เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะละกอหนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี พื้นที่ปลูกไม่มาก แต่ทำคุณภาพ สร้างรายได้ให้ผู้ปลูกได้ดี
   
ปัญหา :
 
 
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกรในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี นอกจากมะนาว กล้วยไข่ แล้ว ยังมีมะละกอ ถึงแม้พื้นที่ปลูกไม่มากนัก ราว 100 ไร่ หมุนเวียนตลอดปี แต่ก็สร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่น้อย จุดเริ่มต้นของงานปลูกมะละกอที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง มีขึ้นเมื่อปี 2541 สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าปล้อง โดย คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ เจ้าหน้าที่เกษตร และ คุณชาญณรงค์ พวงสั้น ปัจจุบันเป็นเกษตรอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ได้มีโครงการแปลงจัดไร่นาให้กับเกษตรกร พืชหนึ่งที่บรรจุในโครงการคือ มะละกอ เมื่อโครงการแปลงจัดไร่นาผ่านไป ปรากฏว่า เกษตรกรติดใจงานปลูกมะละกอ จึงปลูกมาถึงปัจจุบันนี้ คุณบุญส่ง บอกว่า เกษตรกรปลูกมะละกอราว 10 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ อยู่ที่หมู่บ้านห้วยเกษม ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ สายพันธุ์มะละกอที่นำมาปลูก ได้มาจากอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะของสายพันธุ์ ก้ำกึ่งระหว่างพันธุ์แขกดำและสายน้ำผึ้ง เกษตรกรได้เก็บสายพันธุ์สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ อาจจะเรียกว่า สายพันธุ์ "หนองหญ้าปล้อง" ก็ได้ "จุดเด่นของพันธุ์นี้ ดก ค่อนข้างทนต่อโรค เมื่อสุกเปลือกนิ่ม เนื้อในยังกินได้ ลักษณะผลยาว เนื้อสีแดงส้ม เนื้อไม่เละ เป็นได้ทั้งมะละกอกินสุกและมะละกอส้มตำ ชั่วอายุของมะละกอต้นหนึ่ง มีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 150 กิโลกรัม อย่างแน่นอน" คุณบุญส่ง พูดถึงคุณสมบัติมะละกอที่หนองหญ้าปล้อง คุณบุญส่ง บอกว่า พื้นที่ปลูกมะละกอที่หนองหญ้าปล้อง หมุนเวียนปีหนึ่งราว 100 ไร่ อายุของมะละกอที่ปลูก อยู่ได้อย่างน้อย 2 ปีครึ่ง หากดูแลดีเกษตรกรจะเก็บผลผลิตได้ 15 ตัน ต่อไร่ ต่อปี มีการคิดคำนวณกันแล้ว พื้นที่ปลูก 8 ไร่ จำนวน 2,000 ต้น มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ต่อปี ต้นทุนการผลิตไร่ละ 1.5 หมื่นบาท แต่ระบบน้ำต้องดี คือมีระบบสปริงเกลอร์ให้ คุณบุญส่ง บอกว่า การผลิตมะละกอที่หนองหญ้าปล้อง เน้นป้องกันโรค โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้ หนึ่ง...ตรวจแปลงทุกวัน หากพบโรคใบด่างวงแหวน ให้รีบตัดต้นเผาทำลายทันที สอง...เครื่องมือเก็บ อย่างตะกร้าและเครื่องมือสอย ต้องใช้แปลงใครแปลงมัน ตะกร้าของแม่ค้า จะไม่สับเปลี่ยนกับของเกษตรกร แต่ใช้วิธีขนถ่าย เพราะอาจจะมีเชื้อจากแปลงของเกษตรกรรายอื่น ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ สาม...เมื่อมะละกอหมดอายุ ต้องรีบตัดต้นแล้วเผาทำลายทันที หากปล่อยไว้ จะเป็นแหล่งสะสมโรค ดูตัวเลขแล้ว ถือว่า มะละกอ สร้างรายได้ดี แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เจ๊งได้เหมือนกัน เกษตรกรบางรายปลูกมะละกอ 10 ไร่ ถึงวันใกล้เก็บ เห็นเงินล้านในอีก 4-5 เดือน แต่เมื่อมีลมพายุมา เงินหายวับไปกับตา เก็บผลผลิตได้หลักหมื่นบาท เรื่องแบบนี้แม้แต่คุณบุญส่งก็เคยประสบมา ดังนั้น เกษตรกรต้องเลือกพื้นที่ปลูกให้ปลอดภัยจากลมพายุ คุณสุวิทย์ ทับทิม เกษตรกร อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 2 ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ปลูกมะละกอมาตั้งแต่ปี 2541 ถือว่าเป็นลูกศิษย์ของคุณบุญส่ง คุณสุวิทย์ เล่าว่า ตนเองเคยปลูกอ้อยเป็น 100 ไร่ เมื่อมาปลูกมะละกอ 10 ไร่ มีรายได้ดีกว่า ปัจจุบันเกษตรกรรายนี้ปลูกขนุน เงาะ และมะละกอ พื้นที่ปลูกของเขาไม่แน่นอน แต่หมุนเวียนมีมะละกอเฉลี่ยตลอดปี 1,000 ต้น โดยทยอยปลูก เกษตรกรรายนี้แนะนำว่า การคัดพันธุ์มะละกอนั้น ผลต้องสวย ผลยาว เก็บมาผ่าชิมเนื้อเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถึงแม้ผลสวย แต่เนื้อไม่หวาน ใช้ทำพันธุ์ไม่ได้ ดังนั้น ต้องเลือกผลที่สวยและเนื้อหวาน วิธีการปลูก เริ่มจากเพาะเมล็ดในถุง 3 ต้น ปลูกลงดิน ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 2.50 เมตร คูณ 2.50 เมตร เมื่อมีดอก คัดต้นที่มีดอกกะเทยไว้ 6 เดือน มะละกอเริ่มติดผล จนกระทั่ง 9 เดือน จึงเก็บผลสุกส่งตลาดได้ การดูแลรักษามะละกอ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกษตรกรต้องใส่ใจ โดยเฉพาะโรคใบด่างวงแหวนต้องตรวจดูแปลงทุกวัน เรื่องน้ำ คุณสุวิทย์ให้น้ำโดยระบบสปริงเกลอร์ ลงทุนในส่วนนี้ไร่ละ 6,000-7,000 บาท น้ำมีความสำคัญมาก หากไม่มีระบบน้ำ ไม่ควรปลูกมะละกอเชิงการค้าอย่างเด็ดขาด ปุ๋ย เจ้าของเน้นปุ๋ยคอก เมื่อมีผลผลิต ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ระยะเวลาที่ใส่ให้ 2 เดือน ต่อครั้ง หากฝนชุก ต้องเปลี่ยนเป็นสูตร 13-13-21 เพื่อเพิ่มความหวาน เรื่องของความหวาน แม่ค้าจะเป็นผู้บอกให้ผู้ปลูกทราบอีกทีหนึ่ง หากความหวานน้อย เขาก็บอก ผู้ปลูกก็จะปรับปรุง ส่วนใหญ่แล้วคุณสุวิทย์ขายมะละกอที่ปลูกเป็นมะละกอสุก ที่ผ่านมา มะละกอผลดิบ ขายเพื่อทำส้มตำ เคยขายได้ต่ำสุด กิโลกรัมละ 2 บาท สูงสุด 10 บาท มะละกอสุก เคยขายได้ต่ำสุด กิโลกรัมละ 3 บาท สูงสุด 17 บาท แต่โดยเฉลี่ย กิโลกรัมละ 10 บาท "แม่ค้ามาซื้อมีคนเดียว เขาส่งตลาดศรีเมือง ราชบุรี งานปลูกมะละกอถือเป็นอาชีพที่ดี แต่ต้องเลือกทำเล เช่น หลบหลีกเรื่องลม อยู่ไกลจากชุมชนพอสมควร คนปลูกมะละกอด้วยกันเองต้องเข้าใจ เมื่อโละต้นทิ้ง ต้องทำลาย เพราะขืนปล่อยไว้เมื่อเกิดโรค ติดต่อกัน จะสร้างความเสียหายได้" คุณสุวิทย์ บอก ต้นทุนการผลิตมะละกอ ของเกษตรกรหนองหญ้าปล้องไร่ละหมื่นเศษๆ หากดูแลดี จะให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของได้เป็นแสนบาท หากดูแลไม่ดี หรือมีลมพายุ อาจจะขายมะละกอได้ไร่ละไม่ถึงหมื่นบาท เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องการขาย คุณบุญส่ง บอกว่า หากมะละกอสุก เกษตรกรขายได้กิโลกรัมหนึ่ง 7 บาท ขึ้นไป ถือว่าดีแล้ว ผู้สนใจ ถามไถ่การปลูกมะละกอได้ที่ คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ โทร. (081) 378-3911 และ คุณสุวิทย์ ทับทิม โทร. (089) 210-1430
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เพชรบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 506
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM