เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เห็ดฟางจากเศษเปลือกมันสำปะหลัง ผลผลิตดี ที่ หนองกรด
   
ปัญหา :
 
 
พื้นที่บ้านดงสำราญ หมู่ที่ 17 ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งในช่วงหน้าแล้ง พอเข้าสู่หน้าฝนของทุกปี ฝนก็จะมีตกลงมามากมาย และในบางปีก็จะมีน้ำป่าไหลลงมาสมทบอีก จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วม ทำให้นาข้าวและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก หน้าแล้งแทบทุกปีจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำตามมา ทั้งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเสียโอกาสในการประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ไปนานหลายเดือน แต่การดำเนินชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปและจะต้องปรับให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ คุณบัว พนมวาส เกษตรกรวัย 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 17 ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการใช้น้ำต้นทุนเท่าที่มีอยู่อย่างจำกัดไปเพาะเห็ดฟางจากเศษเปลือกมันสำปะหลัง ที่ต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้ระยะเวลาการผลิตสั้นแต่ให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จากเดิมในหมู่บ้านมีการเพาะเห็ดฟางเพียงไม่กี่ราย แต่ปัจจุบันเกษตรกรเกือบทั้งหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียงได้เพาะเห็ดฟางจากเศษเปลือกมันสำปะหลังกันอย่างกว้างขวางแทบจะทุกครอบครัวด้วยซ้ำไป วัสดุหลักที่ใช้เพาะเห็ดฟางเป็นเศษเปลือกมันสำปะหลังที่เหลือทิ้งจากโรงงานที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ซื้อมาในราคาตันละ 150 บาท ส่วนขั้นตอนการทำก็เริ่มจากการเตรียมดิน ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะหมุนเวียนทำในทุ่งนา ต้องไถพรวนคราดให้ดินย่อยละเอียด ปรับหน้าดินให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ย่อยดินให้ร่วนเหมือนกับการเตรียมดินเพื่อปลูกพืชผัก จากนั้นก็นำเศษมันสำปะหลังใส่ในสาลี่รถไถเดินตาม ใช้น้ำราดให้เปียกเพื่อล้างเศษมันสำปะหลัง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ ส่วนแบบพิมพ์สำหรับทำกองเพาะเห็ดนั้นจะทำคล้ายๆ กับแบบพิมพ์อิฐบล็อคด้านบนกว้าง 18 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 20 เซนติเมตร ความยาว 40 เซนติเมตร และความสูง 50 เซนติเมตร ทำไม้แบบสำหรับกดให้พอดีกับแบบพิมพ์ จากนั้นก็นำเศษเปลือกมันสำปะหลังเทลงไปในแบบพิมพ์เกลี่ยให้สม่ำเสมอ ใช้ไม้แบบกดกระแทกให้แน่นแล้วจึงถอดแบบพิมพ์ออกจะได้กองเศษมันสำปะหลังสูงราว 5 เซนติเมตร เกษตรกรคนเก่ง เล่าต่อว่า กองต่อไปก็ทำลักษณะเดียวกัน โดยทำเรียงให้เป็นแถวเดียว ห่างกันระหว่างกอง 15-20 เซนติเมตร ใน 1 แปลง จะทำกองได้ 15 กอง ในช่วงหน้าร้อน แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวให้เพิ่มจำนวนกองเป็น 20 กอง จำนวนกองที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในแปลงให้เหมาะสมต่อการงอกของเห็ดฟาง จากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่มทั่วทั้งแปลง ระวังอย่าทำให้กองเศษเปลือกมันสำปะหลังแตก จากนั้นนำปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 46-0-0 ผสมกันอัตรา 1 ต่อ 1 นำไปโรยรอบๆ กองเศษเปลือกมันสำปะหลัง (ต้องดูดินบริเวณนั้นด้วยว่าขาดธาตุอาหารชนิดใด) และนำปุ๋ยคอกตากแห้งที่ไม่มีเชื้อราไปรอบๆ กองเศษมันสำปะหลังให้ทั่วทั้งแปลง รดน้ำให้ชุ่มจนปุ๋ยละลายทั้งหมด จากนั้นนำเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีราคาถุงละ 10 บาท ใช้ 2 ถุง ต่อ 1 แปลง จะมีลักษณะเส้นใยสีขาวเต็มทั้งถุงมาบดขยี้ให้แตกจนร่วน นำเชื้อเห็ดไปโรยบนดินรอบกองเศษเปลือกมันสำปะหลังให้ทั่วทั้งแปลง ไม่ต้องโรยที่กองเศษเปลือกมันสำปะหลังแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกปักเป็นโครงครอบแปลง ให้ปักห่างจากกองเศษเปลือกมันสำปะหลังราว 20-25 เซนติเมตร จากนั้นให้นำผ้าพลาสติคใสมาคลุมแปลงแล้วเจาะรูระบายอากาศ 3-4 รู เส้นผ่าศูนย์กลางรูละ 5-7 เซนติเมตร แล้วใช้ฟางคลุมบนพลาสติคทั้งแปลง รดน้ำไปบนฟางอีกครั้งหนึ่งให้ชุ่ม หลังจากนั้น 8-10 วัน ก็จะมีดอกเห็ดงอกขึ้นมาบนดินรอบๆ กองเศษมันสำปะหลัง เห็ดฟางจะไม่งอกขึ้นบนกองเศษมันสำปะหลัง เมื่อเพาะเห็ดฟางในพื้นที่นั้นแล้ว จะต้องเปลี่ยนพื้นที่เพาะไปในแปลงอื่น เพาะพื้นที่เดิมจะมีเชื้อราอื่นปะปนอยู่ จะไม่เป็นผลดีต่อการเพาะเห็ดฟาง กองเศษมันสำปะหลังจะเป็นตัวทำอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการงอกของเห็ดฟางเท่านั้น เมื่อเก็บเห็ดฟางครั้งแรกจะได้ราว 5-6 กิโลกรัม แล้วคลุมปิดพลาสติคและเอาฟางคลุมไว้เหมือนเดิม รดน้ำบนฟางอีกครั้งหนึ่งทิ้งไว้ 5 วัน ก็จะสามารถเก็บเห็ดได้ในครั้งที่ 2 ได้ราว 3-5 กิโลกรัม ขายส่ง กิโลกรัมละ 50 บาท ใน 1 แปลง จะได้เงิน 300-400 บาท ซึ่งลงทุนเพียงแปลงละ 60 บาท เท่านั้น ถ้าวางแผนการเพาะเห็ดฟางดีก็จะสามารถเก็บเห็ดฟางขายได้ทุกวันในช่วงฤดูแล้งเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ด้าน คุณสำเริง แพงเพชร ประธานกลุ่มเพาะเห็ดฟางบ้านดงสำราญ กล่าวว่า เพื่อให้การเพาะเห็ดฟางของสมาชิกเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเพาะเห็ดฟางบ้านดงสำราญขึ้น มีสมาชิก 25 คน ยังมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายทั้งในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านอีกจำนวนมาก การตั้งเป็นกลุ่มก็จะสามารถบริหารจัดการการเพาะเห็ดออกสู่ตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลให้เกษตรกรที่สนใจได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่สนใจสอบถามข้อมูลเข้าไปศึกษาดูงาน และนำไปสู่การปฏิบัติจริงจำนวนมาก คุณฌัญชานนท์ เมืองมา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ตำบลหนองกรด เล่าให้ฟังว่า จากเดิมที่มีเกษตรกรทำเพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่มาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรเกือบทั้งหมู่บ้านจะใช้เวลาช่วงหน้าแล้งเพาะเห็ดฟางจากเศษเปลือกมันสำปะหลัง ทำให้มีรายได้เสริมในช่วงหน้าแล้งเป็นที่น่าพอใจ และกว่าจะมาถึงวันนี้ที่เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดฟางจากเศษเปลือกมันสำปะหลัง ก็มีการลองผิดลองถูกอยู่นาน ได้มีการพาผู้นำเกษตรกรไปศึกษาดูงานในหลายแห่ง เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการเพาะเห็ดของตนเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 041-1858 หรือ (084) 878-2979 นอกจากนี้ คุณสุรสิทธิ์ สิงหพรพงศ์ เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ได้ออกไปดูการเพาะเห็ดฟางจากเศษมันสำปะหลังแล้ว เห็นว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี เพียงไม่กี่เดือนในช่วงหน้าแล้งก็สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดีเป็นที่น่าพอใจ และเกษตรกรก็ยังใช้เศษวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดฟางเป็นปุ๋ยให้กับนาข้าวอีกทางหนึ่งด้วย ส่งผลให้สามารถลดต้นการผลิตการทำนาได้อีกทางหนึ่ง เมื่อมีเกษตรกรเพาะเห็ดฟางกันมาก ต่อไปอาจจะมีปัญหาตามมา อาทิ โรคแมลง ราคาจำหน่าย จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟาง เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันวางแผนการผลิต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครสวรรค์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 505
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM