เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พิสูจน์ทุเรียนใหม่ 2 จังหวัด 2 สายพันธุ์ ทองกมล และ ทองลินจง
   
ปัญหา :
 
 
นอกจากนำความชุ่มฉ่ำมาให้แล้ว ฝนยังนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ถึงหน้าฝนทีไร ของกินทั้งจากธรรมชาติและที่ผู้คนได้ปลูกฝังไว้ ต่างก็ผลิดอกออกผล ให้ได้เก็บกินเก็บขาย เมื่อไม่นานมานี้ คุณทวีศักดิ์ ด้วงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนไปพิสูจน์ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ ที่จังหวัดระยองและจันทบุรี ถือว่าเป็นโอกาสดีมาก ที่จะได้นำเรื่องราวแปลกใหม่มาเล่าสู่กันฟัง "ทองกมล" ทุเรียนดี อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ออกจากกรุงเทพฯ กันตั้งแต่ 7 โมงเช้า ใช้เวลาไม่นานนักก็ถึงอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง แวะเติมพลังด้วยข้าว ต้มเลือดหมู ใช้เวลาอีกราว 15 นาที ก็ถึงสวน คุณเสริมศักดิ์ เปรมกมล ซึ่งอยู่เลขที่ 53/3 หมู่ที่ 5 ตำบลกระแสบน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โทร. (089) 833-2880 คุณเสริมศักดิ์ ถือว่าเป็นเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยในยุคนี้ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพคือ โล่รางวัล ใบประกาศเกียรติคุณ ที่มีอยู่หลายลัง ส่วนผลผลิต ก็มีคนมารับไปจำหน่ายต่างประเทศ เกษตรกรรายนี้ ได้ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีลง จาก 100 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ทำได้แล้ว ชนิดของผลไม้ที่เขาผลิตมีทุเรียน ลองกอง ขนุน ทุกอย่างที่แนะนำมาส่งต่างประเทศได้หมด ทุเรียนที่คุณเสริมศักดิ์ผลิตมีสายพันธุ์ชะนี ก้านยาว หมอนทอง นวลทอง (เมล็ดในยายปราง) สายพันธุ์หนึ่ง ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิม โดยที่เจ้าของบอกว่า ในบรรดาทุเรียนแล้ว สู้พันธุ์ที่เขากำลังฟูมฟักไม่ได้ อีก 3 ปี คงมีปริมาณมาก นั่นคือทุเรียน "กบพิกุล" ทุเรียนเก่าแก่ แต่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล ในแต่ละปี ครอบครัวเปรมกมล มีรายได้จากผลไม้ที่ปลูกไม่น้อย สำหรับทุเรียนพันธุ์ใหม่ เริ่มต้นจากคุณเสริมศักดิ์ ต้องการเสริมรากทุเรียนที่ปลูกอยู่ จึงเพาะเมล็ดทุเรียนที่ไม่ทราบสายพันธุ์ แล้วนำไปปลูกใต้ต้นทุเรียนพันธุ์ดี จากนั้นจึงเสริมราก แต่ปรากฏว่าทุเรียนพันธุ์ดีได้ตายลง เหลือแต่ต้นที่เพาะขึ้นมาใหม่ มีอยู่ช่วงหนึ่ง พนักงานขายปัจจัยการเกษตร นำยอดทุเรียนจากอินโดนีเซียมาให้ บอกว่าโขมยมา เป็นทุเรียนพันธุ์ดีของบ้านเขา คุณเสริมศักดิ์ลองเสียบยอดไว้ เมื่อมีผลออกมา ปรากฏว่า สู้ทุเรียนหมอนทอง ก้านยาวไม่ได้ จึงไม่ได้สนใจ แต่ก็มีทุเรียนบางกิ่ง ที่เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด มีดอกและติดผล ซึ่งปีแรกติด 3 ผล เจ้าของทดลองชิมดู ปรากฏว่า มีคุณสมบัติโดดเด่น จนกระทั่งปีต่อมา คุณเสริมศักดิ์ได้ส่งเข้าประกวด ปรากฏว่า ทุเรียนที่เกิดจากการเพาะเมล็ดได้รางวัลที่ 1 กรรมการที่ตัดสินต่างก็ชอบทุเรียนของคุณเสริมศักดิ์เป็นอย่างมาก เจ้าของตั้งชื่อให้ทุเรียนที่เกิดจากการเพาะเมล็ดว่า "ทองกมล" ซึ่งนำลักษณะของสีเนื้อทุเรียนบวกกับนามสกุลนั่นเอง ทุเรียนทองกมล ผลกลม แต่รูปร่างไม่เหมือนก้านยาว น้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม ต่อผล ก้านผลไม่ยาวเท่ากับทุเรียนก้านยาว เปลือกสีเขียวอมเทา หนามฐานกว้าง สั้น เปลือกบาง มีจำนวน 5 พู เนื้อสีเหลืองเข้ม รสชาติผสมผสานระหว่างหมอนทองกับก้านยาว กลิ่นไม่แรง เมล็ดมีขนาดปานกลาง เป็นพันธุ์หนัก อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 140 วัน ปกติหากเป็นหมอนทอง 120 วัน "ผลผลิตมีมา 3 ปีแล้ว จุดเด่น แกะง่าย เนื้อแห้ง เนื้อมาก ตอนนี้คงพูดอะไรมากไม่ได้ ต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อน อีกสัก 2-3 ปี น่าจะมีข้อมูลมากขึ้น ปีนี้ทุเรียนได้รับความสนใจดีมาก อย่างหมอนทอง นวลทอง มีคนมาซื้อส่งต่างประเทศ" คุณเสริมศักดิ์ บอก ทางด้านคุณทวีศักดิ์ กล่าวถึงทุเรียนทองกมลว่า น่าจะมาจากทุเรียนที่เพาะเมล็ด โดยเพาะจากทุเรียนก้านยาว เพราะตามทฤษฎีแล้ว ดูภายนอกผลจะคล้ายๆ แม่ จัดเป็นทุเรียนที่น่าสนใจ เพราะเนื้อมาก ลองแกะดูเนื้อล้นจาน ก็ต้องติดตามความก้าวหน้าของทุเรียนทองกมลกันต่อไป ผู้สนใจต้นพันธุ์ เจ้าของบอกว่ายังไม่มี ส่วนพันธุ์อื่นๆ พอมีแบ่งปันกัน อย่างกบพิกุลและนวลทอง คุณเสริมศักดิ์ บอกว่า ทุกวันนี้ มีการซื้อขายผลผลิตแบบขายตรงจากสวนถึงผู้บริโภค คนที่อยู่กรุงเทพฯ อยากลิ้มรสทุเรียนจากสวนแถบระยอง สามารถซื้อได้ภายในวันสองวัน ซึ่งรับประกันว่าได้บริโภคของมีคุณภาพ คุ้มค่าเงินที่จ่าย เป็นความก้าวหน้าระบบการซื้อขายและการขนส่ง ส่วนจะซื้อขายกันอย่างไรก็สอบถามได้ที่คุณเสริมศักดิ์ "ทองลินจง" ทุเรียนท่าใหม่ เมืองจันท์ ออกจากสวนคุณเสริมศักดิ์ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ไปดูงานปลูกกล้วยไข่แซมในสวนยางพาราพื้นที่ 70 ไร่ โอกาสต่อไปคุณจิรวรรณ โรจนพรทิพย์ คงได้นำเสนอ พื้นที่อยู่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ออกจากวังจันทร์ ทีมงานมุ่งไปทางจันทบุรี ถึงสามแยกอำเภอแกลง เลี้ยวซ้าย เห็นป้าย "แกงป่า" อยู่ข้างทางหลายร้าน จึงแวะเติมพลังมื้อเที่ยงกัน เป้าหมายสุดท้ายของการทำงาน อยู่ที่บ้าน คุณสมชาย ลินจง อยู่บ้านเลขที่ 49/6 หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทร. (081) 781-2008 คุณสมชายมีอาชีพทำสวนผลไม้ มีลำไย มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด รวมแล้ว 600 ไร่ สำหรับทุเรียน มีพื้นที่การผลิต 200 ไร่ เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทุเรียนพวงมณี ได้รับความนิยมมาก คุณสมชายจึงไปซื้อกิ่งพันธุ์มากปลูก จำนวน 80 ต้น ด้วยกัน พอถึงเวลามีผล แทนที่จะเป็นพวงมณีทั้ง 80 ต้น กลายเป็นพวงอะไรก็ไม่รู้ จำนวน 12 ต้น ด้วยกัน สิ่งที่มีอยู่ สร้างความไม่พอใจเล็กๆ ให้กับเจ้าของ แต่ก็ไม่ได้ตัดฟันทิ้ง พอมีผลผลิตมากๆ เมื่อนำไปจำหน่าย แม่ค้าไม่ค่อยชอบ เพราะว่าจะเป็นทุเรียนพวงมณีก็ไม่ใช่ จะเป็นทุเรียนหมอนทองก็ไม่เชิง แต่ระยะหลังๆ แม่ค้าเริ่มรู้จัก จึงขายได้ราคาแพงขึ้น จนกระทั่งล่าสุดมีการส่งเข้าประกวดในงานทุเรียนโลก ปรากฏว่า ทุเรียนไม่มีชื่อคว้ารางวัลที่ 1 มาครองอย่างสมศักดิ์ศรี ความนิยมทุเรียนสายพันธุ์ที่ไม่มีชื่อของคุณสมชาย มีเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เดิมแทบขายไม่ได้ ต่อมาราคาขยับ อย่างปี 2554 ราคาทุเรียนหมอนทองกิโลกรัมละ 25 บาท ทุเรียนที่ไม่มีชื่อ แม่ค้ามาซื้อ กิโลกรัมละ 39-40 บาท เมื่อชนะการประกวด และผลผลิตได้รับความนิยม เจ้าของจึงตั้งชื่อทุเรียนที่มีอยู่ว่า "ทองลินจง" โดยนำสีเนื้อทุเรียนบวกกับนามสกุลของตนเอง ปัจจุบัน นอกจากต้นอายุ 17 ปี จำนวน 12 ต้นแล้ว คุณสมชายยังมีต้นที่กำลังให้ผลผลิตอีก 50 ต้น ขณะเดียวกันก็ขยายเพิ่มขึ้นจำนวนหลายไร่ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ซื้อ ทองลินจง มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร ทุเรียนทองลินจง ต้นแข็งแรงมาก ไม่พบโรครากและโคนเน่า หากินเก่ง ผลดก ติดผลหลายรุ่น "ต้น 17 ปี น่าจะได้ 200 ลูก สำหรับปีนี้" คุณสมชาย บอก เจ้าของบอกว่า ผลผลิตทองลินจงดกมาก ผลคล้ายหมอนทอง น้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม ต่อผล ผิวผลสีเขียว หนามใหญ่ มีจำนวน 5 พู เนื้อแห้ง สีเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน ออกไปทางก้านยาว กลิ่นไม่แรง เมล็ดลีบเป็นบางส่วน อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 110 วัน ถือว่าเป็นพันธุ์เบา ปัจจุบันผู้ซื้อชอบมาก "จุดเด่นผมว่า อยู่ที่เนื้อสีเหลืองเข้ม ติดผลดก ถึงแม้จะสุกจนหล่นเนื้อไม่เละ ไส้ไม่ซึม ไม่แกร็น มีความต้านทานต่อโรคมาก" เจ้าของบอก เนื่องจากปลูกทุเรียนมากถึง 200 ไร่ และปลูกมานาน คุณสมชายพบคุณสมบัติทุเรียนที่โดดเด่นหลายอย่าง ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากนั้น เขาพบทุเรียนหมอนทองต้นหนึ่งที่ออกผลทะวาย ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ว่า หากปลูกต่างถิ่นจะทะวายหรือไม่ ข้างๆ สวนของคุณสมชาย มีทุเรียน "อีเป็ด" ผลใหญ่กว่ากำปั้นนิดเดียว เมล็ดเท่านิ้วก้อย ภรรยาของคุณสมชายชอบมาก ทุเรียนอีเป็ด ผลขนาดเล็ก คล้ายๆ จอกลอย ผู้ที่สนใจทุเรียนทองลินจง ยังพอมีผลผลิต เมื่อเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้ออกสู่ตลาด ลองสอบถามกันดู เป็นเรื่องราวของทุเรียนปี 2554 ในอีกแง่มุมหนึ่ง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ระยอง
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 505
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM