เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
อะโวกาโด กินยังไงเว้ยเฮ้ย
   
ปัญหา :
 
 
อะโวกาโด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Persea Americana mill เป็นผลไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ขนาดสูงปานกลาง เท่าๆ กับต้นมะม่วงกิ่งตอน ใบเขียวเข้มตลอดทั้งปี ทรงพุ่มไม่ทึบ คนไทยรู้จักอะโวกาโดมานานไม่ต่ำกว่า 80 ปี แต่ที่รู้จักเป็นชาวบ้านแถบภาคเหนือ เนื่องจากมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดน่านนำมารับประทานแล้วทิ้งเมล็ดไว้จนเติบโตเป็นต้นผลิดอกออกผล แต่ชาวบ้านแถบภาคเหนือเรียกว่า ลูกเนย ต่อมาก็มีการนำเข้าต้นอะโวกาโดจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาพันธุ์แต่ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก ในปี พ.ศ. 2507 สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูกอีกจำนวนหนึ่ง และได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนเป็นที่แพร่หลาย ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่องได้ปลูกทดลองถึงจำนวน 15 สายพันธุ์ เพื่อค้นหาพันธุ์ สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของบ้านเรา อาจารย์ขวัญหทัย ทนงจิตร นักวิจัยพันธุ์จากสถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงอะโวกาโดว่า "คนไทยไม่สนใจอะโวกาโด เนื่องจากคนไทยนิสัยชอบบริโภคผลไม้ที่มีรสชาติหวาน เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก ลิ้นจี่ ลำไย ซึ่งผลไม้แบบนี้ไม่เหมาะสำหรับสุขภาพ ถ้าบริโภคมากเกินไป แต่อะโวกาโดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ คือผลของอะโวกาโดมีรสชาติที่มันและมีน้ำตาลน้อย ส่วนไขมันที่มีเป็นไขมันโอเมก้า-9 เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่มีการสะสมในร่างกาย กลับจะช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ทำให้เหมาะสำหรับเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ และอะโวกาโดยังมีโปรตีนสูง แต่เป็นโปรตีนที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย และมีคาร์โบไฮเดรตน้อย ในต่างประเทศนิยมให้เด็กรับประทานเพราะมีวิตามิน เอ ซี และอี สูง" สายพันธุ์ที่นิยมบริโภค อะโวกาโดสายพันธุ์แฮสส์ มีลักษณะผลด้านบนเรียวยาวคล้ายลูกแพร์ สีเขียวเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ เป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันทั่วโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีรสชาติอร่อยกว่าพันธุ์อื่น ในร้านของโครงการหลวงขายเป็นผล ราคาประมาณ 30-40 บาท แต่ตามแผงผลไม้ทั่วไปขายเป็นกิโลกรัม ในสนนราคากิโลกรัมละ 35 บาท สามกิโลร้อย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนำไปบริโภคไม่เป็น สายพันธุ์แฮสส์เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น การนำมาปลูกในพื้นที่ปากช่องและภาคอีสานโดยทั่วไปจะมีผลผลิตค่อนข้างต่ำ และค่อนข้างอ่อนแอต่อสภาพอากาศในเมืองร้อน ทำให้เกิดโรคได้ง่าย และข้อจำกัดในภาคกลางคือ ถ้าปลูกในที่น้ำท่วมหรือที่ลุ่มจะมีปัญหาโรครากเน่า ถึงจะยกร่องก็ไม่ดีนัก จากสาเหตุนี้ สถานีวิจัยปากช่อง โดยอาจารย์ขวัญหทัย จึงแนะนำสายพันธุ์อะโวกาโดอีก 2 สายพันธุ์ ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน "เนื่องจากพันธุ์แฮสส์ต้องปลูกในที่อากาศเย็นและอ่อนแอกับโรคแมลง พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับภาคนี้คือ พันธุ์ปีเตอร์สัน และ บูช 7 ซึ่งลักษณะผลของอะโวกาโดทั้ง 2 สายพันธุ์ จะเหมือนกันคือ มีลักษณะกลมเหมือนผลส้ม แต่ปีเตอร์สันจะมีสีเขียวใสผิวเกลี้ยง ส่วน บูช 7 จะมีสีเขียวเข้มออกดำขรุขระเล็กน้อย ผลมีขนาดใหญ่กว่าทั้ง 2 พันธุ์ ทนต่อโรคเมืองร้อนมากกว่าพันธุ์อื่น" กินยังไงเว้ยเฮ้ย คำถามยอดฮิตสำหรับคนที่เห็นผลอะโวกาโด "เอาไปทำอะไรกิน หรือกินยังไง" แม่ค้าก็อธิบายอยู่ตั้งนาน พวกพยักหน้า "อือ" แล้วก็ไม่ซื้อ แต่ถ้าหันไปถามหมู่มาด้วยกันจะถามว่า "จั๊กหน่วยอะไรดอกเฮ้ย หรือไม่ก็ กินยังไงเว้ยเฮ้ย" อะโวกาโดไม่นิยมกินผลดิบ เนื่องจากมีสารแทนนิน มีรสขม กินมากจะปวดหัว แต่จะกินผลที่สุกแล้ว โดยชาวสวนจะเก็บผลที่แก่จัดมาบ่มให้สุก ประมาณ 3-7 วัน ก็จะกินได้ อาจารย์ขวัญหทัย แนะวิธีกินอย่างง่ายๆ ว่า "ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าใส่น้ำกะทิเหมือนแตงไทยน้ำกะทิ หรือราดน้ำหวานหลากสีต่างๆ หรือง่ายสุดผ่าผลตามยาวเอาเมล็ดออกแล้วราดด้วยน้ำผึ้งเอาช้อนตักกินเลยแบบลูกทุ่งๆ บ้านเรากินอะโวกาโดแบบของหวาน แต่คนพื้นเมืองชาวตะวันตกบางประเทศกินเป็นกับข้าวกับปลา โดยเอาเนื้ออะโวกาโดที่หั่นแล้วมาตำกับมะเขือเทศในครกหินจนแหลกแล้วใส่เกลือลงไป ต่อมามีการเพิ่มเปรี้ยวด้วยมะนาว หัวหอม พริกหยวก ผักชี เครื่องเทศและกระเทียม เสร็จแล้วนำมาทาบนขนมปังกรอบ ชาวเม็กซิกันเรียกว่า กัวคาโมเล่ (guacamole)" ฟังดูแล้วคล้ายข้าวตังหน้าตั้งของไทย วันหลังว่างๆ จะจัดเมนูมาให้หัดทำกินกัน หรือจะใส่พริกขี้หนูไปสักหน่อย ปั้นข้าวเหนียวจิ้ม หรือกินกับข้าวเจ้าเป็นน้ำพริกอะโวกาโด ท่าจะโก้ไม่หยอก เผื่อข้างบ้านถาม "วันนี้จิกินอะไรอี่นาย" จะได้ตอบหมู่ไปว่า "กินน้ำพริกอะโวกาโด กับปลาดุกรัสเซียย่าง เอ็งไม่ลู่จักดอก บ่อน (= ที่) กรุงเทพฯ เขากินกั๋น" เขียนเย้ากันเล่นระหว่างหมู่ (= เพื่อน) กันหรอกน่ะครับ ไม่ได้แยกชนชั้นอำมาตย์กับไพร่ด้วยน้ำพริกเหมือนที่เขาแยกระหว่างการดื่มเบียร์กับไวน์ที่เมืองบางกอกเขาดอกน่ะครับ ประโยชน์นอกเหนือจากการรับประทาน เนื้อของอะโวกาโดนอกจากกินสดๆ ได้แล้ว ยังนำไปสกัดน้ำมันได้อีกด้วย น้ำมันอะโวกาโดสามารถใช้ในการประกอบอาหารและใช้ในการทำเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเรือนร่างตั้งแต่หัวจรดเท้า น้ำมันที่ได้จากเนื้ออะโวกาโดมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คุณสมบัติดีเด่นไปหมด จาระไนไม่ถูก เอาเป็นว่า หมักผม ผมนิ่ม พอกหน้า หน้านุ่ม ทาผิว ผิวเนียน เหมาะสำหรับคนผิวแห้ง นี่ว่าจะแนะนำให้พวกนักดื่มกินเป็นกับแกล้ม เพราะว่าน้ำมันอะโวกาโดโดนตรงไหนเป็นนิ่มไปหมด กินเข้าไปเผื่อมันจะซึมได้ถึงตับ ตับจะได้ไม่แข็ง การขยายพันธุ์ต้องใช้วิธีเสียบยอด โดยปกติถ้านำเมล็ดพันธุ์ของอะโวกาโดมาปลูก มีผลเสียอยู่สองสามข้อคือ อาจจะกลายพันธุ์ได้และไม่ค่อยติดผล ทำให้เข้าใจกันว่าอะโวกาโดปลูกในเมืองไทยแล้วไม่มีผลผลิต ข้อเสียอีกข้อคือ การใช้เมล็ดปลูกจะต้องให้เวลาถึง 8 ปี ถึงจะออกผล วิธีที่ดีที่สุดคือ การเสียบยอด "เราเคยใช้วิธีทาบกิ่ง แต่มีปัญหาเรื่องกิ่งของอะโวกาโดค่อนข้างเปราะหักง่าย จึงใช้วิธีเสียบยอดแทน เราจะนำเมล็ดของอะโวกาโดพันธุ์ใดก็ได้มาเพาะในถุงชำ ขนาด 4x8 โดยผสมดินพร้อมปลูก 1 ส่วน กับแกลบเผา 1 ส่วน โดยไม่ต้องหมัก สามารถนำมาใช้ได้เลย โดยเลือกเมล็ดที่แก่ สังเกตได้ว่าจะมีสีเหลือง นำส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มออก เพราะถ้าไม่เอาออก เมล็ดจะพักตัวทำให้งอกช้า ฝังไม่ให้มิดเมล็ด เมล็ดจะงอกได้ดีกว่าฝังจม ใช้เวลาในการเพาะประมาณ 6 เดือน ก็จะได้ต้นตอขนาดเท่ากับดินสอ แล้วจึงนำมาปาดเป็นปากฉลามให้เหลือขนาดความสูงของต้น ประมาณ 15-20 เซนติเมตร นำยอดของต้นพันธุ์ที่เราต้องการมาลิดใบออกให้หมด ปาดโคนเป็นปากฉลามเหมือนกันแล้วเอามาเสียบ แล้วจึงเอาพลาสติคมาพันให้แน่นกันน้ำเข้า รดน้ำในถุงเพาะให้ชุ่ม ต่อมานำมาอบในถุงขนาดใหญ่ 20x30 ถุงละ 4 ต้น เพื่อป้องกันการคายน้ำ ปิดปากถุงให้แน่นเพื่อรักษาความชื้น ทิ้งไว้ในร่มประมาณ 30-45 วัน ก็นำออกมาจากถุง ทิ้งไว้ 2 หรือ 3 สัปดาห์ จนกว่าจะแตกใบอ่อน ก็สามารถนำมาจำหน่ายได้" การปลูกอะโวกาโด ควรเตรียมหลุมขนาด กว้าง ยาว ลึก 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกสองสามบุ้งกี๋ ผสมดินรองก้นหลุม นำต้นมาปลูกโดยให้รอยแผลอยู่เหนือดิน โดยให้มีไม้ค้ำและควรจะปลูกเมื่อเริ่มหน้าฝน ถ้าสามารถทำร่มให้กับต้นที่ปลูกใหม่จะทำให้ต้นสามารถเจริญเติบโตได้ดี เมื่อหมดฝนในช่วง 4 เดือน ต้นอะโวกาโดก็จะตั้งตัวได้ ระยะการปลูกใช้ความห่างระยะต้น 5 เมตร ระยะแถว 7 เมตร ถ้าปลูกเป็นเชิงการค้าควรมีการฉีดยากันราประเภทคาร์เบนดาซิม และยาฆ่าแมลง เป็นระยะเพื่อป้องกันโรคและการทำลายของแมลงศัตรูพืช ในช่วงที่ติดผลจะมีปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟทำลายผล ซึ่งจะทำให้ผิวของอะโวกาโดเสียไม่น่าบริโภค จำเป็นต้องระมัดระวัง แต่ถ้ามีการห่อผลจะเป็นการป้องกันได้อย่างดี การใช้ยาในช่วงระหว่างแตกใบอ่อนและแทงช่อดอกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการป้องกันการทำลายใบอ่อนและทำให้ติดผลได้ดี ดูยังไง ว่าแก่ โดยปกติถ้าดูคนว่าแก่ ก็คือจะต้องเหี่ยวๆ นับว่าแก่ แต่ถ้าเป็นอะโวกาโดถ้าเหี่ยวแสดงว่าไม่แก่ อะโวกาโดจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จะสุกพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม แต่พันธุ์ปีเตอร์สันจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์อื่นคือ เดือนกรกฎาคม ผลของอะโวกาโดพร้อมที่จะนำมาบ่ม ให้สังเกตว่าขั้วผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ให้ลองเอาผลใหญ่มา 4-5 ลูก มาบ่ม เอาผ้าปิดคล้ายบ่มมะม่วง ประมาณ 5 วัน ถ้าผลสุกจะไม่เหี่ยว กดจะรู้สึกนิ่ม ถ้าผลไม่แก่จะเหี่ยว หรือชิมดูถ้ามีรสขมถือว่ายังไม่แก่ ผลของอะโวกาโดเก็บไว้ได้ไม่นาน ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และรีบบริโภค ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้มาจาก อาจารย์ขวัญหทัย ทนงจิตร แห่งสถานีวิจัยปากช่อง ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์อะโวกาโดเพื่อการศึกษา และยังมีต้นอะโวกาโดสายพันธุ์ปีเตอร์สัน และ บูช 7 จำหน่ายแก่เกษตรกรทั่วไป แต่เนื่องจากต้นพันธุ์มีไม่มาก จึงจำกัดไม่ให้ซื้อเกินคนละ 50 ต้น ราคาจำหน่าย ต้นละ 150 บาท เกษตรกรท่านใดสนใจติดต่อได้ที่ สถานีวิจัยปากช่อง โทรศัพท์ (044) 311-796
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 505
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM