เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
อาจารย์พนัส ศรีเขาล้าน ชวนไปชิมสะละรสดี ที่เขาทะลุ ชุมพร
   
ปัญหา :
 
 
ด้วยภาระหน้าที่การงาน ทีมเทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสตระเวนไปในหลายพื้นที่ ของท้องถิ่นแดนไทย "เขาทะลุ" เป็นตำบลที่มีภูมิประเทศสวยงาม รวมทั้งมีความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ฟ้า ป่า อากาศ ตำบลเขาทะลุ อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษม ราว 23 กิโลเมตร ก่อนถึงชุมชน มีเทือกเขาสูงขวางกั้นอยู่ ตรงเทือกเขามีรูขนาดใหญ่ ทำให้นึกไปว่า ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก เปลือกโลกแถบนั้นยังไม่แข็งตัวเต็มที่ มีมนุษย์โบราณตัวใหญ่ ใช้ไม้ไปทิ่มแทง จนภูเขาเกิดเป็นรูขึ้นมา เพราะรูที่มองทะลุจากฝั่งหนึ่งไปยังฝั่งหนึ่งนี่เอง คนท้องถิ่นจึงเรียกแถบนั้นว่า "เขาทะลุ" มีคนอาศัยอยู่แถบเขาทะลุนานมาแล้ว ก็ราว 4,000 ปี ทั้งนี้ เพราะมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ จำนวนไม่น้อย สิ่งหนึ่งที่พบมากคือ ลูกปัด คนที่อยู่บริเวณนั้นคงขาดช่วงไปบ้าง ระยะหลังๆ มีคนเข้าไปอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งไปจากอีสาน เหนือ รวมทั้งคนแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชากรจากแดนดินถิ่นที่ราบสูง อยู่กันค่อนข้างหนาแน่น เริ่มต้นโดยการเป็นคนจรหมอนหมิ่นไปรับจ้างทำสวน ต่อมาคนที่อยู่ก่อนแล้วมีความขัดแย้งกัน คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่ได้ คนโคราช คนขอนแก่น จึงตามญาติพี่น้องให้มาอยู่ด้วย มาทำสวนกาแฟ ปลูกทุเรียน มีฐานะตามกำลังความสามารถ ตำบลเขาทะลุ นอกจากมีชื่อเสียงทางด้านการเกษตรแล้ว ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะเวียนไป เช่น ถ้ำธารลอด โครงกระดูกมนุษย์โบราณ เหมืองแร่เก่า เทือกเขาทะลุ ยังคงสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ทั้งนี้ เพราะทางการเขาดูแลอย่างดี เมื่อฝนตก มีความชื้น มีเมฆหมอกปกคลุม ได้บรรยากาศเหมือนอย่างทางเหนือ ผลิตผลอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อมากคือ กาแฟ นอกจากปลูกและขายผลสดแล้ว เขานำมาแปรรูปเป็นกาแฟพร้อมชงดื่ม ตรา "เขาทะลุ" รสชาติดีมาก อาจารย์พนัส ศรีเขาล้าน ซื้อฝาก เมื่อนำกลับมายังโรงพิมพ์ ใครได้ชิมต่างก็ติดใจ กาแฟของเขากลมกล่อม จนหลายคนถามว่า "หาซื้อได้ที่ไหน" สะละดี ของ อาจารย์พนัส ศรีเขาล้าน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน มุ่งสู่จังหวัดชุมพรกัน ทั้งนี้ เพื่อสำรวจเส้นทางเสวนา มติชน เกษตรวัฒนธรรมสัญจร เราเริ่มต้นกันที่ตำบลเขาทะลุ เมื่อไปถึง อาจารย์พนัส ศรีเขาล้าน รออยู่แล้ว "ฝนดีจังเลย เดือนมีนาคม ตกมานานหรือยังครับ" ผู้ไปเยือนเอ่ยทัก "ตกมา 6 วันแล้ว ยังไม่หยุด" อาจารย์พนัส บอก ถึงแม้สายฝนไม่ขาดเม็ด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจเส้นทาง อาจารย์พนัสพาไปสวนผสมผสาน จากนั้นกลับมาสวนทุเรียน ที่เจ้าของไปจากโคราช จุดสุดท้าย คือ สวนสะละของอาจารย์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 213 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร อาจารย์พนัส ให้ข้อมูลว่า ที่ตำบลเขาทะลุ หากไม่นับมนุษย์โบราณ เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว คนเข้าไปทำมาหากินนานพอสมควรแล้ว แต่เป็นเพราะก่อนหน้านี้การสัญจรไปมาลำบาก ถึงแม้ผลิตผลจะดีและมีมาก แต่ก็เอามาขายยาก หน้าแล้งต้องเดินตามทางเกวียน หน้าฝนต้องใช้เรือตามลำน้ำ บางช่วงต้องลอดถ้ำ เมื่อถนนสายใหม่ตัดผ่านช่องเขา ตำบลเขาทะลุจึงติดต่อโลกภายนอกได้ โดยใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง หากขับรถเร็ว จะใช้เวลาน้อยกว่านี้ อาจารย์พนัส เป็นข้าราชการครู บ้านเดิมอยู่แถบอำเภอสวี สอบรรจุครั้งแรกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภรรยาอาจารย์เป็นชาวขอนแก่น เนื่องจากชอบอาชีพเกษตร เมื่อย้ายไปสอนที่เขาทะลุ อาจารย์จึงเริ่มทำสวน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ เงาะ ทุเรียน มังคุด เมื่อปี 2540 อาจารย์พนัส เริ่มปลูกสะละสายพันธุ์เนินวง ปัจจุบันมีอยู่ 1,000 กอ แต่ละกอ มี 3 ต้น สะละสายพันธุ์อื่นมีบ้าง เช่น สายพันธุ์หม้อ สายพันธุ์อินโดนีเซีย ล่าสุด มีการนำสายพันธุ์สุมาลีเข้าไปปลูก จำนวน 200 ต้น ราคาต้นละ 700 บาท "รสชาติของสะละที่จันท์ รสหวานกลมกล่อม แต่ของที่นี่ จัดจ้าน จี๊ดจ๊าด ไม่เปรี้ยว ที่ริมถนนเพชรเกษม อำเภอสวี ส่วนหนึ่งมีผลผลิตจากจันท์มาจำหน่าย เมื่อเรานำผลผลิตจากนี่ไปส่ง ลดค่าขนส่งได้ ระยะทางราว 30 กิโลเมตร" อาจารย์พนัส บอก อาจารย์พนัส บอกว่า แต่ละปีสะละให้ผลผลิตได้ 70-150 กิโลกรัม ต่อกอ เมื่อปี 2543 ที่เริ่มมีผลผลิตจำหน่าย ราคาที่จำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 70 บาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 30 บาท แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำอย่างไร จึงได้คุณภาพ อาจารย์พนัส แนะนำวิธีการดูแลสะละให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพว่า ต้องดูแลเรื่องน้ำ ปุ๋ย การผสมเกสร การสางกอ เรื่องน้ำ...ถึงแม้บริเวณนั้นฝนดี แต่เจ้าของก็มีระบบน้ำให้ เนื่องจากมีบางช่วงที่ฝนหยุด หากฝนไม่ตกจะกระทบกระเทือนต่อผลผลิต ปีๆ หนึ่ง ต้องเปิดน้ำให้กับสะละเพียงไม่กี่เดือน ปุ๋ย...แรกสุดให้ปุ๋ยขี้ไก่ ปีละ 2 ครั้ง เป็นขี้ไก่ผสมแกลบจากฟาร์ม ครั้งหนึ่งใส่ให้กอละ 1 กระสอบปุ๋ย นอกจากได้สารอาหารจากปุ๋ยขี้ไก่แล้ว ข้อดีอย่างหนึ่งที่มีแกลบผสมนั้น จะทำให้รากสะละไม่ลอย ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ ช่วงที่ออกดอก เจ้าของใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ผลกำลังพัฒนา ให้สูตร 15-15-15 ก่อนเก็บผลผลิต ใส่สูตร 13-13-21 ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่ให้ครั้งละ 1 กิโลกรัม ต่อกอ ความถี่ความห่างนั้น ผู้ดูแลจะทราบเลยว่าช่วงไหนควรให้ เหมือนรู้ใจกันนั่นเอง งานผสมเกสร...เน้นเกสรสด ที่เป็นเกสรสะละตัวผู้ หรือระกำ ตรงนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด งานสางกอ...เป็นงานที่ต้องทำทุกปี โดยการตัดใบสะละออก หรือการตัดทางนั่นเอง วิธีการตัดใบ จะตัดตั้งแต่โคนต้น จนให้ถึงใบที่มีช่อสะละช่อแรก แทงออกมา สนนการเหมาจ้างสางกอ ตกกอละ 40 บาท ใบสะละ หรือทางสะละ แถบเมืองจันท์ เขามีเครื่องปั่นย่อยให้ละเอียด จากนั้นกองหมักให้กลายเป็นปุ๋ย แต่หากไม่มีเครื่องย่อย เจ้าของต้องกองไว้ให้ย่อยสลายเอง ซึ่งจะช้า การจัดการตรงนี้ อาจารย์พนัส บอกว่า กำลังติดต่อซื้อเครื่องย่อยอยู่ งานสางใบถือว่าสำคัญ เพราะหากไม่สางใบออกบ้าง ใบเก่าใบแก่จะแย่งอาหารใบใหม่ หนามของสะละ ถือว่าสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ปฏิบัติงานพอสมควร คนที่เป็นเบาหวานมักจะหลีกเลี่ยง ไม่ให้ทำงานในสวนสะละ เนื่องจากจะเกิดบาดแผลได้ง่าย สะละ ยังไปได้ ราคาเป็นที่พอใจ การดูแลรักษาสะละนั้น อาจารย์ได้ทีมงานที่เข้าใจมาช่วยคือ น้อย และ แอ๊ด สองสามีภรรยา อาจารย์พนัส จะถ่ายทอดความรู้ให้กับสองสามีภรรยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย การผสมเกสร ผลตอบแทนที่ทีมงานได้นั้น น่าพอใจ ทุกวันนี้ น้อยกับแอ๊ด นำเงินที่ได้จากค่าดูแลสะละ ผสมกับเงินเดิม ไปซื้อสวนยางพาราได้ 5-6 ไร่ ขณะเดียวกัน เจ้าของสวน อย่างอาจารย์พนัสก็พึงพอใจ ในการดูแลสวนของสองสามีภรรยา "เปรียบเทียบกับยางพารา ช่วงนี้ยางราคาดี สะละอาจจะสู้ยางไม่ได้ ผมชอบไม้ผลแต่แรกแล้ว เมื่อเริ่มลงมือปลูก พบอุปสรรคก็แก้...ทุกวันนี้คนหันไปปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมันกันมาก แต่ปลูกสะละน้อยลง ปาล์มและยางพาราปลูกได้ทั่วไป...งานปลูกไม้ผลจุกจิก แต่ผมไม่ทิ้ง จะดูแลสะละต่อไป" อาจารย์พนัส ยืนยัน ทุกวันนี้ พืชเศรษฐกิจอย่างพารา มีราคาซื้อขายผลผลิตที่จูงใจ เกษตรกรจึงปลูกในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้เอง ทางภาคเหนือ อีสานก็ปลูกกันมาก ปาล์มน้ำมัน อนาคตดีและไกล แต่ข้อจำกัด ต้องน้ำดีเท่านั้นจึงจะปลูกได้ ผลไม้อย่าง สะละ ที่อาจารย์พนัสปลูกอยู่ มีระยะเวลาการซื้อขายระหว่างปีกว้าง หากเกษตรกรที่มีปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ก็น่าพิจารณาปลูก ระหว่าง วันที่ 22-24 กรกฎาคม 2554 นี้ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน (เครือมติชน) จะจัดเสวนา มติชน เกษตรวัฒนธรรมสัญจร ลงไปดูงานที่สุราษฎร์ธานี-ชุมพร กำหนดการมีแล้วในเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้ ผู้สนใจ รีบจองด่วน เพราะรับจำนวนจำกัดจริงๆ กำหนดการหนึ่งที่แวะแน่นอนคือ สวนสะละอาจารย์พนัส ซึ่งจะมีสะละรสชาติเยี่ยมยอดให้ได้ชิม ให้ได้ซื้อกลับมาฝากคนที่บ้าน ส่วนผู้อ่านท่านใด ที่แวะเวียนไปแถวนั้น จะเข้าไปอุดหนุนผลผลิต สอบถามได้ที่ โทร. (089) 469-1152
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชุมพร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 505
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM