เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"เรดแคริเบี้ยน" อีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกมะละกอ
   
ปัญหา :
 
 
โดยปกติแล้ว มะละกอ สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด เราควรปรับปรุงดินก่อน โดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะ โดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก ถ้ามีน้ำขังมากๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้ มะละกอแขกดำ "เรดแคริเบี้ยน" เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (081) 886-7398 ได้เมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลางและนำมาคัดเลือกพันธุ์นานกว่า 7 ปี ได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะดังนี้ "ขนาดผลคล้ายกับมะละกอเรดมาราดอล์ แต่มีขนาดของผลใหญ่กว่ามาก (ขนาดผลใหญ่กว่าเท่าตัว) น้ำหนักผลเฉลี่ย 2-5 กิโลกรัม เนื้อหนามาก มีสีแดงส้มและรสชาติหวาน จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่า ต้นมะละกอแขกดำ "เรดแคริเบี้ยน" มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ลำต้นมีความแข็งแรง ติดผลดก และผลมีขนาดใหญ่ เป็นมะละกอที่สามารถบริโภคได้ทั้งผลสุกและผลดิบ โดยเฉพาะผลสุก มะละกอมีรสชาติหวานจัด เนื้อหนา 3-4 เซนติเมตร ทานอร่อยมาก ส่วนผลดิบใช้ตำส้มตำได้เหมือนมะละกอแขกดำ" ปัจจุบัน ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้คัดเลือกพันธุ์มะละกอแขกดำ "เรดแคริเบี้ยน" ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ A B และ C คัดเลือกพันธุ์จนเริ่มนิ่ง และในแต่ละกลุ่มที่ลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ ความใหญ่ของผล อย่างกรณีของ กลุ่ม C น้ำหนักผลหนักถึง 4 กิโลกรัม มีเนื้อสีแดงเหมือนกับมะละกอแขกดำศรีสะเกษ แต่มีสภาพต้นที่แข็งแรงและต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ดีกว่า มะละกอ "เรดแคริเบี้ยน" บางต้นเป็นโรคจุดวงแหวน เมื่อได้รับปุ๋ยและน้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นมะละกอ "เรดแคริเบี้ยน" เจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไปได้ การเตรียมดินและปลูก แขกดำ "เรดแคริเบี้ยน" ถ้าสภาพดินปลูกมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ในอัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วตากทิ้งไว้ 10-15 วัน หลังจากนั้น ไถยกร่อง สูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เมตร เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณหลุมปลูก ในการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 2.5-3 เมตร ใส่แกลบดิบและแกลบเผาอย่างละครึ่งปี๊บ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกเก่า 5 กิโลกรัม หินฟอสเฟตบด 1 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 ประมาณ 150 กรัม ผสมดินในหลุมปลูกกับวัสดุปรับปรุงดิน รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี หว่านเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 50-100 กรัม/หลุม เพื่อลดการสูญเสียจากโรครากเน่า โคนเน่า คลุมบริเวณหลุมปลูกด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงปลูกได้ วิธีการเพาะต้นกล้ามะละกอ "แขกดำ เรดแคริเบี้ยน" สำหรับเคล็ดลับเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีและสม่ำเสมอ รศ.ดร. กวิศร์ วานิชกุล ได้ให้ข้อมูลว่า "การเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีสม่ำเสมอนั้นให้นำมะละกอแช่น้ำ 1-2 วัน โดยในช่วงวันแรกให้เปลี่ยนน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้น ให้เปลี่ยนน้ำถี่ขึ้น เนื่องจากเมล็ดมะละกอมีการหายใจมากขึ้นทำให้ออกซิเจนในน้ำเหลือน้อยลง หากแช่น้ำแล้วไม่เปลี่ยนน้ำเลยก็จะเหลือออกซิเจนในน้ำน้อยเมล็ดมะละกอนั้นก็จะเกิดการหมักจนเน่าได้ หรือในช่วงวันที่ 3 หรือ 4 อาจนำเมล็ดมะละกอนั้นห่อด้วยผ้าเปียกน้ำและมีการพรมน้ำอยู่เรื่อยๆ ก็ได้ หากแช่เมล็ดมะละกอในน้ำดังกล่าวแล้วจะทำให้ได้ต้นกล้ามะละกอที่งอกได้ดีและโตสม่ำเสมอกัน" หรือหากจะลดความยุ่งยากและยังไม่มีความชำนาญในการเพาะกล้า บางท่านก็อาจจะเลือกใช้วิธีของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจังหวัดสุพรรณบุรีแนะนำว่า ให้แช่เมล็ดพันธุ์มะละกอในน้ำอุ่น (น้ำธรรมดา 1 ส่วน ผสมกับน้ำร้อน 1 ส่วน = น้ำอุ่น) ทิ้งไว้ 1 คืน เช้าขึ้นมานำเมล็ดมะละกอ หยอดปลูกลงถุงดำขนาดเล็กที่เตรียมไว้ โดยอาจจะใช้วัสดุ เช่น ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก หรือ ดิน 1 ส่วน หยอดเมล็ดมะละกอ ถุงละ 3 เมล็ด จากนั้นรดน้ำที่ผสมยาป้องกัน กำจัดเชื้อรา เช่น เมตาแลกซิล รดให้เพื่อช่วยป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า และผสมยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดมะละกอที่เพาะไว้ เช่น เซฟวิน-85 หรือ เอส-85 วางถุงดำไว้ใต้ซาแรนพรางแสง 60% รดน้ำทุกเช้าวันละ 1 ครั้ง จากนั้นอีก 7-10 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงได้ 2 ใบ ให้เอาซาแรนออก ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่เพื่อเป็นการปรับตัว ในช่วงที่ต้นกล้าเริ่มงอกควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา พวกแมนโคเซบผสมกับยาฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน-85 หรือ เอส-85 และสารจับใบ จากนั้นฉีดพ่นให้ทุกๆ 7 วัน เป็นการป้องกันโรคและแมลงทำลาย จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต้นกล้ามะละกอก็สามารถย้ายปลูกลงแปลงไว้ได้ หรือเมื่อต้นกล้าอายุ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ไม่ควรปลูกต้นกล้ามะละกอลึก จะทำให้รากเน่า ในการใส่ปุ๋ยระยะก่อนติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 เดือนละครั้ง ครั้งละ 100-150 กรัม/หลุม หลังติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อัตรา 150 กรัม/หลุม เดือนละครั้ง วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้หว่านลงดินบริเวณรัศมีทรงพุ่มของมะละกอแล้วรดน้ำตาม อย่าใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นมะละกอ เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้ หลังจากปลูกต้นกล้ามะละกอไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ต้นมะละกอจะเริ่มออกดอก ให้เกษตรกรสังเกตดูการออกดอกของต้นมะละกอภายในหลุมทั้ง 3 ต้น ว่าต้นใดเป็นต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทย (ผลยาว) ให้คัดต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทยไว้เพียงต้นเดียว สำหรับต้นตัวเมีย (ผลป้อม) ถ้าไม่ต้องการก็ตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ออกมาจะเป็นลูกป้อมและถ้าเป็นตัวผู้ให้ตัดทิ้งเลย โดยปกติแล้วต้นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทยนั้น ตลาดจะต้องการมากที่สุด โดยจากการสังเกตการออกดอกของมะละกอแขกดำ เรดแคริเบี้ยน พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การออกดอกเป็นต้นกะเทย (ผลยาว) ค่อนข้างสูง ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มีการพบต้นที่ให้ดอกตัวเมีย (ผลกลม) เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น การบำรุงรักษา แขกดำ "เรดแคริเบี้ยน" ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอด อย่าให้ดินแห้ง ในฤดูฝนถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ ในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังปลูกมักพบโรครากเน่าและโคนเน่าจึงควรราดโคนต้นมะละกอด้วยสารเทอร์ราคลอร์ ซุปเปอร์-เอ็กซ์ ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมาก แม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จึงต้องราดโคนด้วยสารเทอร์ราคลอร์ ซุปเปอร์-เอ็กซ์ ทุกๆ 15 วัน และเป็นที่สังเกตว่าการหว่านเชื้อไตรโคเดอร์ม่าก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุกๆ 4 เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง การกำจัดวัชพืช ไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น เพราะรากจะถูกตัดขาด ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตหรือทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้นมะละกอ ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นมะละกอให้หนาและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอจะช่วยลดวัชพืช เพราะการคลุมฟางจะทำให้เมล็ดหญ้าไม่งอกและรักษาความชื้นในดิน หรือหากเป็นสวนมะละกอขนาดใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชในการใช้ต้องมีความระมัดระวัง มะละกออ่อนแอต่อยาฆ่าหญ้า โดยเฉพาะช่วงต้นมะละกอยังต้นเล็ก ไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชใดๆ เพราะจะทำให้ต้นมะละกอเสียหายได้ง่าย แต่ถ้าต้นมะละกอโตแล้ว ก็สามารถเลือกใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชได้ แต่ต้องระวังละอองยาอย่าให้โดนใบและผล โดยสวนมะละกอหลายๆ สวน ขณะนี้นิยมเลือกใช้ "บาสต้า-เอ๊กซ์" ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยกับมะละกอ โดยเฉพาะระบบราก เพราะไม่ถูกดูดซับ และสะสมในดิน จึงปลอดพิษตกค้าง สามารถกำจัดวัชพืชทั้งใบแคบและใบกว้าง มะละกอเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุได้ 8-10 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีผิวเปลี่ยนจากเขียวเป็นเขียวอ่อน หรือปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผล โรคจุดวงแหวน โรคร้ายที่สุดสำหรับมะละกอ โรคจุดวงแหวนมะละกอมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Papaya Ringspot Virus (PRSV) พบว่า มีการระบาดในการปลูกมะละกอทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518 โดยโรคนี้ได้ทำความเสียหายให้กับการปลูกมะละกอเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันพบว่า โรคนี้ได้ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว การระบาดของโรคนี้ มีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น เพลี้ยอ่อนฝ้าย เพลี้ยอ่อนถั่วซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างรวดเร็วภายใน 25-26 วินาที เท่านั้น ภายหลังที่เพลี้ยอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นมะละกอที่เป็นโรคไปยังอีกต้นหนึ่ง นอกจากนี้ การเกิดและการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่หนึ่งจะสัมพันธ์โดยตรงกับแหล่งเพาะเชื้อต้นมะละกอเป็นโรค จำนวนประชากรและการอพยพของเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะในพื้นที่นั้น โรคจุดวงแหวน สามารถทำลายมะละกอได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต มะละกอที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหลืองด่างที่ใบ ถ้าอาการรุนแรงมากใบจะบิด พื้นที่ของใบจะหดแคบลงจนเหลือแต่เส้นกลางใบ มีจุดวงแหวนที่ผลและลำต้น ถ้าโรคเข้าทำลายมะละกอในระยะต้นอ่อน จะทำให้ต้นแคระแกร็นไม่ติดผล แต่ถ้าเข้าทำลายในระยะต้นโต จะทำให้ผลผลิตลดลง คุณภาพเสีย โดยเนื้อในแข็งกระด้าง เมื่อผลสุกจะเป็นไตแข็ง มีรสขม การป้องกันและกำจัดโรคในเบื้องต้น ควรตัดต้นที่เป็นโรคทิ้ง แล้วปลูกต้นใหม่ที่ปราศจากโรคหรือปลูกพืชอื่นหมุนเวียน วิธีนี้จะสามารถลดการระบาดของโรคได้ระยะเวลาหนึ่ง และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะนำโรคนี้ ในขณะที่ รศ.ดร. รวี เสรฐภักดี จากภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กลับมองต่างมุมออกไปเกี่ยวกับปัญหาโรคไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอ ไม่น่าจะใช่เรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเกษตรกรมีการจัดการบำรุงรักษาต้นมะละกอให้แข็งแรงและสมบูรณ์ แต่กลับห่วงปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าหญ้าในกลุ่มไกลโฟเสต และ สาร 2, 4-ดี โดยเฉพาะสาร 2, 4-ดี ละอองยาสามารถฟุ้งกระจายไปได้นับร้อยเมตร เมื่อต้นมะละกอได้สัมผัสสารฆ่าหญ้าจะทำให้ใบหงิก และมีลักษณะอาการเหมือนกับโรคไวรัสจุดวงแหวนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหลายรายเข้าใจผิดว่า มะละกอที่ปลูกเป็นโรคจุดวงแหวน แต่ความจริงแล้วเกิดจากละอองของยาฆ่าหญ้า ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกมะละกอจะต้องตระหนักเป็นพิเศษ ไม่ควรฉีดพ่นสารฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ หนังสือ "ไม้ผลแปลกและหายาก เล่ม 3" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "ไม้ผลแปลกและหายาก เล่ม 1-เล่ม 2" รวม 3 เล่ม จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021 , (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 506
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM