะอาดเศษวัสดุอื่นที่ติดมาจากแปลง 5. จัดเรียงมะละกอบนรถบรรทุกเพื่อรอการขนส่งต่อไป ลักษณะผลมะละกอส่งโรงงาน - มะละกอต้องแก่จัด ผิวออกแต้ม ประมาณ 40-80% - เนื้อสีแดง หรือสีเหลือง สีซีดจากเปลือก ไม่เกิน 10% - น้ำหนักตามที่โรงงานกำหนด (มากกว่า 800 กรัม/ผล) - รูปทรงผลปกติ (ทรงกระบอก ทรงกลม ไม่มีร่อง) - ลูกช้ำไม่เกิน 25% ของผล - ไม่มีการทำลายของโรคและแมลงศัตรู ถ้ามีต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพภายนอกและภายในเนื้อมะละกอ ลักษณะผลมะละกอที่โรงงานไม่รับซื้อ - มะละกอดิบเกินไป เนื้อนิ่ม - เนื้อมีสีซีดจากเปลือก ไม่เกิน 10% - น้ำหนักต่ำกว่าที่โรงงานกำหนด - รูปทรงผลผิดปกติ (ผลรูปมะเฟือง หรือรูปร่างที่ปอกยาก) - ลูกช้ำเกินกว่า 25% ของผล - ผลเน่าเกินกว่า 1 นิ้ว มีบาดแผลจากการขนส่งเกินกว่า 25% ของผล - โรคและแมลงศัตรูมีผลกระทบต่อสภาพภายในเนื้อมะละกอ - มีบาดแผลจากสัตว์แทะ เจาะผล - ไม่รับซื้อทุกสายพันธุ์ (มะละกอพันธุ์กรีดยาง และมะละกอที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม) ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอมอบคุณความดีและคุณประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลครั้งนี้ แด่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้ข้อมูล สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นพื้นฐาน เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจที่จะปลูกมะละกอต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. (054) 589-115 หรือ คุณสุชาย ศิริมาตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร โทร. (081) 917-9687 e-mail : profa-chai@hotmail.com วันที่ 27 สิงหาคม 2554 นี้ มีงาน สัมมนา มะละกอสร้างชาติ "มะละกอ พืชยอดนิยม ปลูก บริโภค สร้างรายได้...ทั่วถิ่นแดนไทย" ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด ผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา ดูรายละเอียดได้ ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านปักษ์นี้ หน้า 12
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 507
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM